เมืองไทย 360 องศา
จะเรียกว่าเจอศึกหนักตีโต้เอาคืนกลับมาเป็นขบวนก็ว่าได้สำหรับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปช.)สภาผู้แทนราษฎร หลังจากก่อนหน้านี้เขาได้ใช้อำนาจในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯชุดดังกล่าวเรียก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาชี้แจงในกรณีระบุว่ามีการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน และอาจส่งผลต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มิชอบ รวมไปถึงเรียก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีมาชี้แจง โดยบอกว่าจะขุดคุ้ยเกี่ยวกับเรื่องการครอบครองนาฬิกาหรูก่อนหน้านี้
โดยที่ผ่านมาก็มีเสียงวิจารณ์ตอบโต้กันไปมาระหว่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กับฝ่ายรัฐบาล และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยืนยันว่ามีอำนาจในการเชิญบุคคลดังกล่าวมาชี้แจงตามกฎหมาย พร้อมขู่ว่าหากไม่มาอาจต้องติดคุก ขณะที่มีการตอบโต้กลับไปในทำนองว่าเขาใช้อำนาจเกินหน้าที่ อีกทั้งเรื่องที่เรียกมาชี้แจงก็ไม่ได้เข้าข่ายตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ หรือเห็นว่าเรื่องจบไปแล้วตั้งแต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่รับพิจารณาในเรื่องการถวายสัตย์ฯไม่ครบตามคำร้อง หรือหากพิจารณากันแบบชาวบ้านก็คือการเรียกมาชี้แจงในเรื่องนี้ถือว่า “ไทม์มิ่ง”ไม่ได้ ไม่มีกระแส ไม่มีใครสนใจ ตรงกับข้ามกลับมองว่า “เล่นไม่เลิก”
อย่างไรก็ดีสำหรับท่าทีของ “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” ที่ผ่านมาถือว่ายัง “ลู่ตามลม” ไม่มาแบบแข็งกร้าวตอบโต้ แต่ใช้วิธีแบ่งรับแบ่งสู้ ประวิงเวลาไปตามสถานการณ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยบอกว่า “หากต้องไปก็ไป” แต่ตอนนี้ก็ต้องรอความชัดเจนก่อนอะไรประมาณนั้น และที่ผ่านมาทางเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายดิษฐ์ทัต โหตระกิต ที่เคยเป็นเลขาธิการกฤษฎีกาเก่าเคยทำหน้าที่สอบถามความชัดเจนไปยังคณะกรรมาธิการฯว่าต้องการให้ชี้แจงในประเด็นไหนกันแน่ ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ก็ยังเด้งเชือกส่งหนังสือเลื่อนชี้แจงไปก่อน
จนกระทั่งได้เห็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ ได้เห็นการลาออกจากคณะกรรมาธิการชุดนี้พร้อมกันถึงสองคนของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คือ นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา และ นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลฯ พร้อมกับให้กล่าวโจมตีการทำงานในฐานะประธานกรรมาธิการของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อย่างรุนแรง ในทำนองไม่ฟังใครและไม่เข้าใจบทบาทของการทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการจนสร้างความอึดอัด ไม่อาจทำงานร่วมกันได้อีกต่อไป
และที่เรียกเสียงฮือฮาก็คือมีการเปลี่ยนตัวบุคคลเข้าไปทำหน้าที่แทนสองคนก็คือ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพฯ และ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี แค่คนแรกก็ต้อง”ซี๊ดปาก” แล้ว เมื่อได้เห็นชื่อ “ปารีณา” ก็ต้องบอกว่าชื่อนี้ “รับประกันซ่อมฟรี” ไม่ผิดหวังแน่นอน และก็ตามคาดเมื่อเธอก็เปิดฉากซัดทันทีว่าจะ “สั่งสอนคนบ้าอำนาจ” แม้จะไม่ระบุชื่อว่าเป็นใคร แต่หากให้คาดเดาก็คงได้คำตอบไม่นัก ขณะที่ นายสิระ ก็เรียกร้องให้รีบไปตรวจสุขภาพจิต
จากนั้น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่เคยมีวาทะ “อีช่อ” ลือลั่นสนั่นเมืองมาแล้ว ยังบอกอีกว่า เมื่อมีการเสนอชื่อตัวเองในที่ประชุมสภาให้เข้าไปทำหน้าที่กรรมาธิการ ปปช.แล้ว ก็เตรียมที่เสนอให้มีการตรวจสอบการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ของตำรวจในยุคที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในยุคนั้นด้วย โดยบอกว่าเป็นการจัดซื้อที่มีเงื่อนงำ แพงเกินจริง และไม่มีประสิทธิภาพ ก็ถือว่าเป็นการ “ย้อนเกล็ด” ได้อย่างเจ็บแสบไม่เบา
ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่ง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐก็ได้ไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้วินิจฉัยว่าการเรียก นายกฯและรองนายกฯในกรณีดังกล่าวของประธานคณะกรรมาธิการ ปปช.สามารถทได้หรือไม่ เรียกว่าเอากันทุกทาง
แต่ความหมายก็คือในทางการเมืองถือว่าเป็นการ “เอาคืน” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส กันแบบ “ย้อนศร” และที่สำคัญการทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการชุดนี้ของเขาจะต้องถูกพันแข้งพันขา ไม่สะดวก ที่สำคัญตัวประธานเองอาจจะต้อง “ตะบะแตก” เมื่อต้องเจอกับลีลายั่วเย้า ยั่วอารมณ์โกรธของ ปารีณา ไกรคุปต์ คนนี้เข้าไป ดังนั้นจะเรียกว่าเป็น “มวยถูกคู่” ก็ไม่ผิดนักที่พรรคพลังประชารัฐส่งเข้ามาแก้เกม ในแบบที่ว่า “ใช้การป่วนเพื่อสกัดการป่วน” อะไรแบบนั้น
งานนี้ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯหรือปปช.จะออกรสแบบไหน และใครกันแน่จะเป็นฝ่ายถูกตรวจสอบ แต่เชื่อว่าคงสนุกกันไม่เบา !!