xs
xsm
sm
md
lg

พัง! ยืนยัน ศก.ฮ่องกงดิ่งสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกรอบทศวรรษ เซ่นพิษประท้วงรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ - ฮ่องกงดิ่งสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษในไตรมาส 3 ถูกฉุดจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และสงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

การประท้วงที่ยืดเยื้อมานาน 5 เดือนได้สั่นคลอนภาคค้าปลีกและการท่องเที่ยวของเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีน และจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่พบสัญญาณว่าการชุมนุมจะซาลงไป ด้วยในวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) ตำรวจต้องยกระดับรักษาความปลอดภัย เพื่อรับมือกับความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการปะทะอีกรอบ

ข้อมูลเบื้องต้นของรัฐบาลที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) ระบุว่า เศรษฐกิจของฮ่องกงในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงกันยายน หดตัว 3.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน(รายไตรมาส) ถือเป็นการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งตรงกับคำจำกัดความทางเทคนิคของภาวเศรษฐกิจถดถอย

เมื่อเทียบเป็นรายปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของฮ่อกง หดตัว 2.9% ถือเป็นตัวเลขที่อ่อนแอที่สุดของศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียแห่งนี้ นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2008/2009

ฮ่องกงมีการขยายตัว 0.6% และ 0.4% ในไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายไตรมาส เศรษฐกิจฮ่องกงหดตัว 3.2% ในไตรมาส 3 และหดตัว 0.5% ในไตรมาส 2 ซึ่งถือการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

“อุปสงค์ภายในประเทศเลวร้ายลงอย่างมาก” รัฐบาลระบุในถ้อยแถลง “ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอกัดเซาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคและการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากก่อความปั่นป่วนอย่างรุนแรงต่อภาคค้าปลีก, ภาคธุรกิจจัดเลี้ยงและภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค การใช้จ่ายด้านการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนแบบรายปีก็ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี”

รัฐบาลฮ่องกงบอกว่าด้วยที่ยังไม่พบเห็นสัญญาณว่าการประท้วงจะเบาบางลง การบริโภคภาคเอกชนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนคงจะได้รับผลกระทบต่อไป

ธุรกิจบางแห่งของฮ่องกงร้องขอให้ลูกจ้างลางานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เนื่องจากบรรดานักท่องเที่ยวหนีหายท่ามกลางการประท้วงที่บ่อยครั้งเลี้ยวเข้าสู่เหตุปะทะรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจในย่านสำคัญๆ ที่เป็นแหล่งชอปปิ้งและเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าต่างๆ

สถานบันแคปิตอล อีโคโนมิกส์ คาดหมายว่าในขณะที่จีดีพีของฮ่องกน่าจะยังคงหดตัวต่อไปในไตรมาส 4 แต่อัตราการหดตัวนั้นอาจลดน้อยลง ยกเว้นแต่สถานการณ์การประท้วงลุกลามบานปลายขึ้นมาอีก

การประท้วงและความรุนแรงที่ลุกลามบานปลายได้ฉุดอดีตอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้เข้าสู่วิกฤตทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ก่อความหวาดวิตกแก่ภาคธุรกิจจำนวนมากและประชาคมการเงินต่างๆ

พวกผู้ประท้วงแสดงความโกรธกริ้วต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าจีนพยายามเข้าแทรกแซงเขตปกครองพิเศษแห่งนี้มากขึ้น แต่ทางปักกิ่งปฏิเสธ พร้อมกล่าวหารัฐบาลต่างชาติ ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ และอังกฤษ ปลุกปั่นสถานการณ์ความวุ่นวาย
กำลังโหลดความคิดเห็น