xs
xsm
sm
md
lg

อุดมการณ์การเมือง (๑๔-๔) อนาธิปไตย ยุทธศาสตร์การเมืองแห่งความรุนแรงและสันติวิธี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โนม ชอมสกี้ งานเขียนของเขาตั้งอยู่บนฐานคิดของอนาธิปไตย โดยเฉพาะความคิดที่มองว่าทุกสถาบันที่มนุษย์สร้างล้วนแฝงฝังด้วยความเลวร้ายทั้งสิ้น
"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

เป็นความจริงที่ว่า อนาธิปไตยประสบความสำเร็จในการอธิบายแนวความคิดในตำรา มากกว่านำไปสู่การปฏิบัติทางการเมืองที่เป็นจริง และเป็นเรื่องปกติที่ชาวอนาคิสต์หันหลังให้กับการเมืองในระบบ และมุ่งความสนใจต่อการเขียนหนังสือ หรือทดลองแนวคิดในชุมชนหรือการดำรงชีวิตตามหลักสหกรณ์

ชาวอนาคิสต์ไม่เพียงแต่ปลีกตัวออกจากชีวิตทางการเมืองกระแสหลักเท่านั้น ยังมีแนวโน้มต่อต้านกระบวนการและกลไกการเมืองที่ผลิตขึ้นมาจากกระแสหลักอีกด้วย ปัญหาสำคัญที่ทำให้อุดมการณ์อนาธิปไตยไม่อาจบรรลุประสิทธิผลทางการเมืองคือ ความเชื่อที่ว่ารัฐชั่วร้ายและกดขี่ ดังนั้นความพยายามใด ๆ ก็ตามที่จะให้ได้อำนาจรัฐมา หรือแม้กระทั่งการเข้าไปมีอิทธิพลต่อรัฐบาลก็เป็นสิ่งเลวร้ายและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ดังนั้น การเลือกตั้งอันเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยแบบตัวแทน เป็นสิ่งที่ชาวอนาคิสต์ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง เพราะอำนาจในสายตาของชาวอนาคิสต์เป็นสิ่งที่กดขี่เสมอ ไม่ว่ามาจากบัตรเลือกตั้งหรือกระบอกปืนก็ตาม สำหรับพรรคการเมืองก็เช่นเดียวกันเป็นสิ่งที่ชาวอนาคิสต์ไม่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองในระบบตัวแทนหรือพรรคปฏิวัติ เพราะพรรคการเมืองมีธรรมชาติเป็นระบบราชการและเป็นองค์การที่มีลำดับชั้นของอำนาจนั่นเอง

ด้วยหลักคิดที่ไม่มุ่งครอบครองอำนาจรัฐ ไม่จัดตั้งพรรคการเมือง ไม่เป็นนักการเมือง ทำให้ชาวอนาคิสต์ไม่อาจใช้กลยุทธ์ของการเมืองกระแสหลักได้ ยุทธศาสตร์ทางการเมืองของชาวอนาคิสต์จึงปรากฏออกมาในรูปแบบของ ความรุนแรงเชิงการปฏิวัติ การปฏิบัติตรงทางการเมือง และการประท้วงแบบสันติวิธี

ยุทธศาสตร์ความรุนแรงเชิงปฏิวัติของชาวอนาธิปไตยมีความโด่ดเด่นในสองช่วงของประวัติศาสตร์ ช่วงแรกคือปลายศตวรรษที่ ๑๙ และถัดมาช่วงทศวรรษที่ ๑๙๗๐ ชาวอนาคิสต์ใช้กลยุทธ์ก่อการร้ายด้วยการวางระเบิดและการลอบสังหาร เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวขึ้นมาในสังคม เหยื่อการสังหารที่สำคัญของชาวอนาคิสต์มักเป็นผู้นำของประเทศ เช่น ซาร์ อะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย (๑๘๘๑) ประธานาธิบดี การ์โนต์ แห่งฝรั่งเศส ( ๑๙๘๔) ในช่วงแรกลักษณะการก่อการร้ายของอนาคิสต์มักทำโดยบุคคลเพียงผู้เดียว หรือเป็นกลุ่มปิดลับ เช่น กลุ่มเจตจำนงประชาชนในรัสเซีย และสำหรับช่วงทศวรรษที่ ๑๙๗๐ นั้น การก่อการร้ายมักทำโดยกลุ่ม เช่น กลุ่มบาเดอร์ แมนฮอฟ ในเยอรมนี และกลุ่มกองทัพแดงในญี่ปุ่น เป็นต้น

