xs
xsm
sm
md
lg

ไม่แปลกใจ -ชิลีมาถึงวันนี้จนได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร

ประธานาธิบดีเซบาสเตียน พิเนรา ของชิลี
ผู้นำหลายคนอาจแอบดีใจที่ไม่ต้องเดินทางไปประชุมเอเปก (21 ประเทศสองฟากฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก) ในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ (ตามหลังประชุมอาเซียน) เพราะอาจเกิดเหตุร้ายแบบการบุกทำลายการประชุมอาเซียนเมื่อ 10 ปีก่อนโน้น ที่พัทยาบ้านเรา

เพราะขณะนี้ ชิลีกำลังลุกเป็นไฟ-เป็นไฟจริงๆ (โดยมีการชุมนุมใหญ่ทั้งประเทศเพื่อประท้วง (ขับไล่รัฐบาล) ที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว-ไม่นำพาต่อความเดือดร้อนสาหัสของประชาชน) เมื่อรัฐบาลประกาศถอนการอุดหนุนราคาค่าโดยสารรถไฟใต้ดินเมื่อกลางเดือนตุลาคมนี้เอง และประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจน รวมทั้งคนชั้นกลาง และเหล่านักวิชาชีพ ตั้งแต่แพทย์, พยาบาล, นักบัญชี, ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยไม่พอใจยิ่ง จึงมีการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ และถูกตอบโต้ (เช่นเดียวกับการประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลของฝรั่งเศสเมื่อก่อนคริสต์มาสปีที่แล้ว-ที่ปธน.มาครงใช้ความแข็งกร้าวเผชิญหน้ากับประชาชนเสื้อกั๊กเหลืองจนถึงบาดเจ็บล้มตายเกิดขึ้น) อย่างแข็งกร้าวจากปธน.พิเนรา-มหาเศรษฐีพันล้านที่มีรมต.หลายคนมาจากเคยเป็นที่ปรึกษาของนายพลปิโนเชต์-เผด็จการที่ก่อรัฐประหารเลือดยุคซีไอเอปราบปรามประชาชนอเมริกากลางและอเมริกาใต้อย่างโหด ภายใต้แผนของดร.คิสซิงเจอร์-ขณะเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนิกสัน

แค่ 3 วัน (19-21 ตุลาคมของการชุมนุมประท้วง) มีการจุดไฟเผาโรงงานเสื้อผ้า และการบุกเผาทำลายร้านค้าปลีก, สถานีรถไฟใต้ดิน, รถโดยสาร มีการปล้นสะดมร้านค้าถึง 70 จุด และฝ่ายตำรวจและทหารได้ออกมาใช้ทั้งแก๊สน้ำตา และลูกปืนจริงตามคำสั่งปธน.คนตายเป็นเลข 2 หลัก และเหตุการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงทุกที ทั้งๆ ที่เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนก็จะถึงกำหนดงานช้างที่ชิลีจะเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดเอเปก และประชุมเรื่องโลกร้อน อันน่าจะนำเงินเข้าประเทศอย่างมหาศาล

ประชาชนชิลีเหลืออดต่อความไม่เห็นใจของปธน.เศรษฐีพันล้าน (เจ้าของสถานีโทรทัศน์, หุ้นใหญ่สายการบิน LAN, หุ้นใหญ่บริษัทน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ, เหมืองทองแดง และกองทุนมากมายในตลาดทุน) เพราะชิลีอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วที่มีความมั่งคั่งของโลก คือ OECD แต่ความเหลื่อมล้ำ (รายได้ของประชาชนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ยอดพีระมิด-เท่ากับรายได้รวมกันทั้งหมดของประชาชนค่อนประเทศ-ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนจึงเป็นภาพลวงตา-ไม่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของประชาชนส่วนข้างมากที่ยากจน และไม่มีเงินพอแม้จะซื้ออาหารมารับประทาน) อยู่ในลำดับแย่ที่สุดในหมู่ OECD ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรมหาศาล ทั้งทองแดง, แก๊สธรรมชาติ, น้ำมัน, ทองคำ, ถ่านหิน (ที่เคยทำรายได้เข้าประเทศมหาศาลจนมาถึงยุคโลกร้อนที่เริ่มลดความสำคัญลง) รวมทั้งสินค้าส่งออกอีกหลายสิ่งที่สำคัญ เช่น ผลไม้ (ประเทศไทยมีทั้งแอปเปิล, บลูเบอรี, สตรอเบอรี, ลูกองุ่น, ลูกพีช และลูกแพรต่างๆ มาจากชิลี) เหล้าไวน์ชั้นดี, ปลาหลายชนิดที่ส่งออก รวมทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษ, ผลิตภัณฑ์เคมี ฯลฯ ที่น่าจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กินดีอยู่ดี และมีความสุขจากการมีส่วนร่วมในความมั่งคั่งของชาติ

