ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปากก็ว่ามหามิตรแต่การกระทำกลับหยามกันชัดๆ เพราะถือตัวเป็นมหาอำนาจครองโลก งานนี้อเมริกันสุดกร่างอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จึงเจอรายการเชิดใส่จากบรรดาผู้นำชาติอาเซียน แถมสหรัฐฯ ยังตีโง่ เปิดโอกาสให้จีน ตีกินหวานๆ ด้วยการรุกคืบเร่งปิดดีลข้อตกลง “อาร์เซ็ป” (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรี ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก แม้ว่าอินเดียจะเหยียบเบรกนาทีสุดท้ายทำให้ต้องดีเลย์ไปลงนามกันในปีหน้า
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2562 ภายใต้แนวคิดหลัก “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำพิธีมอบค้อนให้ นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในพิธีปิดการประชุม ซึ่งเวียดนามจะรับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2563 งานนี้ท่านผู้นำของไทย ยิ้มแก้มปริพลางว่า การประชุมทั้งหมดประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
นายกรัฐมนตรี “ลุงตู่” ของประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุมปีนี้ รูดม่านปิดฉากด้วยถ้อยแถลงถึงความมุ่งหวังให้อาเซียนก้าวสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ตลอดจนสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งนี้ ความร่วมมือของอาเซียนจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 4 ประการ ดังนี้
หนึ่ง เน้นย้ำความเชื่อใจ เพื่อสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เติบโต
สอง อาเซียนจะอำนวยความสะดวกด้านการค้า ลดผลกระทบจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน โดยสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP
การเชื่อมโยง ASEAN Single Window ให้ครบทั้ง 10 ประเทศในปีนี้ และการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อต่อต้านการประมง IUU รวมถึงการจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน จะทำให้ผู้ประกอบการในอาเซียนได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการผลักดันยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง ซึ่งอาเซียนได้ประกาศโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน 19 โครงการ ที่ธนาคารโลกได้พิจารณาเห็นว่ามีศักยภาพที่ภาครัฐและเอกชนน่าจะมีความสนใจร่วมลงทุน
สาม อาเซียนให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือในประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ การต่อต้านขยะทะเล, การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การส่งเสริมสิทธิต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชน, การเสริมสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียน และการสนับสนุนให้อาเซียนร่วมกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ในปี 2577 ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวอาเซียนมีความภาคภูมิใจต่อความเป็นอาเซียนร่วมกัน
สี่ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและระหว่างภาคีภายนอกของอาเซียน จะช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนในภูมิภาค โดยผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันรับรองเอกสารวิสัยทัศน์ ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนสำหรับเป็นแนวทางการสานต่อความยั่งยืนในทุกมิติ
กล่าวสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนคราวนี้ มีเรื่องเล่าเม้าท์มอยด์กันสนุกปาก นับจากการแสดงท่าทียโสโอหัง และหยามกันเห็นๆ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งอาจไม่รู้ตัวว่า “คิดผิดอย่างมหันต์” ที่ส่งนายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ประจำทำเนียบขาว ซึ่งมีฐานะตำแหน่งเทียบเท่า “อธิบดี” มาเป็นตัวแทนร่วมประชุมอาเซียนในครั้งนี้
ทรัมป์ อาจคิดว่านายโอไบรอัน เป็นผู้ที่มีบทบาทผลักดันนโยบายใช้อาเซียนต้านจีนอย่างแข็งขัน และรู้เรื่องนี้ดี น่าจะเหมาะสมที่สุดในการเป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ในงานประชุมสุดยอดอาเซียนคราวนี้ แต่ด้วย “ลำดับชั้นยศ” แล้ว การให้คนระดับแค่ที่ปรึกษามาประชุมกับผู้นำประเทศ ถือว่าเสียมารยาททางการทูตอย่างยิ่ง
ดังนั้น ภาพที่ออกมาจึงได้เห็นว่า เมื่อสหรัฐฯ ไม่ให้เกียรติ ผู้นำอาเซียนก็หาได้แคร์ไม่ บรรดาผู้นำประเทศอาเซียน 7 ประเทศ ประกอบด้วย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ และบรูไน จึงคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมประชุมกับสหรัฐฯ มีเพียงผู้นำไทย เวียดนาม และลาว ในฐานะเจ้าภาพครั้งนี้ และเจ้าภาพครั้งต่อไป และผู้ประสานงานหลักเท่านั้น ที่เข้าประชุมตามมารยาท
.
