ปิดเทอมนี้ครอบครัวเราตกลงจะไปเที่ยวทะเลร่วมกัน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ไม่ลงตัวจึงทำให้เราตัดสินใจไปเช้าเย็นกลับ โดยเลือกเอาทะเลฝั่งที่เดินทางใกล้และสะดวกสุดนั่นก็คือชะอำ เป็นทริปที่เริ่มต้นสนุกและอิ่มหนำมาก ก่อนจะลงท้ายด้วยความเจ็บปวดจากบาดแผลของลูกชายคนเล็กที่โดนแมงกะพรุนไฟเล่นงาน และเกิดเหตุชุลมุนวุ่นวาย จนกลายมาเป็นบทความชิ้นนี้ของลูกชายคนโต “สรวง สิทธิสมาน” ที่อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้มากมาย จนกลายเป็นบทเรียนชีวิตที่สะท้อนปัญหาในมุมมองของวัยรุ่น
……………………………………………
ใครจะรู้ว่าการประสบอุบัติเหตุเล็ก ๆ แค่เพียงครั้งเดียว จะสะท้อนให้เราได้เห็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน เป็นสิ่งใกล้ตัวและหมุนเวียนอยู่รอบ ๆ โดยที่เรื่องราวเหล่านี้กลับเป็นเรื่องที่เรามักมองข้ามหรือมองไม่เห็นอยู่บ่อยครั้ง…
ทุกอย่างเริ่มต้นในเช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยเวลาที่จำกัด แต่เคยตกลงกันไว้แล้วว่ากลับมาไทยช่วงปิดเทอมนี้จะไปเที่ยวทะเลด้วยกัน ผมและครอบครัวจึงพร้อมใจกันหนีชีวิตเมืองออกไปพักผ่อนหย่อนใจในสถานที่ใกล้ ๆ โดยเลือกอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นจุดหมายเปลี่ยนบรรยากาศไปพักผ่อนและหาของอร่อยกินร่วมกัน โดยเลือกเส้นทางไปทางอ่าวบางตะบูนดูป่าชายเลนและโครงการแหลมผักเบี้ยแบบไปเช้าเย็นกลับ
ระหว่างทาง พวกเราพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ ตามประสาครอบครัว ตั้งแต่เรื่องหนัง เรื่องเพลง แล้วก็วกมาเรื่องสังคม จอดแวะชิมร้านอาหารขึ้นชื่อเป็นระยะ และถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน ดูเหมือนว่าทุกอย่างกำลังเป็นไปอย่างราบรื่น...จนกระทั่ง….
15.00 น.
หลังจากอิ่มหนำสำราญเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็เดินทางมาจนถึงสถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางของทริปนี้
“ระวังแมงกะพรุน”
ผมเหลือบไปเห็นป้ายที่มีคำเตือนสั้น ๆ อยู่ปักอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กับที่จอดรถ ก่อนที่ผม น้องชาย และเพื่อนอีกคนหนึ่ง จะเดินตรงไปยังชายหาดอย่างไม่คิดอะไร พวกเราค่อย ๆ เดินลงน้ำ ฝ่าลูกคลื่นเล็กใหญ่ไปเรื่อย ๆ สาดน้ำใส่กันไปมาอย่างสนุกสนานตามประสาวัยรุ่น จนรู้ตัวอีกทีเราก็เดินมาถึงจุดที่ความลึกของน้ำทะเลอยู่ในระดับคอเสียแล้ว
“โอ๊ย แสบ ระวัง กูโดนแมงกะพรุน !”
เสียงของสิน สิทธิสมาน น้องชายผม ร้องออกมาอย่างไม่ทันตั้งตัว ก่อนที่เพื่อนของเขาจะร้องตามกันมาไล่เลี่ย
“โดนเหมือนกัน โอ๊ย แสบ...”
ผมตกใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นห่วงทั้งสองที่เพิ่งจะโดนพิษร้ายจากเจ้าแมงกะพรุนไป ยังกลัวว่าตัวผมเองจะพลอยโดนไปด้วยอีกคน..
