สหรัฐฯ ประกาศสัปดาห์นี้ว่าได้แจ้งต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อย่างเป็นทางการเพื่อขอถอนตัวออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ข้อตกลงสากลซึ่งมีเป้าหมายต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขณะที่นานาชาติรุมวิจารณ์ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริง และกำลังใช้วิกฤติโลกร้อนสังเวยความโลภทางการเมือง
การเดินหน้าถอนตัวของสหรัฐฯ มีขึ้นท่ามกลางข้อมูลสถิติที่ยืนยันว่า เดือน ก.ย. ที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกพุ่งแตะระดับเกือบจะสูงที่สุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
จดหมายของวอชิงตันถูกส่งถึงยูเอ็นเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ซึ่งเป็นวันแรกที่สามารถทำได้ภายใต้ข้อตกลงที่อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้เจรจาไว้ ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่แสดงความจำนงถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ซึ่งการถอนตัวนี้จะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 พ.ย. ปี 2020 หรือเพียง 1 วันหลังศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่ง ทรัมป์ คาดหวังว่าจะรั้งตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เป็นสมัยที่ 2
ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาประกาศข่าวดังกล่าว พร้อมย้ำเหตุผลที่ ทรัมป์ เคยพูดไว้เมื่อปี 2017 ว่า ข้อตกลงปารีสทำให้ภาคธุรกิจอเมริกันเสียเปรียบ
“อเมริกาเป็นชาติที่จะสูญเสียจากมาตรการควบคุมนี้” พอมเพโอ ให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์บิสสิเนส “มันเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมเอาเสียเลยต่อชาวอเมริกันและแรงงานอเมริกัน”
พอมเพโอ ยืนยันว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะเสนอ “โมเดลที่ปฏิบัติได้จริง” ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ก็จะยังไม่ทิ้งเชื้อเพลิงฟอสซิล
ข้อตกลงปารีสกำหนดเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส (3.6 องศาฟาเรนไฮต์) จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นักวิจัยระบุว่ามีความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงที่สุดจากภาวะโลกร้อน เช่น สภาพแห้งแล้ง น้ำท่วม และพายุที่รุนแรงขึ้น
คณะบริหารของโอบามาลงนามเข้าร่วมข้อตกลงปารีสในปี 2015 โดยให้สัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 26-28% จากระดับปี 2005 ภายในปี 2025
ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศสพยายามเกลี้ยกล่อม ทรัมป์ ไม่ให้นำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงฉบับนี้ ทว่าก็ไม่เป็นผล
“เรารู้สึกเสียใจกับการกระทำของสหรัฐฯ และมันจะทำให้ความเป็นหุ้นส่วนด้านสภาพอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างฝรั่งเศสและจีนกลายเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น” ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสแถลงระหว่างที่ มาครง ไปเยือนแดนมังกร
ทางด้านจีนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลกก็ระบุว่า “เสียใจ” กับท่าทีของวอชิงตันเช่นกัน
“เราหวังว่าสหรัฐฯ จะแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ และมีส่วนในการเป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือพหุภาคี แทนที่จะเป็นตัวเสริมพลังด้านลบ” เกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุ
มาครง และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนประกาศคำแถลงร่วมในวันพุธ (6) ยืนยันสนับสนุนข้อตกลงปารีสซึ่งทั้ง 2 ชาติเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ “ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” (irreversible) และเป็นเสมือนเข็มทิศนำทางในการแก้ปัญหาโลกร้อน
ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เตือนว่า การถอนตัวของสหรัฐฯ จะบั่นทอนข้อตกลงปารีสอย่างร้ายแรง “เมื่อปราศจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก มันก็ยากยิ่งที่จะกล่าวถึงข้อตกลงใดๆ ที่ว่าด้วยสภาพอากาศ”
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า อเมริกาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 13% ระหว่างปี 2005-2017 โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เมื่อ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2017 เขาก็เดินหน้าผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม และยังพยายามขัดขวางไม่ให้รัฐต่างๆ ใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น เช่น ขัดขวางรัฐแคลิฟอร์เนียไม่ให้ยกระดับมาตรฐานการปล่อยไอเสียรถ และผลักดันให้รัฐต่างๆ สามารถกำหนดมาตรฐานของตนเองเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น
โรเบิร์ต เมเนนเดซ ผู้นำ ส.ว.เดโมแครตในคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา ระบุว่า นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลทรัมป์หันหลังให้ชาติพันธมิตร มองข้ามข้อเท็จจริง และนำเอาวิกฤตสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่สุดของโลกมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะที่อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ จากพรรคเดโมแครตก็ประณามการตัดสินใจของทรัมป์ แต่ย้ำว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่มีสิทธิ์ที่จะนำอเมริกากลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสได้ภายใน 30 วัน
“ไม่มีบุคคลหรือพรรคการเมืองใดสามารถหยุดยั้งโมเมนตัมของการแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศได้ และคนที่พยายามขัดขวางก็จะถูกจดจำว่าเป็นพวกหลงระเริง สมรู้ร่วมคิด และนำความอยู่รอดของโลกมาสังเวยความโลภของตัวเอง” กอร์ กล่าว
อย่างไรก็ดี การตัดสินใจของสหรัฐฯ ไม่ได้กระตุ้นให้บางประเทศ เช่น ออสเตรเลียและบราซิล แห่ถอนตัวเป็น ‘โดมิโน เอกเฟ็กต์’ เหมือนอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ โดยประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู แห่งบราซิลซึ่งได้ฉายาว่า ‘ทรัมป์แห่งละตินอเมริกา’ และงัดข้อกับนักสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ยังคงชะลอคำขู่ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส เนื่องจากเป็นเงื่อนไขในข้อตกลงการค้าที่บราซิลจะทำร่วมกับสหภาพยุโรป
ผู้นำสหรัฐฯ วิจารณ์ข้อตกลงปารีสว่าเป็นข้อตกลงของ “อภิสิทธิ์ชน” และบอกว่าตนเอง “ได้รับเลือกตั้งมาเป็นตัวแทนของชาวพิตส์เบิร์ก ไม่ใช่ปารีส”
สตีเวน วินเบิร์ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีพลังงานสหรัฐฯ ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล ระบุเมื่อวันอังคาร (5) ว่า สหรัฐฯ มี “เทคโนโลยีอันทันสมัย” ซึ่งสามารถรับมือปัญหาสภาพอากาศได้ พร้อมย้ำว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลจะยังคงเป็นเสาหลักของรัฐบาลและธุรกิจอเมริกันต่อไป โดยทั่วโลกสมควรดูอเมริกาเป็นแบบอย่าง
ผลสำรวจความคิดเห็นโดยหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เมื่อเดือน ต.ค. พบว่า แม้แต่คนในพรรครีพับลิกันเองก็ยังต่อต้านจุดยืนของทรัมป์ในเรื่องนี้ โดยมีถึง 60% ที่เห็นด้วยกับฉันทามติของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่ากิจกรรมของมนุษย์คือต้นเหตุทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง