ผู้จัดการรายวัน360-"บิ๊กตู่"ผนึกผู้นำอาเซียนและคู่เจรจา ประกาศความสำเร็จการเจรจา "อาร์เซ็ป" เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังเจรจายาวนานกว่า 7 ปี มาจบได้ช่วงไทยเป็นประธานอาเซียน พร้อมส่งไม้ต่อเวียดนามเป็นประธานปีหน้า นายกฯ ญี่ปุ่นชมบทบาทการเป็นประธานอาเซียนของไทย พร้อมร่วมมือส่งเสริม SMEs และ Startup ด้านอาเซียน+3 เตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านการค้า เศรษฐกิจ "ทรัมป์"ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม ยาหอมเชิญอาเซียนถกที่สหรัฐฯ ปีหน้า เจอผู้นำอาเซียน 7 ชาติไม่คุยด้วย นายกฯ ย้ำเวทีสุดยอดเอเชียตะวันออก 18 ชาติหากร่วมมือกัน เชื่อวินวินทุกฝ่าย เตรียมต้อนรับ "หลี่ เค่อเฉียง"วันนี้ "จุรินทร์"ย้ำกำลังแก้ปัญหาสหรัฐฯ ตัดจีเอสพี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยในพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง วานนี้ (4 พ.ย.) ว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ภายใต้แนวคิดหลัก คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งมุ่งหวังให้อาเซียนก้าวสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ตลอดจนสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ
ทั้งนี้ ความร่วมมือของอาเซียนที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 4 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ประชาชนจะมีความมั่นคงที่ยั่งยืนมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการแข่งขันและความไม่แน่นอนสูง โดยอาเซียนได้วางรากฐานความไว้เนื้อเชื่อใจในเชิงยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืน เป็นพื้นฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ได้นำหลักการภายใต้สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) มาใช้ในบริบทที่กว้างขึ้น และผู้นำอาเซียนยังได้รับรองเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และจัดตั้งกลไกแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ เพื่อช่วยเหลือในเรื่องการส่งกลับผู้พลัดถิ่น
ประการที่ 2 ความร่วมมือของอาเซียนในปีนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและลดผลกระทบจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน โดยการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ตามแถลงการณ์ร่วมของผู้นำเกี่ยวกับอาร์เซ็ป เป็นการผลึกกำลังของกลุ่มประเทศซึ่งมี GDP รวมกันร้อยละ 32 ของโลก มีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึงร้อยละ 30 ของการค้าโลก โดยอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดเพิ่มขึ้น และยังมีการเชื่อมโยง ASEAN Single Window ให้ครบทั้ง 10 ประเทศในปีนี้ การริเริ่มการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อต่อต้านการประมง IUU และการจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน จะทำให้ผู้ประกอบการในอาเซียนได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการผลักดันยุทธศาสตร์เชื่อมโยงความเชื่อมโยง ซึ่งอาเซียนได้ประกาศโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน 19 โครงการ ที่ธนาคารโลกได้พิจารณาเห็นว่ามีศักยภาพที่ภาครัฐและเอกชนน่าจะมีความสนใจร่วมลงทุน
ประการที่ 3 อาเซียนให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือในประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ การต่อต้านขยะทะเล , การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ , การส่งเสริมสิทธิต่างๆ ของเด็กและเยาวชน , การเสริมสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียน และการสนับสนุนให้อาเซียนร่วมกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ในปี 2577 เพื่อให้ชาวอาเซียนมีความภาคภูมิใจต่อความเป็นอาเซียนร่วมกัน
ประการที่ 4 ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและระหว่างภาคีภายนอกของอาเซียนจะช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนในภูมิภาค โดยผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันรับรองเอกสารวิสัยทัศน์ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนสำหรับเป็นแนวทางการสานต่อความยั่งยืนในทุกมิติ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวเชื่อมั่นว่า เวียดนามจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมเน้นย้ำถึงการสร้างความยั่งยืนในอาเซียนต่อจากนี้ ซึ่งจำเป็นต้องมี 3Cs ได้แก่ 1.Continuity 2.Complementarity และ 3.Creativity พร้อมกับอวยพรให้เวียดนามและอาเซียนประสบความสำเร็จต่อไปในปีหน้า จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้มอบฆ้อนสัญลักษณ์การเป็นประธานอาเซียนให้กับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม พร้อมทั้งสวมกอดเพื่อส่งมอบตำแหน่ง ท่ามกลางเสียงปรบมือของประเทศสมาชิก
***ปิดฉากอาร์เซ็ปสำเร็จหลังคุยมา 7 ปี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุมอาร์เซ็ป เพราะตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ไทยได้ทำงานร่วมกับสมาชิกอาร์เซ็ปอีก 15 ประเทศอย่างหนักและผลักดันให้การเจรจาคืบหน้าจนในวันนี้ผู้นำสามารถร่วมประกาศความสำเร็จสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดได้ตามเป้าที่ผู้นำอาร์เซ็ปตั้งไว้
"ในการประชุมผู้นำอาร์เซ็ปครั้งนี้ ได้ร่วมออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า "สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศสามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ สมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป"
