เอเจนซีส์ - การเจราจาการค้าจีน-อเมริกาเจออุปสรรคใหม่ หลังชิลีขอถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพซัมมิตโอเปกกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดิมนั้นทรัมป์หมายมั่นปั้นมือใช้เป็นสถานที่ลงนามข้อตกลงเฟส 1 กับสี จิ้นผิง เวลานี้แม้ทั้งสองฝ่ายยังคาดหวังว่า แผนการดังกล่าวจะเป็นไปตามกำหนด แต่การหาสถานที่จัดการประชุมสุดยอดแห่งใหม่ในเวลากระชั้นชิดแบบนี้ ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า เป็นไปได้ยาก
เมื่อวันพุธ (30 ต.ค.) ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิญเญรา ของชิลี แถลงยกเลิกการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน รวมถึงการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม เพื่อทุ่มเทความสนใจกับการฟื้นกฎระเบียบและผลักดันแผนสวัสดิการสังคมใหม่ หลังจากที่ชิลีเผชิญการจลาจลจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน และมีผู้ถูกจับกุมถึง 7,000 คน รวมทั้งสร้างความเสียหายต่อธุรกิจรวมมูลค่าราว 1,400 ล้านดอลลาร์
คำแถลงดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างจังต่อแผนการพบกันระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของอเมริกา และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน เพื่อลงนามข้อตกลงการค้าขั้นต้นระหว่างเดินทางไปร่วมซัมมิตเอเปกที่ชิลี
อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวออกคำแถลงในเวลาต่อมาว่า อเมริกายังคาดหวังว่า ผู้นำสองชาติจะลงนามข้อตกลงการค้าขั้นต้นในเดือนพฤศจิกายน แต่ไม่ได้ระบุว่า จะย้ายสถานที่ไปที่ใด
ในวันพฤหัสฯ (31 ต.ค.) กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงในทิศทางเดียวกันว่า การเจรจาทวิภาคียังคงดำเนินต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางแผนไว้ และผู้นำคณะเจรจาการค้าของสองชาติจะหารือกันทางโทรศัพท์ในวันศุกร์ (1 พ.ย.)
วันเดียวกันนั้น จู กวงเหยา ที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีจีน ให้สัมภาษณ์จากงานประชุมที่สิงคโปร์ว่าด้วยความสัมพันธ์จีน-อเมริกาว่า ยังคงเชื่อว่า จะมีการลงนามข้อตกลงการค้าขั้นต้นในเดือนนี้ หากทั้งสองฝ่ายยังติดต่อกันอย่างใกล้ชิดผ่านช่องทางทางการทูต
คณะผู้แทนการเจรจาของอเมริกาและจีนกำลังเร่งร่างข้อตกลงขั้นต้นเพื่อให้ทรัมป์และสีลงนามร่วมกันในเดือนพฤศจิกายน แม้ยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของอเมริกาเรื่องกรอบเวลาที่จีนจะจัดซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ ก็ตาม
สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังที่เป็นหนึ่งในทีมเจรจาการค้าของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธว่า การเจรจากับจีนเป็นไปด้วยดี และเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการร่างข้อตกลงขั้นต้น
แหล่งข่าวในอเมริกาเผยว่า ทำเนียบขาวต้องการเสนอตัวจัดการประชุมสุดยอดเอเปกแทนชิลี โดยอาจเป็นที่อแลสกาหรือฮาวาย ขณะที่แหล่งข่าวในแวดวงการค้าจีนแย้มว่า ปักกิ่งเล็งเสนอมาเก๊า
อย่างไรก็ดี ทำเนียบขาวไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเลือกสถานที่เหล่านั้น เช่นเดียวกับคำแถลงของกระทรวงพาณิชย์จีนที่ไม่ได้ระบุว่า ทรัมป์กับสีจะพบกันในเดือนพฤศจิกายนหรือไม่
ทว่า แมททิว กู๊ดแมน อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในวอชิงตัน มองว่า เป็นไปได้ไม่ได้ที่จะจัดการประชุมที่มีผู้นำจาก 21 ชาติเข้าร่วมขึ้นมา ภายในเวลาแค่ 2 สัปดาห์
กู๊ดแมนเสริมว่า แม้ทำเนียบขาวส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการให้มีการพบปะระหว่างทรัมป์กับสีตามแผน แต่มีแนวโน้มสูงว่า รัฐมนตรีการค้าหรือเอกอัครราชทูตของสองชาติจะเป็นผู้ลงนามข้อตกลงการค้าขั้นต้นก่อน แล้วจึงค่อยจัดการประชุมสุดยอดสองผู้นำตามมาในภายหลัง
ทางด้านเจ้าหน้าที่จีนที่ไม่ประสงค์ออกนามตั้งข้อสังเกตว่า แม้เป็นเพียงข้อตกลงขั้นต้น แต่ก็ควรเจรจาให้ลุล่วงทีละขั้นตอน ไม่ใช่รีบร้อนลงนามเพียงเพื่อได้ชื่อว่า บรรลุข้อตกลง
วาระสำคัญที่ต้องจับตาคือวันที่ 15 ธันวาคมที่อเมริกาจะบังคับใช้ภาษีศุลกากรรอบใหม่กับสินค้านำเข้าของจีน เช่น แล็ปท็อป ของเล่น และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างต้องการบรรลุข้อตกลงก่อนหน้านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีศุลกากร
เมื่อต้นเดือนตุลาคม ทรัมป์ชะลอการขึ้นภาษีศุลกากรที่กำหนดไว้ในวันที่ 15 เดือนเดียวกัน หลังมีการเจรจาการค้าในวอชิงตัน แต่ทำเนียบขาวยังไม่ได้ออกมาประกาศแผนชะลอหรือยกเลิกมาตรการภาษีในส่วนที่จะบังคับใช้วันที่ 15 เดือนหน้าแต่อย่างใด
จิน ซันหรง รองคณบดีคณะการระหว่างประเทศศึกษา ของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในปักกิ่ง และที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน เชื่อว่า จีนและอเมริกาต่างต้องการบรรลุ “ข้อตกลงสงบศึก” ก่อนสิ้นปีนี้
นักการทูตคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ไม่มีการประชุมระหว่างประเทศที่สีและทรัมป์จะสามารถนัดพบกันนอกรอบได้ เนื่องจากผู้นำสหรัฐฯ ประกาศแล้วว่า จะไม่เดินทางไปร่วมซัมมิตเอเชียตะวันออกที่จะจัดขึ้นในไทยสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เผยว่า ต้องการเดินทางไปชมการแข่งขันกอล์ฟในรายการเพรสซิเดนต์คัปที่ออสเตรเลียที่จะเริ่มต้นวันที่ 9 ธันวาคม
เว่ย เจียงกัว รองประธานศูนย์เพื่อการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เชื่อว่า ยังมีโอกาสอีกมากที่ผู้นำจีนและสหรัฐฯ จะได้ลงนามข้อตกลงการค้าร่วมกัน โดยอาจจัดขึ้นที่จีน อเมริกา หรือประเทศที่สามอย่างสิงคโปร์