เป็นรายการเอาคืนที่ตอบโต้กลับอย่างทันทีทันควัน ทางนายโอไบรอัน ก็ได้แต่บอกว่า ไม่ติดใจอะไร เข้าใจดีว่าบรรดาผู้นำต่างมีภารกิจสำคัญมากมาย และแก้เกี้ยวด้วยการอ่านสารจาก ทรัมป์ ในที่ประชุมว่า “ผมอยากใช้โอกาสนี้เชื้อเชิญบรรดาผู้นำอาเซียนมาร่วมประชุมซัมมิตนัดพิเศษที่สหรัฐอเมริกา การพบกันในช่วงเวลาที่สะดวกกับทุกฝ่ายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020” ทั้งยังว่า ซัมมิทในสหรัฐฯ “จะมอบโอกาสที่ยอดเยี่ยมสำหรับบรรดาผู้นำในการขยายความร่วมมือกับเราในประเด็นสำคัญต่างๆ” แต่จะมีผู้นำชาติอาเซียนไปหรือไม่ ก็ต้องคอยดูกันต่อไป
ท่าทียโสโอหังไม่สนใจชาติอาเซียนของสหรัฐฯ คราวนี้ เปิดทางให้จีน มหาอำนาจตะวันออก กลายเป็น “พระเอก” โดย นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง แสดงความเหนือชั้นทางการทูต ทั้งในระดับประชาชนและประเทศ เอาตั้งแต่ก่อนเดินทางมาถึงไทย นายกฯ หลี่เค่อเฉียง ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ของไทยทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน เรียกร้องให้ร่วมกันรับมือความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก และนโยบายที่แข็งกร้าวของสหรัฐฯ การเขียนบทความลงสื่อต่างประเทศเช่นนี้ เป็นรูปแบบการทูตใหม่ของจีน
ส่วนในเวทีประชุมครั้งนี้ จีนประนีประนอมเรื่องพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ โดยระบุว่า พร้อมที่จะทำแนวปฏิบัติร่วมกับอาเซียน ลดความแข็งกร้าวจากเดิมที่จีนยืนหยัดว่า “ไม่คุยเรื่องอธิปไตย” ขณะที่ก่อนหน้านี้ จีนเคยกดดันถึงขนาดที่ให้กัมพูชา ซึ่งเป็นเจ้าภาพอาเซียนครั้งก่อนหน้าล้มวาระประชุม จนไม่สามารถออกแถลงการณ์ปิดการประชุมได้มาแล้ว แต่ครานี้ท่าทีผ่อนปรนของจีน ทำให้เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่มีพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ หันหน้ามาคุยกับจีนได้
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งร่วมการประชุมผู้นำ-จีนอาเซียน (10+1) ครั้งที่ 22 ณ กรุงเทพมหานคร ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 กล่าวตอนหนึ่งถึงการแก้ปัญหาข้อพิพาทผ่านการพูดคุยหารือว่าด้วย “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (COC) คือการยกระดับ “ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้” (DOC) ซึ่งมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี จีนหวังว่าแต่ละฝ่ายจะเคารพหลักการแต่ละประการของปฏิญญาฯ ขจัดอุปสรรคกีดขวางและก้าวไปข้างหน้า ผลักดันการหารือตามกำหนดเวลา เพื่อบรรลุการทบทวนรอบที่ 2 ในปี 2020
หลี่เค่อเฉียง ยังชี้ว่า แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เป็นความท้าทายที่จีนและอาเซียนควรร่วมมือกันผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าเสรี เพื่อรับมือกับความเสี่ยง ซึ่งนั่นทำให้แรงขับดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีความคืบหน้าอย่างน่าพึงพอใจ และเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ที่สุดในการประชุมครั้งนี้ นั่นคือ สามารถเร่งปิดดีลข้อตกลง “อาร์เซ็ป” Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรี ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก โดยสมาชิก 15 