แต่ชิลีอยู่ใต้เผด็จการทหารมานาน จนถึงปี 1970 ได้มีการเลือกตั้งที่ทำให้นายแพทย์อัลเยนเด้ จากพรรคสังคมนิยม (สมัยสงครามเย็น) ได้รับเลือกเข้ามาเป็น ปธน. เพื่อปฏิรูปไปสู่ความเป็นธรรมของสังคมยิ่งขึ้น แต่ซีไอเอได้วางแผนให้นายพลปิโนเชต์โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ชนิดเป็นรัฐประหารเลือด ที่จับคนถึง 3 พันกว่าคนเข้าคุก และตายในคุก รวมทั้งสูญหาย ซึ่งมีนักบวชคาทอลิกนิกายเยสุอิต (นิกายเดียวกันกับโป๊ปท่านปัจจุบัน) ที่ร่วมคุ้มครองประชาชนก็ถูกทหารฆ่าตายอย่างโหด

นายพลปิโนเชต์อยู่ในอำนาจ 17 ปีเต็ม จนมีการต่อสู้ของประชาชนถึงได้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นซ้ายกลาง หลังยุคปิโนเชต์

รัฐบาลซ้ายกลางพยายามเข้ามาปฏิรูป แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการปฏิรูปให้เกิดขึ้นได้ โดยเหล่าพลังการเมืองของปิโนเชต์ยังครองเสียงทข้างมากในสภา

เมื่อนายพลปิโนเชต์หลังเกษียณได้ไปรักษาตัวที่ลอนดอน ได้ถูกหมายจับจากศาลโลกกรณีฆ่าประชาชนช่วง 1973-80 ที่เขาฆ่าปธน.อัลเยนเด้ และประชาชนจำนวนมาก-ตอนนั้น นายกฯ แธตเชอร์ของอังกฤษได้ออกมาปกป้องคุ้มครองปิโนเชต์; และปธน.พิเนราคนปัจจุบันของชิลี ได้ออกมารณรงค์ขณะที่เขาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่เมืองหลวงซานติอาโก ต่อต้านหมายจับของศาลโลก โดยเป็นฝ่ายปิโนเชต์เต็มที่

รัฐบาลของปธน.พิเนรา มีรมต.หลายคนมาจากสมัยปิโนเชต์ และไม่แยแสต่อความเหลื่อมล้ำมหาศาลในประเทศมั่งคั่งแห่งนี้

แม้ปธน.พิเนราจะได้คะแนนนิยมสูงขึ้นในช่วงแรกๆ ที่เขามารับตำแหน่งในสมัยแรก ปี 2010-เมื่อเกิดเหตุการณ์เหมืองทองแดงถล่ม-คนงาน 33 คนติดอยู่ใต้เหมือง และปธน.พิเนราได้ร่วมมือกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ-ส่งเครื่องมือมาช่วยคนงานออกมาได้หมด-ภายในเวลา (70 วัน) อันตื่นเต้นไปทั่วโลก (แบบทีมหมูป่าอะคาเดมีที่ติดถ้ำ)

แต่ปธน.พิเนรา ในช่วงเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ยังอิดออดไม่ยอมปล่อยหุ้นที่เขามีอยู่ในกิจการต่างๆ ของชิลี โดยเฉพาะคือการไม่เข้าใจถึงความทุกข์ยากของประชาชน

ปธน.พิเนรา เข้ามารับตำแหน่งในสมัยที่สองเมื่อมีนาคมปีที่แล้วนี้เอง และความหวังของคนยากจนก็ดับวูบลง

พอประชาชนไม่พอใจและถึงจุดไฟเผา และปล้นสะดม ด้วยแค้นที่ตำรวจทหารใช้ลูกปืนจริงยิงประชาชน ในที่สุดปธน.พิเนราก็ออกมาผ่อนปรนกับประชาชน คือ ออกทีวีประกาศเลิกขึ้นค่าโดยสารรถไฟ (ทำแบบเดียวกับปธน.มาครงของฝรั่งเศส) ถึงกับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, ขึ้นค่าบำนาญ และจะเดินหน้าปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำ (ด้วยคำพูดเลื่อนลอย)

แต่มันมาช้าไปและน้อยไป เช่นเดียวกับปธน.มาครง (ที่ประท้วงถึง 6 เดือนเต็ม-คนตายเหยียบ 100 คน)

ไม่เพียงต้องงดเป็นเจ้าภาพงานระดับโลก ที่น่าอับอายยิ่งของชิลี แต่ปธน.พิเนราก็คงต้องจำใจออกก่อนกำหนด-แม้เขาจะพยายามดื้อแพ่ง-ด้วยการปลดรมต.ออกทั้งคณะ เพื่อตั้งครม.ใหม่ก็ตาม

หรือนี่จะนำไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริงของชิลี น่าติดตามยิ่ง
  ดร.เฮนรี คิสซิงเจอร์ ?         นายพลอูกุสโต ปิโนเชต์


กำลังโหลดความคิดเห็น