"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
นอกเหนือจากอนาธิปไตยแบบรวมหมู่นิยมแล้ว อีกรูปแบบหนึ่งของอุดมการณ์อนาธิปไตยคือ อนาธิปไตยแบบปัจเจกนิยม ซึ่งมีฐานคิดจากความคิดแบบเสรีนิยมที่เน้นอธิปไตยของปัจเจกบุคคล แต่แนวคิดอนาธิปไตยมีลักษณะแบบเสรีนิยมสุดขั้ว นั่นคือ ความคิดที่ว่าปัจเจกบุคคลแต่ละคนมีอำนาจที่สัมบูรณ์และไร้ข้อจำกัดในตนเอง
ภายใต้มุมมองนี้สิ่งใดที่จำกัดเสรีภาพของมนุษย์สิ่งนั้นคือความชั่วร้าย และหากข้อจำกัดนั้นกระทำโดยรัฐและมีกลไกที่บังคับบุคคลให้กระทำตาม ก็จะกลายเป็นความชั่วร้ายที่สมบูรณ์แบบ กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ บุคคลไม่สามารถมีอำนาจอธิปไตยในตัวเองได้ หากอยู่ในสังคมที่ปกครองด้วยรัฐและกฎหมาย ดังนั้นปัจเจกบุคคลและรัฐเป็นสิ่งที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ นักอนาธิปไตยยืนยันว่า “มนุษย์มีอิสระ เพราะว่าเขามีอิสระภาพ มีเจตจำนงอิสระเป็นของตนเอง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจเจตจำนงของผู้อื่น” (Wolff 1998)
แม้ว่าอนาธิปไตยแบบปัจเจกนิยมได้รับแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์เสรีนิยม แต่ว่ามีความแตกต่างในหลายประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก ขณะรับเสรีภาพของปัจเจกบุคคล แต่อุดมการณ์เสรีนิยมไม่เชื่อว่าเสรีภาพจะมีหลักประกันภายใต้สภาพที่ปราศจากรัฐ เสรีนิยมแย้งว่ารัฐที่มีอำนาจน้อยยังมีความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้ปัจเจกบุคคลถูกเอาเปรียบ ข่มเหง รังแก ข่มขู่ คุกคาม ทำร้าย และฆาตกรรมโดยผู้อื่น กฎหมายภายใต้มุมมองของเสรีนิยมจึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ปกป้องเสรีภาพ มากกว่าจำกัดเสรีภาพ ยิ่งกว่านั้นเสรีนิยมสมัยใหม่ยังยืนยันว่าการแทรกแซงของรัฐเพื่อขยายเสรีภาพเชิงบวกให้แก่คนในสังคมเป็นสิ่งที่จำเป็น
ทว่า ชาวอนาธิปไตยแบบปัจเจกนิยมกลับมองต่างออกไป พวกเขาเชื่อว่า เสรีชนสามารถมีชีวิตและทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เพราะว่าพวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลและศีลธรรม เหตุผลและศีลธรรมจะเป็นพื้นฐานในการจัดการความขัดแย้งด้วยการอภิปรายและการตัดสินร่วมกัน มิใช่ด้วยความรุนแรง
ประการที่สอง เสรีนิยมเชื่อว่า สามารถทำให้อำนาจรัฐอ่อนตัวและควบคุมได้ โดยการพัฒนาสถาบันรัฐสภาและรัฐธรรมนูญขึ้นมา รัฐธรรมนูญจะปกป้องปัจเจกบุคคลโดยการจำกัดอำนาจของรัฐบาลและสร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างสถาบันการเมืองต่าง ๆ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกิจวัตรตามช่วงเวลาที่กำหนดบังคับให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะ หรือเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ทว่า ชาวอนาคิสต์มิได้เห็นเช่นนั้น พวกเขาเห็นว่าระบบรัฐธรรมนูญนิยมและประชาธิปไตยเป็นเพียงหน้ากากที่ปกปิดการกดขี่ทางการเมืองไว้อย่างแนบเนียนต่างหาก และกฎหมายทั้งปวงล้วนแล้วแต่ละเมิดอิสระภาพของบุคคลทั้งสิ้น ไม่ว่ารัฐจะบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญหรือตามอำภอใจ และใช้อำนาจแบบประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ตาม กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐทั้งปวงคือสิ่งที่รุกรานและทำลายอิสรภาพของปัจเจกบุคคลนั่นเอง
