โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้กลายเป็นจุดขายทางการเมืองที่สำคัญของนักการเมืองไทย เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ได้ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลภาครัฐได้ โดยไม่ต้องมีความกังวลในเรื่องฐานะการเงินที่ต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษา
ผลการสำรวจความนิยมในประเทศไทยหลายครั้งพบว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายทางการเมืองที่ถูกใจประชาชนมากที่สุด และทำให้พรรคการเมืองซึ่งออกนโยบายดังกล่าวสามารถครองใจประชาชนต่อเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้
แม้ว่าจะมีอีกหลายพรรคการเมืองพยายามดัดแปลงต่อยอดหลังจากนั้น ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนลืมต้นฉบับความคิดนี้ได้
ความเจ็บป่วยนั้นเป็นความทุกข์กายอย่างหนึ่งในชีวิตมนุษย์ที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ และความทุกข์อีกอย่างหนึ่งคือความทุกข์ใจที่นอกจากจะเป็นผลของการทุกข์กายแล้ว ยังต้องอาจจะทุกข์ใจว่าจะมีเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลตัวเองหรือคนในครอบครัวได้อย่างเพียงพอหรือไม่ นี่คือเหตุผลที่ทำให้โครงการหลักประกันสุขภาพจึงครองใจประชาชนที่ทุกข์ยากและไม่เคยเข้าถึงการรักษาในระบบโรงพยาบาลภาครัฐมาก่อน
แต่การที่ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพหลายระบบ เช่น การรักษาผ่านโครงการบัตรทองก็ดี ประกันสังคมก็ดี สวัสดิการของราชการก็ดี ได้เป็นส่วนสำคัญทำให้มีผู้ใช้บริการรักษาในโรงพยาบาลภาครัฐเพิ่มสูงมากขึ้น จนถึงต้องใช้คำว่า “แออัดอย่างยิ่ง”
“ความแออัดอย่างยิ่ง”ที่ว่านั้นได้ทำให้โรงพยาบาลภาครัฐต้องรอคิวนาน เตียงไม่เพียงพอ การตรวจคนไข้และการจ่ายยาเป็นไปอย่างเร่งรีบ อีกทั้งการเบิกจ่ายของภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า และบางครั้งก็ไม่ได้ตามที่ทำเรื่องเบิกไป สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐต้องแบกรับภาระอย่างหนัก
บางโรงพยาบาลยังปรากฏภาพคนไข้ต้องเอามุ้งและที่ผ้าปูเป็นที่นอนตามทางเดิน เพราะโรงพยาบาลไม่มีเตียงหรือไม่ก็เพื่อรอคิว ยกเว้นเสียแต่ว่ามีเส้นสายก็อาจจะพอมีเตียงรองรับบางคนได้
ปัญหาเช่นนี้ได้ส่งผลทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐต้องเสียสละแรงกายและใจอย่างมาก อีกทั้งยังต้องปะทะกับแรงเสียดทางจากคนไข้ที่รอคิวนาน หรือทะเลาะเบาะแว้งโต้เถียงเรื่องคุณภาพและการบริการรักษา ด้วยเหตุผลนี้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐจึงทยอยลาออกไป และทำให้คนที่ยังคงอยู่ก็ยิ่งทำงานหนักมากขึ้นไปอีก
บุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากโรงพยาบาลภาครัฐนั้น ก็จะมีทางเลือกที่เหลืออีกไม่กี่ทางคือ ไปอยู่ตามโรงพยาบาลหรือไม่ก็คลินิกเอกชน หรือไม่เช่นนั้นก็หันไปในด้านธุรกิจสุขภาพอื่นๆ
แต่นับวันคลินิกทั่วไปถ้าไม่โดดเด่นเฉพาะทางก็จะอยู่ยากขึ้นทุกวัน เพราะไม่มีทางที่จะแข่งต้นทุนของโรงพยาบาลภาครัฐได้ ในขณะเดียวกันความพร้อมด้านต่างๆก็ไม่สามารถทัดเทียมกับโรงพยาบาลเอกชนได้ด้วยเช่นกัน
ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปก็ซื้อยาเองได้ตามร้านขายยา หรือไม่หากมีความรู้ก็จะหาสมุนไพรรับประทานเอง
ถ้าหมอไม่ดังและมีชื่อเสียงจริงคลินิกแห่งนั้นก็จะอยู่รอดทางธุรกิจได้ยาก ด้วยเหตุผลดังกล่าวคลินิกด้านผิวพรรณ ศัลยกรรม และความงามจึงกลายเป็นอาชีพของหมอและบุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีการเปิดกันเกลื่อนเมืองเพื่อหาความแตกต่างจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน แต่ด้วยเพราะคลินิกดังกล่าวเปิดกันมาก ที่เจ๊งกันก็เลยมากด้วยเช่นกัน
สถานการณ์ดังกล่าวจึงกลายเป็นโอกาสทองของโรงพยาบาลเอกชน ที่ประชาชนชนชั้นกลางขึ้นไปต้องการหลบเลี่ยงความแออัดของโรงพยาบาลรัฐบาล ต่างจึงไปใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น เมื่อมีความต้องการใช้บริการมากขึ้นก็ยิ่งทำให้โรงพยาบาลเอกชนสบโอกาสในการพัฒนาความหรูหราและบริการมากขึ้น และค่าบริการรักษาก็มีราคาแพงขึ้นไปอย่างมหาศาล
และเพราะการทำกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุดของโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ก็ยิ่งทำให้ประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายกับโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มสูงมากขึ้น
ประชาชนส่วนใหญ่มักไม่ศึกษาและไม่รู้ค่าใช้จ่ายว่าจะเกิดขึ้นเท่าไหร่ในวันที่รักษา และไม่ว่าโรงพยาบาลเอกชนจะคิดค่าใช้จ่ายเท่าไหร่คนไข้ส่วนใหญ่มักไม่มีปากเสียง นอกจากจะก้มหน้าก้มตาหาเงินมาจ่ายค่ารักษาอย่างไม่มีทางเลือก
เคยได้ยินไหม?เสียงบ่นของคนไข้ในโรงพยาบาลว่าเป็นหวัดนอนโรงพยาบาลไม่กี่วันต้องจ่ายเงินเกือบแสนบาท ชาวต่างชาติบางคนหน้ามืดมานอนพักรักษาตัวเพียงโรงพยาบาลเอกชนวันเดียวต้องจ่ายเงินกว่าแสนบาท หรือแม้ยาที่จ่ายให้คนไข้ราคาแพงกว่าราคาขายปกติหลายเท่าตัว
จริงอยู่ที่ว่าต้นทุนโรงพยาบาลภาคเอกชน ด้วยคุณภาพของการบริการ สถานที่ การรักษา รวมถึงบุคคลากร อย่างไรก็ย่อมต้องแพงกว่าโรงพยาบาลภาครัฐอยู่แล้ว
แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งดูจะเลยเถิดไปจนถึงหวังกำไรมากๆจากคนไข้เกินสมควรแก่เหตุ ในหลายกรณียังเหมือนกับรีดทรัพย์มรดกของคนไข้ในช่วงบั้นปลายชีวิต จริงหรือไม่?
ด้วยเป้าหมายที่ต่างกันราวกับฟ้าและเหว บุคคลากรทางการแพทย์และคนไข้ในโรงพยาบาลคงจะยินดีถ้ามีคนไข้เข้ามาใช้บริการให้น้อยลงเพื่อลดภาระปัญหารอบด้านทั้งปวง
ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนคงจะยินดีถ้ามีคนไข้มาใช้บริการมากขึ้น จ่ายยาให้แพงๆให้มากขึ้น ก็จะได้ยิ่งทำกำไรได้มากขึ้นจริงหรือไม่?
นอกจากนั้นการที่บริษัทยาซึ่งได้มีผลประโยชน์ร่วมด้วยอยู่กับแพทย์ในยุคปัจจุบัน ทำให้คนไข้จำนวนไม่น้อยที่แสวงหาข้อมูลจากทั่วโลกเกิดความหวาดระแวงด้วยว่าการรักษาและจ่ายยาของแพทย์นั้น จะไว้วางใจได้หรือไม่ว่าเป็นวิธีการรักษาหรือยาที่ดีที่สุด หรือเป็นเพียงการเลือกวิธีการรักษาและการใช้ยาที่จ่ายผลตอบแทนให้แพทย์ผู้รักษาได้มากที่สุดกันแน่ ?
