เอเจนซีส์ – อเมริกาแจ้งยูเอ็นอย่างเป็นทางการเพื่อถอนตัวจากข้อตกลงปารีสซึ่งจะมีผลในปีหน้า และทำให้อเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่เป็นภาคีข้อตกลงแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับผลกระทบของปัญหาโลกร้อน ขณะที่มีหลายเสียงประณามทรัมป์ใช้วิกฤติโลกร้อนสังเวยความโลภทางการเมือง
สหรัฐฯ ส่งจดหมายขอถอนตัวต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันจันทร์ (4 พ.ย.) ซึ่งถือเป็นวันแรกที่สามารถทำได้ภายใต้ข้อตกลงที่ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้เจรจาไว้
อเมริกาจะถอนตัวจากข้อตกลงปารีสอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2020 หรือหนึ่งวันหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ คาดหวังว่า จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง
ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศข่าวนี้พร้อมย้ำเหตุผลของทรัมป์ในปี 2017 ว่า ข้อตกลงปารีสทำให้ธุรกิจอเมริกันเสียเปรียบ อเมริกาจะสนับสนุนรูปแบบที่เป็นจริงและปฏิบัติได้ ซึ่งรวมถึงพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่จะยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป
แถลงการณ์ยังระบุว่า อเมริกาอยู่ระหว่างการวางแผนเข้าร่วมการเจรจาว่าด้วยสภาพภูมิอากาศที่ย้ายจากชิลีไปจัดที่สเปนในเดือนนี้ นอกจากนั้น พอมเพโอยังแจงว่า อเมริกาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 13% นับจากปี 2005-2017 โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจมีการขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2017 กลับเดินหน้าผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพยายามขัดขวางรัฐต่างๆ ที่ยกระดับมาตรการเข้มงวดขึ้น เช่น ขัดขวางแคลิฟอร์เนียไม่ให้ยกระดับมาตรฐานการปล่อยไอเสียรถ และผลักดันให้รัฐต่างๆ กำหนดมาตรฐานของตนเองเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน
รายงานประจำปีนี้ของกระทรวงยุติธรรมระบุว่า การผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของทรัมป์อาจทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซไอเสียของอเมริกาเพิ่มขึ้นปีละกว่า 200 ล้านตันในปี 2025
โรเบิร์ต เมเนนเดซ สมาชิกระดับนำของพรรคเดโมแครตในคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์วุฒิสภา วิจารณ์ว่า นี่เป็นอีกครั้งที่คณะบริหารทรัมป์ทำพฤติกรรมหยาบคายต่อพันธมิตรของอเมริกา เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริง และเบี่ยงเบนความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดมาเป็นประเด็นทางการเมือง
อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ จากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญ ประณามการตัดสินใจของทรัมป์ว่าใช้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกมาสังเวยความโลภของตัวเอง และบอกด้วยว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ สามารถกลับเข้าเป็นภาคีข้อตกลงปารีสได้ภายใน 30 วัน
บรรดาผู้สมัครเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เป็นตัวเก็งทั้งหมดต่างให้สัญญาว่า จะกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสหากสามารถโค่นทรัมป์สำเร็จ
แอนดรูว์ ไลต์ นักวิชาการอาวุโสของสถาบันทรัพยากรโลก และอดีตที่ปรึกษาของผู้แทนสหรัฐฯ ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศในยุคโอบามา ระบุว่า การถอนตัวครั้งนี้อาจตอบสนองความต้องการทางการเมืองของคณะบริหารทรัมป์ แต่บั่นทอนอิทธิพลของอเมริกาในเวทีโลก
ข้อตกลงปารีสกำหนดเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส (3.6 องศาฟาเรนไฮต์) จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นักวิจัยระบุว่า มีความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงที่สุดจากภาวะโลกร้อน เช่น สภาพแห้งแล้ง น้ำท่วม และพายุที่รุนแรงขึ้น
คณะบริหารของโอบามาลงนามเข้าร่วมข้อตกลงปารีสในปี 2015 โดยให้สัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 26-28% จากระดับปี 2005 ภายในปี 2025
ทางด้านประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แสดงความเสียใจต่อข่าวนี้ ระบุการตัดสินใจของทรัมป์ตอกย้ำความจำเป็นที่ปารีสและปักกิ่งจะต้องร่วมมือกันในด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ
ทั้งนี้ มาครงอยู่ระหว่างการเยือนจีน ซึ่งเจ้าหน้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการของภาวะโลกร้อนสูงสุดในโลก
รายงานระบุว่า ผู้นำฝรั่งเศสจะร่วมลงนามข้อตกลงดังกล่าวกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนในวันพุธ (6 พ.ย.) ซึ่งจะครอบคลุมข้อความ “ข้อตกลงปารีสที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้”
การตัดสินใจของทรัมป์ไม่ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์โดมิโนแบบที่บางคนกังวลกันว่า อาจทำให้ประเทศอย่างบราซิลและออสเตรเลียถอนตัวตาม
ทรัมป์โจมตีข้อตกลงปารีสว่า เป็นข้อตกลงของอภิสิทธิ์ชน และประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนี้โดยระบุว่า ตนเองได้รับเลือกตั้งมาเป็นตัวแทนของชาวพิตส์เบิร์ก ไม่ใช่ชาวปารีส
การสำรวจความคิดเห็นเมื่อเดือนที่แล้วของหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ พบว่าแม้แต่ในพรรครีพับลิกันยังต่อต้านจุดยืนของทรัมป์ในเรื่องนี้ โดยมีถึง 60% เห็นด้วยกับฉันทามติของนักวิจัยที่ว่ากิจกรรมของมนุษย์คือสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