เมืองไทย 360 องศา
หลังจากเริ่มมีการเคลื่อนไหวกันแบบเป็นการเป็นงานของพวก ส.ส.กลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นกลุ่มและพรรคการเมืองที่ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อน และพ่ายแพ้จากการลงประชามติเมื่อคราวก่อนนั่นแหละ เหตุผลหรือข้ออ้างสำคัญของพวกเขาก็คือบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เอื้อประโยชน์ต่อการ “สืบทอดอำนาจ” ของพวกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หรือหากจะพูดให้ตรงตัวก็พุ่งเป้ามาที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเครือข่ายนั่นแหละ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” สามารถ “อยู่เป็น” หรือเปล่าก็ไม่รู้
แต่อย่างน้อยก็ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่กันอยู่ในปัจจุบันนี้ผ่านการลงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมาไปด้วยเสียงท่วมท้นมากว่า 16.8 ล้านเสียง ส่วนพวกไม่เอามีแค่ 10.5 ล้านเสียง หรือ ร้อยละ 61.35 ต่อ 38.65
อย่างไรก็ดีหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมเป็นต้นมา ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอีกรอบ ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะมีบางพรรคที่ตั้งธงเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า “ต้องแก้” แม้ว่าเป้าหมายจะแตกต่างกันไป เพราะบางพรรค เช่น พรรคอนาคตใหม่ที่ตอนเริ่มแรกบรรดา “ชนชั้นนำ” ของพรรค ต่างมีเป้าหมายให้ แก้ทั้งฉบับหรือ “ร่างใหม่ทุกมาตรา” กันเลยทีเดียว เพียงแต่ว่าในระยะหลังเมื่อเริ่มถูกต่อต้านขัดขวาง โดยเฉพาะการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเขาก็เงียบเสียงไป จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าต้องการแก้ไขแบบใดกันแน่
ขณะที่พรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคเพื่อไทย แม้ว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตรา แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือว่าก่อนหน้านี้ก็เคยไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน และรณรงค์ในช่วงการลงประชามติ ยังคงยืนยันหลักการเดิมและด้วยสถานการณ์ในรัฐบาลผสมที่มีเสียงปริ่มน้ำก็สามารถกดดันให้มีการบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายรัฐบาลได้
กลายเป็นว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองหลักในรัฐบาลที่กระตือรือล้นในการเคลื่อนไหวผลักดันแก้ไข แต่หากหมายเหตุเอาไว้เป็นที่สังเกตเอาไว้ก็คือจะเป็นความเคลื่อนไหวในพรรคที่เป็นซีกของฝ่ายขั้วอำนาจเก่า นั่นคือใน ส.ส.ในซีกของฝ่ายที่เคยสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคมาก่อน และยังสามารถผลักดันให้พรรคเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ มาเป็นประธานวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯของสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย โดยอ้างความเหมาะสมในเรื่องความสามารถ และเคยเป็นอดีตนายกฯมาก่อน เป็นต้น
อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลแล้วมองรวมๆแล้วยัง “เฉยๆ” ไม่มีอารมณ์ร่วมเท่าใดนัก ทั้งในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเวลานี้ รวมไปถึงการสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จับทางได้เลยว่าไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าไม่อยากให้เกิดการกระเพื่อมภายในรัฐบาลมากนัก แต่ถึงอย่างไรบางพรรคอย่างพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคแกนนำที่ถือว่าแสดงออกชัดเจนที่สุดว่าหากมีการแก้ไขก็ต้องให้คนของพรรคเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯเท่านั้น โดยอ้างเหตุผลเรื่องพรรคแกนนำ พร้อมทั้งเสนอชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนฯ หรือไม่ก็เป็นคนนอก
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้ว่าล่าสุดแล้วก็เริ่มไม่มั่นใจว่าจะผลักดันให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากทางพรรคฝ่ายค้านสำคัญอย่างพรรคเพื่อไทยก็เสนอชื่อ นายโภคิน พลกุล เป็นประธานเหมือนกัน ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากท่าทีของเจ้าตัวเองก็ไม่ได้เสนอตัวเองเข้ามา เพียงแต่ว่าเมื่อถูก “ลูกน้องเก่า” ในพรรคเสนอชื่อขึ้นมาก็ยังสงวนท่าทีไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธแต่อย่างใด ความหมายก็คือเพื่อป้องกัน “เสียฟอร์ม” ไว้ล่วงหน้า ว่ากันแบบนั้นก็ได้
อย่างไรก็ดีแม้ว่าในความเป็นจริงถือว่าเส้นทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอีกยาวไกล และที่สำคัญมันเป็นงานยาก ประกอบกับด้วยอารมณ์ของสังคมในวันนี้ยังต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากจนแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะนี่เป็นเพียงการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางฯเท่านั้น ว่าจะแก้แบบไหน แก้กี่มาตรา และยังไม่รู้ว่าสัปดาห์หน้าจะได้มีการประชุมในเรื่องนี้ในสภาผู้แทนฯหรือเปล่า
แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกของ ชาวบ้านหรือสังคมส่วนใหญ่ผ่านทางผลสำรวจที่ออกมาทั้งก่อนหน้านี้ จนถึงล่าสุดก็ยังถือว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย นั่นคือความหมายตรงๆก็คือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน” เพราะเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ชาวบ้านทั่วประเทศต้องการให้มาก่อนก็คือ “เรื่องแก้ปัญหาปากท้อง” หรือให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน ส่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ทีหลัง
แต่ผลสำรวจล่าสุดที่ถือว่าเป็นการ “ตบจนหน้าหัน” ก็คือผลสำรวจของ “ซูเปอร์โพล” ที่ตอบคำถามว่าให้ “ควรแก้นิสัย ส.ส.ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซึ่งสะท้อนว่าภาพลักษณ์ของ ส.ส.ในสายตาชาวบ้านแย่ และที่น่าสนใจก็คือเป็นผลสำรวจชาวบ้านใน “โลกโซเชียล”เสียด้วย
ดังนั้นหากพิจารณากันในนาทีนี้แม้ความหมายจะมองเห็นว่าชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พวกเขาเห็นว่าไม่ใช่เรื่องด่วนหรือคอขาดบาดตาย นั่นคือ “เอาไว้ก่อน” เรื่องด่วนคือเรื่องปากท้องมากว่า และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐธรรมนูญเพิ่งใช้มาไม่นาน รอให้ตกผลึกมากกว่านี้ก่อน ค่อยมาว่ากัน ที่สำคัญมองว่าเป็นเรื่อง “อยากได้ใคร่ดี” ของพวก ส.ส.และนักการเมืองที่แย่งชิงอำนาจกันเท่านั้น ชาวบ้านไม่ได้เกี่ยวข้องหรือได้ประโยชน์โดยตรงนัก !!