xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.10-30.40 ตัด GSP ซ้ำเติมส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.10-30.40 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ 30.18 ต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่ 31 พ.ค.2556 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 4.3 พันล้านบาท และ 3.3 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนเงินยูโรยังเผชิญแรงกดดันหลังข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่ย่ำแย่

ทั้งนี้ ตลาดโลกจะจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 29-30 ต.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ โดยนักลงทุนจะรอดูสัญญาณจากเฟดเพื่อประเมินนโยบายในระยะถัดไป หากเฟดแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าที่คาด แนวโน้มขาลงของค่าเงินดอลลาร์จะถูกจำกัด และสหรัฐฯ จะประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 และการจ้างงานในสัปดาห์นี้ รวมถึงความคืบหน้าการเจรจาการค้าหลังมีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่การค้าของสหรัฐฯ และจีนใกล้ที่จะจัดทำข้อตกลงเบื้องต้นแล้วเสร็จ นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และประเด็นรัฐสภาของสหราชอาณาจักรจะตัดสินใจเรื่องข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ในการจัดการเลือกตั้งใหม่ หลังสหภาพยุโรป (อียู) มีมติเลื่อนเส้นตาย Brexit ออกไปจาก 31 ต.ค. แต่ไม่ได้กำหนดเส้นตายใหม่

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าตลาดจะระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับท่าทีของทางการหลังเงินบาททดสอบระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่เผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนท่ามกลางการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำมากเป็นเวลานานของประเทศพัฒนาแล้ว โดยธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ต้องทำตามประเทศพัฒนาแล้วในการชะลอเวลาปรับนโยบายการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ท่าทีดังกล่าวสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 1.25% ในการประชุมวันที่ 6 พ.ย. และจะคงไว้ตลอดปี 2563 ส่วนประเด็นสหรัฐฯ ประกาศจะตัดสิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากรทางการค้า (GSP) คาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกอย่างจำกัดแต่ถือเป็นการซ้ำเติมแรงส่งเชิงลบในภาคธุรกิจส่งออกจากภาวะการค้าโลกชะลอตัวและเงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินคู่แข่งและคู่ค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น