xs
xsm
sm
md
lg

มองพล.อ.ประยุทธ์อย่างเข้าใจ กับทางออกในภาวะเปลี่ยนผ่าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ถ้าเรามองสถานการณ์ของภาวการณ์แห่งยุคสมัยการเปลี่ยนผ่านอาจเข้าใจว่าความจำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

รัฐธรรมนูญจึงต้องเขียนแล้วเขียนอีกเพื่อออกแบบกติกาการเลือกตั้งการโหวตนายกรัฐมนตรีให้ชัวร์ที่สุดว่า จะเป็นคนอื่นไปไม่ได้นอกจากพล.อ.ประยุทธ์นี่แหละ พูดง่ายๆว่าเห็นรัฐธรรมนูญไม่ต้องเลือกตั้งก็รู้แล้วว่าใครจะมาเป็นนายกฯ คนต่อไปแน่ๆ

แต่ไม่รู้ความอยากหรือความจำเป็นของยุคสมัย เราจึงเห็นอารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ตัดพ้อบ่นพึมพำไม่อยากมารับภาระทวงบุญคุณเหมือนว่าตัวเองต้องเสียสละจนบางครั้งดูเหมือนจะมากเกินไป เพราะใครต่อใครก็ต้องคิดว่า อำนาจนั้นเป็นกิเลสของมนุษย์ที่ตัวเองแสวงหานั่นแหละ

แต่สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 5 ปี เพราะความจำเป็นที่ต้องกอบกู้บ้านเมืองก่อนที่จะเป็นรัฐล้มเหลวจากความขัดแย้งของคนในชาตินั้นก็อาจจะเป็นภารกิจที่หนักอึ้งสำหรับคนๆ หนึ่งแล้ว แต่นี่ต้องเป็นต่ออีก 4 ปี หรืออาจ 8 ปีถ้าไม่มีคนมารับไม้กับต้องนับว่าเป็นภาระที่แสนเข็ญไม่น้อย สำหรับคนที่เรียนมาเพื่อใช้กำลังปกป้องชาติบ้านเมืองที่ต้องมานั่งบริหารบ้านเมืองที่ต้องใช้ความรู้สติปัญญาอย่างอเนกอนันต์ในโลกยุคปัจจัยที่กำลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่

รัฐบาลประยุทธ์หลังเลือกตั้งนั้นแตกต่างกับรัฐบาลประยุทธ์ที่มีอำนาจเด็ดขาดจากการรัฐประหารแน่ เป็นรัฐบาลผสมที่ต้องใช้ศิลปะในการบริหารเพื่อให้ผลประโยชน์ลงตัวกันทุกฝ่าย พรรคร่วมรัฐบาลต่อรองเอากระทรวงสำคัญไปบริหารเกือบหมดจนกระทรวงเศรษฐกิจแยกย้ายกันไปขึ้นกับพรรคการเมืองหลายพรรค แตกต่างกับรัฐบาลรัฐประหารที่มีเอกภาพและมอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์เป็นคนรับผิดชอบกำหนดนโยบาย แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้เลยต้องมานั่งเป็นประธานในการดูแลด้านเศรษฐกิจเสียเองแบบผิดฝาผิดตัว

แล้วลองนึกดูว่า 5 ปีที่มีอำนาจเต็มสามารถใช้อำนาจล้มล้างขวากหนามกฎกติกาที่มีอุปสรรคได้ หรือใช้คำสั่งเนรมิตอะไรก็ได้เหนืออำนาจอธิปไตยทั้งสาม ศักยภาพและผลงานที่ออกมาแม้จะมีอำนาจแค่ไหนเราก็เห็นกันอยู่ แล้วในภาวะแบบปกติที่มีฝ่ายค้าน แม้จะยังมีกองทัพหนุนหลังเราจะพอคาดหวังอะไรได้บ้าง ดูแล้วมันยากเอามากๆ

ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่หนี้ครัวเรือนเท่ากับ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 6.3 และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับร้อยละ 78.7 สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ปี 2560 โดยหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอันดับ 11 ของโลก จาก 74 ประเทศ และหนี้ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และรถยนต์ แล้วรัฐบาลก็เอามาอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดีเพราะคนไม่ซื้อรถยนต์ตอนนี้แต่รอรถรุ่นที่จะออกใหม่ปลายปี แต่จริงๆ เขาไม่มีกำลังซื้อต่างหาก

รวมถึงมีความเหลื่อมล้ำ ปี 2018 ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก คนไทย 1% แรก (5 แสนคน) มีทรัพย์สินรวม 66.9% แซงรัสเซียที่ 57.1% ตกไปเป็นที่สอง ขณะที่ตุรกีเศรษฐกิจไม่ดีแต่คนรวยกลับเพิ่มสัดส่วนขึ้นได้เป็น 54.1% แซงอินเดียที่ตกไปเป็นที่สี่เหลือแค่เพียง 51.5%

ภาวะที่ประสบอยู่ตอนนี้คือคนชั้นกลางไม่มีกำลังซื้อจนรัฐบาลต้องออกมาตรการประชานิยม ชิมช้อบใช้ ออกมาครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่หากไปเดินตลาดที่ไหนเสียคนค้าขายก็บ่นกันพึมว่าย่ำแย่ ในขณะที่คนส่วนใหญ่หันไปซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ข้ามชาติอย่างลาซาด้าและอาลีบาบา ในขณะที่คนบนๆ นั้นซื้อขายผ่านอเมซอน และเสพความสุขผ่าน netflix

ภาวะเศรษฐกิจนั้นเป็นภาวะที่ทุกคนจะต้องประสบ แม้จะพูดได้ว่าไม่ได้เป็นภาวการณ์ของเราชาติเดียว แต่ประสบกันทั่วโลก แต่ด้านหนึ่งก็เกิดคำถามไม่ได้ว่า เราจะไปรอดไหม รัฐบาลจะมีน้ำยานำพาเราให้ก้าวข้ามวิกฤตไปได้ไหม หรือจะประสบปัญหาที่รุนแรงขึ้นซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 อีกครั้ง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามเราต้องอยู่กับนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ประยุทธ์ไป แม้ว่ารัฐบาลนี้จะนำพาเราไปทางไหน เพราะรัฐธรรมนูญมันขีดไว้ให้เราเลือกเดินมาทางนี้ ทำให้บางครั้งที่มีฝ่ายเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญกล่าวหาว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญก็คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดไปเสียทีเดียวมันก็มีส่วนผสมอยู่จริงนั่นแหละ

ผมจึงเห็นข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญในหลายด้านว่ามันไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาให้เราใช้เป็นบรรทัดฐานของประเทศด้วยความเสมอภาค กติกาการนับคะแนนที่พิลึกพิลั่นไร้ตรรกะขาดความเท่าเทียมและขาดความยุติธรรมมันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องแน่ โดยหลักกฎหมายที่ต้องยึดหลักนิติธรรม แต่นับคะแนนแบบไหนครับที่บางพรรคใช้คะแนน 70000กว่าต่อ1ที่นั่ง บางพรรคใช้ 80000กว่าต่อ 1 ที่นั่ง แต่บางพรรค 3-40000 คะแนนก็ได้ 1 ที่นั่ง คนเรียนกฎหมายมาคนเขียนกฎหมายต้องตั้งคำถามนะครับว่า มันเอาบรรทัดฐานอะไรมากำหนดแบบนี้

อาจมีคนบอกว่าผมพูดแบบนี้เพราะอยู่ในฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมาแต่ต้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมา แต่เราก็เห็นว่าเราประชามติกันมาแบบไหน แต่ต่อให้ประชามติกันจริง เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ถ้าเสียงข้างมากเลือกแบบนั้นแล้วมันจะถูกทั้งที่เรามองเห็นว่า ไม่เป็นธรรม ไม่เช่นนั้นขุนโจรขอประชามติลูกน้องไปปล้นมันก็ต้องเป็นความชอบธรรมด้วยสิ

แต่ภาวะของพล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจ ก่อนเกษียณนั่งอยู่ในตำแหน่งผบ.ทบ.ก็เกิดวิกฤตจนไม่มีทางเลือกต้องเข้ามารับผิดชอบแบกภาระของบ้านเมือง วันนี้ควรจะได้พักผ่อนแล้วก็ยังพักผ่อนไม่ได้ไม่รู้ว่าต้องแบกประเทศไปอีกนานเท่าไหร่ และที่ต้องอยู่กระฟัดกระเฟียดระบายอารมณ์ผ่านนักข่าวไป

ก็เป็นคำถามนะครับว่า เราจะอยู่ในภาวะแบบนี้ในระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ แล้วยังมีความพยายามสถาปนาระบอบอำนาจนิยมให้เข็มแข็งขึ้น โดยใช้ความขัดแย้งแตกแยกของประชาชนที่แบ่งเป็นสองฝ่ายเป็นเงื่อนไขไปอีกนานไหม

เพราะต้องยอมรับว่า ความแตกแยกของประชาชนมันไปสอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกและปกครองที่มีผลดีต่อองค์อธิปัตย์พอดี เมื่อประชาชนไม่สามารถรวมตัวกันได้แล้วสองฝ่ายมีกำลังที่ก้ำกึ่งกัน ก็ไม่สามารถท้าทายอำนาจรัฐ ถ้าประชาชนอีกฝ่ายลุกขึ้นมาต่อต้านก็จะมีประชาชนอีกฝ่ายออกมาสนับสนุน

มันจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายกรัฐมนตรีแบบประยุทธ์อยู่ได้ เพราะนอกจากมีรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้รองรับแล้ว มีกองทัพหนุนหลัง ก็ยังมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมที่จะออกมาปกป้อง

แน่นอนระบอบประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์ แม้มีคนพยายามพูดว่า เป็นการปกครองที่ดีที่สุดที่มนุษยชาติออกแบบระบบการปกครองตัวเองขึ้นมาได้ แต่วันนี้ก็มีคำถามต่อระบอบประชาธิปไตยมาจนมีคำถามจากนักวิชาการทั่วโลกว่าระบอบประชาธิปไตยกำลังถดถอย แล้วเรามีทางเลือกอื่นไหม ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกก็เกิดวิกฤตการณ์นี้และพยายามหารูปแบบที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์ความเป็นชาติของตัวเอง

มีคนยกตัวอย่างว่าจีนเป็นเผด็จการใช่ไหม แต่ทำไมนำชาติขึ้นมาสู่ความเจริญได้ และนำประชาชนพ้นจากความยากจนได้ ทั้งที่มีประชากรกว่า 1,400ล้านคน ดังนั้นจึงเกิดถามว่า แท้จริงแล้วศักยภาพของผู้นำมันสำคัญกว่าวิธีการปกครองใช่หรือไม่ แล้วที่ตลกคือพวกที่พยายามเรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยก็ล้วนแล้วแต่เคยศรัทธาระบอบคอมมิวนิสต์และมาร์กซิสต์มาก่อนทั้งนั้น

แต่คำถามนี้นำมาสู่ตัวพล.อ.ประยุทธ์ แม้ว่าภาวการณ์ของประเทศมันเป็นตัวเลือกสำคัญว่าเราต้องการนายกรัฐมนตรีแบบไหน รัฐธรรมนูญออกแบบเอาไว้ให้ใครเป็น ประเทศต้องการความมั่นคงในยุคเปลี่ยนผ่าน และต้องการนำพาความบ้านเมืองออกจากความขัดแย้ง แต่ภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนเล่ามันสำคัญไหม ในภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นมาชาติมันไม่ส่งผลเลยหรือว่าเราต้องการผู้นำแบบไหนนอกจากเหตุผลเรื่องความมั่นคงอย่างเดียว

เราเชื่อไหมว่ารัฐบาลผสมที่มีเสียงปริ่มน้ำ แต่มีกระดองเต่าห่อหุ้มภัยอันตรายไม่ให้มากล้ำกรายจะสามารถนำพาประเทศฝ่ายพ้นวิกฤตที่โลกกับปรับตัวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ที่เทคโนโลยีจะมาแทนแรงงานมนุษย์ และเกิดการเปลี่ยนแปลง Disruption ครั้งใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของโลกในทุกด้าน

ทุกคนอาจจะรู้ว่าเหตุผลสำคัญที่รัฐธรรมนูญต้องเขียนให้มีการสืบทอดอำนาจไปอีกอย่างน้อย 8 ปีคืออะไร ทำไมต้องกดนักการเมืองให้อยู่ในอำนาจต่อไป แน่นอนเราอาจจะเคยปวดร้าวกับช่วงที่นักการเมืองปกครองประเทศ แต่เรามั่นใจไหมทางที่เราจะเลือกเดินนั้นมันจะเป็นหนทางที่ดีกว่าเดิมแล้วจะนำพาเรารอดพ้นจากวิกฤตไปได้

หรือถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมานั่งทบทวนว่าความขัดแย้งของประชาชนนั้นแท้จริงแล้วเป็นผลประโยชน์ของใคร ความแบ่งฝ่ายเลือกข้างความเห็นต่างอุดมการณ์เป็นเรื่องสวยงามของระบอบประชาธิปไตยแน่นอน แต่เราควรจะมานั่งทบทวนว่าสุดท้ายใครที่ฉกฉวยเอาความขัดแย้งของเราไปเป็นประโยชน์ของตน

บอกตรงๆ ว่าผมสงสารพล.อ.ประยุทธ์ที่ต้องมาแบกรับ แล้วบ่นตัดพ้อต่างๆนานา อาจจะไม่อยากรับตำแหน่ง แต่เพราะตัวเองไม่มีทางเลือกอื่น แม้จะรู้ศักยภาพของตัวเองว่ามีเพียงไหน เรามีทางออกนี้ได้ถ้าประชาชนสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันหันมามองว่าแท้จริงแล้วความขัดแย้งของเรากลายเป็นเหยื่ออันโอชะของใครแล้วเราต่อสู้เพื่อใครเพื่ออะไร

เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ได้พักผ่อนได้ไปใช้ศักยภาพในด้านที่ตัวเองมีอย่างเหมาะสม

เรามาช่วยกันคิดไหมว่าจะนำพาประเทศไปทางไหน กฎกติกาของรัฐธรรมนูญแบบไหนที่เป็นธรรมและผู้นำแบบไหนที่จะนำพาชาติของเราในยุคของการเปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือนี้ได้

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น