เอพี - ไทยรูดม่านเปิดการประชุมประจำปีผู้นำอาเซียน รวมถึงจีน ญี่ปุ่น และอีกหลายชาติสำคัญในเอเชีย เพื่อผลักดันข้อตกลงการค้าเสรี และวางแนวทางในการจัดการข้อพิพาทด้านดินแดน ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ทรัมป์พลาดอย่างแรงที่ไม่มาร่วมงาน เพราะเท่ากับเปิดโอกาสให้ปักกิ่งแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้มากขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เปิดการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในวันอาทิตย์ (3 พ.ย.) โดยคาดหมายว่า การประชุมครั้งนี้จะบรรลุข้อตกลงพื้นฐานสำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์ซีอีพี) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 16 ชาติและรองรับการค้าเกือบ 1 ใน 3 ของโลก
นายกรัฐมนตรีของไทยเสริมว่า เป้าหมายการประชุมครั้งนี้คือการบรรลุข้อตกลงอาร์ซีอีพีในปีหน้า และอาเซียนยังหวังว่า จะสามารถกำหนดแนวปฏิบัติ (code of conduct) ร่วมกับจีนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านดินแดนในทะเลจีนใต้
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของอเมริกา ได้ส่งโรเบิร์ต โอไบรเอน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมแทน เนื่องจากติดภารกิจในการหาเสียงเช่นเดียวกับรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ที่เป็นตัวแทนร่วมประชุมเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่ผู้นำอเมริกาหายหน้าไปจะเปิดโอกาสให้จีนแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน กล่าวในที่ประชุมว่า ปักกิ่งยึดมั่นกับบทบาทของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาค การร่วมมือกันบนพื้นฐานที่มั่นคง ก้าวหน้า และในแนวทางที่สร้างสรรค์ รวมทั้งสนับสนุนเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งทำให้สามารถรับมือกับความไร้เสถียรภาพในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกได้
เกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้ที่เป็นปัญหามายาวนาน หลี่ยินดีกับความคืบหน้าในการเจรจา “แนวทางปฏิบัติ” กับอาเซียนที่มุ่งลดการดำเนินการที่ก้าวร้าวซึ่งอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหาร โดยหลังจากถูกกล่าวหาว่า ถ่วงเวลาการเริ่มต้นหารือมานานหลายปี ควบคู่กับการสร้างเกาะเทียมพร้อมการประจำการทางทหารบนแนวปะการังที่เป็นข้อพิพาท ในที่สุดจีนตกลงเริ่มเจรจา และทั้งสองฝ่ายประกาศว่าการเจรจารอบแรกจากที่คาดไว้ว่า จะมีทั้งหมด 3 รอบ ลุล่วงลงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
หลี่ยกย่องว่าความคืบหน้าดังกล่าวเป็นสัญญาณที่สำคัญมากสำหรับเสถียรภาพในภูมิภาค และยืนยันว่า จีนมุ่งมั่นผลักดันการเจรจากับสมาชิกอาเซียน ซึ่งมี 4 ชาติคือ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่มีข้อขัดแย้งด้านดินแดนกับปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม มีความขัดแย้งอย่างมากในการเจรจา อีกทั้งไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จีนพร้อมลงนามแนวทางปฏิบัติที่หลายชาติ รวมถึงอเมริกา คาดหวังให้มีผลผูกพันทางกฎหมายและมีอำนาจเพียงพอที่จะยับยั้งการยั่วยุในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าสำคัญของโลก
นักการทูตในอาเซียนสองคนเผยว่า ในการประชุมที่มีบรรยากาศตึงเครียดมากที่เวียดนามเมื่อเร็วๆ นี้ นักการทูตประเทศเจ้าภาพตั้งคำถามว่า การเจรจาจะคืบหน้าได้อย่างไรในเมื่อกองเรือประมงจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยยามฝั่งและกองทัพเรือของปักกิ่ง ยังคงรุกล้ำน่านน้ำที่เป็นสิทธิ์จำเพาะภายใต้กฎหมายสากลของเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพลังงาน ทางด้านเจ้าหน้าที่จีนโต้ว่า สมาชิกอาเซียนไม่ควรปล่อยให้ประเทศเดียวมาขัดขวางกระบวนการเจรจา
เกร็ก โพลิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลจีนใต้ของเอเชีย มาริไทม์ ทรานสปาเรนซี อินิชิเอทีฟในอเมริกา วิจารณ์ว่า การที่จีนยังคงล่วงละเมิดน่านน้ำของมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามตลอดปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า จีนยังไม่พร้อมประนีประนอมอย่างแท้จริง ดังนั้น การเจรจาจึงดูเหมือนมีแต่ปัญหา
สำหรับประเด็นการค้านั้น เจ้าหน้าที่อาเซียนมีแผนนำเสนอรายงานการเจรจาอาร์ซีอีพีในซัมมิตครั้งนี้ ซึ่งตามร่างแถลงการณ์ระบุว่า การเจรจาควรแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และผู้นำร่วมลงนามรับรองในการประชุมสุดยอดครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นที่เวียดนาม
ทั้งนี้ อาเซียนประกอบด้วยสมาชิก 10 ชาติ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมาร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ที่มีประชากรรวมกันเกือบ 650 ล้านคน
ส่วนเขตการค้าอาร์ซีอีพีนั้นมีเป้าหมายในการขจัดอุปสรรคการค้าและกำหนดมาตรฐานสำหรับการค้าระหว่างอาเซียนกับอีก 6 ชาติ คือ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้