ชิลี - ชิลีประกาศในวันพุธ(30ต.ค.) ขอถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมซัมมิตนานาชาติสำคัญ 2 รายการ ประกอบด้วยเอเปกและการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่พวกเขากำลังพยายามคืนความสงบเรียบร้อยแก่บ้านเมือง ท่ามกลางเหตุปะทะระหว่างพวกผู้ประท้วงกับกองกำลังด้านความมั่นคงที่คร่าชีวิตแล้วอย่างน้อย 20 ศพ
เซบาสเตียน พิเนรา ประธานาธิบดีชิลีระบุว่ามันเป็นสามัญสำนึกที่ต้องตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพประชุมซัมมิตความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) และการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 25 (COP25)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯบอกว่าเขามีแผนพบปะกับ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน เพื่อหาทางลงเอยข้อตกลงการค้า "เฟส1" ระหว่างร่วมประชุมเอเปกในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้ ในขณะที่มันจะช่วยยุติสงครามการค้าระหว่างสองชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกที่ยืดเยื้อมานานกว่า 18 เดือนลงบางส่วน
อย่างไรก็ตามหลังการประท้วงบนท้องถนนที่ยืดเยื้อมา 10 วันและลุกลามบานปลายเข้าสู่ความรุนแรง พิเนรายอมรับว่าชิลีไม่อยู่ในฐานะที่จำเป็นเจ้าภาพได้ ทั้งการประชุมเอเปกและ COP25 ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 2-13 ธันวาคม
"มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากอย่างยิ่ง มันเป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวดอย่างสาหัส เพราะเรารู้ว่าการประชุมเอเปกและ COP มีความสำคัญกับชิลีและกับโลกใบนี้มากแค่ไหน" เขากล่าว อย่างไรก็ตามพิเนราบอกว่ามันเป็นสามัญสำนึกที่เขาต้องตระหนักว่าเขามีเรื่องสำคัญอื่นๆให้ดำเนินการ
"เมื่อพ่อของคุณมีปัญหา ประเด็นครอบครัวต้องมาก่อนทางเลือกอื่นๆเสมอ เช่นเดียวกับผู้เป็นประธานาธิบดี เขาต้องให้ความสำคัญกับเพื่อนร่วมชาติก่อนเสมอ ก่อนจะไปคำนึงถึงเรื่องอื่นๆ" เขากล่าว
ชิลีกำลังเผชิญกับวิกฤตทางสังคมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และดูไม่มีทีท่าทุเลาลงง่ายๆ แม้ พิเนรา แถลงมาตรการต่างๆออกมาโดยมีเป้าหมายปลอบโยนพวกผู้ประท้วง
พวกผู้ชุมนุมเรียกร้องผู้นำฝ่ายขวาวัย 69 ปีรายนี้ ซึ่งจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์พบว่ามีทรัพย์สินส่วนตัว 2,800 ล้านดอลลลาร์ ให้ลาออกจากตำแหน่ง จากความขุ่นเคืองต่ออัตราค่าจ้างและเเบี้ยบำนาญระดับต่ำ, ระบบประกันสุขภาพของรัฐและระบบการศึกษาที่ย่ำแย่ เช่นเดียวกับช่องว่างมโหฬารระหว่างคนรวยกับคนจน
พิเนรา แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเบี้ยบำนาญ เช่นเดียวกับมาตรการอื่นๆเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านประกันสุขภาพที่สูงลิ่ว และปรับการทำงานของหน่วยงานราชการให้มีความคล่องตัวขึ้น ขณะเดียวกันในวันจันทร์(28ต.ค.) เขาแถลงปรับคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่อำนาจในเดือนมีนาคม 2018 แต่ความเคลื่อนไหวบนท้องถนนก็ยังคงดำเนินต่อไป
เบื้องต้นประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียมีกำหนดเข้าร่วมประชุมเอเปก ส่วน เกรตา ทุนเบิร์ก สาวน้อยนักเคลื่อนไหวชาวสวีเดน เป็นหนึ่งในคณะผู้แทน 25,000 คนที่คาดหมายว่าจะเข้าร่วมประชุม COP25 อย่างไรก็ตามล่าสุดทางวังเครมลินออกมาแถลงแล้วว่า ปูติน ไม่มีแผนเข้าร่วมประชุมซัมมิตเอเปก แต่ยืนยันว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์จลาจลในชิลี