xs
xsm
sm
md
lg

ไทยนำเข้า ‘ขยะพลาสติก’ พุ่ง 7,000% เหตุหลัก ‘จีน’ แบน ‘ญี่ปุ่น’ ส่งออกมากที่สุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เวทีสัมมนาวิชาการ เรื่อง ธุรกิจขยะข้ามพรมแดน : สถานการณ์ในประเทศไทย เมื่อ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี จัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ หัวหน้าโครงการ และผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ‘เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง’ บอกว่า “ช่วงหนึ่งประเทศไทยนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด 2. 000-7,000% เผยสาเหตุจากจีนแบนขยะพลาสติก"
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง  และ อัฎฐพร ฤทธิชาติ ร่วมให้ข้อมูลนำเข้าขยะพลาสติกเพื่อรีไซเคิล
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กล่าวว่า ขยะพลาสติกในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป จะมีระบบการคัดแยกค่อนข้างดี แต่เมื่อคัดแยกแล้ว ต้องเข้าใจว่า อุตสาหกรรมรีไซเคิลหรือการหล่อหลอมพลาสติก เป็นอุตสาหกรรมที่มีมลพิษสูงมาก และเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็ง อากาศปนเปื้อน รวมถึงการนำไปสู่ภาวะการเจ็บป่วยต่างๆ ประเทศพัฒนาแล้วจึงไม่นิยมให้มีโรงงานรีไซเคิลพลาสติก เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือถ้ามีอยู่ จะใช้พลาสติกเกรดดี ส่วนพลาสติกเกรดต่ำก็จะส่งออกมารีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศไทยนำเข้ามาจำนวนมาก
กฎหมายไทยอนุญาตให้นำเข้าพลาสติกเพื่อการรีไซเคิลได้ แต่จะต้องเป็นพลาสติกสะอาด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจจับพบว่า มีการนำเข้าพลาสติกสกปรกมาก ซึ่งอาจนำไปสู่โรงงานรีไซเคิล หรือทำลายทิ้ง หรือไปสู่การรีไซเคิลที่ก่อให้เกิดมลพิษสูงมาก นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในประเทศไทย
ด้าน อัฎฐพร ฤทธิชาติ นักวิจัยร่วม มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมให้ข้อมูลว่า เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นพลาสติก มีพิกัดศุลกากรที่ 3915 ประกอบด้วยรายการย่อย ๆ หลายรายการ เช่น ในระบบฮาร์โมไนซ์ มีโพลิเมอร์ของเอทิลีน โพลิเมอร์ของสไตรีน โพลิเมอร์ของไวนิลคลอไรด์ และพลาสติกอื่น ๆ
ตัวเลขปริมาณการนำเข้าย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2014-2018 พบว่า มีการนำเข้าเศษพลาสติกสูงขึ้นมากในกลุ่มพลาสติกอื่น ๆ โดยปี 2018 เพิ่มขึ้น 850% หรือ 383,862 ตัน จากปี 2017 ที่มีเพียง 134,142 ตัน รองลงมา โพลิเมอร์ของเอทิลีนอื่น ๆ

โดยประเทศที่มีการส่งออกและปริมาณนำเข้ารวม 5 ปี จาก 81 ประเทศ รวม 906,521 ตัน อันดับ 1 ได้แก่ ญี่ปุ่น 270,174 ตัน (30%) รองลงมา คือ ฮ่องกง 159,903 ตัน (18%) สหรัฐฯ 147,828 ตัน (16%) ออสเตรเลีย 70,423 ตัน (8%) จีน 68,478 ตัน (8%) นอกจากนี้ยังมีแคนาดา สเปน นิวซีแลนด์ เม็กซิโก อินโดนีเซีย เป็นต้น
เมื่อดูความแตกต่างของแต่ละปีเกี่ยวกับปริมาณที่แต่ละประเทศส่งเข้ามาในไทยมีปริมาณมากน้อยต่างกันแค่ไหน จะเห็นว่า ปี 2014 ถึง 2016 แทบไม่แตกต่างกันมากนัก ยกเว้น 2 ปีหลัง คือ 2017-1018 ที่มีญี่ปุ่น ฮ่องกง และสหรัฐฯ ส่งเข้ามาในไทยจำนวนมาก ช่วงผ่านมามีการนำเข้าเศษพลาสติกต่าง ๆ นั้น บางครั้งถูกจัดเป็นของกลาง บางครั้งไม่มีผู้นำเข้ามารับของออกไป ทำให้กลายเป็นของตกค้างที่ท่าเรือ ซึ่งท่าเรือจะนำออกมาประมูล
ทีมวิจัยมีโอกาสตรวจสอบประกาศการขายทอดตลาดของท่าเรือแหลมฉบัง พบว่า มีสถิติการนำเศษและเศษตัดพลาสติกใช้แล้วมาขายทอดตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะ 2 ปีหลัง คือ ปี 2018 จำนวน 2,508 ตัน และ 2019 (ม.ค.-พ.ค.) จำนวน 9,860 ตัน
ที่น่าสนใจ คือ เศษและเศษตัดพลาสติกใช้แล้วที่มีการประมูลก่อนหน้านี้ ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ภายในโรงงานในประเทศ แต่ในปี 2019 ท่าเรือมีการประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ คือ เศษและเศษตัดพลาสติกใช้แล้วที่ประมูลได้ ต้องส่งออกภายนอกประเทศเท่านั้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการขยายตัวของโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลเกี่ยวกับพลาสติกประมาณ 6,000 แห่ง ซึ่งอยู่ใน จ.สมุทรสาคร มากที่สุด กว่า 1,000 แห่ง รองลงมาคือ จ.สมุทรปราการ กว่า 800 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น