ประเทศ คือ อาเซียน และจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ สามารถตกลงกันได้ทั้งหมด จะมีเพียงแต่อินเดียเท่านั้นที่แตะเบรกโดยขอพิจารณาใหม่ในนาทีสุดท้ายกลางเวทีเจรจา ด้วยข้ออ้างกังวลกับการไหลบ่าของสินค้าจากจีน และสินค้าเกษตรจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ระบุว่า อินเดียได้ตัดสินใจที่จะไม่ลงนามในความตกลง RCEP เพราะยังมีความเห็นต่างเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีศุลกากร, การขาดดุลการค้าของอินเดีย และการตั้งกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งขณะนี้รูปแบบของความตกลง RCEP ไม่ได้สะท้อนถึงสาระสำคัญตามที่เคยหารือกันไว้ก่อนหน้านี้
การพลิกเกมของอินเดีย ทำให้ไม่สามารถจรดปากกาในข้อตกลงได้ที่เมืองไทยในครั้งนี้ แต่คาดว่า 15 ประเทศที่เดินหน้าต่อ จะลงนามกันได้ที่การประชุมในปีหน้า 2563 ที่เวียดนาม
“อาร์เซ็ป” เจรจายืดเยื้อมานานถึง 7 ปี และการปิดดีลลงได้ในปีนี้ จีนมีอิทธิพลอย่างมาก เพราะจีนต้องการใช้ข้อตกลงการค้าฯ นี้ รับมือกับนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ ความยโสโอหังของทรัมป์ผ่านแนวทาง“อเมริกาต้องมาก่อน” ทำให้แม้แต่พันธมิตรของสหรัฐอเมริกาอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ก็ยังต้องหันมาหนุนข้อตกลง RCEP หลังจากทุกประเทศต่างบาดเจ็บกันถ้วนหน้าจากสงครามการค้า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้นำอาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ว่า การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุมอาร์เซ็ป เพราะตลอดทั้งปีที่ผ่านมาไทยได้ทำงานร่วมกับสมาชิกอาร์เซ็ปอีก 15 ประเทศอย่างหนักและผลักดันให้การเจรจาคืบหน้า จนในวันนี้ผู้นำสามารถร่วมประกาศความสำเร็จสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดได้ตามเป้าที่ผู้นำอาร์เซ็ปตั้งไว้ จากนี้ คณะเจรจาจะเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ
“.... หากความตกลงอาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ จะถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันเท่าที่มีมา อีกทั้งจะมีความทันสมัยที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้ายุคใหม่ทั้งเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขัน...” นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับความตกลงอาร์เซ็ป ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งไทย และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก โดยเริ่มเจรจากันมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2556 จนถึงปัจจุบัน
ในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 59.8 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยสร้างโอกาสการส่งออกของไทยในตลาดใหม่ๆ ที่การทำเอฟทีเอระหว่างไทย อาเซียน และสมาชิกอาร์เซ็ปในช่วงที่ผ่านมายังเปิดตลาดไม่มากพอ โดยสินค้าที่สมาชิกอาร์เซ็ปเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทย เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปกว่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 58.8 ของการส่งออกของไทยไปโลก
