xs
xsm
sm
md
lg

ประชานิยมที่คนไม่นิยม : การให้ผิดที่ทำดีไม่ถูกทาง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง



คำว่า ประชานิยม หมายถึงกิจกรรมทางการเมืองที่นักการเมืองกระทำเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้แก่พรรคของตนเอง และแต่รัฐบาลที่พรรคของตนเองเป็นแกนนำ โดยใช้มาตรการในหลายรูปแบบ มีทั้งลด แลก แจก แถม เงินทอง ข้าวของแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีรายได้น้อย หรือคนระดับรากหญ้า อันได้แก่เกษตรกรผู้ยากจน และผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ประชาชนคนไทยเริ่มรู้จักและคุ้นเคยกับกิจกรรมทางการเมืองแบบนี้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 จากการนำเข้ามาใช้เป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร

ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเสียงข้างมาก และได้จัดตั้งรัฐบาลจึงได้นำเอานโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้มาดำเนินการ เช่น กองทุนหมู่บ้าน และ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น

จากนโยบายประชานิยมนี้เอง ทำให้การเมืองระบอบทักษิณได้รับความนิยมจากประชาชน โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลพวงให้พรรคการเมืองหลายพรรคในเครือของระบอบทักษิณ ได้รับอานิสงส์จากนโยบายประชานิยมจนกระทั่งทุกวันนี้

ถึงแม้ว่านโยบายประชานิยมจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนคนรากหญ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 30 บาทรักษาทุกโรค

แต่นโยบายทำนองนี้ก็เป็นดาบสองคม คือ ด้านหนึ่งให้ประโยชน์แก่ประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งเป็นภาระทางด้านการเงินกับรัฐบาล และประชาชนผู้เสียภาษีซึ่งจะต้องแบกรับภาระทางด้านการเงินเพิ่มขึ้นทุกปี ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และความรุนแรงของปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงปัญหาแทรกซ้อนอันเกิดจากนโยบายประชานิยมหรือนโยบายภายใต้ชื่ออื่นใด ซึ่งมีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. การแก้ปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากความยากจน ด้วยการให้เงินหรือแม้กระทั่งการเข้าไปแบกรับดอกเบี้ยแทนประชาชนผู้เป็นหนี้ ถึงแม้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง ก็เป็นเพียงระยะสั้นๆ แต่เป็นการปลูกฝังอุปนิสัยให้คนงอมืองอเท้านั่งรอความช่วยเหลือจากรัฐจนกลายเป็นอุปนิสัย หรือเป็นสันดานถาวร

2. ประเทศไทยมิได้เป็นประเทศร่ำรวย มีฐานะการเงิน การคลังที่มั่นคงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ ตรงกันข้ามฐานะการเงิน การคลังของประเทศย่ำแย่ จะเห็นได้จากการมีหนี้เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นเนื่องจากการจัดเก็บรายได้ไม่พอที่จะนำมาบริหารประเทศ จะเห็นได้จากการตั้งงบประมาณขาดดุลติดต่อกันมาหลายปีแล้ว และรายจ่ายส่วนหนึ่งของงบประมาณก็คือ การจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืน

ดังนั้น ถ้าประเทศยังคงใช้นโยบายลด แลก แจก แถมต่อไป ไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไร อนุมานได้ว่าสักวันหนึ่งข้างหน้าประเทศไทยก็คงจะเหมือนหลายประเทศที่เคยใช้นโยบายประชานิยมคือล่มจมอยู่ในกองหนี้แน่นอน

อะไรทำให้คิดว่าการใช้นโยบายประชานิยมแล้ว จะทำให้ประเทศล่มจม?

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านหลักการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามแนวคำสอนของศาสนาพุทธ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับแนวทางแก้ปัญหาในรูปแบบประชานิยมของระบอบทักษิณ และในรูปแบบประชารัฐของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสังคม มีที่มาปรากฏในกฎทันตสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 9 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเล่าถึงพระเจ้ามหาวิชิตะในอดีตกาล ซึ่งเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ได้รับชัยชนะในปฐพีมณฑลอันยิ่งใหญ่ ใคร่จะบูชายัญเพื่อประโยชน์และความสุข จึงเรียกพราหมณ์ปุโรหิต มาช่วยสอนวิธีบูชายัญ

พราหมณ์ปุโรหิต แนะให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่มิใช่ด้วยวิธีการฆ่าหรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจะเบียดเบียนชนบทในภายหลัง โดยที่แท้ควรจะถอนรากโจรผู้ร้ายด้วยวิธีการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ คือ แจกพันธุ์พืชแก่เกษตรกรในชนบทที่มีความอุตสาหะในการประกอบอาชีพ ให้ทุนแก่พ่อค้าที่มีความอุตสาหะในการทำการค้าให้อาหารและค่าจ้างแก่ข้าราชการ (ให้ทุกคนมีรายได้) พระราชทรัพย์ก็จะเพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายก็จะรื่นเริง อุ้มบุตรให้ฟ้อนอยู่ที่อก ไม่ต้องปิดประตูเรือน

โดยนัยแห่งคำแนะนำของปุโรหิต จะเห็นได้ว่ามีสาระสำคัญ 3 ประการคือ

1. ปัญหาสังคม อันได้แก่อาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ มีการลักขโมยและจี้ปล้นชิงทรัพย์ เป็นต้น มีรากเหง้ามาจากปัญหาความยากจน

ดังนั้น จึงต้องแก้ที่เหตุคือ ความยากจนโดยควรให้ทุกคนมีงานทำ มีรายได้เพียงพอแก่การดำรงชีพ เมื่อประชาชนมีรายได้ก็จะทำให้รายได้ของรัฐจากการเก็บภาษีก็เพิ่มขึ้นด้วย

2. ในการแก้ปัญหาความยากจน โดยการให้ความช่วยเหลือ จะต้องคัดเลือกคนดี มีความขยันหมั่นเพียร แต่ยังขาดปัจจัยในการประกอบอาชีพ และจะต้องเข้าไปช่วยเหลือในส่วนที่เขาขาด

3. ข้าราชการซึ่งเป็นกลไกสำคัญในฐานะผู้รับนโยบายจากรัฐบาล และนำไปดำเนินการให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้มีอยู่ มีกินตามสมควรแก่สถานะของแต่ละคน

แต่การให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปแบบของประชานิยม และประชารัฐ ไม่ได้เน้นการช่วยเหลือให้ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างถาวร แต่เน้นผลสำเร็จระยะสั้นๆ เพื่อหวังผลการเมือง และยังทำให้ประเทศมีหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วย

จึงอนุมานได้ว่าเป็นการให้ผิดที่ และทำดีไม่ถูกทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น