เมืองไทยฯ 360 องศา
ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายเท่าใดนักที่ผลสำรวจ “ชูเปอร์โพล” ที่เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดต่อความเห็นของประชาชนต่อโครงการ “ชิมช้อบใช้” ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยสำรวจประชาชนสองกลุ่มใหญ่คือ ประชาชนในสังคมดั้งเดิม กับเสียงประชาชนในโลกโซเชียลฯ ผลก็ออกมาว่าในกลุ่มสังคมดั้งเดิมมีมากกว่าร้อยละ 60 ได้เข้าใช้ปะโยชน์จากโครงการ และเมื่อแบ่งแยกย่อยออกไปเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล กลุ่มพลังเงียบ และกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลพบว่าทั้งสามกลุ่มได้ใช้ประโยชน์จากมาตรการ ชิงช้อปใช้เป็นส่วนใหญ่ นั่นคือร้อยละ 69.6 ของคนที่สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 62.7 ของพลังเงียบ และร้อยละ 52.0 ของคนไม่สนับสนุนรัฐบาลได้ใช้ประโยชน์จากโครงการชิมช้อปใช้ของรัฐบาล
ส่วนการวิเคราะห์เสียงของประชาชนในโลกโซเชียลฯ ก็ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับในทางบวกร้อยละ 67.8 ส่วนในทางลบแค่ร้อยละ 32.2 ซึ่งเจ้าสำนักที่ทำโพลอย่าง ดร.นพดล กรรณิกา ยังชี้ว่าในทางการเมืองถือว่าเป็นผลสำเร็จที่สามารถช่วงชิงมวลชนมาได้ ขณะที่ในทางเศรษฐศาสตร์ต้องมาว่ากันอีกทีหลังจากนี้
เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจดังกล่าวก็ไม่ได้แปลกใจกับเสียงกระหน่ำโจมตีของบรรดาพรรคฝ่ายค้านที่พยายามชี้ให้เห็นว่าไร้ประโยชน์ หรือ “เอื้อนายทุน” หรือ “ทุนใหญ่” สารพัด แต่ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากน้ำเสียงของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะแกนนำจากพรรคเพื่อไทย อย่างเช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ของพรรคที่มักให้ความเห็นอย่างระมัดระวังโดยย้ำว่า “ไม่ได้ค้านโครงการแต่เห็นว่าเป็นการโอนเงินเข้ากระเป๋าของนายทุนหรือกลุ่มทุนใหญ่ได้ประโยชน์” อะไรประมาณนั้น
ความหมายก็คือเธอรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะหากคัดค้านก็เท่ากับว่าไปขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านได้เงินเพื่อนำไปใช้จ่ายซื้อของจำเป็น หรือนำไปจับจ่ายอื่นๆ หรือไม่ก็หากนิ่งเฉยไม่พูดอะไรเลยก็เท่ากับว่าปล่อยให้รัฐบาลตัดตวงความดีความชอบได้คะแนนเสียงไปเป็นกอบเป็นกำเสียอีก เลยกลายเป็นว่าทำได้แค่ครึ่งๆกลางๆเท่านั้น
อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจดังกล่าวย่อมได้รับข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจก็คือจำนวนตัวเลขของกลุ่มชาวบ้านที่ “ไม่หนุนรัฐบาล” ไม่เอา “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาก่อน ที่มีจำนวนถึงกว่าร้อยละ 52 ที่ใช้ประโยชน์จากโครงการ “ชิมช้อปใช้” แม้ว่าในจำนวนสัดส่วนดังกล่าวยังมีจำนวนที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่ามีการเปลี่ยนใจหรือยังหลังจากที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ อาจเป็นเพราะใช้เพราะเห็นว่าเป็นเงินจากงบประมาณ เป็นของรัฐบาล เป็นเงินของชาวบ้านทุกคนอยู่แล้ว ถ้าตัวเองไม่ใช้คนอื่นก็จะใช้อยู่ดี อาจคิดแบบนี้ก็ได้
แต่เอาเถอะยังเชื่อว่าในจำนวนเกินกว่าร้อยละ 50 ย่อมต้องมีความหวั่นไหวในใจบ้างแน่นอน เหมือนกับความหมายของ “หินผา” ที่ไม่ว่าจะแกร่งแค่ไหน แต่เมื่อเจอกับน้ำที่หยดลงทุกวันบ่อยๆเข้าก็ต้องกร่อนเป็นธรรมดา
จะว่าไปแล้วโครงการ “ชิมช้อปใช้” มันก็เหมือนกับโครงการต่อเนื่อง ที่ต้องใช้ได้ใจกับ “คนชั้นกลาง” คนรุ่นใหม่ที่ใช้ “สมาร์ทโฟน” หลังจากก่อนหน้านี้ได้ปล่อยบัตร “สวัสดิการแห่งรัฐ” ที่มัดใจชาวบ้านระดับล่างที่มีรายได้น้อยไปทั่วประเทศไปแล้ว ชนิดที่โอนเงินเข้าบัญชีรายเดือน
ขณะเดียวกันเวลานี้กำลังปล่อยโครงการ “ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย” และเที่ยววันธรรมดาราคาสุดช็อก ตามมาอีก ซึ่งตามรายงานก็ระบุว่าก็ได้รับความนิยม มีชาวบ้านแห่กันลงทะเบียนเพียงแค่ 4 นาทีแรกยอดก็เต็มตามเป้าแล้ว แม้ว่าเป้าหมายที่ประกาศเอาไว้คือมาตรการกระจายเงินลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศในระยะสั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจากภายนอก แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการ “มัดใจ” หาเสียงกับชาวบ้านควบคู่กันไปด้วยอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดีในทางการเมืองสำหรับฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนาทีนี้ถือว่าได้แต้มเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่ฝ่ายค้านยังไม่เป็นโล้เป็นพายมัวสาละวนอยู่กับเรื่องเก่าๆไม่ยอมไปข้างหน้า ยังฝังใจอยู่กับเรื่องความแค้นเก่าๆไม่จบสิ้น หรือคิดทำในสิ่งที่ห่างไกลจากความต้องการของชาวบ้าน เช่น เรื่องการซักฟอกรัฐบาลในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งที่ยังมองไม่เห็นเรื่องการทุจริตที่ชัดเจน หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังถือว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน เหมือนกับเรื่องที่เป็นปัญหาปากท้องรายวัน
ดังนั้นอย่าได้แปลกใจเมื่อสถานการณ์และบรรยากาศเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการที่ฝ่ายรัฐบาลได้ใจมวลชนเข้ามาเพิ่มเติมจากมาตรการโครงการ “ชิมช้อปใช้” รวมไปถึงโครงการใหม่ที่ทยอยตามมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาเรื่องการทุจริตที่เป็นเรื่องจะแจ้งยังมองไม่เห็น ขณะที่ฝ่ายค้านเวลานี้มัวแต่แก้ปัญหาภายในของตัวเอง หรือบางพรรค เช่น พรรคเพื่อไทยแทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวที่มีพลัง ทำให้ประสิทธิภาพในการตรวจสอบอ่อนด้อยลงไปอย่างผิดสังเกต ทำให้ทุกอย่างเข้าทาง “ลุงตู่” อย่างน้อยก็ในช่วงระยะอันใกล้นี้ !!