xs
xsm
sm
md
lg

Back to the Future ภาคพิสดาร (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


เหมืองแร่ลิเธียมในโบลิเวีย
ในพื้นที่รอยต่อระหว่าง 3 ประเทศในอเมริกาใต้...คือระหว่างประเทศอาร์เจนตินา ชิลี และโบลิเวียนั้น ถูกเรียกขานกันในนาม “สามเหลี่ยมลิเธียม” (Lithium Triangle) มานานแล้ว อันเนื่องมาจากเป็นพื้นที่ที่เชื่อๆ กันว่าเต็มไปด้วย “แร่ลิเธียม” อย่างชนิดมากมายมหาศาล แต่ถ้าว่ากันถึงบรรดาประเทศที่เป็น “ผู้ผลิตลิเธียม” ส่งออกไปยังตลาดโลกในทุกวันนี้ กลับเป็นประเทศออสเตรเลียที่มาเป็นอันดับหนึ่ง ผลิตแร่ลิเธียมได้ถึงปีละ 51,000 ตัน ชิลีมาเป็นอันดับสอง ผลิตได้ปีละ 16,000 ตัน จีนมาเป็นอันดับสาม ผลิตได้ปีละ 8,000 ตัน ส่วนอาร์เจนตินาเป็นอันดับสี่ ผลิตได้ปีละ 6,200 ตัน ขณะที่โบลิเวียซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในสามเหลี่ยมลิเธียม ตามตัวเลขสถิติปี ค.ศ. 2016 กลับสามารถผลิตลิเธียมออกสู่ตลาดได้แค่ 20 ตันเท่านั้นเอง!!!

เพราะแม้จะเชื่อๆ กันว่า...ปริมาณแร่ลิเธียมโดยส่วนใหญ่ มันน่าจะกองๆ อยู่ในอาณาบริเวณประเทศโบลิเวียนั่นแหละเป็นหลัก จนอาจถือเป็น “แหล่งสำรองลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก” หรือเป็น “ซาอุดีอาระเบียแห่งลิเธียม” เอาเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยเหตุที่พื้นที่ซึ่งคาดๆ กันว่าน่าจะมีแร่ลิเธียมซุกซ่อนอยู่ใต้ผืนดิน หรืออาณาบริเวณที่เรียกๆ กันว่า “Salar de Uyuni” หรือ “Uyuni salt flat” ของประเทศโบลิเวียนั้น ดันเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไปถึง 3,600 เมตร หรือ 12,000 ฟุต แถมยังมีแผ่นเกลือแข็งๆ หนาๆ ฉาบหน้าเอาไว้อีกต่างหาก การที่จะขุดแร่ลิเธียมเอามาใช้ประโยชน์ให้เหมือนกับใครๆ เขา จึงต้องอาศัย “เทคโนโลยี” ที่ทันสมัยเอามากๆ รวมทั้ง “เงินทุน” อีกเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งประเทศเล็กๆ จนๆ อย่างโบลิเวีย คงแทบไม่มีปัญญาที่จะทำอะไรต่อมิอะไรด้วยตัวเอง มีแต่ต้องหันไปหาบริษัทต่างชาติ หรือข้ามชาติโน่นเลย ถึงพอจะนำเอาทรัพย์ในดินมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย...

แต่ก็อีกนั่นแหละ...ด้วยความเป็น “นักสังคมนิยม” ตัวฉกาจของประธานาธิบดี “โมราเลส” ที่มุ่งต่อต้าน “ทุนนิยม” หรือ “เสรีนิยม” มาโดยตลอด ทันทีที่ได้ขึ้นมามีอำนาจเป็นประธานาธิบดีเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ก็ไล่ยึด ไล่ถีบ บรรดาบริษัทต่างชาติประเภททุนนิยมและเสรีนิยมทั้งหลาย ชนิดมันส์ส์ส์มือ มันส์ส์ส์ตีน เป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Glencore, Jindal Steel & Power, Anglo Argentina Pan American Energy, South American Silver ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติฝรั่งเศส สวิส แคนาดา ไปจนถึงอินตะระเดีย ก็ตาม ต่างเคยถูกยึด ถูกเพิกถอนสัมปทาน จนต่างเข็ดขี้อ่อน ขี้แก่ กับการเข้ามาทำเหมืองแร่ชนิดต่างๆ ในโบลิเวีย และทำให้การนำเอาแร่ลิเธียมมาใช้ประโยชน์ มันจึงทำไม่ได้ถนัดถนี่สักเท่าไหร่...

