เอเอฟพี - อินเดียในวันจันทร์(4พ.ย.) ระบุจะไม่เข้าร่วมในข้อตกลงการค้าอันกว้างใหญ่ไพศาลของเอเชีย กระพือความกังวลว่ามันจะส่งกระทบต่อเหล่าผู้ผลิตภายในประเทศอย่างไร และสร้างความผิดหวังครั้งใหญ่แก่ข้อตกลงนี้ที่มีปักกิ่งหนุนหลัง
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีจุดมุ่งหมายที่จะครอบคลุมเขตเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 30% ของจีดีพีโลกและครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งค่อนโลก อันประกอบไปด้วยกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศพร้อมกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
อย่างไรก็ตามอินเดียแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงตลาด โดยหวั่นเกรงว่าอุตสาหกรรมต่างๆภายในประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการไหลบ่าของสินค้าต่างๆที่ผลิตในจีนซึ่งมีราคาถูกกว่า
"เราได้สื่อสารถ่ายทอดถึงประเทศต่างๆที่เข้าร่วมว่า เราจะไม่เข้าร่วม RCEP" นางวิชัย ฐากุร ซิงห์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินเดียกล่าว "สิ่งที่ชี้นำการตัดสินใจของเราคือ ข้อตกลงนี้จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ปุถุชนทั่วไปของอินเดียและการทำมาหากินของประชาชน ในนั้นรวมถึงคนจนที่แร้นแค้นที่สุด" เธอกล่าว
การถอนตัวอันน่าตื่นตะลึงครั้งนี้เกิดขึ้นตามหลังการเจรจาอันเข้มข้น ณ เวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน ในกรุงเทพฯ ซึ่งปิดฉากลงไปในช่วงเย็นวันจันทร์(4พ.ย.)
เวทีประชุมครั้งนี้ถูกครอบงำโดยประเด็นการค้าทั้งหลาย โดยมี RCEP อยู่ในแถวหน้าและเป็นแก่นกลางของการหารือ ท่ามกลางสงครามการค้ารีดภาษีตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่คุกคามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
การตัดสินใจของอินเดียก่อความเสียหายใหญ่หลวงแก่ข้อตกลง อย่างไรก็ตามบรรดาชาติสมาชิกอื่นๆที่เหลือบอกว่าพวกเขามีเป้าหมายลงนามในข้อตกลงดังกล่าวในปีหน้า หลังได้พิจารณาทบทวนข้อกฎหมายในร่างเงื่อนไขต่างๆของข้อตกลงจนเห็นพ้องต้องกันในวันจันทร์(4พ.ย.)
ข่าวคราวดังกล่าวมีหลังการประชุมซัมมิตอาเซียนในกรุงเทพฯทั้งวัน โดยมีพวกผู้นำจากญี่ปุ่น, เกาหลีใต้และอินเดีย เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมด้วย
ส่วนคนสำคัญที่ขาดไปก็คือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ โดยเขาส่ง วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ โรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติเข้าร่วมแทน
เจ้าหน้าที่การค้าระดับสูงรายหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจรา เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ไม่ยอมเปลี่ยนความคิดเพียงเพราะเขาตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางการทูต แต่ทูตรายนี้ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่อินเดียจะกลับมาเข้าร่วมในภายหลัง หรือแม้กระทั่งได้มีการลงนามกันไปแล้ว หากว่าประเด็นค้างคาต่างๆได้รับการคลี่คลาย
เล่อ หยูเฉิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็สะท้อนมุมมองแบบเดียวกัน "เมื่อใดก็ตามที่อินเดียพร้อม พวกเขาจะเป็นที่ต้อนรับ" เขากล่าว
สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงเทพฯว่า "เนื้อหาของ RCEP เสร็จสิ้นแล้ว" ซึ่งหมายความการเจรจาได้จบลงแล้วโดยไม่มีอินเดียรวมอยู่ด้วย แต่เขายังกล่าวว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีอินเดียเข้ามาร่วม และแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น"