xs
xsm
sm
md
lg

อธิการฯ ม.รังสิต เสนอ คสช.ใช้ ม.44 ปลดล็อก “กัญชา” ทางการแพทย์ หลังงานวิจัยติดขัดทดลองต่อในมนุษย์ไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ดร.อาทิตย์” อธิการฯ ม.รังสิต เสนอ คสช. ใช้ ม.44 ปลดล็อกกฎหมายให้ใช้ “กัญชา” ทางการแพทย์ได้ หลังงานวิจัยติดขัด ทดลองขั้นต่อไปในมนุษย์ไม่ได้ ชี้ กล้าปลดล็อกเรียกกองหนุนได้อีกเพียบ ทีมนักวิจัยเผยศึกษาทั้งสเปรย์พ่นปากจากสารสกัดกัญชา บรรเทาผลข้างเคียงจากคีโม และการยับยั้งเซลล์มะเร็ง พบให้ผลดีในหลอดทดลอง “อ.ปานเทพ” ชี้เป็นความหวังในการดูแลรักษาผู้ป่วย เผย กรมแพทย์แผนไทยฯ ทดลองยามะเร็ง “เบญจอำมฤตย์” ไม่ได้ผล เพราะไม่มีกัญชา ด้านรองอธิการฯ ระบุหากปลดล็อกให้ปลูกเพื่อวิจัยจะช่วยคุมคุณภาพกัญชาได้

ความคืบหน้าหลังจาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงความสำเร็จของคณะเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต ในการวิจัยยาพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา โดยอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

วันนี้ (3 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่อาคาร 1 มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ม.รังสิต แถลงข่าวความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวอย่างซึ่งสกัดจากกัญชา ว่า การศึกษาวิจัยและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชาของ ม.รังสิต ถือเป็นความสำเร็จที่เป็นวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทย ที่จะสร้างคุณูปการให้แก่มนุษยชาติ และไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่การพัฒนายังมีอุปสรรคทั้งเรื่องของกฎหมาย การขึ้นทะเบียนยา จึงอยากสื่อสารให้สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมรับว่า เรามีความสำเร็จเรื่องกัญชาทางการแพทย์ จึงเสนอให้มีการปลดล็อกในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์จากทางการแพทย์ได้ โดยเฉพาะอยากเสนอให้รัฐบาล คสช. ใช้มาตรา 44 ในการปลดล็อกให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ เช่น ปลดล็อกให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภทสอง แบบฝิ่น หรือ มอร์ฟีน ที่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ หรืออนุญาตปลูกเพื่อใช้ทางการแพทย์ในพื้นที่จำกัดมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด เป็นต้น ซึ่งหาก คสช. กล้าปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์โดยใช้ ม.44 เรียกกองหนุนกลับคืนมาได้อีก

รศ.ดร.ภญ.นริศา คำแก่น อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต ในฐานะนักวิจัย กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งสกัดจากกัญชานั้น ทีมวิจัยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ให้สามารถครอบครองยาเสพติดประเภท 5 และผลิตสารสกัดที่ได้จากยาเสพติดให้โทษเพื่องานวิจัย โดยได้รับกัญชาของกลางจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดจำนวน 40 กิโลกรัม โดยนำไปใช้ใน 2 โครงการ คือ การพัฒนาเป็นสเปรย์ยาพ่นเพื่อรักษาอาการผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งด้วยคีโม เช่น อาการปวด อาเจียน นอนไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งการที่ใช้เป็นยาพ่นเพราะตัวยาสามารถดูดซึมได้ทันที แต่หากเป็นยากิน ตัวยาจะถูกตับทำลาย ทำให้การออกฤทธิ์ด้อยลง โดยตำรับยาจะมีสารสกัดจากกัญชา 2 ตัว คือ Cannabidiol (CBD) และ Tetrahydrocannabinol (THC) ในอัตราส่วนการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ 1 ต่อ 1 เนื่องจากปกติแล้วกัญชาจะมีสาร THC ซึ่งทำให้เกิดอาการหลอน ในจำนวนมากกว่า ดังนั้น ยาดังกล่าวจึงไม่มีผลข้างเคียงอาการไม่พึงประสงค์ต่อจิตและประสาท โดยขณะนี้เหลือเพียงการทดลองวิจัยในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ รวมถึงการทดสอบความคงตัวทั้งกายภาพ และทางเคมี ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม จะต้องรอกฎหมายปลดล็อกก่อนจึงจะสามารถทดลองในคนได้ ซึ่งหากผลการทดลองออกมาประสบผลสำเร็จก็จะขับเคลื่อนต่อในการพัฒนาเป็นยาอม และควบคุมคุณภาพของกัญชาโดยการปลูกเพื่อทำการวิจัยเอง ทั้งอุณหภูมิและความชื้น เนื่องจากกัญชาของกลางนั้นไม่มีการควบคุมคุณภาพ มีการปนเปื้อนแบคทีเรีย และเชื้อราต่างๆ

ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ ทีมนักวิจัย กล่าวว่า อีกโครงการคือการวิจัยสารสกัดจากกัญชาที่มีผลต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งจากการทดลองในหลอดทดลอง พบว่า สารสกัด THC จากกัญชา สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งทางเดินท่อน้ำดีได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองในสัตว์ทดลอง คาดว่า อีกประมาณ 3 - 4 เดือน จะทราบผลการทดลอง และสามารถคำนวณขนาดโดสที่จะใช้ทดลองในมนุษย์ แต่ยังต้องรอให้กฎหมายปลดล็อกก่อน จึงจะสามารถทดลองในคนได้ โดยกระบวนการทดลองในคนคาดว่าต้องใช้เวลาดำเนินการ 1 - 2 ปี และศึกษาความปลอดภัยทางด้านพิษวิทยาเพิ่มเติมด้วย

