เมืองไทย 360 องศา
หากจะบอกว่า “อยู่เป็น” ตามศัพท์แสงทางการเมืองที่กำลังฮิตฮอตในเวลานี้ก็ต้องมีชื่อ “ลุงตู่” หรือ “บิ๊กตู่” ติดโผอยู่ในระดับแถวหน้าแน่นอน เพราะเมื่อพิจารณาจากท่าทีในเรื่องสำคัญเขาก็สามารถรู้จักวางน้ำหนักได้อย่างเหมาะสม หรือเรียกอีกอย่างปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ รู้จักอ่อนหรือแข็ง ไม่ได้แข็งโป๊กหรือยึดหลักการตายตัว
แน่นอนว่าเวลานี้เริ่มมีการพูดถึงเรื่องการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญมากขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่าอาจกลายเป็นวิกฤติทางการเมืองรอบใหม่ขึ้นมาอีก เนื่องจากมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและคัดค้าน อย่างไรก็ดีสำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แสดงท่าทีชัดเจนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าเขาไม่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่โยนให้เป็นเรื่องของทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐสภาที่ต้องไประดมความเห็นกันมา
สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือเขายอมให้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรจุอยู่ในนโยบายของรัฐบาล ตามการผลักดันของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอย่างพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าอีกมุมหนึ่งอาจมองว่าเป็นเพราะเงื่อนไขของรัฐบาลผสมที่มีเสียงปริ่มน้ำที่มีพลังต่อรองสูงก็ตาม
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องพิจารณาถึงความ “อยู่เป็น” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็คือ จะไม่ยอมให้ “ถูกลากลงไปสู่ความขัดแย้ง”ได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรคเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี “ถือธงนำ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีการโยนหินสร้างกระแสในทำนองว่าพวกแกนนำฝ่ายค้านจะเดินเข้าทำเนียบฯเพื่อนำหนังสือเชิญมาแล้ว ซึ่งครั้งนั้นนายกฯได้ปัดเผือกร้อนออกไปทันควันโดยย้ำว่าเป็นเรื่องของรัฐสภาที่ต้องไปว่ากันมาว่าจะเห็นอย่างไร โดยไม่ขัดข้องหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงแต่ว่าต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนเท่านั้น
ขณะเดียวกันหากพิจารณากันแบบเข้าใจก็ย่อมมองออกว่าการส่งเทียบเชิญ “ลุงตู่”ให้ถือธงนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้มันก็เหมือนกับ “หวังดีประสงค์ร้าย” นั่นแหละ เพราะเป้าหมายของฝ่ายค้านสำหรับบการแก้ไขนั้นก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะแก้ไขแบบไหน จะแก้ไขบางมาตรา หรือว่าจะรื้อทิ้งทั้งฉบับแล้วร่างใหญ่ แต่สิ่งต้องพิจารณากันตามความเป็นจริงก็คือไม่ว่าจะบางมาตรา หรือรื้อใหม่ล้วนเป็นงานหิน ยากถึงยากที่สุดที่จะทำได้สำเร็จ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะหากผ่านกลไกรัฐสภาก็ต้องเป็นฉันทามติร่วมกัน นั่นคือต้องได้รับความร่วมมือจาก ส.ว.ด้วย
นอกเหนือจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือฉบับปี 2560 ไม่ว่าจะถูกโจมตีมาต่างๆนานาว่ามีต้นตอมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.เป็นเผด็จการ แต่ถึงอย่างไรก็ผ่านประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชนทั่วประเทศถึง 16.8 ล้านเสียง ถือเป็น “กำแพงเหล็ก” ป้องกันเอาไว้ชั้นหนึ่งได้เหมือนกัน
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของชาวบ้านในเวลานี้ ผ่านการสำรวจของสำนักต่างๆก็ต่างมีผลออกมาตรงกันว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะสิ่งที่ชาวบ้านต้องการให้แก้ไขยังเป็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นสำคัญ
ดังนั้นหากสรุปในเวลานี้ก็ถือว่ามีเพียงพวก “นักการเมือง”เท่านั้นที่ต้องการให้แก้ไขในสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือเป็นผลประโยชน์ของพวกเขาเท่านั้น ส่วนชาวบ้านรู้สึกเฉยๆไม่ได้คล้อยตามไปกับการคำพูดที่อ้างว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พวกเขาบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วจะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ทุกเรื่อง
นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ เมื่อกระแสของการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และแก้ไขยาก นั้น ทำให้มองได้อีกมุมหนึ่งหากโฟกัสเฉพาะความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่ามีวาระซ่อนเร้นอะไรแอบแฝงหรือไม่ หรือมีความพยายามเพียงแค่สร้างกระแสบางอย่างขึ้นมา เพราะจะว่าไปแล้วก็มีฝ่ายค้านบางพรรค เช่น พรรคอนาคตใหม่ก็ได้ประโยชน์มากมายจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้จนทำให้การคิดคำนวณคะแนนจนได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวนมากที่สุด
และแม้ว่านาทีนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ พรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามเสนอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกฯมาเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งแนวโน้มน่าจะเป็น “คนนอก” เพื่อหาทางออก แต่นี่ก็เป็นเพียงเริ่มต้น ที่หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล
แต่หากแยกมาโฟกัสเฉพาะท่าทีของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกว่า “อยู่เป็น” ก็คือ รู้สึกลอยตัวเหนือความขัดแย้ง เพราะถ้ากระโดดลงไปเต็มตัวก็มีแต่เปลืองตัวทั้งขึ้นทั้งล่อง ซ้ายก็ “ตั้งธง” ขวาก็ชี้นำ บนก็สืบทอดอำนาจ ล่างก็ไม่ชอบธรรม สารพัด เอาเป็นว่านาทีนี้ “ไม่ขัดข้อง” แต่ก็ไม่วายเหน็บคันๆว่าให้ไปว่ามาตามความต้องการของชาวบ้าน ไม่ใช่ความต้องการของนักการเมือง
ดังนั้นสิ่งที่หลลายฝ่ายมีความกังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจก่อวิกฤติในบ้านเมืองขึ้นมาอีกนั้น ก็อาจกังวลได้ แต่เมื่อพิจารณาจากท่าทีของฝ่ายอำนาจที่รู้จักลู่ตามลม ไปตามสถานการณ์ เพราะทางหนึ่งก็รู้อยู่แล้วว่ามันแก้ไขยาก อีกทั้งกระแสชาวบ้านก็เฉยๆ ยิ่งเห็นหน้าพวก “นักประชาธิปไตย” แต่ละคนแล้วก็ล้วนไม่น่าไว้ใจ มันก็พอเบาใจได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญมองเห็นตรงกันก็คือ “รัฐธรรมนูญมันกินไม่ได้” ต่างหาก !!