xs
xsm
sm
md
lg

7 ผู้นำอาเซียนบอยคอตไม่ร่วมประชุม หลังสหรัฐฯ ส่งแค่ จนท.ระดับรองคุยซัมมิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้เข้าร่วมประชุมซัมมิตอาเซียน-สหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ (4 พ.ย.) ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน โดยที่ผู้แทนของสหรัฐฯ ได้แก่ โรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว (ที่ 5 จากซ้าย) ส่วนทางฝ่ายอาเซียนนั้น ระดับนายกรัฐมนตรีที่เข้าร่วมมีเพียง 3 คน คือ นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิดของลาว (ที่ 4 จากซ้าย)
เอพี/เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - สื่อตะวันตกอย่างสำนักข่าวเอพีและสำนักข่าวเอเอฟพี พากันรายงานว่า ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนถึง 7 ราย บอกงดไม่เข้าร่วมการหารือครั้งสำคัญกับสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (4 พ.ย.) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ซึ่งกำลังจัดขึ้นในไทย โดยส่งเพียงเจ้าหน้าที่ระดับรองมาแทน

แทนที่จะเป็นประธานาธิบดีทรัมป์ สหรัฐฯได้ส่ง โรเบิร์ต โอไบรอัน ผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ มาร่วมการประชุมซัมมิตอาเซียนซึ่งกำลังจัดขึ้นในกรุงเทพฯ และนนทบุรี ความเคลื่อนไหวนี้ตรงกันข้ามกับพวกชาติพันธมิตรรายอื่นๆ ของกลุ่มภูมิภาคที่มีสมาชิก 10 ประเทศแห่งนี้ ซึ่งต่างจัดส่งประมุขรัฐบาลมาทั้งนั้น

พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันซึ่งกลัวว่าจะเกิดการบอยคอต ได้รบเร้าเหล่าผู้นำทั้งหมดของอาเซียนให้เข้าร่วมการหารือในรายการซัมมิตสหรัฐฯ-อาเซียนซึ่งมีขึ้นในวันจันทร์ (4) แต่เหล่าผู้นำอาเซียนตัดสินใจที่จะส่งระดับผู้นำของพวกตนเพียง 3 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้, นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม ในฐานะเจ้าภาพซัมมิตอาเซียนปีหน้า, และนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ของลาว ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เข้าประชุมกับโอไบรอัน สำหรับอีก 7 ประเทศอาเซียนที่เหลือนั้นส่งเพียงรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วม ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของนักการทูตชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้หนึ่งกับสำนักข่าวเอพี

รายงานข่าวของเอพีบอกว่า การประชุมซัมมิตประจำปีของอาเซียนเช่นนี้ เปิดทางให้เหล่าผู้นำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ติดต่อรับมือกับพวกมหาอำนาจสำคัญของโลกในฐานะที่เป็นกลุ่มก้อน ซึ่งเพิ่มพูนอิทธิพลของพวกตนในเรื่องการดำเนินการด้านความมั่นคงและการค้า โดยที่ภูมิภาคซึ่งทรงความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์แห่งนี้กำลังกลายเป็นเวทีแข่งขันชิงดีกันระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตน ซึ่งต่างหาทางเพิ่มอิทธิพลบารมีของตน

การที่ทรัมป์ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมซัมมิตกับผู้นำชาติต่างๆ เหล่านี้ อีกทั้งไม่ส่งรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ หรือกระทั่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ มา เอพีชี้ว่าทำให้เกิดสุญญากาศทางการทูตมาให้พวกผู้นำโลกคนอื่นๆ เข้าเติมเต็ม เป็นต้นว่า นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น, นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน

“ผมเดาเอาว่าพวกผู้นำอาเซียนจะเข้าร่วมการประชุม เมื่อผู้ที่มีฐานะเดียวกันกับพวกเขาเข้าร่วมด้วย” รัฐมนตรีคลัง คาร์ลอส โดมิงเกซ ของฟิลิปปินส์ บอกกับพวกผู้สื่อข่าว “มันเป็นแค่เรื่องของความสมดุลที่เหมาะสมเท่านั้นเอง”

ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีก็อ้างนักการทูตในกรุงเทพฯผู้หนึ่งที่กล่าวว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่อาเซียนจะส่งเหลาผู้นำเข้าร่วม ขณะที่ตัวแทนของฝ่ายสหรัฐฯไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน

เอเอฟพียังอ้างนักการทูตอีกผู้หนึ่งที่กล่าวว่า “มันไม่ใช่การบอยคอตต์ มันป็นเพียงเรื่องที่ว่าพวกผู้นำคนอื่นๆ มีการประชุมอื่นๆ ที่จะต้องเข้าร่วม”

ระหว่างการประชุมครั้งนี้ โอไบรอันได้อ่านจดหมายจากทรัมป์ ซึ่งเชื้อเชิญบรรดาผู้นำอาเซียนให้เข้าร่วม “การประชุมซัมมิตพิเศษ” ในสหรัฐฯต้นปีหน้า

ในการประชุมคราวนี้ ไอไบรอันได้ถือโอกาสแขวะจีนโดยระบุว่า ปักกิ่งใช้การข่มขู่เพื่อพยายามหยุดยั้งไม่ให้ชาติอาเซียนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรนอกชายฝั่งของประเทศเหล่านั้น เช่น การปิดกั้นการเข้าถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองมูลค่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎของการเคารพ ความยุติธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศ

เขายังย้ำว่า ภูมิภาคนี้ไม่ต้องการยุคจักรวรรดินิยมใหม่ที่ประเทศใหญ่สามารถปกครองประเทศอื่นๆ ภายใต้ทฤษฎีอำนาจคือความถูกต้อง และอเมริกาจะช่วยเหลือพันธมิตรในการปกป้องอธิปไตยของตนเอง

ในเวลาต่อมา เมื่อถูกสอบถามถึงการวิจารณ์เช่นนี้ของสหรัฐฯ เล่อ อี้ว์เฉิง รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวว่า มีประเทศภายนอกบางรายกำลังพยายาม “ก้าวก่าย” ในเรื่องทะเลจีนใต้

“ประเทศที่ไม่ได้อยู่ในภูมิภาคนี้บางราย ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับน่านน้ำอันสงบในทะเลจีนใต้ได้ และได้พยายามเข้ามาทางนี้เพื่อก่อให้เกิดคลื่นขึ้นมา” เขากล่าว

ทางด้านโอไบรอันก็ได้ตอบโต้กลับไปว่า “เรามาเสมอเมื่อเราได้รับเชิญ ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ”



สำหรับอเมริกานั้น นอกจากโอไบรอันแล้ว ยังมีวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์ ที่เดินทางมาไทยเช่นกัน โดยรับภารกิจทางด้านการค้า

รอสส์กล่าวในที่ประชุมอินโด-แปซิฟิก บิสซิเนส ฟอรัม ที่ประกอบด้วยผู้บริหารธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐบาลราว 1,000 คนว่า คณะบริหารของทรัมป์ยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการมีส่วนเกี่ยวพันกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ที่ประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของอเมริกาที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์กับอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในแถบชายฝั่งแปซิฟิกอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อคานอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารของจีน และผู้จัดงานประชุมนี้ระบุว่า ตำแหน่งงาน 3.4 ล้านตำแหน่งในอเมริกาอิงกับการส่งออกไปยังเอเชีย ขณะที่การค้ากับอินโด-แปซิฟิกมีมูลค่าถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น