เปิดฉากสัปดาห์นี้...ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปว่ากันเรื่อง “เศรษฐกิจ” น่าจะเหมาะกว่า เพราะว่าเรื่องประเภทการเมือง การทหารนั้น แม้ว่าบรรดาผู้กระหายสงคราม กระหายความขัดแย้งทั้งหลายในโลกใบนี้ จะออกอาการกะปลกกะเปลี้ย กะด้อกะเดี้ยหลาย อยู่ตามสมควร แต่สำหรับผู้ซึ่งยึดมั่นในแนวทางสันติภาพ ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยความสมานฉันท์ ความร่วมมือ-ร่วมใจอีกเยอะแยะมากมาย ยังคงต้องอาศัย “เวลา” อีกเป็นจำนวนน้อย มันถึงจะพอก่อรูป ก่อร่าง กระบวนการความเปลี่ยนแปลง ไปสู่โลกแบบใหม่ หรือ “ระเบียบโลกแบบใหม่” ได้อย่างเป็นจริง เป็นจัง ระหว่างนี้...อะไรต่อมิอะไรมันจึงออกไปทาง “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ไปตามสภาพ...
แต่สำหรับเรื่องเศรษฐกิจแล้ว...การที่โลกแทบทั้งโลก ต้อง “ตกอยู่ในเปลวเพลิง” หรือเกิดรายการ “จุดไฟในนาคร” ขึ้นมาในแต่ละประเทศ ชนิดแทบจะทุกซีกโลกไปแล้วก็ว่าได้ แม้ว่ามันอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “เหตุปัจจัยภายนอก” ไม่ว่าจะเป็นเพราะอเมริกาและอิสราเอล เข้าไปยุ่มย่าม แทรกแซงให้เกิดการประท้วงในอิรัก ในเลบานอน หรือไม่? อย่างไร? บรรดาประเทศตะวันตกและอเมริกาเข้าไปยุแยงตะแคงรั่ว ในรายการการประท้วงของบรรดากุมารฮ่องกง มากหรือน้อยขนาดไหน? ไปจนกรณีทางการรัสเซียสามารถเจาะทะลวงเข้าไปในโลกโซเชียล มีเดีย เพื่อปล่อย “ข่าวปลอม” จนนำมาซึ่งการประท้วงในชิลี ดังที่มีการตั้งข้อกล่าวหาเอาไว้จริงๆ หรือเปล่า? ฯลฯ แต่ท้ายที่สุดแล้ว...ย่อมหนีไม่พ้นต้องประกอบไปด้วย “เหตุปัจจัยภายใน” ที่สามารถนำมาใช้เป็นเงื่อนไข ข้ออ้าง เป็นพื้นฐานของการจุดระเบิดสิ่งเหล่านี้ อย่างมิอาจปฏิเสธได้เลย...
และ “เหตุปัจจัยภายใน” ที่ว่า...โดยส่วนใหญ่แล้ว มันก็มักมีที่มาจาก “ปัญหาเศรษฐกิจ” นั่นแหละเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การขึ้นภาษี ค่าบริการสาธารณะ ความล้มเหลวในด้านสวัสดิการสังคม ไปจนถึงเรื่องความรวย-ความจน ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ อันเกี่ยวข้องโยงใยถึงประสิทธิภาพในการบริหาร-จัดการทางเศรษฐกิจ อย่างไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...เมื่อเศรษฐกิจของโลกทั้งโลกมันกำลัง “ตกสะเก็ด” ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่มันจะลุกลามเผาไหม้ จนเกิดอาการ “เตร๊ง เตรง...เตร่ง ต๋อย...ไฟไหม้มูลฝอยดังพรึ่บบ์บ์บ์” ไปทั่วทั้งโลก หรือไม่? อย่างไร? อันนี้นี่เอง...ที่น่าสนใจเอามากๆ เพราะอาจถือเป็น “ปัจจัยผันแปร” อันจะนำมาซึ่งฉากสถานการณ์ต่างๆ ใดๆ ได้เสมอๆ...
ซึ่งถ้าว่ากันโดย “แนวโน้มเศรษฐกิจโลก” แล้ว...ไม่ว่านักเศรษฐกิจสำนักไหนต่อสำนักไหน ดูจะเห็นพ้องต้องกันไปในทิศทางเดียวกัน ว่าน่าจะมีแต่ “แย่...กับ...แย่” อย่างมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้เลย เพียงแต่จะ “แย่” ไปถึงระดับไหน และความแย่ หรือความย่อยยับเหล่านั้น จะนำมาซึ่งผลพวง หรือผลกระทบในระดับใดต่อระดับใด อันนี้...ยังคงต้องเถียงๆ กันต่อไป หรือยังไม่ถึงกับมีข้อสรุปที่แน่นอนชัดเจน แต่กระนั้น...ถ้าดูจากการออกมาแสดงความคิด ความเห็น หรือกระทั่ง “การพยากรณ์” ของบรรดาผู้ที่ได้ชื่อว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งหลาย คงต้องยอมรับว่า...มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ที่ก่อให้เกิดอาการขนคอตั้ง ขนลุก-ขนพอง อยู่พอสมควรทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นท่านลอร์ด “Mervyn King” อดีตผู้ว่าการธนาคารอังกฤษ ที่ได้สรุปไว้เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ว่า “เศรษฐกิจโลกกำลังเดินละเมอเข้าสู่ภาวะวิกฤตการณ์การเงินโลกครั้งใหม่” ในอีกไม่นาน-ไม่ช้านับจากนี้ และจะสร้างความพินาศฉิบหาย ให้กับ “ระบบตลาดของประเทศประชาธิปไตย” ชนิดไม่น้อยกว่า หรืออาจจะหนักหนาสาหัสซะยิ่งกว่า “วิกฤตการเงินโลกปี ค.ศ. 2008-2009” เอาเลยก็ไม่แน่...
