xs
xsm
sm
md
lg

Back to the Future ภาคพิสดาร (1)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


รถกระบะไฟฟ้าคันแรก Cybertruck
ด้วยเหตุเพราะโลกช่วงนี้...มันออกจะชุลมุน-ชุลเกซะเหลือเกิน ชนิดแทบไม่รู้จะสรุปยังไงดี ว่าเอาไป-เอามา...จีนกำลังเป็นฝ่ายแทรกแซงอเมริกา ในกรณีคัดค้านการออกกฎหมายเกาะฮ่องกง ตามที่วุฒิสมาชิกอเมริกันออกมาโวยวาย กล่าวหา หรือคุณพ่ออเมริกาเองนั่นแหละ ที่พยายามหันมาแทรกแซงจีนในกรณีที่ว่า...

เปิดฉากสัปดาห์นี้...เลยคงต้องขออนุญาตเปลี่ยนบรรยากาศหันไป “ทะลุมิติ” แบบคณะกรรมาธิการโดราเอมอน หรือคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” น่าจะเข้าท่ากว่า คือหันไป “มองข้ามช็อต” ระดับ 10 ปี 20 ปี ถึงอนาคตของการใช้ยวดยานพาหนะที่เรียกๆ กันว่า “รถไฟฟ้า” หรือ “รถ EV” (Electric Vehicle) ซึ่งใครต่อใครถือเป็น “รถแห่งอนาคต” เอาเลยก็ว่าได้ ที่สุดท้าย...อาจหนีไม่พ้นที่จะต้องไปเกี่ยวกับคุณพี่จีน กับคุณพ่ออเมริกาอีกจนได้...

คือถ้าว่ากันในช่วง ณ ขณะนี้...รถไฟฟ้า หรือรถ EV ไม่ว่าจะเป็น “Hybrid EV” หรือ “Battery EV” ที่วิ่งไป-วิ่งมาในท้องถนนทั่วทั้งโลก น่าจะมีอยู่แค่ประมาณ 5 ล้านคันเท่านั้นเอง หรือประมาณ 0.4 เปอร์เซ็นต์ของรถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงโดยปกติ มียอดขายประมาณ 2.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรถยนต์โดยทั่วไป แต่ด้วยความ “มาแรง-แซงโค้ง” หรือด้วยอัตราการเติบโตของรถประเภทนี้ ที่ขยายตัวแบบพรวดๆ พราดๆ ตกเฉลี่ยประมาณ 61 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นับแต่ปี ค.ศ. 2012 เป็นต้นมา เช่น ยอดขายปี ค.ศ. 2012 เคยขายได้แค่ 1 แสนคันทั่วโลก แต่พอปี ค.ศ. 2018 ปาเข้าไปถึง 2 ล้านคันเป็นอย่างน้อย...

อันเนื่องมาจาก...ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคลหรือรัฐบาลแต่ละรัฐบาลในโลกใบนี้ ออกจะเห็นดี-เห็นงามกับการหันมาใช้รถไฟฟ้า แทนรถพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือรถประเภทที่ต้องซดน้ำมันทั้งหลาย เพื่อช่วยไม่ให้โลกมันต้องร้อนขึ้นๆ ช่วยให้ไม่ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ หรือปล่อย “มลพิษ-มลภาวะ” ใส่เมืองต่างๆ ชนิดแทบฉิบหายกันไปทั่วทั้งโลกทั่วทุกบ้านทุกเมืองไปแล้วในทุกวันนี้ เลยส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างหันมาอุดหนุน สนับสนุนกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ว่าในแง่การวิจัยและพัฒนา การอุดหนุนด้านภาษี ไปจนการพัฒนาโครงสร้าง การตระเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกนานาประการ เพื่อรองรับการหันมาใช้รถประเภทนี้ อีกทั้งด้วย “สมรรถนะ” และ “ราคา”ของบรรดารถไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นมาในช่วงหลังๆ ก็แทบไม่ได้ต่างอะไรไปจากรถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงโดยทั่วไป แนวโน้มของการหันมาใช้รถไฟฟ้า เลยเป็นอะไรที่ “มาแรง-แซงโค้ง”อย่างมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้...

ชนิดถ้าว่ากันตามตัวเลขคาดการณ์ของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ หรือ “IEA” (International Energy Agency) เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงกับ “ฟันธง” เอาไว้ล่วงหน้า ว่าภายในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า หรือช่วงปี ค.ศ. 2030 น่าจะมีรถไฟฟ้าวิ่งไป-วิ่งมาอยู่ในท้องถนนทั่วโลก ไม่น้อยไปกว่า 125 ล้านคัน หรืออาจเพิ่มขึ้นถึง 220 ล้านคันก็เป็นได้ ถ้าหากรัฐบาลแต่ละประเทศยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยกันแก้ “ปัญหาโลกร้อน” กันอย่างเป็นจริง-เป็นจัง โดยเฉพาะรัฐบาลของประเทศที่มีจำนวนประชากรนับพันๆ ล้านคน อย่างรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ไม่เพียงแต่พยายามแก้ปัญหา “มลพิษ-มลภาวะ” ภายในประเทศตัวเองมานานแสนนาน แต่ยังพยายามหันมา “โฟเอสสร้างสรรค์” ให้ประเทศจีนกลายเป็น “อารยธรรมแห่งนิเวศน์” (Ecological Civilization) เอาเลยถึงขั้นนั้นตลาดรถไฟฟ้าในจีน...จึงกลายเป็น “ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก” มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 โน่นเลย ชนิดที่รถไฟฟ้าประมาณ 1 แสนคันที่มีอยู่ในโลกช่วงนั้น จำนวนถึง 99 เปอร์เซ็นต์ วิ่งไป-วิ่งมาอยู่ภายในกำแพงเมืองจีนนั่นเอง และเมื่อเพิ่มจำนวนยอดขายขึ้นไปประมาณ 2 ล้านคันในปี ค.ศ. 2018 จำนวนถึง 55 เปอร์เซ็นต์ก็ขายให้กับบรรดาชาวจีนทั้งหลายนั่นแหละเป็นหลัก มีแค่ 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ที่เป็นอเมริกันชน...

ส่วนใหญ่ในยุโรปนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นรายแรก ที่ออกมาประกาศว่าภายในปี ค.ศ. 2040 จะห้ามไม่ให้ชาวเมืองน้ำหอม ใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำมันอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ให้หันมาใช้รถไฟฟ้ากันแทนที่ ตามด้วยแคนาดา และไต้หวัน ฯลฯ และอีกหลายต่อหลายประเทศ ที่เริ่มหันมาเดินตามแนวทางของฝรั่งเศส อันทำให้จำนวนรถไฟฟ้าที่เคยมีอยู่แค่ประมาณ 0.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปตามปกติ อาจเพิ่มจำนวนปริมาณขึ้นไปเป็นประมาณ 31-55 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ค.ศ. 2040 เป็นอย่างช้า...

การเติบโตขยายตัวของตลาดรถไฟฟ้า...ที่นับวันจะ “มาแรง-แซงโค้ง” ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ชนิดว่ากันว่าจะโตโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ 24 เปอร์เซ็นต์นับจากนี้ ไปจนถึงอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี ค.ศ. 2030 โน่นเลย ได้ทำให้บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ไปจนถึงบรรดาบริษัทธุรกิจพลังงานจำนวนไม่น้อย หนีไม่พ้นต้องหันมายื๊อแย่ง แข่งขัน หวังจะปันส่วนรายได้ หรือส่วนแบ่งจากธุรกิจ-ธุรกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการเติบโต ขยายตัวของตลาดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท “Volkswagen”, “GM”, “Ford Motor”, “Audi”, “Nissan” ฯลฯ ไปจนบริษัท “Tesla” ของ “นักดรามา” อย่าง “นายElon Musk” ซึ่งถือเป็นเบอร์หนึ่งในการผลิตรถประเภทนี้ ที่เพิ่งเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้ายี่ห้อ “Cybertruck” ด้วยการเอามา “เย่อ” กับรถกระบะไฟฟ้ายี่ห้อ “F-150” ของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ จนกลายเป็นเรื่อง เป็นราว เป็นข่าวต่างประเทศไปจนได้ไปจนถึงบริษัทพลังงานอย่าง “BP”, “Shell”, “Chevron”, “Total” ฯลฯ ต่างก็หันมาประกอบธุรกิจ ธุรกรรมไปตามกระแสเป็นรายๆ แม้กระทั่งบริษัท “ปตท.” บ้านเรา ก็หนีไม่พ้นต้องเอากะเค้าด้วย ไม่เพียงเริ่มลงทุนเปิด “สถานีชาร์จไฟฟ้า” ภายในประเทศถึง 14 แห่ง ยังหันไปลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าที่ระยอง ที่เขตอุตสาหกรรม EEC แถมส่งบริษัท “บางจาก” ถ่อไปลงทุนทำเหมือง “ลิเธียม” (Lithium) ถึงประเทศอาร์เจนตินา โน่นเลย...