ในการประชุมผู้นำ-จีนอาเซียน (10+1) ครั้งนี้ ที่ประชุมได้ประกาศการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองระหว่างจีน-อาเซียน (2021-2025) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับแผนริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เมืองอัจฉริยะ และการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชน ทั้งยังประกาศให้ปี 2020 เป็นปีแห่งการร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีน-อาเซียน อีกด้วย
หลังปิดฉากการประชุมสุดยอดอาเซียน นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ยังอยู่เมืองไทยต่อ และได้ปิดดีลกับรัฐบาลไทยอีกหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ แนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งเป็นมหายุทธศาสตร์ของจีนนั้น ไม่ใช่แค่การเชื่อมโยงจีนกับอาเซียนแค่รถไฟความเร็วสูง แต่คือการเชื่อมโยงข้อมูลด้วยเทคโนโลยี ดูจากการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน 3 ฉบับ ซึ่งล้วนเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร, วิทยาศาสตร์ วิชาการ และนวัตกรรม ประกอบด้วย 1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการ และนวัตกรรม 2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข่าวและข้อมูลข่าวสารระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ กับสำนักข่าวซินหวา และ 3. บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) กับ ศูนย์ความร่วมมือทางนวัตกรรมแห่งสถาบันบัณฑิต
ทั้งนี้ จีนรู้ดีว่า การสร้างทางรถไฟสำคัญก็จริง แต่ก็เผชิญการคัคค้านไม่น้อย และยังต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ใช้เวลาหลายปี แต่การเชื่อมโยงข้อมูลและเทคโนโลยี มีพลานุภาพยิ่งกว่า เห็นได้ว่า ในเมืองจีนทุกวันนี้ แทบไม่มีการใช้เงินสด บางที่แค่สแกนใบหน้าก็รู้ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมด รัฐบาลจีนยังประกาศจะผลักดันเทคโนโลยี AI, บล็อกเชน, เงินดิจิทัล และการสื่อสาร #5G ที่จีนเริ่มใช้แล้วเป็นประเทศแรกในโลก
รัฐบาลจีนรู้ดีว่า ชาติตะวันตกมีอิทธิพลต่อโลกได้ ก็เพราะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่เวลานี้แทบทุกประเทศต้องใช้ ตั้งแต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ จนถึงเงินดอลลาร์ ดังนั้นหากจีนจะผงาด ก็ต้องปลดแอกการพึ่งพาเทคโนโลยีจากตะวันตก และยังต้องทำให้นานาชาติยอมรับเทคโนโลยีแดนมังกรด้วย
การพบปะกับพญามังกรครั้งนี้ หลี่เค่อเฉียง ยกภาษิตจีน 同舟共济 หรือ ลงเรือลำเดียวกัน กล่าวกับพล.อ.ประยุทธ์ ว่า ได้เห็นเรือพาณิชย์วิ่งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก หากไทย-จีนร่วมมือกันจะเปรียบเสมือนเป็นเรือใหญ่ วิ่งเร็ว วิ่งไกลอย่างมั่นคง ซึ่งอนาคตจะต้องแล่นให้เร็วเหมือนเรือหางยาวอีกด้วย จังหวะนี้ “ลุงตู่” กล่าวตอบรับทันทีว่า “โอเค เราเป็นเรือใหญ่ที่ต้องแล่นให้เร็วเหมือนเรือหางยาวต่อไป” และยังต่อด้วยคำคมๆ ว่า “มดน้อยบางครั้งก็สามารถช่วยพญาราชสีห์ และพญาคชสารได้” ซึ่งหลี่ เค่อเฉียงก็รับมุก ย้ำว่า “จีนกับไทยได้นั่งเรือลำเดียวกัน”
ผู้นำไทย ไม่รอช้ารีบเตะเข้าโกลว์ “จะเป็นเรือเหล็กหรือเรือหางยาว เราก็จะไปด้วยกัน”
ปิดฉากการประชุมสุดยอดอาเซียนและการพบปะกับบรรดาผู้นำทั่วโลกด้วยความชื่นมื่น