หรือศาสตราจารย์ “Nouriel Roubini” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจากวิทยาลัยธุรกิจสเติร์น มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และประธานบริษัท “Roubini Global Economic” ที่เคย “พยากรณ์” ถึงวิกฤตการเงินปี ค.ศ. 2008-2009 ได้อย่างชนิดแม่นยำราวตาเห็นที่ได้ออกมา “ฟันธง” เอาไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ว่าในช่วงปีหน้า หรือปี ค.ศ. 2020 นี่แหละ ที่วิกฤตการเงินและเศรษฐกิจครั้งใหม่จะเริ่มปรากฏรูป ปรากฏร่าง ให้เห็นเด่นชัด และเป็นสิ่งซึ่งมิอาจแก้ไขเยียวยาใดๆ ได้เลย ไปจนกระทั่งล่าสุด...เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกาฯ ที่ผ่านมานี่เอง ผู้อำนวยการบริหารและหัวหน้ายุทธศาสตร์การลงทุน แห่งบริษัทการเงินระดับโลก อย่างบริษัท “Blackstone” ชื่อว่า “นายJoe Zidle” ก็ได้ออกมา “ฟันเฟิร์ม” คือทั้งฟันธงและคอนเฟิร์มเอาไว้ประมาณว่า จะเกิดภาวะการแตกระเบิดของ “มารดาแห่งฟองสบู่ทั้งหลายทั้งปวง” (Mother of all Bubbles) ภายในอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปี ค.ศ. 2020 ไปจนถึงปลายปี ค.ศ. 2021 อย่างชนิดแน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง หรือปะปฏิทินเอาไว้ข้างฝาได้เลย...
จริง-ไม่จริง...อันนี้ ก็คงต้องไปคิดๆ กันเอาเอง แต่โดยเหตุผล ข้ออ้างของบรรดา “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ไม่ว่าจะมองโลกในแง่ร้าย หรือในแง่ความเป็นจริงก็แล้วแต่ คงต้องยอมรับว่า...ออกจะเป็นอะไรที่น่าคิด น่าสะกิดใจ และ “มีน้ำหนัก” อยู่พอสมควร ไม่ว่าการอ้างถึงข้อมูล ตัวเลข ความย่ำแย่ในตลาดซื้อ-ขายคืนหลักทรัพย์ภาคเอกชน (Repo Market) ตัวเลขผลตอบแทนของพันธบัตรที่ทั้งเสื่อม ทั้งวิปริตผิดเพี้ยน อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่ลดลงๆ ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินในหมู่ประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ความปั่นป่วนทางการเมือง-เศรษฐกิจในยุโรป โดยเฉพาะกรณี “เบร็กซิต” ไปจนถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ซึ่งยังหาข้อยุติ ข้อสรุป ได้ลำบากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ฯลฯ ฯลฯ...
โดยเฉพาะสิ่งที่น่าตกตะลึงเอามากๆ...ก็คือการเพิ่มขึ้นของ “หนี้สาธารณะ” ทั่วทั้งโลก ที่มันปาเข้าไปถึง 244-246.5 ล้านล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2019 มากกว่าปริมาณผลผลิตมวลรวมหรือ “จีดีพี” ของโลกทั้งโลก ไปถึง 3 เท่า หรือประมาณ 225เปอร์เซ็นต์เอาเลยถึงขั้นนั้น สวนทางกับ “การผลิต” และ “การลงทุน” ที่มีแต่จะต่ำลงๆ จนใกล้จะเกิดภาวะ “Great stagnation” เอาเลยถึงขั้นนั้น แต่สิ่งเหล่านี้...จะนำไปสู่ฉากเหตุการณ์ในแบบไหน รูปไหน บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็ยังนึกภาพไม่ออก คือถ้ามันอยู่ในระดับแค่ประมาณ “วิกฤตปี ค.ศ. 2008-2009” ก็อาจพอเบาใจได้บ้าง เพราะภายในช่วงเวลาประมาณ 18 เดือน มันก็ค่อยๆ คลี่คลายลงไปตามลำดับ แต่ถ้าหากมันไปไกลถึงขั้น “วิกฤตปี ค.ศ. 1930” หรือระดับ “Great Depression” ขึ้นมาแล้วล่ะก็ อันนี้...ต้องเรียกว่า โอกาสที่จะ “ไหม้” กันไปทั้งโลก หรือ “เจ๊ง” กันไปทั้งโลก ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ไม่ยากส์ส์ส์ โดยสิ่งที่พอหลงเหลือเป็นทางออก ทางรอด ก็กลับกลายเป็น “สงครามโลกครั้งที่ 2” กันไปซะนี่!!!
เพราะด้วย “วิกฤตเศรษฐกิจ” นั่นเอง...ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด “พลังทางการเมือง” แบบ “สุดโต่ง” ทั้งหลาย ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นระลอกในแต่ละประเทศ ใครที่อยากหลับตานึกภาพถึงฉากสถานการณ์ทำนองนี้ ก็ลอง “คลิก” เข้าไปดูใน “Wikipedia” ได้เลย ที่ไล่เรียงฉากเหตุการณ์ในแต่ละประเทศ ไม่ว่าอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี แคนาดา ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ ไปจนถึงแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย ฯลฯตามลำดับ ส่วนประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา แม้ถูกสรุปไว้สั้นๆ แต่ออกจะเป็นอะไรที่น่าขนลุก ขนพอง มิใช่น้อย นั่นก็คือ...การนำมาซึ่ง “การเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475” จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบวนไป-วนมา ก็ไม่คิดจะไปไหนซักกะที จนตราบเท่าทุกวันนี้...แล...