แม้ว่าผู้คนในรัฐบาล “โมราเลส” อย่างรองประธานาธิบดี “Alvaro Gracia Linera” จะมีวิสัยทัศน์ ปรีชาญาณ มองเห็นถึงความสำคัญของแร่ลิเธียม ว่าเป็น “พลังงานที่จะช่วยเลี้ยงดูโลกอนาคต” แทนที่พลังงานน้ำมันเอาเลยถึงขั้นนั้น หรือแม้ว่าตัวประธานาธิบดี “โมราเลส” เอง จะมองเห็นช่องทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศตัวเอง ด้วยการหวังที่จะอาศัยแร่ลิเธียมนี่แหละ เป็น “แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ” ในอนาคต ด้วยการหาทางยกระดับประเทศโบลิเวีย ให้เป็นประเทศผู้ผลิตลิเธียมอันดับ 4 ในตลาดโลกให้จงได้ ถึงขั้นจัดตั้งวิสาหกิจเอกชน อย่างบริษัท “Yacimientos de Litio Bolivianos” หรือ “YLB” ขึ้นมารองรับแผนการดังกล่าว แต่การควานหาบริษัทต่างชาติหรือข้ามชาติ ที่พอไว้วางใจได้มาร่วมด้วย-ช่วยกัน ออกจะเป็นอะไรที่หายาก หาเย็นเต็มที โดยเฉพาะสำหรับประธานาธิบดีผู้ที่มีทัศนคติในทางต่อต้านทุนนิยมมาโดยตลอด...

แม้จะมีผู้เข้ามาเลียบๆ เคียงๆ อยู่หลายราย...ไม่ว่าบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส เกาหลีใต้ บริษัท “ACI” ของเยอรมนี ไปจนบริษัท “Pure Energy” สัญชาติอเมริกา และบริษัท “Tesla” ของ “นายElon Musk” ที่ไม่เพียงแต่เป็นเบอร์หนึ่งในการผลิตรถไฟฟ้าเท่านั้น ยังถือเป็นผู้นำในการผลิตแบตเตอรี่ “Lithium ion” อีกด้วย ฯลฯ แต่บรรดาบริษัทเหล่านี้ต่าง “ไม่เข้าตากรรมการ” ไปด้วยกันทั้งสิ้น แม้บริษัทอย่าง “ACI” ของเยอรมนี จะเคยได้สัญญาสัมปทานไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อเจอกับการประท้วงต่อต้านของชนพื้นเมืองโบลิเวียในพื้นที่ ก็ต้องถูกถีบออกไปดื้อๆ เหลืออยู่แต่ “บริษัทจีน” ที่ค่อยๆ ลากเลื้อยแบบเงียบๆ เข้ามาในอเมริกาใต้ตามแนวทางอภิมหาโครงการ “Belt and Road” จนบริษัท อย่าง “Tianqi Lithium Corp.” เข้าไปถือหุ้นเหมืองลิเธียมในชิลี ได้ถึง 24 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น...ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2019 นักสังคมนิยมอย่างประธานาธิบดี “โมราเลส” ก็เลยตัดสินใจยกพื้นที่บางส่วนแถบ “Uyuni” ที่ว่ากันว่ามีปริมาณแร่ลิเธียมซุกซ่อนอยู่ไม่น้อยกว่า 21 ล้านตัน คือแถบบริเวณที่เรียกว่า “Coipasa” และ “Pastos Grandes” ให้เป็นพื้นที่สัมปทานเหมืองลิเธียม ที่เกิดจากการร่วมหุ้น ร่วมทุน ระหว่างบริษัท “TBEA” ของจีน กับบริษัท “YLB” ของโบลิเวีย ชนิด “เรียบโร้ยย์ย์ย์โรงเรียนจีน” ไปจนได้...