เพราะสิ่งที่มีส่วนเอามากๆ...กับกระบวนการพัฒนารถไฟฟ้า ไม่ว่าในแง่ “สมรรถนะ” หรือ “ราคา” ก็คือการหาทางทำให้พลังงานขับเคลื่อนรถชนิดนี้ ที่ถูกรวบรวมเอาไว้ในแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีราคาถูกลง และโดยคำตอบอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ก็คือต้องหันไปอาศัยสิ่งที่เรียกๆ กันว่า “Lithium ion battery” หรือแบตเตอรี่ที่ทำมาจากแร่ลิเธียม อันเป็นโลหะอัลคาไลน์ ซึ่งมีน้ำหนักเบา มีประจุไฟฟ้าสูง เก็บประจุไฟฟ้าไว้ได้นาน (Low Discharge) ให้พลังงานสูง-คงที่-และชาร์จไฟได้เร็ว แถมยังเป็นเซลล์แห้งที่ไม่มีส่วนประกอบซึ่งเป็นอันตรายต่อธรรมชาติ แบบบรรดาแบตเตอรี่ที่ต้องอาศัยกรดหรือตะกั่วทั้งหลายชนิดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำหน้าที่พัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า อย่างศาสตราจารย์ “Dr.Chao-Yang Wang” แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ออกมาป่าวประกาศว่าสามารถผลิตแบตเตอรี่ “Lithium ion” ที่ชาร์จไฟได้ภายในช่วงเวลาแค่ 10 นาทีเท่านั้นเอง โดยทำให้รถไฟฟ้าสามารถวิ่งต่อไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 200 ไมล์เป็นอย่างน้อย...

การมาถึงของ “รถแห่งอนาคต” หรือ “รถไฟฟ้า EV” จึงเป็นอะไรที่มีความเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันกับสินแร่ที่เรียกๆ กันว่า “ลิเธียม” อย่างมิอาจแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด และใครก็ตามหรือประเทศใดก็ตามที่มีสินแร่ตัวนี้เอาไว้ในมือ ย่อมต้องมีความสำคัญต่อความเป็นไปในอนาคตไม่ว่ามากหรือน้อยอย่างมิอาจปฏิเสธ เผอิญว่า...ในช่วง ณ ขณะปัจจุบัน ประเทศที่ได้ชื่อว่าเต็มไปด้วยแร่ลิเธียม ระดับถือเป็น“ซาอุดีอาระเบียแห่งลิเธียม” เอาเลยถึงขั้นนั้น ดันคือประเทศ “โบลิเวีย” ของประธานาธิบดี “อีโว โมราเลส” ผู้เพิ่งถูกถีบ หรือถูกรัฐประหารจนต้องเผ่นไปตั้งหลักที่เม็กซิโกนั่นเอง คณะกรรมาธิการโดราเอมอน เลยคงต้องขออนุญาตไปลากต่อถึงความเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันระหว่างอดีต-ปัจจุบัน-และอนาคต ในวันพรุ่งนี้กันดูอีกที...


กำลังโหลดความคิดเห็น