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ประชาชนจำนวนมากตัดสินใจในการหาแพทย์ภูมิปัญญา และแพทย์ทางเลือกทั้งหลาย เพื่อหวังว่าจะเป็นแนวทางการรักษาที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าการแพทย์ภูมิปัญญาและแพทย์ทางเลือกมักจะถูกต่อต้านและทำลายความน่านเชื่อถือจากวงการแพทย์แผนปัจจุบันมาโดยตลอด
แม้เป็นความจริงอยู่ที่ว่าแพทย์ภูมิปัญญาและแพทย์ทางเลือกโดยส่วนใหญ่ แม้ต่อให้จะได้ผลดีในการรักษาแต่ก็ไม่ได้มีงานวิจัยเหมือนกับรูปแบบระบบการวิจัยยาในยุคปัจจุบัน จึงเป็นเหตุอ้างที่แพทย์แผนปัจจุบันกระแสหลักจะโจมตีได้อย่างมีน้ำหนักอยู่ไม่น้อย
แต่ในอีกด้านหนึ่งที่แพทย์แผนปัจจุบันที่ออกมาโจมตีแพทย์ภูมิปัญญาและแพทย์ทางเลือกนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะได้รับผลประโยชน์จากบริษัทยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ด้วย จริงหรือไม่?
หน่วยงานกำกับดูแลและควบคุมตามกฎหมายทางด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การครอบงำและอิทธิพลของแพทย์แผนปัจจุบันทั้งสิ้น แตกต่างจากอีกหลายชาติ เช่น อายุรเวทของอินเดียและ แพทย์แผนจีนที่ส่งเสริมการแพทย์ภูมิปัญญาของชาติตนเองเคียงคู่กับแพทย์แผนปัจจุบัน จนสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับเวทีระหว่างประเทศและระดับโลกแล้ว
คำถามมีอยู่ว่าทำไมแพทย์แผนไทย แพทย์ภูมิปัญญา หรือแพทย์ทางเลือกนั้น ไม่ทำวิจัยให้เหมือนยาเคมีในยุคปัจจุบัน
คำตอบแรก รูปแบบงานวิจัยยาในยุคปัจจุบันนั้นจำต้องเป็นผู้ที่มีทุนขนาดใหญ่รองรับเท่านั้น เพราะต้องใช้การวิจัยต่อเนื่องกว่า 10 ปี (ทดลองในหลอดทดลอง, ในสัตว์ทดลอง, ทดลองในมนุษย์เทียบยาหลอก, ทดสอบในมนุษย์จริงจำนวนมากขึ้น) ชาวบ้านและแพทย์ภูมิปัญญาส่วนใหญ่จึงไม่มีทุนไปทำวิจัยในรูปแบบและขั้นตอนเหมือนยาเคมีได้ ในขณะที่แพทย์ภูมิปัญญาส่วนใหญ่มักใช้การจดบันทึกสอนวิธีการรักษาและตำรับต่างๆซึ่งได้ผลมาแต่ในอดีต
ด้วยเหตุผลที่แพทย์ภูมิปัญญาในอดีตนั้นทดลองกับมนุษย์แล้วจึงได้มีการจดบันทึกถ่ายทอดต่อจากรุ่นสู่รุ่น จึงไม่มีขั้นตอนการทดลองในหลอดทดลอง หรือ สัตว์ทดลอง ครั้นเมื่อจะมีงานวิจัยในมนุษย์เพื่อพิสูจน์ความจริงบ้างก็จะถูกขัดขวางว่าขัดจริยธรรมเพราะไม่ผ่านตามขั้นตอนเสียก่อนที่จะมีการทดลองในมนุษย์