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.รังสิต กล่าวว่า แม้ปัจจุบันยารักษามะเร็งจะมีการพัฒนาไปมาก แต่บางอย่างเราก็ยังไม่รู้และรักษาไม่ได้ ที่สำคัญคือ มีคนไข้จำนวนมากที่มีปัญหากับยา เพราะมีอาการแพ้ มีผลข้างเคียงจากยารักษามะเร็ง ตรงนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไข้รับยาไม่ครบ แต่สเปรย์ยาพ่นเพื่อรักษาผลข้างเคียงจากตีโมมีผลวิจัยจากต่างประเทศชัดเจนแล้วถึระดับในคนว่าสามารถช่วยได้จริง แต่ขณะนี้กฎหมายยาเสพติดยังกำหนด “กัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 คือ ห้ามผลิต จำหน่าย ครอบครอง และห้ามเสพ จึงทำให้ไม่สามารถนำกัญชามาใช้ในทงการแพทย์ได้ เพราะแม้จะเป็นงานวิจัย แต่เมื่อนำมาทดลองในมนุษย์โดยการกิน ฉีดต่างๆ ก็เข้าข่ายว่าเป็นการเสพ จึงต้องปลดล็อกกฎหมายในเรื่องนี้ก่อน คือ ต้องอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อวิจัยได้ เพราะกัญชาของกลางคุณภาพไม่ได้และไม่รู้มาจากแหล่งไหน และสามารถนำมาใช้ในการทดลองได้

“กัญชาเป็นพืชตะวันออกและเรารู้จักกันมาเป็นพันปี ฝรั่งไม่ค่อยรู้จัก ฝรั่งจัดว่าเป็นยาเสพติด ซึ่งไทยก็ตามฝรั่งจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดตั้งแต่ 70 - 80 ปีก่อน อยู่ในประเภทห้ามเสพ ห้ามปลูก ห้ามจำหน่าย ห้ามครอบครอง แต่ระยะหลังฝรั่งเขารู้ว่ากัญชาทางการแพทย์ถือว่าปลอดภัย ฝรั่งเขาก็ปรับตัว บางประเทศอนุญาตให้ใช้เป็นยา ใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ แต่ประเทศไทยแม้มีกระแสเคลื่อนไหวเพื่อแก้กฎหมายมาหลายปี แต่ก็ยังไหลไปตามกระบวนการราชการ ก็คงต้องรอดูการแก้กฎหมายยาเสพติดว่าจะช่วยปลดล็อกในเรื่องทางการแพทย์หรือไม่” นพ.ศุภชัย กล่าว

ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ  คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้กฎหมายยาเสพติด คือ ร่างประมวลกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมร่างเสร็จแล้ว ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างรอการพิจารณาเข้าวาระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแม้จะได้รับอนุญาตในการทดลอง แต่ไม่นำสารสกีดจากกัญชามาทดลองกับมนุษย์ได้ ทดลองได้แค่ในสัตว์ ซึ่งน่าเสียดายมาก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนป่วยไข้ โดยเฉพาะจากมะเร็งที่ได้รับผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดรออยู่ จึงต้องพยายามให้ข้อมูลและความสำคัญเพื่อให้กฎหมายผ่านออกมาให้ได้

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้มีการหารือร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งระดมนักสมุนไพรมาช่วยกันค้นว่า ประเทศไทยเคยใช้กัญชาในทางการแพทย์กี่ตำรับ พบว่า ค้นได้ 12 เล่ม รวม 91 ตำรับ แสดงว่าเรามีความรู้ภูมิปัญญาวิธีการใช้กัญชามายาวนาน ตั้งแต่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และมีบันทึกในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วย มีการนำกัญชามาใช้ต่อเนื่อง จึงทำให้เห็นโอกาสว่าหากมีการปลดล็อกกฎหมายและนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ และกรมการแพทย์แผนไทยฯ ไม่ต้องมาเสียดายตำรับยาโบราณจำนวนมากที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ที่สำคัญ ทำให้มีความหวังในการใช้ในการรักษาโรคต่างๆ มีผลิตที่ได้มาตรฐาน ประชาชนใช้ได้อย่างปลอดภัยและถูกต้องในทางการแพทย์ ซึ่งถ้าไม่ปลดล็อกโทษจะเกิดกับผู้แอบใช้อย่างไม่ระมัดระวัง เกิดกับผู้ที่รอความหวังจะเป็นตำรับยารักษาโรคอื่นๆ อีกมากมายก็จะสิ้นหวังลง อย่างตำรับยาเบญจอำมฤตย์ที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ ใช้ทดลองอยู่ที่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยยศเส ที่ไม่ได้ผลเพราะบางตำรับต้องมีกัญชาเข้าไปผสม

เมื่อถามว่าระหว่างที่กฎหมายยังไม่ปลดล็อกจะมีแผนสำรองในการดำเนินการหรือไม่ รศ.ดร.ภญ.นริศา กล่าวว่า ในกฎหมายเดิม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีมาตราหนึ่งที่เปิดช่องให้สามารถทำการทดลองภายในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้





กำลังโหลดความคิดเห็น