ชาวอนาคิสต์มีความเชื่อว่า การวางระเบิดและการลอบสังหารผู้นำเป็นสิ่งยุติธรรมและเที่ยงธรรมในตัวของมันเอง หาได้เป็นเพียงกลยุทธ์เพื่อสร้างอิทธิพลทางการเมืองแต่อย่างใด ในทัศนะของชาวอนาคิสต์ความรุนแรงคือรูปแบบของการแก้แค้นหรือการตอบสนองผลกรรม เพราะว่าความรุนแรงมีต้นกำเนิดจากการกดขี่และขูดรีดโดยนักการเมือง นักธุรกิจ และข้าราชการที่กระทำต่อชนชั้นแรงงาน ความรุนแรงแบบอนาคิสต์จึงเปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนความรุนแรงในชีวิตประจำวันของสังคม และมีเป้าหมายตรงกับบุคคลผู้ซึ่งชาวอนาธิปไตยตัดสินว่ามีความผิดจริงหรือเป็นผู้สร้างความรุนแรง ดังนั้นการก่อการร้ายในสายตาของชาวอนาคิสต์คือ “ความยุติธรรมของการปฏิวัติ” หรือ เป็นการปฏิบัติแบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ความรุนแรงยังได้รับการมองจากชาวอนาคิสต์ว่าเป็นวิถีทางแห่งการทำลายขวัญกำลังใจของชนชั้นปกครอง ทำให้พวกเขาสูญเสียการควบคุมอำนาจและอภิสิทธิ์ และแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอและไม่อาจป้องกันตนเองได้ของชนชั้นปกครอง ยิ่งกว่านั้นชาวอนาคิสต์ยังเชื่อว่าอความรุนแรงเป็นวิธีการในการยกระดับจิตสำนึกทางการเมืองและกระตุ้นให้มวลชนมุ่งไปสู่เส้นทางของการปฏิวัติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ความรุนแรงแบบอนาธิปไตยไม่บรรลุประสิทธิผล ไม่อาจกระตุ้นให้มวลชนตื่นตัวและตระหนักรู้ความจริงในเรื่องที่พวกเขาถูกกดขี่ได้ ทว่า กลับกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความหวาดกลัวและความโกรธกริ้วขึ้นมา ยิ่งกว่านั้นความสัมพันธ์ระหว่างอนาธิปไตยกับความรุนแรงกลับไปทำลายความนิยมของประชาชนที่มีต่ออุดมการณ์นี้อีกด้วย รวมทั้งไม่อาจทำให้ชนชั้นปกครองละทิ้งอำนาจได้ แต่กลับกระตุ้นให้รัฐขยายตัวและเสริมสร้างกลไกการปราบปรามให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของมติสาธารณะที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยการใช้ความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ชาวอนาธิปไตยบางกลุ่มจึงหันไปใช้กลยุทธ์อื่นแทน

การปฏิบัติตรงทางการเมือง เป็นยุทธศาสตร์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวอนาธิปไตย การปฏิบัติตรงทางการเมืองมีขอบเขตตั้งแต่การต่อต้านแบบอ่อน จนไปถึงการต่อต้านแบบเข้มข้น ดังเช่น กลุ่มสหการอนาธิปไตย ปฏิเสธการเข้าร่วมแข่งขันในการเมืองกระแสหลัก แต่กลับใช้วิธีการกดดันนายจ้างโดยตรงด้วยการคว่ำบาตรสินค้า ทำลายเครื่องจักร และจัดตั้งการชุมนุมประท้วง ขณะที่ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์หรือต่อต้านทุนนิยมที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดอนาธิปไตย ก็ใช้กลยุทธ์การประท้วงเป็นหลักในการแสดงออกเช่นเดียวกัน

ในมุมมองของอนาธิปไตย การปฏิบัติตรงทางการเมืองมีข้อดีสองประการคือ ประการแรก ไม่ปนเปื้อนหรือถูกแทรกแซงโดยกระบวนการของรัฐบาลและกลไกรัฐ จึงทำให้การไม่เชื่อฟังและการต่อต้านสามารถแสดงออกโดยเปิดเผยและตรงไปตรงมา โดยไม่ถูกเบี่ยงเบนและบิดเบือนด้วยรัฐธรรมนูญและไม่ถูกจัดการด้วยนักการเมืองอาชีพ

ประการที่สอง ปฏิบัติการตรงทางการเมืองคือรูปแบบของกิจกรรมการเมืองของประชาชน ซึ่งสามารถจัดตั้งบนพื้นฐานของหลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ บางครั้งจึงเรียกรูปแบบเช่นนี้ว่า “การเมืองใหม่” ซึ่งปลีกตัวออกห่างจากพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และกระบวนการของตัวแทนในระบบรัฐสภา ไปสู่รูปแบบการเมืองที่มีความสร้างสรรค์และ “การเมืองแบบมหรสพ” เช่น การประท้วงที่มีอาหารดี และดนตรีไพเราะ เป็นต้น

อิทธิพลทางความคิดของอนาธิปไตยยังเห็นได้ใน “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่” เช่น ขบวนการสตรีนิยม ขบวนการนิเวศน์นิยม ขบวนการสิทธิเกย์ และการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นรูปแบบของการต่อต้านการเมืองในระบบ นั่นเอง กระนั้นก็ตาม การปฏิบัติตรงทางการเมืองก็มีจุดอ่อน นั่นคือ อาจถูกวิจารณ์ว่าไ ม่รับผิดชอบหรือเป็นพวกสุดขั้ว ซึ่งทำให้การสนับสนุนจากสาธารณะลดลง และแม้ว่าการปฏิบัติตรงอาจได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสาธารณะ แต่อิทธิพลต่อการเมืองอาจมีจำกัด เพราะว่ากลุ่มที่ปฏิบัติตรงทางการเมืองนิยามตนเองว่า เป็นกลุ่มที่อยู่นอกการเมือง ซึ่งมิสามารถเข้าถึงกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะได้

การประท้วงแบบสันติวิธี เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองอีกอย่างหนึ่งของชาวอนาคิสต์ ในทางปฏิบัติชาวอนาคิสต์ส่วนใหญ่เห็นว่า การใช้ความรุนแรงเป็นแนวทางที่ผิดพลาดและน่ารังเกียจ และได้นำแนวทางการประท้วงแบบสันติวิธีมาใช้ด้วยเหตุผลหลักสองประการ ประการแรก สันติวิธีสะท้อนการเคารพต่อมนุษยชาติในฐานะสิ่งสร้างสรรค์ที่มีศีลธรรมและมีอิสรภาพ ทัศนะเชิงบวกของอนาคิสต์ต่อมนุษย์แบบนี้ชี้นำให้เกิดการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจและเคารพซึ่งกันและกัน และประการที่สอง สันติวิธีเป็นยุทธศาสตร์การเมืองที่มีเสน่ห์ เพราะการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังและความรุนแรง แม้ว่าจะถูกยั่วยุและข่มขู่คุกคามก็ตาม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความมั่นคงทางศีลธรรมของมนุษย์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ชาวอนาคิสต์ผู้ที่นิยมสันติภาพและสันติวิธีมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงกิจกรรมการเมืองแบบมวลชน ทั้งในรูปแบบของการรณรงค์ทางการเมืองและการประท้วง แต่นิยมไปสร้างชุมชนที่สะท้อนหลักการแห่งความร่วมมือและเคารพซึ่งกันและกันแทน พวกเขามีความหวังว่า ความคิดของอนาธิปไตยจะแพร่กระจายออกไปด้วยทำจริงในเชิงการเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างชุมชนแห่งสันติภาพที่เปี่ยมด้วยความสุขใจ กับสังคมกระแสหลักที่เต็มไปด้วยความเครียดและสิ้นหวังของชีวิต

ในยุคโลกาภิวัตน์ กลุ่มอนาคิสต์ใหม่แสดงออกทางการเมืองในรูปแบบ “การเมืองเชิงมหรสพ” ซึ่งใช้ครั้งแรกในปี ๑๙๙๙ เพื่อประท้วงการประชุมขององค์กรการค้าโลก ที่ซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังจากนั้นตัวแบบการเมืองเชิงมหรสพก็เป็นตัวแบบหลักที่ใช้ในการประท้วงต่อต้านระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์

อย่างไรก็ตามการ ประท้วงของชาวอนาคิสต์ใหม่ต่อระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์มีจุดอ่อนสามประการหลัก ประการแรก การประท้วงมีลักษณะเป็นการตอบโต้สิ่งเร้าในเชิงความรู้สึกมากกว่ากระทำในฐานะระบบเชิงอุดมการณ์ และแม้ว่าความสนใจของชาวอนาคิสต์จะเคลื่อนตัวจากรัฐไปสู่ระบบทุนนิยมโลก ทว่า การวิพากษ์ทุนนิยมโลกอย่างเป็นระบบด้วยอุดมการณ์อนาธิปไตยก็ยังไม่เกิดขึ้น แม้กระทั่ง โนม ชอมสกี้ ซึ่งงานเขียนของเขาตั้งอยู่บนฐานคิดของอนาธิปไตย โดยเฉพาะความคิดที่มองว่าทุกสถาบันที่มนุษย์สร้างล้วนแฝงฝังด้วยความเลวร้ายทั้งสิ้น ก็ยังมุ่งวิพากษ์รัฐเป็นหลัก

ประการที่สอง รูปแบบและองค์ประกอบของขบวนการอนาธิปไตยใหม่มีความหลากหลาย เข้าข่ายสภาวะที่เรียกว่า “หลังอุดมการณ์” (post-ideological) เพราะว่าไม่มีแก่นหลักของทฤษฎี หากแต่การประท้วงเน้นประเด็นที่หลากหลาย เช่น ต่อต้านการสร้างมลพิษและการทำลายสิ่งแวดล้อม สนับสนุนสิทธิสัตว์ ต่อต้านลัทธิบริโภคนิยม ต่อต้านการพัฒนาเมือง ต่อต้านความไม่เท่าเทียมในระดับโลก เป็นต้น และแม้ว่าอนาคิสต์พยายามนำเสนอความคิด “โลกที่ดีกว่า มีความเป็นไปได้” ทว่าวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกที่ดีกว่าคืออะไรยังไม่ชัดเจนนัก และยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่โลกที่ดีกว่าก็ยังคลุมเครือ

ประการที่สาม แม้ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันมีความก้าวหน้า และเกื้อหนุนต่อการกระจายอำนาจทางการเมืองและการจัดการตนเองของประชาชน แต่ด้วยหลักการพื้นฐานของอนาธิปไตยที่ปฏิเสธภาวะการนำและการจัดตั้งองค์การก็ยังคงดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนในระยะยาว แม้ว่าชาวอนาคิสต์ใหม่พิสูจน์ให้เห็นหลายครั้งว่า พวกเขาทำงานอย่างมีประสิทธิผลในการระดมมวลชนเพื่อชุมนุมประท้วงระดับโลก แต่หากปราศจากผู้นำหรือองค์กรนำที่มีโครงสร้างเป็นทางการ ก็ยากที่จะพัฒนาไปสู่การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนที่ยั่งยืนได้

กล่าวโดยสรุป ความมีเสน่ห์ของอนาธิปไตย อันได้แก่ การส่งเสริมสนับสนุนการเมืองแบบให้เกิดขึ้นและเป็นไปเองตามธรรมชาติโดยไม่จัดตั้งและแผ่ขยายความคิดแบบอุดมการณ์อื่น ๆ การแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาตามความรู้สึกและสำนึกแห่งศีลธรรมของตนเอง และการตั้งข้อสงสัยต่ออำนาจในทุกรูปแบบ ในท้ายที่สุด อาจกลายเป็นปัจจัยที่ทำลายตนเองของอุดมการณ์นี้เสียเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น