เตือน “แพทย์” ควงเวรข้ามวันข้ามคืน พักผ่อนน้อย ทำเสี่ยงติดเชื้อง่าย เกิดภาวะหายใจลำบากเฉียบพลัน พบเสียชีวิตแล้ว 3 ราย เสนอมีกฎหมายควบคุมชั่วโมงการทำงาน ปรับปรุงอาชีวอนามัย มีการเยียวยาเมื่อประสบภัย “หมอธีระวัฒน์” ห่วงนอนสะสมครั้งละ 5 - 10 นาที ทำสมองเสื่อม ส่งผลการรักษาคนไข้ ชี้ หมอครอบครัวช่วยป้องกันคนป่วยหนักล้น รพ. แต่ใช้เวลาอีกกว่าสิบปีจึงสำเร็จ
จากกรณีการเสียชีวิตของ นพ.ฐาปกรณ์ ทองเกื้อ หรือ หมอบอล อายุ 30 ปี แพทย์ประจำ รพ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากมีอาการป่วย แต่ยังมารักษาคนไข้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ไม่มีระบบดูแลและแก้ปัญหาภาระงานหนักเกินไปของบุคลากรทางการแพทย์
วันนี้ (23 พ.ค.) ที่โรงแรมมารวยการ์เดนส์ ในการประชุมหารือ เรื่อง “หมอบอล ตายขณะรักษาผู้ป่วย...คน สธ. ต้องตาย - ต้องเจ็บ - ถูกทอดทิ้งในหน้าที่อีกกี่คน : ร่วมกันหาความจริง แก้ไข” พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ได้มีแค่แพทย์ที่ทำงานหนัก แม้แต่พยาบาลก็ทำงานหนัก โดยข้าราชการปกติทำงานวันละ 8 ชั่วโมง หยุดวันเสาร์ และ อาทิตย์ ทำงานเฉลี่ย 20 - 22 วันต่อเดือน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ทำงานเกิน 24 ชั่วโมง หลายคนควงเวรทำให้ต้องทำงานมากกว่า 35 - 40 วันต่อเดือน แต่ สธ. ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะติดกับดักที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไม่เพิ่มจำนวนข้าราชการ และติดกับดักไม่เพิ่มงบประมาณ เพราะงบทั้งหมดถูกส่งไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ทำหน้าที่บริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งออกกฎเกณฑ์และแนวทางค่ารักษาต่างๆ ทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินคืนเพียงร้อยละ 50 - 70 ของค่าใช้จ่ายจริง ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน
พญ.เชิดชู กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังติดกับดักมาตรฐานทางการแพทย์ แพทย์ไม่มีทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน ถือเป็นการรักษาแบบเหมาโหล นอกจากนี้ ยังติดกับดักคนไข้ไปใช้สิทธิเมื่อไรก็ได้ สมัยหนึ่งมีการเอายามาแลกไข่ สะท้อนว่า การที่ประชาชนไปเรียกร้องสิทธิรับยาโดยไม่จำเป็น เสียเงินเป็นจำนวนมาก ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องให้ความสนใจและปฏิรูประบบสาธารณสุข ไม่เช่นนั้น ปัญหาแพทย์ทำงานหนัก และเสียชีวิตจะออกมาอีก และแก้ปัญหาระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้ได้ เพราะตั้งแต่มีขึ้นมาโรงพยาบาลเอกชนเจริญขึ้นมาก เพราะประชาชนที่มีเงินยอมใช้เงินเพื่อรักษาสุขภาพ แต่ประชาชนที่ไม่มีเงินต้องยอมรับสภาพนั้น ที่พูดไม่ได้ต้องการล้มระบบ 30 บาทฯ แต่ต้องการให้ปฏิรูปให้ดีขึ้น ยั่งยืน ประชาชนเข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึง เท่าเทียม
พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบแพทย์อายุไม่เกิน 30 ปี เสียชีวิตแล้ว 3 คน ซึ่งเกิดจากภาวะโรคเดียวกัน คือ ติดเชื้อและเกิดภาวะหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome :ARDS) โดยแพทย์ที่ทำงานติดต่อกันยาวนาน และอยู่ในสถานที่ที่มีเชื้อโรคมากอย่างในโรงพยาบาลก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ได้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้และซ่อมแซมได้ทัน ทำให้ติดเชื้อและเสียชีวิตได้ ในการแก้ปัญหาภาระงานหนักเหล่านี้ ขอเสนอใน 3 เรื่อง คือ 1. มีกฎหมายที่กำหนดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขอย่างชัดเจน รวมถึงตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการกำลังคนแยกออกจาก ก.พ.
2. จัดการปรับปรุงอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานของบุคลากรสาธารณสุข ให้เป็นไปตามหลักอาชีวอนามัย เมื่อเกิดเหตุบุคลาการเจ็บป่วยเสียชีวิตขึ้น ต้องสอบสวนหาความจริงว่าเกิดจากการทำงานหรือไม่ เช่น วัดปริมาณเชื้อโรคในอากาศ และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นเพราะการทำงานจริงต้องมีระบบเตือนภัยเพื่อป้องกันบุคลากรคนอื่นอีก และ 3. ต้องมีการเยียวยาแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ที่ประสบภัยนี้ ซึ่งนอกจากการค่าชดเชยแล้ว ควรมีการเชิดชูเกียรติ งดทับถมให้ร้าย ซึ่งที่ สธ. กำลังยกร่างหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยา ขอให้มีการคิดคำนวณอย่างมีหลักการด้วย เพราะทุกวันนี้คนทำงานขาดขวัญกำลังใจ เพราะผู้บริหารขาดความใส่ใจ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาระงานที่หนักเกินไปของแพทย์นั้น ทำให้เกิดคำถามว่า อัตราของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขควรเป็นเท่าไรจึงจะเพียงพอ เรื่องนี้ต้องพิจารณาทั้งจากจำนวนคนไข้ ความรุนแรงของโรค ความซับซ้อนของโรค และภาวะแทรกซ้อนของโรคด้วย ซึ่งทุกวันนี้จำนวนแพทย์ พยาบาล ไม่ได้เพียงพอต่อปัจจัยที่กล่าวมาเลย เมื่อภาระงานหนัก ก็ต้องอาศัยการนอนสะสมจากช่วงเวลาว่าง อาจเป็น 5 - 10 นาที ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาสมองเสื่อมมากที่สุด และเมื่อร่างกายอ่อนแอก็เสี่ยงติดเชื้อในโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังส่งผลถึงความเสี่ยงในการดูแลคนไข้ เพราะจะแปรผันตามความพร้อมกำลังกาย ใจ และ สมอง ซึ่งความไม่พร้อมเหล่านี้ส่งผลต่อคนไข้โดยตรง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุของการมีคนไข้มาก เพราะไม่สามารถป้องกันคนในชุมชนไม่ให้ป่วยหนักได้ ขณะที่การรักษาก็ถูกตีหรอบเหมาโหลโดย สปสช. ต้องทำตามเกณฑ์ถึงจะเบิกเงินได้ ซึ่งตรงนี้ทุกคนต้องยอมรับความจริงว่าระบบมันผิดพลาด ต้องยอมรับและแก้ไข ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการล้มบัตรทอง มิเช่นนั้น ต่อให้ผลิตแพทย์เพิ่มเท่าไรก็ไม่เพียงพอ เพราะเมื่อแพทย์จบใหม่มาเจอสถานการณ์อย่างนี้เมื่อใช้ทุนจบก็ลาออก ปัญหาวนเวียนที่เดิม เป็นการกรองคนดีออกจากระบบ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนนโยบายหมอครอบครัว มองว่า สามารถช่วยให้คนในชุมชนเข้าถึงการรักษามากขึ้น และป้องกันไม่ให้คนไข้ป่วยหนักไปล้นโรงพยาบาล ซึ่งหากเริ่มตั้งแต่เมื่อ 14 - 15 ปีก่อน ปัจจุบันปัญหาก็จะไม่เกิด ส่วนการจะแก้ปัญหาคนไข้ล้น รพ. ได้เมื่อไร ตรงนี้คงใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี เพราะกว่าจะผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวออกมาได้ เช่น ผลิต 20,000 คน ต้องใช้เวลาเท่าไร และตัวแพทย์เองต้องมีความรอบจัด คือ ต้องเก่งมากเก่งหลายๆ อย่าง ทั้งทำคลอด ฉีดวัคซีนเด็ก อาการเด็กเช่นนี้ปอดบวมหรือไม่ จ่ายยาขนาดเท่าไร เป็นต้น ที่สำคัญคือต้องรู้ขีดจำกัดว่าระดับใดควรจะส่งต่อ นอกจากนี้ การสร้างหมอครอบครัวต้องทำให้เขามีศักดิ์ศรี เทียบเท่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่พลเมืองชั้นสอง และค่าตอบแทนต้องดึงดูด