ชั่วอึดใจ ผมตั้งสติ และช่วยพยุง 2 คนนั้นขึ้นมาจากทะเลให้เร็วที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ เมื่อขึ้นมาบนฝั่งผมก็วิ่งไปหาเต้นท์ที่คิดว่าเป็นเต้นท์ไลฟ์การ์ด และถามหาน้ำส้มสายชูในทันที
ใช่แล้วครับ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับแผลจากการโดนพิษของแมงกะพรุนไฟ คือการนำน้ำส้มสายชูมาราดที่แผล เพราะจะช่วยหยุดการทำงานของต่อมพิษทำให้พิษที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่สามารถบีบตัวเข้าไปสู่ภายในร่างกายได้เป็นวิธีสากลที่ใช้กันทั่วโลก
เมื่อผมวิ่งไปจนถึงเต้นท์ที่ผมคิดว่าน่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดที่มีหน้าที่เตรียมพร้อมรับมือกับอุบัติเหตุ หรือสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณชายหาด ซึ่งมักจะพบเห็นอยู่ทั่วไปตามสระว่ายน้ำสาธารณะและชายหาดทั่วโลกตามมาตรฐานสากล ซึ่งที่นี่หาดชะอำแห่งนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อเข้าไปในเต้นท์และขอน้ำส้มสายชูหรือน้ำยาที่ใช้ล้างแผลให้น้องผมและเพื่อน เขากลับชี้ให้ไปหาซื้อเอาเองตามร้านค้าแถวนั้น
“………”
งงสิครับ
ผมเกิดคำถามมากมาย แต่ด้วยความรีบร้อน จึงรีบวิ่งไปหาซื้อน้ำส้มสายชูและโซดาตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ที่เสมือนจะเป็นไลฟ์การ์ด
น้ำส้มสายชูและโซดาช่วยได้แค่เพียงยับยั้งความร้ายแรงของพิษเท่านั้น แต่ไม่อาจยับยั้งความปวดแสบปวดร้อนของพิษแมงกะพรุนได้เลยแม้แต่น้อย ดูแผลของทั้งสองไม่ใช่แผลที่โดนแค่เฉียด ๆ หากแต่โดนเต็ม ๆ แผลมีลักษณะบวมพองเหมือนกับโดนน้ำร้อนลวก ขึ้นเป็นลายเส้นสวยงามราวกับลายเสือโคร่ง ทั้งคู่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดเหมือนสัตว์ที่ถูกล่าและกำลังจะถูกกินเป็นอาหารในไม่ช้า พวกเราจึงนำตัวทั้งคู่ส่งเข้าโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุดทันที เพื่อสำรวจดูอาการว่าแผลของทั้งคู่นั้นหนักเบาเพียงใด และรับยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการแสบร้อนจากพิษของเจ้าสัตว์แห่งท้องทะเลตัวนั้น
ระหว่างที่ได้เห็นน้องชายของตัวเองกำลังถูกเล่นงานอย่างหนักจากความเจ็บปวด จนในที่สุดโดนฉีดยาแก้ปวดและยาต่าง ๆ รวมทั้งหมด 4 เข็มเข้าไปตามเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ ถึงจะพอระงับฤทธิ์ความเจ็บปวดเหล่านั้นจนบรรเทาลงได้บ้าง ผมได้นึกถึงเหตุการณ์ตอนเด็ก ซึ่งเหตุการณ์แบบเดียวกับน้องของผม ก็เคยเกิดขึ้นกับตัวผมเช่นกัน..…
ในตอนนั้น ผมอายุราว ๆ 11-12 ปี เหตุเกิดที่ทะเลชะอำเหมือนกัน แต่เป็นหาดหน้าโรงแรมที่เราพักค้างคืน
