รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – ประเทศไทยในฐานะประธานวาระปัจจุบันของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกคำแถลงในวันอาทิตย์ (3 พ.ย.) ระบุว่า บรรดาชาติอาเซียนให้คำมั่นผูกพันที่จะลงนามใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (RCEP) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า อันจะเป็นการรวมกลุ่มทางการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ถึงแม้ว่าหลังจากที่อินเดียออกมาตั้งข้อเรียกร้องใหม่ๆ ได้ทำให้การทำข้อตกลงฉบับนี้ซึ่งได้รับการหนุนหลังอย่างแข็งขันจากจีน ต้องมีอันสะดุดไม่สามารถสรุปร่างสุดท้ายกันในภายในปีนี้ได้
ระหว่างการประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯและนนทบุรีในคราวนี้ มีความหวังกันเป็นอย่างมากว่า 16 ประเทศซึ่งกำลังพูดคุยกันอยู่ จะสามารถสรุปการเจรจาต่อรองกันในเนื้อหาของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ได้ในปีนี้
ทว่าในคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในฐานะประธานของอาเซียน ซึ่งออกมาเมื่อคืนวันอาทิตย์ (3) ภายหลังการประชุมสุดยอดของบรรดาผู้นำอาเซียน ระบุว่า บรรดาผู้นำอาเซียนมีความยินดีต้อนรับการถึงบทสรุปของการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และความมุ่งมั่นผูกพันที่จะลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ในปี 2020
“นี่จะเป็นการสร้างคุณูปการอย่างสำคัญให้แก่ระบบการค้าระหว่างประเทศที่เปิดกว้าง, ที่ยินดีต้อนรับฝ่ายต่างๆ ให้เข้าร่วม, และที่อิงอยู่กับกฎกติกา และให้แก่การขยายตัวของห่วงโซ่แห่งมูลค่า” คำแถลงฉบับนี้ระบุ
แรงกระตุ้นใหม่ๆ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงฉบับนี้ ปรากฏขึ้นมาหลังจากที่สหรัฐฯกับจีนทำสงครามการค้ากัน ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ลดลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี
ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน ภายหลังการประชุมสุดยอดระหว่างนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน กับบรรดาผู้นำของสมาคมอาเซียน ได้มีการออกคำแถลงซึ่งตอนหนึ่งกล่าวว่า “การบรรลุการเจรจาจัดทำ RCEP ได้แต่เนิ่นๆ จะเป็นการวางรากฐานสำหรับการบูรณาการทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก”
อย่างไรก็ดี ในการประชุมสุดยอดอินเดีย-อาเซียน ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย กลับไม่ได้เอ่ยถึงการเจรจาจัดทำ RCEP เลยในคำปราศรัยเปิดการประชุมของเขา โดยพูดแต่เรื่องการศึกษาทบทวนข้อตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดียที่มีอยู่แล้ว
นอกจากนั้น ในทวิตเตอร์ที่โพสต์ภายหลังพบปะหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีของไทยและกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียในวันอาทิตย์เช่นกัน โมดีก็ไม่ได้เอ่ยถึงการร่วมกลุ่มทางการค้านี้ ซึ่งเหล่า 16 ประเทศที่กำลังเจรจากันอยู่มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก และมีประชากรรวมกันเกือบๆ เท่ากับครึ่งหนึ่งของพลโลก
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอินเดียผู้หนึ่ง กล่าวในการแถลงสรุปต่อสื่อมวลชนในเวลาต่อมาว่า “ขอให้ถามคำถามทั้งหมดเกี่ยวกับ RCEP ในวันพรุ่งนี้”
บรรดาชาติอาเซียนเคยตั้งความหวังกันเอาไว้ว่า อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะสามารถประกาศการบรรลุข้อตกลงชั่วคราวกันได้ในวันจันทร์ (4)
ทว่าอินเดียยังคงแสดงความกังวลในเรื่องที่ RCEP อาจทำให้สินค้าจีนไหลทะลักเข้าแดนภารตะ บุคคลซึ่งทราบเรื่องการเจรจาของฝ่ายอินเดียผู้หนึ่ง บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ถึง ข้อเรียกร้องใหม่ๆ ที่อินเดียยื่นเข้ามาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “ซึ่งยากที่จะทำตามได้”
ผลกระทบจากสงครามการค้า
โฆษกรัฐบาลไทย นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในวันอาทิตย์ (3) ว่า ทางผู้เจรจาเรื่องข้อตกลงฉบับนี้ได้ประชุมหารือกันจนกระทั่งถึงกลางคืนวันอาทิตย์ เพื่อพยายามทำข้อตกลงกัน
“เรายังไม่ได้มีข้อสรุปในตอนนี้ ทันทีที่มีข้อสรุป ก็จะมีการแถลงให้ทราบ” โฆษกผู้นี้บอก “บรรดารัฐมนตรีพาณิชย์ยังคงกำลังหารือกันถึงประเด็นปัญหาเด่นๆ สำหรับการลงนามนั้นคาดหมายว่าคงจะเป็นราวๆ เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า”
ก่อนหน้านั้น ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์นั้น ได้กล่าวว่า ทั้ง 16 ประเทศที่หารือเพื่อจัดตั้งกลุ่มการค้านี้ขึ้นมา ควรที่จะตกลงกันให้ได้ในปีนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ, การค้าและการลงทุน
นายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะประธานอาเซียน ยังเน้นย้ำถึงความเสี่ยงต่างๆ ของ “ความตึงเครียดทางการค้า” และ “การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์” ในภูมิภาคนี้
มีบางประเทศได้หยิบยกเสนอความเป็นไปได้ที่ประเทศอื่นๆ จะเดินหน้ากันไปโดยไม่มีอินเดีย ในการจัดตั้งกลุ่มการค้าซึ่งนอกจาก 10 ชาติสมาชิกอาเซียน แล้ว ยังจะรวมถึงจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์
แต่รัฐมนตรีพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ของไทย บอกกับรอยเตอร์ในวันอาทิตย์ว่า อินเดียไม่ได้ถอนตัวออกไป
ข้อดีอีกประการหนึ่งสำหรับบรรดาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการที่มีชาติซึ่งค่อนข้างใหญ่โตทรงอิทธิพลอย่างอินเดียเข้าร่วมในข้อตกลงการค้านี้ด้วยก็คือ จะทำให้จีนอยู่ในฐานะครอบงำลดน้อยลง
ในอีกด้านหนึ่ง การที่สหรัฐฯตัดสินใจส่งคณะผู้แทนระดับต่ำลงมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดปีนี้ ทำให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ว่า ไม่สามารถที่จะพึ่งพาอาศัยอเมริกันในการถ่วงดุลกับจีนซึ่งกำลังมีบารมีในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แทนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเดินทางมาร่วมประชุม หรืออย่างน้อยก็ส่งรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ มาแทนอย่างซัมมิตปีที่แล้ว ตัวแทนของสหรัฐฯกลับเป็นเพียงที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ โรเบิร์ต โอไบรอัน และรัฐมนตรีพาณิชย์ วิลเบอร์ รอสส์
โฆษกรัฐบาลไทยแถลงว่า การประชุมสุดยอดประจำปีสหรัฐฯ-อาเซียน คราวนี้ ทางฝ่ายอาเซียนนั้นแทนที่ผู้นำจากทั้ง 10 ชาติสมาชิกจะเข้าร่วม ก็จะมีผู้นำจากเพียง 3 ชาติเท่านั้นเข้าประชุมหารือกับกับคณะผู้แทนของสหรัฐฯ