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปในปีนี้ ไทยได้แสดงบทบาทนำอย่างต่อเนื่องในการเป็นตัวกลางประสานระหว่างประเทศ จากเมื่อต้นปีสำเร็จแค่ 7 บทจาก 20 บท เมื่อไทยรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนได้เร่งขับเคลื่อนการเจรจาให้จบในปีนี้สำเร็จได้เพิ่มอีก 13 บท ทำให้จบทั้ง 20 บทได้ในปีที่ไทยเป็นประธาน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและการสนับสนุนจากสมาชิกอื่นมาตลอดทั้งปี ซึ่งหากความตกลงอาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้จะถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันเท่าที่มีมา อีกทั้งจะมีความทันสมัยที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้ายุคใหม่ทั้งเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคได้ ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะเดียวกันก็จะรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับอาร์เซ็ป เริ่มเจรจากันมาตั้งแต่เดือนพ.ค.2556 จนถึงปัจจุบันใช้เวลาไปแล้วกว่า 7 ปี ซึ่งการเจรจาได้บรรลุผลสำเร็จในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้
***ญี่ปุ่นชื่นชมบทบาทประธานอาเซียนของไทย
วันเดียวกันนี้ ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ ได้พบปะหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยนายกฯ กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ได้มาเยือนไทยในรอบ 6 ปี และยินดีที่อาเซียนและญี่ปุ่น บรรลุการเจรจาถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่าด้วยความเชื่อมโยง และหวังว่าอาเซียนจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม
ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชื่นชมบทบาทการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย และจะเดินหน้าร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาประเด็นท้าทายสำคัญในภูมิภาค
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศ ต่างยินดีต่อความร่วมมือในการส่งเสริม SMEsและ Startupsโดยมีการการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ และ Startupsของไทยและญี่ปุ่น จำนวน 6 ฉบับ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2562 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการจัดตั้ง Startups ที่มีนวัตกรรมของรัฐบาลไทย ภายใต้โครงการ Innospace (Thailand) รวมทั้งความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ในการพัฒนาประเทศที่ 3 โดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ ก่อนจบการหารือ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อวยพรให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกใน ปี 2563
***เรียกร้องอาเซียน+3 รับมือความท้าทาย
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนบวก 3 ครั้งที่ 22 ซึ่งประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศกับจีน เกาหลี และญี่ปุ่น โดยนายกฯ ได้ขอให้อาเซียนบวก 3 เตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบัน ทั้งการแข่งขันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 รวมทั้งขอให้สนับสนุนการเชื่อมโยงในภูมิภาค และการสร้างความยั่งยืนในภูมิภาค โดยเฉพาะขอให้สนับสนุนการจัดตั้ง "ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน" และ "ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม" ที่ไทย
***ผู้นำอาเซียนเมินพบผู้แทน "ทรัมป์"
ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นประธานในการพบปะหารือกับนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ไม่ได้มีฐานะเป็นผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้ผู้นำอาเซียน 7 ชาติ คือ กัมพูชา เมียนมา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ไม่เข้าร่วมการประชุม จึงมีเพียงพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะเจ้าภาพ นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรี เวียดนาม ที่จะทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปีหน้า และนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-สหรัฐฯ เท่านั้น
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ซึ่งช่วยให้อาเซียนได้พัฒนาเป็นประชาคมที่มีพลวัต และความเจริญรุ่งเรือง
นายโรเบิร์ต กล่าวตอนหนึ่งว่า ผู้นำสหรัฐฯ ขอเชิญผู้นำอาเซียนร่วมประชุมเป็นกรณีพิเศษ ที่อเมริกาในปีหน้า พร้อมทั้งยืนยันรัฐบาลวอชิงตันไม่มีทางทอดทิ้งภูมิภาคแห่งนี้
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ เชิญชวนนักลงทุนสหรัฐฯ ให้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค รวมถึงสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