อนาธิปไตยแบบปัจเจกนิยมมีหลากหลายรูปแบบ และรูปแบบที่สำคัญ ๓ ประเภท ได้แก่ อนาธิปไตยแบบอัตตานิยม (anarcho-egoism) อนาธิปไตยเสรีนิยม (anarcho-liberalism) และอนาธิปไตยแบบทุนนิยม(anarcho-capitalism)
ความคิดแบบอัตตานิยมอาจมีความหมายในแง่ที่ว่า บุคคลให้ความสำคัญกับตัวตนหรืออัตตาของตนเอง เพราะว่าพวกเขาเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและมุ่งแต่การบรรลุเป้าหมายของตัวเองเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การมุ่งประโยชน์ส่วนตนก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคลและสร้างความชอบธรรมให้แก่ความคิดที่ว่ารัฐมีความจำเป็น เพื่อป้องกันมิให้บุคคลทำร้ายซึ่งกันและกัน ทว่าในมุมมองของนักอนาคิสต์ชาวเยอรมันรุ่นเดียวกับคาร์ล มาร์กอย่าง แม็ก สเทอร์เนอร์ (1845/1971) อัตตานิยมคือปรัชญาที่จัดวางตัวตนของปัจเจกบุคคลไว้ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลทางศีลธรรม
ปัจเจกบุคคลในมุมมองนี้จึงกระทำในสิ่งที่พวกเขาเลือกตามความปรารถนาของตนเอง โดยไม่นำกฎหมาย วัฒนธรรม บรรทัดฐานทางสังคม และหลักศีลธรรมทางศาสนามาเป็นเกณฑ์สำหรับการพิจารณาตัดสินใจ จุดยืนแบบนี้เรียกว่า สุญนิยม (nihilism) หลักคิดแบบอัตตานิยมมีอิทธิพลไม่มากนักต่อขบวนการเคลื่อนไหวของอนาธิปไตย แต่มีอิทธิพลทางความคิดต่อนิทเช่ นักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงชาวเยอรมันและลัทธิอัตถิภาวนิยมในศตวรรษที่ยี่สิบ
สำหรับอนาธิปไตยแบบเสรีนิยม ได้รับการพัฒนาในสหรัฐอเมริกา นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของค่ายนี้คือ เฮนรี เดวิด ธอโร (1849/1983) ซึ่งกล่าวว่า “รัฐบาลที่ดีที่สุดคือรัฐบาลที่ไม่ปกครอง” และเชื่อว่าปัจเจกบุคคลควรเชื่อมั่นต่อสำนึกเชิงศีลธรรมของตนเอง และทำเฉพาะในสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้อง โดยไม่ต้องใส่ใจกับความต้องการของสังคมหรือกฎหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “สำนึกแห่งการตระหนักรู้ผิดชอบชอบชั่วดีของบุคคลอยู่เหนือกฎหมาย และบรรทัดฐานทางสังคม นั่นเอง และในแง่การปฏิบัติการการเมือง อนาธิปไตยแบบเสรีนิยมจะนำไปสู่การใช้ยุทธศาสตร์ “อารยะขัดขืน” (civil disobedience) ต่อรัฐ เพราะรัฐกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและขัดต่อหลีกศีลธรรม
ถัดมา เบนจามิน ทัคเกอร์ (1845-1939) ได้เสนอวิธีการ ๒ อย่าง สำหรับให้บุคคลอาศัยร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากอันตรายของความขัดแย้งและความไร้ระเบียบ ประการแรก เน้นความมีเหตุผลของมนุษย์ และแนะว่าเมื่อความขัดแย้งก่อตัวและพัฒนาขึ้น มนุษย์สามารถแก้ไขได้ด้วยการอภิปรายอย่างมีเหตุผล เพราะสัจธรรมมีแนวโน้มที่เข้ามาแทนที่ความเท็จเสมอ ประการที่สอง การสร้างกลไกทางสังคมบางอย่างขึ้นมาเพื่อนำมาสู่ความสมานฉันท์ อาทิ การแลกเปลี่ยนแบบตลาดเสรีของระบบการแลกเปลี่ยนแรงงานเพื่อแรงงาน โดยการสร้าง “คลังเวลา” ซึ่งทำให้แรงงานของบุคคลหนึ่งสามารถแลกเปลี่ยนกับแรงงานของผู้อื่นเป็นการตอบแทนได้ อันที่จริงระบบคลังเวลาของการแลกเปลี่ยนแรงงานแบบนี้คล้ายกับระบบการ “ลงแขก” หรือ “เอางาน” ของสังคมไทยในอดีตนั่นเอง
รุปแบบที่สาม อนาธิปไตยทุนนิยม ในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ ความสนใจต่อแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีดั้งเดิมได้กลับมาสู่โลกทางการเมืองอีกครั้ง โดยชาวอนุรักษ์นิยมขวาใหม่ พวกเขาปรารถนาให้รัฐบาลถอนตัวจากการแทรกแซงและจัดการระบบเศรษฐกิจ และปล่อยให้ระบบตลาดจัดการเศรษฐกิจอย่างเป็นอิสระ เพื่อปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคล ขณะเดียวกันนักคิดอนาคิสต์ก็พัฒนารูปแบบของอนาธิปไตยแบบทุนนิยมขึ้นมา พวกเขาเสนอว่า รัฐบาลสามารถถูกยกเลิกและแทนที่ด้วยการแข่งขันทางตลาดที่ไม่ต้องควบคุมกำกับ ทรัพย์สินควรครอบครองโดยปัจเจกบุคคลที่มีอำนาจอธิปไตย ผู้ซึ่งปรารถนาเลือกเข้าไปสู่การทำสัญญาด้วยความสมัครใจกับผู้อื่นเพื่อดำเนินการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ต่อตนเอง ระบบตลาดเสรีทำให้ปัจเจกมีอิสระ และอยู่นอกเหนือการควบคุมและกำกับจากบุคคลอื่นและการแทรกแซงใด ๆ จากสังคม
อุดมการณ์อนาธิปไตยแบบทุนนิยมไปไกลกว่าระบบตลาดแบบเสรีนิยม ในแง่ที่ว่า ขณะที่เสรีนิยมเชื่อว่าตลาดเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับการจัดการสินค้าทั้วงมวล แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน การบริการบางอย่างที่เป็นสินค้าสาธารณะ เช่น การดำรงรักษาระเบียบ การบังคับใช้สัญญาและการป้องกันการโจมตีจากภายนอก รัฐจะต้องเป็นฝ่ายจัดให้ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการแข่งขันในตลาด ทว่า อนาธิปไตยแบบทุนนิยมเชื่อว่า ตลาดสามารถตอบสนองความต้องการทุกประการของมนุษย์ เช่น ปัจเจกบุคคลอาจต้องการการปกป้องจากผู้อื่น แต่การปกป้องเช่นนั้นสามารถใช้ระบบการแข่งขันโดยเอกชนได้ จากบริษัทที่เอกชนเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ราชทัณฑ์ หรือ แม้กระทั่งศาลก็ตาม
ชาวอนาคิสต์แบบทุนนิยมชี้ให้เห็นว่า การบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชน อาจเสนอการบริการที่ดีกว่ากองกำลังตำรวจที่รัฐเป็นเจ้าของในปัจจุบัน เพราะการแข่งขันทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และราคาการมห้บริการก็อาจถูกลง มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น เช่นเดียวกันศาลเอกชนกถูกบังคับให้มีการพัฒนาชื่อเสียงของตนเองในด้านความยุติธรรมเพื่อดึงดูดใจลูกค้าที่ต้องการความเป็นธรรม สิ่งสำคัญที่ไม่เหมือนกับตำรวจของรัฐ คือสัญญาที่ทำกับบริษัทเอกชนเป็นเรื่องของความสมัครใจ ซึ่งถูกกำกับโดยพลังของระบบตลาด
ข้อเสนอของชาวอนาคิสต์แบบทุนนิยมดูเหมือนสมเหตุสมผลและได้รับความสนใจจากหลายประเทศในตะวันตก ในสหรัฐอเมริกา มีหลายรัฐที่ให้เอกชนบริหารจัดการเรือนจำ และมีการทดลองใช้ระบบศาลและอนุญาโตตุลาการของเอกชนด้วย ในสหราชอาณาจักร เรือนจำเอกชนและบริษัทดูแลความปลอดภัยสาธารณะที่ทำหน้าที่แบบตำรวจก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และระบบการรักษาความปลอดภัยโดยชุมชนก็เกิดขึ้นเพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านความรับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ จากตำรวจไปสู่ชุมชน (ยังมีต่อ)