เพราะไม่ใช่แต่เฉพาะความเป็น “สังคมนิยมที่มีลักษณะพิเศษ” แบบจีนๆ เท่านั้น ที่เข้าตากรรมการ หรือเข้าตาประธานาธิบดี “โมราเลส” แต่ด้วยความเป็น “ตลาดใหญ่ที่สุด” ของรถไฟฟ้าไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคต รวมทั้งเป็นตลาดรองรับแร่ลิเธียมจำนวนถึง 63 เปอร์เซ็นต์ของโลก หรือด้วยอุปสงค์ด้วยปริมาณความต้องการแร่ลิเธียมของจีน ปีละกว่า 800,000 ตันเป็นอย่างน้อยเพื่อเอาไว้รองรับกระบวนการพัฒนารถไฟฟ้าแห่งอนาคต การหันไปเปิดทางให้ “พญามังกรจีน” เลื้อยเข้าไปสวาปามแร่ลิเธียม ในแหล่งสำรองที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก ก็แทบไม่ต่างอะไรไปจากการรับประกันการันตีให้กับการผงาดขึ้นมาเป็น “เบอร์หนึ่ง” ของวงการรถไฟฟ้า หรือรถแห่งอนาคตนั่นเอง...

แต่แค่การคิดผงาดขึ้นเป็น “เบอร์หนึ่ง” ในแวดวงธุรกิจสื่อสารระดับ “5G” ของบริษัทจีน อย่าง “หัวเว่ย” หรือ “ZTE” ก็ยังส่งผลให้รัฐบาลและหน่วยงานข่าวกรองอเมริกัน ต้องโดดลงมา “เตะตัดขา” บริษัทเอกชนของจีน ชนิดระเนนระนาดไปแทบจะทั่วทั้งโลกไม่ว่าประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี รัฐมนตรีต่างประเทศ ฯลฯ ต้องออก “เดินสาย” ไปกล่าวหา ไปยุแยงตะแคงรั่ว ไม่ให้ประเทศหนึ่ง ประเทศใด คิดร่วมหัวจมท้ายกับบริษัทสื่อสารของจีนโดยเด็ดขาด ดังนั้น...การที่อดีตประธานาธิบดี “โมราเลส” ท่านตั้งข้อสมมติฐาน หรือสันนิษฐานแบบชนิดปักใจเชื่อเอามากๆ ระหว่างการพูดคุย ให้สัมภาษณ์ต่อหน้าอดีตประธานาธิบดี เอกวาดอร์ “Rafael Correa” โดยสำนักข่าว “RT” เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าสาเหตุที่ท่านต้องถูกถีบ หรือถูก “รัฐประหารโดยสมบูรณ์แบบ” จนต้องเผ่นออกจากประเทศโบลิเวียแทบไม่ทัน ล้วนแล้วแต่มีเหตุปัจจัยเกี่ยวข้องโยงใยกับเรื่อง “แร่ลิเธียม” ในโบลิเวียอย่างมิอาจแยกออกจากกันได้เลย จึงเป็นอะไรที่ออกจะมีน้ำหนักของเหตุและผล รองรับไว้มิใช่น้อย...

ส่วนจะจริง-ไม่จริง...คงต้องไปใคร่ครวญ หวนคิด ตามรสนิยมของใคร-ของมัน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ...การไล่อัด ไล่บี้ การหาทางแทรกแซงกิจการไม่ว่าภายนอก-ภายใน ระหว่างคุณพี่จีนกับคุณพ่ออเมริกา เพื่อแย่งกันเป็น “เบอร์หนึ่ง” หรือเป็น “ทีแอ๋เต้ยอิด” ในแวดวงต่างๆ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร ไปจนถึงการประท้วง ย่อมเป็นสิ่งที่คงต้องดำเนินต่อไป อย่างชนิดต่อเนื่องไปอีกนาน หรืออย่างมิมีวันขาดสายได้โดยเด็ดขาด ส่วนสุดท้าย...ใครจะเป็น “จ้อแน้เซี้ยง” เป็น “งักปุกคุ้ง” หรือเป็น “ยิ่มอั้วเกี้ย” อันนั้น...บรรดา “เหล็งฮู้ชง” ทั้งหลาย คงต้องไปพินิจพิจารณากันเอาเอง...
กำลังโหลดความคิดเห็น