***พร้อมร่วมมือทั้งในและนอกอาเซียน
ในช่วงเกือบเที่ยง นายกรัฐมนตรี ได้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ สหประชาชาติ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน และกรรมการผู้จัดการองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้โอกาสนี้เสนอ 3 ประเด็นสำคัญให้ที่ประชุม ได้แก่ 1.อาเซียนควรเสริมสร้างแรงกระตุ้นในการดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค และต่อยอดจากการดำเนินกิจกรรมของศูนย์อาเซียน เพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการดำเนินการตามโรดแมปความเกื้อกูล 2.การสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในระดับรากหญ้า และ 3.การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียนจะต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคีภายนอก
โดยในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ความร่วมมือและความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน และความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอกของอาเซียน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนประจักษ์ผลเป็นรูปธรรม
***นายกฯ ขอ 18 ชาติร่วมมือเชื่อวินวิน
ในช่วงบ่าย นายกฯ ได้เป็นประธานการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS) ครั้งที่ 14 ซึ่งประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐฯ โดยนฤมล กล่าวสรุปผลการหารือว่า นายกฯ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก พร้อมย้ำว่า EAS เป็นเสาหลักของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของภูมิภาคและโลก และอยู่ในจุดสูงสุดของโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ทำให้ EAS มีความสำคัญและมีบทบาทในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ไทยได้ให้ความสำคัญกับ EAS ในการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือกับความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืน โลกาภิวัฒน์และการเชื่อมโยงกันในมิติต่าง ๆ นำมาซึ่งโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงในรูปแบบต่างๆ ที่พร้อมกับความเชื่อมโยง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีขอบคุณและขอความร่วมมือผู้นำทุกคนในการขับเคลื่อน EAS เพื่อเพิ่มพูนความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์ และแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (win-win solution) และสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่าง EAS กับกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่ในภูมิภาค
***อาเซียน-ญี่ปุ่นเดินหน้าร่วมมือ
ต่อมาได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีกับญี่ปุ่นสำหรับรัชสมัย "เรวะ" และกล่าวต้อนรับสู่การประชุม โดยมั่นใจว่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมย้ำว่า ประสงค์ที่จะเห็นความยั่งยืนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนของอาเซียนและญี่ปุ่น และเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค
ในโอกาสนี้ นายกฯ ได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่สนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทย สนับสนุนข้อริเริ่มที่เกี่ยวกับความยั่งยืน และสนับสนุนศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม , คลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียน และศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงความร่วมมือในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงสีเขียว ทั้งกับอาเซียนและกับอนุภูมิภาค รวมถึงกรอบ ACMECS และหวังว่าจะเห็นโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ ความเชื่อมโยงความร่วมมือทางทะเล และการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกลไกที่มีอาเซียนเป็นแกนนำ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของภูมิภาค
***"บิ๊กตู่"ต้อนรับ "หลี่ เค่อเฉียง"ยิ่งใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5พ.ย.) รัฐบาลไทยโดยพล.อ.ประยุทธ์ จะให้การต้อนรับ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 10.10 น. ก่อนจะมีการหารือข้อราชการเต็มคณะ ที่ตึกภักดีบดินทร์ และภายหลังการหารือ จะเชิญนายกรัฐมนตรีจีนไปยังตึกสันติไมตรีหลังใน เพื่อเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างไทย-จีน จากนั้นจะมีการแถลงข่าวร่วมกัน และนายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันให้แก่นายกรัฐมนตรีจีนและคณะ
ทั้งนี้ วันเดียวกันนี้ นาง Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะเข้าเยี่ยมคารวะ และพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรี ที่ห้องรับรอง ตึกบัญชาการ 1
***"จุรินทร์"เร่งแก้ปัญหาถูกตัดจีเอสพี
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากรณีสหรัฐฯ ระงับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ว่า เป็นเรื่องที่จะต้องมีการเจรจากันต่อไป โดยจะมีการหารือกันในระดับฝ่ายปฏิบัติ ระดับทูตพาณิชย์ไทยในวอชิงตัน และทูตแรงงาน ที่จะคุยกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ต่อไป ส่วนการรับมือ ขณะนี้วอร์รูมพาณิชย์ได้มีการหารือกับภาคเอกชนที่ถูกตัดจีเอสพีแล้ว พบว่า ในสินค้าที่ถูกตัดและยังมีการใช้สิทธิจีเอสพีอยู่กว่า 300 รายการ อาจจะแบ่งเป็นหมวดเขียว เหลือง แดง ซึ่งจะมีหมวดที่กระทบน้อยหรือไม่กระทบเลย เช่น ภาษีจาก 0% เป็น 0.01% และที่กระทบมาก จึงต้องสรุปและจะได้หาทางคลี่คลายปัญหา