แม้จะไม่ได้โดนแมงกะพรุนหนักเท่ากับที่น้องชายโดนในวันนี้ แต่ด้วยความเป็นเด็ก ทำให้ผมทั้งแหกปากและร้องไห้น้ำตาไหลด้วยความทรมาน แต่ด้วยบริการทางด้านความปลอดภัยของโรงแรม พวกเขามีเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดตัวจริงที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เพียงแค่แม่ผมเอ่ยปากขอความช่วยเหลือว่าลูกชายโดนแมงกะพรุนเข้า เขาก็รู้ทันทีว่าต้องทำอย่างไรกับสถานการณ์แบบนี้ เขาเข้ามาสำรวจแผลของผมจนสามารถบอกชนิดของเจ้าแมงกะพรุนตัวร้ายนั้นได้ พาผมเดินเข้าไปในที่ทำการและเริ่มลงมือผสมยาอย่างชำนาญราวกับว่าทำมันมานับครั้งไม่ถ้วน ราดยาตัวนั้นลงมายังบริเวณแผลของผม แม้ในตอนแรกยังไม่เห็นผลมากมายนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง ความเจ็บปวดที่เคยมีก็หายไปโดยไม่ต้องพึ่งการรักษาจากโรงพยาบาลเลยด้วยซ้ำ ตัวผมก็กลับมาซ่า และพร้อมจะลงไปเล่นน้ำทะเลได้อีกครั้ง...เพียงแต่ถูกห้ามไว้เสียก่อน
เมื่อเทียบกรณีของผม น้องชายถือว่าโชคร้ายกว่ามากเลยทีเดียว เพราะทุกอย่างเต็มไปด้วยความล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นการหาอุปกรณ์สำหรับปฐมพยาบาลด้วยตัวเอง หรือการพาส่งโรงพยาบาล ซึ่งกว่าจะถึง น้องชายกับเพื่อนก็ถูกพิษร้ายเล่นงานไปอย่างหนักเรียบร้อยเสียแล้ว
ผมนึกย้อนกลับไปตอนที่ผมเห็นป้ายเตือนว่า “ระวังแมงกะพรุน” สงสัยว่าคนที่นำป้ายมาปักเอาไว้คิดอย่างไร แค่ไหน แน่นอนว่าจะต้องเป็นกลุ่มคนผู้ที่มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยในชุมชน คงจะเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ตั้งเต้นท์ที่ดูเสมือนไลฟ์การ์ดขึ้นมาอย่างแน่นอน…
คำถามของผมในตอนนั้นก็คือ คุณรู้ว่ามีแมงกะพรุนพิษร้ายอยู่ตามชายฝั่ง และคงจะมีผู้คนมากมายที่ตกเป็นเหยื่อ คุณจึงได้ปักป้ายเตือนผู้คนที่กำลังจะลงไปเล่นน้ำทะเลเอาไว้ว่าให้ “ระวัง” แต่หากมีคนที่ไม่ทันเห็นหรือคนที่เห็นแล้วแต่ไม่ทันระวัง และโดนพิษเข้าไปอย่างจัง คุณจะทำอย่างไรกับคนเหล่านั้น เพราะคงจะเป็นเรื่องยากที่จะมองลงไปใต้น้ำขุ่น ๆ ที่เต็มไปด้วยขยะต่าง ๆ ทั้งถุงพลาสติกหรือขวดน้ำใช้แล้ว และเห็นตัวของสัตว์น้ำสีใสอย่างแมงกะพรุน
การระมัดระวังตามคำแนะนำของคุณคงจะเป็นไปได้ยากอย่างแน่นอน…
และถ้าหากเจ้าหน้าที่ที่ดูเสมือนไลฟ์การ์ดอยู่ในการดูแลของพวกคุณจริง ๆ ผมสงสัยว่าพวกเขามีหน้าที่อะไรกันแน่ ยิ่งถ้าเทียบกับกรณีที่เคยประสบด้วยตัวเองเมื่อครั้นยังเยาว์ ผมสามารถตอบได้เลยว่าไม่ใช่การแนะนำให้ผู้ประสบภัยไปดูแลตัวเองอย่างแน่นอน
อดสงสัยไปอีกไม่ได้ว่าหาดสาธารณะแห่งอื่นในประเทศเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกันไหม เพราะหากพูดถึงหาดที่มีชื่อเสียงและจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ก็คงต้องพูดถึงหาดชะอำอย่างแน่แท้
หาดสาธารณะที่อื่นในบ้านเราจะมีมาตรฐานในการดูแลนักท่องเที่ยวที่ดีกว่านี้ไหม…
น้องชายและเพื่อนได้รับการดูแลที่โรงพยาบาลอย่างดี บุรุษพยาบาลพาเข้าไปล้างแผลด้วยการราดน้ำเกลือ แล้วพาออกมานอนเตียงให้พยาบาลทำแผลและหมอดูอาการ ฉีดยา
หลังจากที่พวกเรานำตัวของน้องชายและเพื่อนออกมาจากโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ผมได้สอบถามคุณแม่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ก็ได้คำตอบที่ไม่คาดคิด
“30 บาท !”