คำตอบที่สอง รูปแบบงานวิจัยของบริษัทยานั้นต่างสนใจในเรื่องโครงสร้างทางเคมีเชิงเดี่ยว หรือหากแม้นเป็นสมุนไพรก็จะสนใจที่สารสำคัญที่สกัดออกมา ในขณะที่วิธีการใช้สมุนไพรของแพทย์ภูมิปัญญา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน และแพทย์แผนอินเดีย จะสนใจในความจำเพาะของคนไข้ที่มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องสมดุลร้อนเย็น และธาตุต่างๆ เป็นหลักสำคัญ สูตรสมุนไพรของแพทย์ภูมิปัญญาจึงต้องใช้สมุนไพรหลายชนิดผสมเป็นตำรับ เพื่อแก้จุดอ่อนของยาแต่ละตัวเพื่อออกแบบให้สอดคล้องกับคนไข้แต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน จึงไม่สอดคล้องกับงานวิจัยทางด้านยาเคมีที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “มาตรฐานปริมาณโครงสร้างทางเคมี”ในยุคปัจจุบัน
นอกเหนือไปมากกว่านั้นแพทย์แผนภูมิปัญญาไม่ได้ใช้การรักษาทางเคมีตัวใดตัวหนึ่งเป็นหลัก แต่ใช้หลายวิธีเข้าผสมบูรณาการกันเป็นองค์รวม ตั้งแต่ โภชนาการบำบัด สมุนไพร จิตบำบัด การออกกำลังกาย การใช้หัตถการกดจุด ครอบแก้ว หรือฝังเข็ม ฯลฯ มากกว่าที่จะใช้การรักษาวิธีใดวิธีหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจะเห็นได้ว่ายาเคมีหลายชนิดจะได้แค่ระงับปลายอาการและไม่มีวันหายได้เลยหากไม่ได้รักษาด้วยการบูรณาการหลายศาสตร์ทำงานร่วมกัน
คำตอบที่สาม ในปัจจุบันนี้มีงานวิจัยจำนวนมากของแพทย์ภูมิปัญญาและแพทย์ทางเลือกได้ทยอยพิมพ์ออกมาเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำของโลก แต่แพทย์แผนปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้อคติและอัตตาใช้ความเห็นโจมตีว่าไม่มีงานวิจัยบ้าง หรือเมื่อทราบว่ามีงานวิจัยแล้วก็อ้างว่ายังไม่ได้ข้อยุติบ้าง หรืองานวิจัยไม่น่าเชื่อถือบ้าง เร่งหาจุดอ่อนของงานวิจัยมาโจมตี ทั้งๆที่ในความเป็นจริงการวิจัยของยาเคมีในยุคปัจจุบันทุกชิ้นถ้าจะเลือกโจมตีก็สามารถจะมีจุดอ่อนได้ทั้งสิ้น จนยาเคมีจำนวนมากต้องยกเลิกผลิตไปก็เพราะวิจัยออกมาอย่างไม่ถี่ถ้วนรอบด้าน จริงหรือไม่?
ด้วยเหตุปัญหาข้างต้นจึงเกิดปัญหา 2 ด้านที่อยู่ตรงกันข้ามกัน คือ ในด้านหนึ่งแพทย์ภูมิปัญญาและแพทย์ทางเลือกสามารถรักษาหลายโรคได้ผลดีกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ถูกโจมตีว่าไม่มีงานวิจัยรองรับ หรือมีงานวิจัยรองรับก็ถูกโจมตีว่างานวิจัยไม่น่าเชื่อถือจากกลุ่มแพทย์ผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจยาเคมี แต่ในอีกด้านหนึ่งแพทย์ภูมิปัญญาและแพทย์ทางเลือกที่ไม่ได้ผลในการรักษาแต่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงเพราะไม่มีงานวิจัยรับรองเลยก็มีไม่น้อยเช่นเดียวกัน
สรุปก็คือโรงพยาบาลภาครัฐแออัด โรงพยาบาลเอกชนแสนแพง แต่แพทย์ภูมิปัญญาและแพทย์ทางเลือกยังขาดงานวิจัย แล้วประเทศไทยจะเดินทางไปทางไหนกัน?
คนไทยในยุคปัจจุบันอายุยืนขึ้นกว่าในอดีตก็เพราะสงครามน้อยลงและสามารถได้เอาชนะโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อได้หลายชนิด ในขณะที่การเสียชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันกลับเกิดมาจากโรคไม่ติดเชื้อมากขึ้นทุกวัน ได้แก่ โรคมะเร็ง (บางชนิดเกิดจากการติดเชื้อ) โรคเบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคปวดศีรษะไมเกรน โรคกรดไหลย้อน ฯลฯ ซึ่งโรคส่วนใหญ่ในยุคนี้เกิดจากวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมทั้งพฤติกรรมและการบริโภค ความรุนแรงของปัญหาโรคร้ายเหล่านี้นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อประเทศไทยใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น
และโรคเหล่านี้จะสามารถป้องกันและเยียวยาด้วย การปรับพฤติกรรมด้วยข้อมูลและองค์ความรู้ที่ถูกต้อง
สอดคล้องกับ 115ปีที่แล้ว ที่นายโธมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์และนักธุรกิจชื่อดังชาวอเมริกันผู้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์หลอดไฟคนแรกของโลก ได้กล่าวถึงการแพทย์ในอนาคตความตอนหนึ่งว่า :
“แพทย์แห่งอนาคตจะไม่จ่ายยา แต่จะสนใจคนไข้ทั้งหลายของเขาในการดูแลกรอบของความเป็นมนุษย์ อาหาร และในสาเหตุและการป้องกันโรค”
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และยังได้มีวิสัยทัศน์ด้านสุขภาพที่นอกกรอบแนวคิดเดิมๆ เป็นผลทำให้เกิดการจัดตั้งสถาบันแพทย์แนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัยขึ้น เพื่อสร้างแพทย์แห่งอนาคต แพทย์บูรณาการ และสร้างคนธรรมดาให้เป็นหมอสำหรับดูแลตนเองและคนในครอบครัวได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
หลักสูตร “วิถีชีวาเวชศาสตร์” หรือ Lifestyle Medicine จึงเป็นหลักสูตรแรกที่เปิดให้ประชาชนธรรมดา ที่ไม่จำกัดอายุและวุฒิการศึกษาให้ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนการป้องกันและรักษาด้วยวิถีการดำเนินชีวิตตประจำวันกับแพทย์หลากสาขา และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในหลายมิติที่มีประสบการณ์ตรงในการปรับวิถีชีวิตของผู้ป่วยจนสามารถหายป่วยมาแล้วทั้งสิ้น เพื่อทำให้ผู้เข้าเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ลดการใช้ยา ลดการไปหาหมอในโรงพยาบาล
วิชาที่จะเรียนได้แก่ การเรียงลำดับการกินอาหารเพื่อสุขภาพ, โภชนาการบำบัดจากภูมิปัญญาของแพทย์แผนไทย-อายุรเวทจนถึงงานวิจัยยุคใหม่, การใช้สมุนไพรในบ้าน, การลงมือทำตัวอย่างผลิตภัณฑ์สมุนไพร, การกดจุดแก้อาการและฟื้นฟูสุขภาพในบ้านในแนวทางแพทย์แผนไทยประยุกต์, การฝังเข็มและการแมะสำหรับบางอาการในบ้านของแพทย์แผนจีน, ธรรมานามัย, การบูรณาการล้างพิษ, การบริหารระบบภูมิคุ้มกัน, การค้นคว้าและการอ่านงานวิจัยด้านสุขภาพ, การแพทย์ฉุกเฉินในบ้าน, การออกกำลังกายเพื่อการชะลอวัย, การเลือกใช้วิตามินและอาหารเสริม, การแพทย์ทางเลือกในยุคปัจจุบัน ฯลฯ
ซึ่งแน่นอนว่าการเรียนองค์ความรู้จากธรรมชาติบำบัดเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในระดับเซลล์ จะทำให้ได้ให้ความเข้าใจเพื่อป้องกัน บรรเทา และบริหารจัดการกับโรคยอดฮิตในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การชราก่อนวัยอันควร, การเอาชนะโรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคอ้วน, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคปวดศีรษะไมเกรน, โรคออฟฟิศซินโดรม, โรคมะเร็ง, โรคภูมิแพ้, โรคตับ, ฯลฯ
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติรักษาคนไข้จริง ตลอดจนผู้ที่มีชื่อเสียงในด้านการแพทย์และสุขภาพซึ่งล้วนแล้วแต่มีภารกิจที่มาก จะมารวมตัวเสียสละเวลาอันมีค่าเพื่อสอนประชาชนให้เป็นหมอด้วยตัวเองในรุ่นที่ 2 อีกครั้งหนึ่งด้วย
หลักสูตรดังกล่าวนี้รับจำนวนจำกัด โดยเริ่มรับสมัครเรียนแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561และเริ่มเรียนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ทั้งเช้าและบ่าย ยกเว้นวันหยุดตามที่กำหนด โดยเริ่มเรียนวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต รวมประมาณ 84 ชั่วโมง
สามารถสมัครได้โดยไม่จำกัดวัยและวุฒิการศึกษา โดยผู้ที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต สนใจสมัครเรียนด่วนก่อนเต็ม ได้ที่สถาบันรังสิตวิชชาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-791-5681,02-791-5683,02-791-5684
ด้วยความปรารถนาดี
อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต