ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัญญาณชะลอตัวใน “ตลาดแรงงานไทย” รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากสถิติการทำงานของคนไทย เดือน ก.ย.62 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จำนวนกว่า 3.85 แสนคน ขณะที่ “นักศึกษาจบใหม่” กว่า 5.2 แสนคน เปอร์เซ็นต์ว่างงานสูงปรี๊ด ขณะที่ในเดือน ต.ค. 62 พบว่าผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 37.44 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.00 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 8.65 หมื่นคน
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบ สถานการณ์แรงงานกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 พบว่า จำนวนผู้มีงานทำลดลง 6.0 แสนคน (จาก 37.60 ล้านคน เป็น 37.00 ล้านคน) ผู้ว่างงานลดลง 2.9 หมื่นคน (จาก 3.84 แสนคน เป็น 3.55 แสนคน)
นอกจากนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้รายงานสถิติการแจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน และจำหน่ายทะเบียนโรงงาน ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.2562 รวม 1,989 แห่ง แรงงาน 49,157 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 10 เดือนแรกของปีที่แล้ว ตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค.2561 ที่มีการแจ้งปิดโรงงาน 1,290 แห่ง แรงงาน 33,507 คน ส่วนยอดปิดโรงงานทั้งปี 2561 อยู่ที่ 1,603 แห่ง แรงงาน 40,305 คน
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ณ เวลานี้ นอกจากจะมี “คนว่างงาน” เพิ่มขึ้นแล้ว ประเทศไทยยังมี “คนจน-หนี้ครัวเรือนและหนี้เสีย” สูงไม่แพ้กันอีกต่างหาก ที่สำคัญคือ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ตกอยู่ในสภาวะ “น่าเป็นห่วง” ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลขการส่งออก และยอดโอนกรรมสิทธิ์บ้านที่ “ลดลง”
ประจักษ์พยานที่สะท้อน “ขาลง” ชัดเจนที่สุดก็คือ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 เปอร์เซ็นต์ จากระดับ 1.50 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 1.25 เปอร์เซ็นต์ต่อปีในการตัดสินนโยบาย ซึ่งเป็นการลดครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับมาต่ำสุดนับจากวิกฤติการเงินโลกในปี 2009
กล่าวสำหรับปัญหา “แรงงาน” นั้น ปัจจุบันแรงงานไทยมีอยู่ประมาณ 37.6 ล้านคน คิดเป็น 56.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NSO) เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนกันยายน 2562 พบว่า มีผู้ว่างงานกว่า 3.85 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นคน และหากเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2562 พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 3,000 คน นั่นหมายความว่า นักศึกษาจบใหม่ว่างงานส่งผลให้ตัวเลขคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้น
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องจับตาคือความเสี่ยงของตลาดแรงงานปี 2563 จะมีมากขึ้นเมื่อนักศึกษาจบใหม่เข้ามาในระบบอีก 5.24 แสนคนช่วงเดือน มีนาคม - เมษายน ซึ่งอาจต้องเผชิญภาวะการว่างงานที่สูงขึ้นตามไปได้
ข้อมูลสอดรับกับสิ่งที่ “นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า จากยอดตัวเลขบัณฑิตตกงานรวมกว่า 500,000 คน รัฐบาลได้มอบให้ อว.จัดทำ “โครงการยุวชนสร้างชาติ” ซึ่งจะมี 3 โครงการย่อย ประกอบด้วย บัณฑิตอาสา อาสาประชารัฐและกองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยจะใช้งบประมาณ 8,600 ล้านบาท ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือน ธ.ค.นี้
โครงการยุวชนสร้างชาติ มีเป้าหมายคือเยาวชนวัยหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยและบัณฑิตจบใหม่ โดยวิธีการแก้ปัญหาจะผ่าน 3 โครงการย่อย คือ โครงการบัณฑิตอาสา เพื่อช่วยบัณฑิต ตกงาน ใช้งบประมาณจำนวน 8 พันล้านบาท รับจำนวนกว่า 50,000 คน เพื่อให้ลงไปพัฒนาพื้นที่ในชุมชนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ โดยจะรับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี ระยะเวลา 12 เดือน โดยจะได้เงินเดือน 10,000-15,000 บาท สามารถสมัครได้ที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
โครงการที่สองคือโครงการอาสาประชารัฐ งบประมาณ 500 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาปี 3-4 จำนวน 10,000 คน ใช้ระยะเวลาทำงาน 4-5 เดือนหรือ 1 ภาคเรียน ให้ไปทำงานร่วมกับชาวบ้านและสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ทั้งหมด โดยจะมีค่าเบี้ยเลี้ยงให้คนละ 5 พันบาท และสุดท้าย โครงการกองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น งบประมาณ 100 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายจะเป็นนิสิตนักศึกษาร่วมกับบุคลากรมหาวิทยาลัย ใช้ระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อให้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดลองจัดตั้งสตาร์ตอัพ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ นวัตกรรมสังคมและนวัตกรรมสร้างสรรค์
“ผมมั่นใจว่าโครงการยุวชนสร้างชาติ จะช่วยลดอัตราการว่างงานของบัณฑิตใหม่ในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบ ที่สำคัญจะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ด้วย”นายสุวิทย์กล่าว
ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ข้อมูลจาก นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน (TDRI) ที่ระบุว่าสาเหตุหลักมาจากการจบไม่ตรงสาย หรือการเรียนเพื่อเอาวุฒิปริญญา ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่บัณฑิตไทยส่วนใหญ่กลับจบสายสังคมศาสตร์มากกว่า
สำหรับสถานการณ์โดยภาพรวมของตลาดแรงงานไทย นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย ให้ข้อมูลว่าปัญหาสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว คาดการณ์ว่าจะมีผลให้การส่งออกของไทยปี 2562 มีโอกาสติดลบ 1.5 - 2 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนไปยังการจ้างแรงงานของไทยที่เริ่มชะลอตัวลง
“ตลาดแรงงานในภาคส่วนต่างๆ เช่น ส่งออก การผลิต การบริการ โลจิสติกส์ ค้าปลีก และค้าส่งขณะนี้อยู่ในช่วงชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีการลดรับแรงงานใหม่ ไม่รับคนเพิ่มแทนคนงานที่ออกไป การลดกะทำงาน และบางส่วนมีการปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เอไอ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีต่างๆ เป็นต้น ”
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะมีผลต่อตลาดแรงงานในระยะต่อไปที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. การเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เน้นเทคโนโลยีแทนคนเพิ่มขึ้น 2. เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งให้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
3. เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในวัฏจักรชะลอตัวซึ่งไทยพึ่งเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูง และ 4. การว่างงานของไทยที่ต่ำเป็นอันดับ 7 จาก 181 ประเทศทั่วโลก ซึ่งไทยมีอัตราว่างงานเฉลี่ย 1.1 - 1.2 เปอร์เซ็นต์ แต่แรงงานของไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ และมีการเข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือ เออร์ลีรีไทร์ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ไม่นับว่าว่างงาน ทำให้ไทยมีอัตราว่างงานในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งไม่ได้หมายถึงรายได้ของคนในประเทศจะอยู่ในเกณฑ์ที่สูง
โดยช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยต่างๆ เริ่มส่งผลให้เห็นบ้างแล้ว นิคมอุตสาหกรรมในหลายจังหวัดปิดกิจการและมีการเลิกจ้างคน แม้แต่ในภาคบริการก็เกิดกรณีการเลิกจ้างพนักงานจํานวนมาก กลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์และประกันภัย เริ่มเห็นผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ ธนาคารพาณิชย์ ปิดสาขาไปแล้วกว่า 121 สาขา
อีกทั้ง เกิดกระแสเลิกจ้างพนักงานธนาคารไม่น้อยกว่า 5,000 คน หลังการควบรวมกิจการธนาคารธนชาต กับธนาคารทหารไทย ส่งผลให้เครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาป้องกันการละเมิดต่อพนักงาน ให้คุ้มครองพนักงานธนาคารตามมาตรา 13 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ไม่นานมานี้ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ออกแถลงการณ์เตือนแรงงานในกลุ่มอาเซียน ระบุว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีโอกาสถูกกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะแรงงานภาคการผลิตและบริการ
คาดการณ์ว่าในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ไปแรงงานบางกลุ่มจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ส่งผลให้แรงงานไทยที่อาจได้รับผลกระทบเสี่ยงถูกเลิกจ้างจะสูงถึง 4.9 ล้านคน ทำให้หลายอาชีพจะทยอยหายไป อาทิ ภาคธุรกิจบริการ, สถาบันการเงิน, ค้าส่ง-ค้าปลีก, พนักงานขายของ, แคชเชียร์, งานที่เกี่ยวกับการกระจายสินค้า, พนักงานรักษาความปลอดภัย, งานประเภทเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือธุรกรรมที่ต้องใช้คนจำนวนมาก ฯลฯ
สอดคล้องกับข้อมูลจากสภาที่ปรึกษาแรงงานแห่งชาติ เปิดเผยการศึกษาผลผลกระทบด้านการผลิตและบริการร่วมกับผู้ประกอบการและตัวแทนสหภาพแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน พบว่า คลัสเตอร์หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มนำร่องใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงาน สามารถทดแทนแรงงานได้เฉลี่ย 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงาน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ธนาคารพาณิชย์, ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ซึ่งเห็นได้ว่ากลุ่มนี้ปรับลดการรับพนักงานอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม สถาบันระหว่างประเทศแมคเคนซี ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระบุว่าภายในปี 2573จะมีคนตกงานทั่วโลก 800 ล้านตำแหน่ง เนื่องจากการถูกหุ่นยนต์ Aiเข้ามาทดแทoสัดส่วนมากถึง 1 ใน 5 ของตลาดแรงงานโลก
งานวิจัยในโครงการบทบาทของการค้าและเทคโนโลยีต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาดแรงงานของไทย โดยนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาทดแทนแรงงานคน พบว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับแรงงานไทยใน 20 ปีข้างหน้า อาจมีความเสี่ยงที่จะตกงานได้มากถึง 12 ล้านคน จากการใช้หุ่นยนต์และย้ายฐานการผลิต เว้นแต่อนาคตจะมีงานประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้น หรือแรงงานสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้
ที่น่าห่วงคือกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ (Low Skill) พนักงานระดับปฏิบัติการในโรงงาน มีหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร ทำส่วนประกอบต่างๆ เสมียน และกลุ่มการศึกษาระดับประถมศึกษา มีความเสี่ยงตกงานได้มากถึง 5 ล้านคน ซึ่งแรงงานที่มีอายุ 35 - 44 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากยิ่งอายุมากขึ้นการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) จะทำได้ยากขึ้น
ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมปี 2562 และแนวโน้มปี 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำข้อมูลไปปรับทิศทางการดำเนินงาน นโยบาย เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากขณะนี้มีสัญญาณของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นห่วงโซ่การผลิต (ซัปพลายเชน) ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ ที่เริ่มทยอยปิดโรงงานและบางส่วนเริ่มให้พนักงานหยุดงานชั่วคราวเพื่อรอประเมินสถานการณ์คำสั่งซื้อบ้างแล้ว
“อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจะได้รับผลกระทบมากสุดแต่จะมากน้อยต่างกันไป ดังนั้นภาพรวมการปิดโรงงานนั้นอาจจะมีบ้างแต่ไม่น่าจะเห็นมากในปี 2562 นี้ และสิ่งที่ต้องติดตามคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะมีการเจรจานำไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นได้หรือไม่ รวมถึงผลกระทบกรณีอังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit ซึ่งหากไม่มีอะไรมากจะสะท้อนให้เห็นผลทางบวกในปี 2563” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญต่อการจ้างงานคือการขยายการลงทุนในประเทศที่ขณะนี้พบว่าการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทยมีอัตราลดต่ำลงมากกว่าการส่งออก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการไม่ลงทุนเพิ่มของภาคการผลิตจึงส่งผลโดยตรงต่อการจ้างงานใหม่ที่จะไม่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าหลายธุรกิจมีการปรับเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานคนเพื่อรองรับกับปัญหาแรงงานของไทยที่ยังคงขาดแคลนช่างฝีมือและทิศทางค่าแรงที่สูงขึ้น
ส่วนกรณีกระแสข่าวเรื่องการปิดกิจการโรงงานและการเลิกจ้างงานในปัจจุบันนั้น นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า จากข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 12 พ.ย. 62 ถึงแม้ว่ามีการยื่นขอปิดกิจการโรงงานจำนวน 1,391 โรงงาน แต่เมื่อเทียบกับการขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่ซึ่งมีถึง 2,889 โรงงาน พบว่าโรงงานเปิดใหม่ยังมากกว่าปิดกิจการสูงถึง 107%
ในส่วนของแรงงาน ถึงแม้ว่ามีการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการจำนวน 35,533 คน แต่มีการจ้างงานจากการประกอบกิจการใหม่สูงถึง 84,033 คน และมีการจ้างงานเพิ่มจากการขยายโรงงานอีกจำนวน 84,704 คน ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังมีโรงงานหลายแห่งต้องการรับแรงงานเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก ขณะที่การลงทุนใหม่จากการประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการโรงงานเดิม พบว่าในปี 2562 มีเงินลงทุนเพิ่มเติมในกิจการโรงงานถึง 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีแล้วถึง 36.6%
ฟังความดูแล้ว แม้ตัวเลขการขยายโรงงานจากปากของกระทรวงอุตสาหกรรมอาจ “ไม่มีปัญหา” ทว่า เมื่อมองโดยองค์รวม ก็ต้องบอกว่า สถานการณ์ “แรงงานไทย” น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบรรดาบัณฑิตจบใหม่ แม้ภาครัฐกำลังเดินหน้าให้ความช่วยเหลือด้วยการทุ่มงบประมาณถึง 8,600 ล้านบาทก็ตาม