เอเอฟพี/รอยเตอตร์ - คณะผู้แทนเจรจาทางการค้าระดับสูงของจีนและสหรัฐฯ บรรลุฉันทามติร่วมกันในหลักการของข้อตกลงการค้า ตามการเปิดเผยจากทั้งสองฟากฝั่งในวันเสาร์(2พ.ย.)
กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยผ่านถ้อยแถลงที่เผยแพร่ในช่วงเช้ามืดวันเสาร์(2พ.ย.) ว่านายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีนได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ กับ สตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯในวันศุกร์(1พ.ย.) และ "ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือกันอย่างจริงจังและสร้างสรรค์ในการจัดการอย่างเหมาะต่อแก่นกลางความกังวลของพวกเขาและบรรลุความเห็นพ้องต้องกันในหลักการ"
ถ้อยแถลงของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุเพิ่มเติมว่า "ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการพูดคุยครั้งต่อไป" อย่างไรก็ตามทางกระทรวงฯไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมไปมากกว่านี้
ด้านสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เผยแพร่ถ้อยแถลงยืนยันเช่นกันว่า ไลท์ไฮเซอร์ และ มนูชิน มีความก้าวหน้าในประเด็นต่างๆระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์กับ หลิว เหอ เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าชั่วคราว "พวกเขามีความคืบหน้าในหลายขอบเขตและอยู่ในขั้นตอนของการคลี่คลายประเด็นสำคัญๆ การหารือระดับผู้ช่วยจะเดินหน้าต่อไป"
ความไม่แน่นอนหวนกลับมาเกาะกุมการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนอีกครั้ง หลังจากเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ชิลีประกาศถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก เวทีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คาดหมายว่าจะใช้เป็นสถานที่สำหรับลงนามในข้อตกลงการค้า "เฟส1" กับปักกิ่ง หลังข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างสองชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกยืดเยื้อมานานกว่า 18 เดือน
เมื่อวันพุธ (30 ต.ค.) ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิญเญรา ของชิลี แถลงยกเลิกการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน รวมถึงการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม เพื่อทุ่มเทความสนใจกับการฟื้นกฎระเบียบและผลักดันแผนสวัสดิการสังคมใหม่ หลังจากที่ชิลีเผชิญการจลาจลจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน และมีผู้ถูกจับกุมถึง 7,000 คน รวมทั้งสร้างความเสียหายต่อธุรกิจรวมมูลค่าราว 1,400 ล้านดอลลาร์
คำแถลงดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างจังต่อแผนการพบกันระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของอเมริกา และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน เพื่อลงนามข้อตกลงการค้าขั้นต้นระหว่างเดินทางไปร่วมซัมมิตเอเปกที่ชิลี
อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวออกคำแถลงในเวลาต่อมาว่า อเมริกายังคาดหวังว่า ผู้นำสองชาติจะลงนามข้อตกลงการค้าขั้นต้นในเดือนพฤศจิกายน แต่ไม่ได้ระบุว่า จะย้ายสถานที่ไปที่ใด
จีนและสหรัฐฯต่างตอบโต้กันไปมานานกว่า 1 ปีแล้ว ด้วยจนถึงตอนนี้ต่างบังคับมาตรการรีดภาษีเล่นงานกันและกัน มีมูลค่าร่วมกันแล้วหลายแสนล้านดอลลาร์ในการค้าแบบสองทาง
กระนั้นก็ตาม ด้วยศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 ใกล้เข้ามา และทรัมป์ อยู่ภายใต้แรงกดดันจากกระบวนการถอดถอนในสภาคองเกรส เจ้าหน้าที่การค้าสหรัฐฯจึงหวังได้ข้อตกลงการค้าบางส่วนเพื่อเรียกคะแนนนิยมคืนมา