แน่นอนว่าค่าล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ค่าทำแผล ยาต่าง ๆ ที่ฉีดเข้าตัว รวมกับค่ายาที่ทางโรงพยาบาลจ่ายมาให้กินหลังมื้ออาหารและก่อนนอนนั้น มีมูลค่ามากกว่านี้มาก
นี่เป็นผลมาจากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” ที่มีมากว่า 10 ปีที่ผมได้ยินมานาน แต่ผมไม่เคยได้ใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลตามโครงการนี้มาก่อนเลยในชีวิต เมื่อได้พบเห็นด้วยตัวเองจึงออกจะตื่นเต้นทีเดียว ไม่สิ ต้องบอกว่าตื่นเต้นกันทั้งบ้าน
หลังจากพวกเรากลับมาถึงกรุงเทพฯ วันรุ่งขึ้นก็ได้พาน้องชายไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใจกลางเมืองใกล้โรงเรียนวชิราวุธ แน่นอนว่าโรงพยาบาลมีการบริการที่ดี แพทย์และพยาบาลต่างพูดจาด้วยความสุภาพและเป็นมิตร พวกเขาฉีดวัคซีนโรคบาดทะยักและทำแผลอยู่ประมาณ 10 นาที ก่อนที่จะขอดูตัวยาที่ได้มาจากโรงพยาบาลใกล้หาดชะอำ แล้วเปลี่ยนตัวยาชุดใหม่มาแทนที่ คุยกับแพทย์อยู่ไม่กี่นาที ทุกอย่างก็เสร็จเรียบร้อยด้วยความรวดเร็ว พวกเราได้ใบเสร็จที่บันทึกยอดรวมที่ต้องจ่าย ทั้งค่ายา ค่าหมอ ค่าวัคซีน และค่าบริการรวมทั้งหมด….
3,190 บาท !
นั่นคือยอดรวมที่เราต้องจ่ายในวันนั้น ยังไม่รวมวันอื่นหลังจากนั้นที่ต้องมาทำแผลทุกวันเป็นเวลาทั้งสัปดาห์ โดยค่าทำแผลเฉลี่ยประมาณ 1,300 บาทในวันที่ไม่ต้องพบหมอและรับยาเพิ่ม วันไหนต้องให้หมอดูแผลและรับยาเพิ่ม ค่ารักษาจะขึ้นไปถึง 2,000 บาท
บางวันก็ทำแผลที่คลินิคใกล้บ้านก็ย่อมเยาลงมาบ้าง วันแรกไม่พบหมอไม่มียาเพิ่มก็ 300 บาท วันที่สองทำแผลและพบหมอเพื่อรับยาแก้คัน เพิ่มเป็น 600 บาท
เป็น 10 เท่า 20 เท่า กระทั่ง 100 เท่าของ “30 บาท” !
จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ผมเข้าใจถึงความแตกต่างของโรงพยาบาล 2 แห่งหรือ 2 ลักษณะที่น้องผมได้เข้ารับการรักษาใน 2 จังหวัด ความแตกต่างระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงกลุ่มชนที่เข้ารับการรักษาในแต่ละที่แตกต่างกัน
เข้าใจเลยว่าทำไมนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” จึงติดตราตรึงใจผู้คน เพราะถ้าไม่มีนโยบายนี้คนรายได้น้อยหรือรายได้พออยู่พอกินในประเทศ ไม่ว่าในต่างจังหวัดหรือในกรุงเทพฯ คงต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อเข้ารับการรักษาในทุก ๆ ปี รวมถึงค่าประกันต่าง ๆ ทั้งประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ
เคยได้ยินเรื่องราวแบบนี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่เคยเห็นภาพที่ชัดเจนแบบประสบด้วยตัวเองใกล้ชิดขนาดนี้
ทั้งหมดที่ผมได้เห็น เกิดจากอุบัติเหตุแมงกะพรุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวผม !!