“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อการสืบทอดอำนาจอย่างแน่นอน ทั้งจากเหตุผลเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองจากความวุ่นวายทางการเมืองไทยกว่าสิบปีที่ผ่านมา ร่วมถึงความจำเป็นของ “ภาวการณ์แห่งยุคสมัย” ที่ต้องการให้การเมืองมีความมั่นคง
ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกเขียนขึ้นมาให้แก้ไขยากที่สุด ด่านแรกที่ยากจะฝ่าไปได้ก็คือต้องมี ส.ว.ที่ คสช.ตั้งขึ้นมาเพื่อให้โหวตตัวเองเป็นนายกฯ ถึง 84 เสียงขึ้นไปร่วมลงชื่อด้วยจึงจะแก้ไขได้ ซึ่งมันเป็นช่องทางที่ยากจะเป็นไปได้เลย
ดังนั้น รูปแบบของรัฐบาลนี้แม้จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำ แต่เป็นรูปแบบที่ออกแบบไว้แล้วว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างน้อยเลวร้ายที่สุด เขาพร้อมจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยแบบมีกองทัพหนุนหลังด้วยซ้ำไป เพราะต้องการเสียงส.ส.อีกแค่ 126 เสียงก็ตั้งรัฐบาลได้ แต่เมื่อเลือกตั้งเสร็จได้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ก็นับว่าดีมากแล้ว ในภาวะที่การแย่งชิงมวลชนเพื่อซื้อใจประชาชนจากระบอบทักษิณไม่สามารถทำได้เลยในช่วงที่ คสช.มีอำนาจ 5 ปี
เพราะเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งไม่ได้รับความแก้ไข หนทางการปฏิรูปการเมืองซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสำคัญที่สุดก่อนการรัฐประหาร ก็ไม่ได้รับการปฏิรูปแม้สักส่วนเดียว การปฏิรูปตำรวจตั้งกรรมการชุดแล้วชุดเล่า แต่สุดท้ายก็มีแต่ความว่างเปล่า นั่นสะท้อนความไม่เอาจริงของรัฐบาลรัฐประหารมากไปกว่าความพยายามจะออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ โดยต้องใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับจนเป็นที่พอใจ แต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งก็ไม่สามารถเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด
รวมถึงการเลือกซ่อมสร้างตั้งเสริมองค์กรอิสระต่างๆ แบบลักลั่นเพื่อให้เป็นกระดองเต่าที่เป็นเกราะหุ้มรัฐบาล
เพราะความจำเป็นตามภาวการณ์แห่งยุคสมัยนั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้ต้องยืนหยัดอยู่ให้ได้ แม้ว่าจะต้องเล่นใต้ดินในการโหวตแต่ละครั้งในสภา หรือใช้ท่าทีของกองทัพเป็นแรงเกื้อหนุนรัฐบาลชุดนี้อย่างชัดแจ้ง
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกจึงต้องออกแรงมาบรรยายเรื่อง “แผ่นดินของเราในด้านความมั่นคง” เพื่อแสดงให้ชัดว่า กองทัพยืนอยู่ตรงจุดไหน และส่งสัญญาณเตือนไปยังพรรคอนาคตใหม่ และ “ฮ่องเต้ซินโดรม” ว่า กองทัพจะไม่ยอมให้นำพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่พรรคนี้พยายามคิดฝัน
การพูดถึงคอมมิวนิสต์นั้นคงไม่ใช่การปลุกผีคอมมิวนิสต์ของ พล.อ.อภิรัชต์ เพราะคนระดับนี้รู้แล้วว่า คอมมิวนิสต์นั้นมันจบไปแล้ว แต่เป็นการส่งเสียงเตือนไปยังผู้ที่ยังฝังชิปคอมมิวนิสต์อยู่ในหัวเคียดแค้นชิงชังต่อสถาบัน และมีความเพ้อฝันเรื่องการเปลี่ยนระบอบซุกซ่อนอยู่
ถ้าจะว่าไปแล้วบ้านเราไม่มีผู้บัญชาการทหารบกที่มีบุคลิกแบบนี้มานานแล้ว นับแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็ว่าได้ อย่าว่าแต่ใครอื่น หัวหน้ารัฐประหารที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก ไปค้นภาพเก่าๆ ดูก็จะเห็นเขาเดินทำตัวต้วมเตี้ยมยิ้มหวานตามหลังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างพินอบพิเทา
จนสถานการณ์ทางการเมืองเดินเข้ามาถึงทางตันนั่นแหละพล.อ.ประยุทธ์จึงจำเป็นต้องเข้ามายึดอำนาจก่อนที่บ้านเมืองจะเกิดวิกฤตเป็นรัฐล้มเหลว
ภาวการณ์แห่งยุคสมัยที่จำเป็นต้องให้บ้านเมืองมีความมั่นคงนี้เองที่ทำให้บ้านเมืองต้องย้อนยุคกลับไปเป็นระบอบอำนาจนิยมและเขียนรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาธิปไตยครึ่งใบผูกโยงออกไปอีก 8 ปี
ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้าภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคำตอบจะออกอย่างไรถ้าเสียงส.ว.250คนยังสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกภายใน 5 ปีนับแต่สมัยนี้ปีหน้านายกรัฐมนตรีก็คือคนที่ คสช.วางไว้อยู่ดี
ฝ่ายค้านก็ยังคงเป็นฝ่ายค้านเหมือนเดิมยกเว้นว่าส.ส.บอกว่าเบื่อแล้วรวมพลังกันได้เพื่อหยุดยั้งอำนาจใต้ท็อปบูต สมมติว่าประยุทธ์อยู่ครบ 4 ปีก็เท่ากับจะเป็นนายกรัฐมนตรีรวมกันครบ 9 ปีถึงตอนนั้นคนคงเบื่อแย่แล้วดูป๋าเปรมสิดีเลิศประเสริฐศรีพอถึงเวลาคนก็ส่งเสียงเซ็งแซ่ว่าพอแล้ว
แต่ถ้าไม่มีเหตุพลิกคว่ำแบบพลิกฝ่ามือ ต่อให้ประยุทธ์หยุดแล้วพอแล้วคนเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องมีการวางมาจากฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ดีเพราะเขากุม ส.ว.250เสียงไว้ในมือต้องการส.ส.เพียง 126 เสียงก็โหวตชนะแล้วดูการเลือกตั้งครั้งนี้สิพรรคเพื่อไทยมีส.ส.มากที่สุดก็ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะยังไงก็รวมส.ส.ให้ได้ 376 เสียงเพื่อเกินครึ่งของสองสภาไม่ได้
สรุปก็คือเว้นเสียแต่ว่าครั้งหน้าสมมติกระแสสังคมหนุนเบื่อหน้านายกฯ คนเก่าหรือเบื่อกลุ่มอำนาจเก่าสืบทอดอำนาจแล้วนั่นแหละที่อาจจะพลิกสถานการณ์ออกจากระบอบอำนาจนิยมได้คือต้องเกิดกระแสประชาชนลุกฮือนั่นแหละ
แต่ก็ต้องดูด้วยนะว่า ณ เวลานั้นกระแสมวลชนยังเป็นแบบนี้ไหมคือแบ่งเป็น 2 ฝ่ายชัดเจนมีขุมกำลังที่เท่าๆกันโอกาสที่จะเกิดกระแสเพื่อเปลี่ยนขั้วก็จะยากหน่อยถึงตอนนั้นฝ่ายกุมอำนาจเดิมก็ยังได้เปรียบอยู่จะวางตัวคนใหม่หรือประยุทธ์อยู่ต่อก็ได้เปรียบเพราะ 250 ส.ว. แน่ๆ
แล้วอย่าประมาทนะครับว่าบิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ จะเข้าวินไม่ได้ ปีหน้าบิ๊กแดงเกษียณแล้วครับก็ต้องพ้นจากตำแหน่งส.ว.ที่มาโดยตำแหน่งถ้ารัฐบาลอยู่ครบ 4 ปีเลือกตั้งครั้งหน้าบิ๊กแดงก็จะพ้นจาก ส.ว.มาแล้วเกิน 2 ปีพอดีคุณสมบัติก็ไม่ขัดแล้ว อย่างที่ วิษณุ เครืองาม เนติบริกรว่าไว้นั่นแหละ เลือกตั้งรอบหน้าสามารถเป็นนายกฯได้ทันทีอยู่ที่จะเป็นแบบพรรคเสนอชื่อแบบประยุทธ์หรือแบบคนนอกที่รัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลเปิดทางไว้
ซึ่งยังไงเสียด้วยแต้มต่อ ส.ว.พรรคฝั่งรัฐบาลเวลานี้ถ้ายังเกาะกลุ่มกันได้ก็ยังได้เปรียบได้เป็นรัฐบาลต่อแน่แต่ต้องทนอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากบทเฉพาะกาลไปอีก4ปีเท่ากับนักการเมืองจะอยู่ใต้ท็อปบูตบวกประชาธิปไตยครึ่งใบไปอีก 4 ปีรวมกับ 9 ปีที่ประยุทธ์อยู่ครบเทอมก็เป็น 13 ปีถึงตอนนั้นนักการเมืองหลายคนก็คงวางมือลาโรงและลงโลงไปแล้ว
แม้มีความพยายามและเสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อออกจากระบอบอำนาจนิยม แต่ดูเหมือนเป็นเรื่องยาก ทางเดียวที่จะเห็นทางออกก็คือ การสร้างกระแสแก้รัฐธรรมนูญให้ก่อตัวขึ้น เหมือนกับยุคธงเขียวก่อนจะได้รัฐธรรมนูญ 2540 แต่กระแสสังคมจะเกิดขึ้นได้แบบนั้นอีกครั้งประชาชนต้องมีความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเกิดได้ยากในขณะที่ประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝ่าย สองฝ่ายมีมวลชนก้ำกึ่งกัน และมีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจน
ดังนั้นถ้ารัฐธรรมนูญยังไม่เปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งก็เหมือนเดิมพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องสู้กันบนฐานเสียงเดียวกันเชื่อเลยว่าประชาธิปัตย์ยังไม่ฟื้นและต้องกินน้ำใต้ศอกพรรคพลังประชารัฐไปอีกสมัย
เช่นเดียวกันอีกฝั่งเพื่อไทยก็ต้องสู้กับอนาคตใหม่บนฐานเดียวกัน เพราะไม่มีการสวิงโหวตข้ามขั้วครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยพลาดเพราะพรรคไทยรักษาชาติโดนยุบคะแนนตัวเอง 14 ล้านจึงเหลือแค่ 8 ล้านแล้วแบ่งไปให้อนาคตใหม่ 6 ล้านครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยก็ต้องวางกลยุทธ์ใหม่สู้กับอนาคตใหม่เพื่อแย่งตลาดที่ทับกัน
วันนั้นนั่นแหละที่จะรู้ว่าพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังกระแสลงแล้วพรรคเพื่อไทยเขากลับมาทวงมวลชนคืนพรรคอนาคตใหม่จริงๆจะเหลือเท่าไหร่หรือว่าสุดท้ายแล้วพรรคอนาคตใหม่จะกินพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นอีกเพราะมวลชนมองว่าพรรคเพื่อไทยสู้แล้วหมอบแต่พรรคอนาคตใหม่สู้แบบไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม
แต่นั่นต้องดูว่า อนาคตใหม่จะรอดจากการยุบพรรคในคดีต่างๆที่พัวพันอยู่ไปได้หรือไม่ หรือว่ากรรมการบริหารพรรคทั้ง ธนาธร ปิยบุตร ช่อ จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเพราะความผิดต่างๆไปเสียก่อนหรือไม่
และหากการเมืองต้องเดินไปสู่จุดนั้นจริงก็อย่าประมาทเชียวว่า มวลชนจะไม่ลงมาเดินถนนอีก การปลุกปั่นคนเสื้อแดงในยุคระบอบทักษิณครองเมืองนั้นหยิบฉวยเอาความไม่เท่าเทียมเป็นเครื่องมือในการปลุกปั่น มวลชนของอนาคตใหม่ถ้าธนาธร ปิยะบุตรจะนำทีมลงถนนก็ต้องดูฮ่องกงโมเดลเป็นแบบอย่างไว้ แน่นอนมีเป้าหมายเรื่องการเมืองเป็นหลัก แต่สิ่งที่ชักนำให้ประชาชนคนหนุ่มสาวเข้าร่วมแบบฮ่องกงก็มาจากภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่คนรุ่นใหม่ยากจะลืมตาอ้าปากได้
รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่รัฐบาลอ้างตัวเลขสวยหรูแต่การเติบโตกระจุกอยู่กับรายใหญ่ไม่กี่ราย เพราะรัฐบาลดำเนินนโยบายแบบคาดหวังว่า รายใหญ่รวยแล้วน้ำจะล้นถ้วยไหลลงมาให้คนข้างล่างได้ดื่มกิน แต่กลายเป็นว่า รายใหญ่ยิ่งรวยยิ่งสร้างภาชนะรองรับน้ำที่ใหญ่ขึ้น ผูกขาดมากขึ้น จนไม่ตกถึงคนข้างล่างสักที คนข้างล่างลืมตาอ้างปากไม่ขึ้นมีแต่คนบ่นว่าทำมาหากินลำบาก
สิ่งที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้าก็คือความรุนแรง เพราะกองทัพที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงในภาวการณ์แห่งยุคสมัยนั้นจะต้องออกมาปกป้องรัฐบาลดังไข่ในหิน ในขณะที่มวลชนก็อาจแปรสภาพจากการเคลื่อนไหวแบบปักหลักปักค้างไปเป็นแบบฮ่องกงที่จะกลายเป็นการจลาจลในรูปแบบตัวอย่างที่เราเห็นอยู่ในเวลานี้ และมวลชนสองฝ่ายจะเผชิญหน้ากัน
ภาวะทางการเมืองภาวะทางเศรษฐกิจภาวะของความเหลื่อมล้ำ สิ่งเหล่านี้จะคลี่คลายเพื่อออกจากความขัดแย้งได้หรือไม่ นี่ต่างหากที่จะเป็นทางออกของวิกฤต แม้จะดูเป็นเรื่องยากในภาวการณ์แห่งยุคสมัยที่กองทัพต้องการสถาปนาระบอบอำนาจนิยมเพื่อความมั่นคง
และแม้จะมีเสียงขานรับกระเซ็นกระสายเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอยู่บ้าง แต่ยากที่จะแก้ประเด็นที่เขียนขึ้นมาเพื่อให้รัฐบาลพ้นจากประชาธิปไตยครึ่งใบและออกจากร่มเงาของทหารที่ต้องการความมั่นคงได้
เลือกตั้งรอบหน้าสิของจริงที่ระบอบอำนาจนิยมจะขันชะเนาะให้แข็งแรงขึ้น
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan