ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จะมีใครสักกี่คนที่มีเงินออม 4 ล้านบาท ไว้ใช้จ่ายยามแก่เฒ่าแบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอย่างที่ผู้คุมกฎตลาดหุ้น หรือ ก.ล.ต. ประมาณการเอาไว้ว่าต้องเงินเยอะขนาดนั้นถึงจะพอใช้ ส่วนใหญ่มีแต่พอถูๆ ไถๆ ได้จากลูกหลานบ้าง ยังต้องทำงานหาเงินเลี้ยงปากท้องตัวเองบ้าง บางคนก็ต้องทำไปจนสิ้นลม
ที่น่าสลดหดหู่ใจอย่างยิ่งก็คือสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในจำนวนคนแก่ 10 ล้านคน มีมากกว่า 2.8 ล้านคน ที่ไม่มีเงินออม ขณะที่ตัวเลขจากแบงก์ชาติ บอกอาการหนักกว่าคือว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 35 ไม่มีเงินออม
ไม่มีใครไม่แก่ และคนไทยตอนนี้ก็เดินหน้าเข้าสู่สังคมแก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย แต่น่าอเนจอนาถใจที่ไม่มีรัฐบาลชุดไหนสำเหนียกถึงความถดถอยในทุกด้านที่มาพร้อมกับสังคมคนแก่เอาเสียเลย
ขณะที่ยังเป็นคนหนุ่มคนสาว ทุ่มเทพลังในการทำงาน สร้างความรุ่งเรืองให้เศรษฐกิจ เสียภาษีให้กับรัฐอย่างมากมาย แต่พอย่างเข้าสู่วัยชรา นอกเหนือจากข้าราชการที่มีบำนาญเลี้ยงดูยามแก่เฒ่าแล้ว ที่เหลือกลับได้รับความเมตตากรุณาจากรัฐแบบสงเคราะห์ รับเบี้ยยังชีพตามเกณฑ์อายุ ช่วง 60 ปี รับไป 600 บาท พอ 70 ปี ก็รับ 700 บาท อายุ 80 ปี ได้รับ 800 บาท และเมื่อมีอายุ 90 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพในจำนวน 1,000 บาท
ลองนึกว่า เงินจำนวน 600-1,000 บาทต่อเดือน ถ้าเฉลี่ยแล้วจะได้ใช้วันละกี่บาท หากเก็บหอมรอมริบตอนทำงานเพื่อไว้ใช้จ่ายยามวัยชรา จะมีใช้ไปสักเท่าไหร่กัน?
แต่จนป่านนี้ ยังไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหน ผลักดัน วางแผนรับมือ และแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาสวัสดิการจากรัฐนอกจากเบี้ยยังชีพที่น้อยนิดที่ได้รับในแต่ละเดือนแล้ว ก็มีเพียงแต่รายการโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อเรียกคะแนนนิยมอย่างที่เห็นกัน
การผลักดันเรื่องนี้กลับไปอยู่ที่ภาคประชาชน ที่รวมกลุ่มสร้างเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ หนุนเนื่องให้เกิด “บำนาญแห่งชาติ” สร้างหลักประกันรายได้ยามแก่เฒ่า โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และประชาชนกว่า 60 คน รวมตัวกันยื่นรายชื่อสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... จำนวน 14,654 รายชื่อ ให้แก่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีหลักการสำคัญคือการสร้างระบบบำนาญแห่งชาติเป็นหลักประกันทางรายได้สำหรับทุกคน เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้คนส่วนใหญ่ในประเทศรู้สึกไม่มั่นคง กังวลใจว่าเมื่อแก่ตัวจะกินอยู่อย่างไร จะเป็นภาระกับลูกหลานหรือไม่ ซึ่งการมีรัฐสวัสดิการ อย่างบำนาญแห่งชาติ ถือเป็นเรื่องสำคัญ
การแห่ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายนี้อย่างล้นหลาม สะท้อนว่า มีคนจำนวนมากเมื่ออายุครบ 60 ปีแล้ว ยังไม่มีหลักประกันด้านรายได้อะไรเลย จะมีเพียงเงินจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินจากลูกหลานเท่านั้น ซึ่งการมีบำนาญแห่งชาติ ถือเป็นการคืนภาษี ที่รัฐเก็บไปจากประชาชนในยามที่คนเหล่านี้ยังหนุ่มสาว และได้ทำงานเสียภาษีให้กับประเทศ ดังนั้น เมื่อพวกเขาแก่ตัวลง รัฐจึงต้องจัดหลักประกันด้านรายได้นี้ให้กับพวกเขา
การผลักดันร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติ จะสำเร็จหรือไม่ คีย์สำคัญอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งต้องให้ความเห็นชอบเบื้องต้นต่อร่างกฎหมายนี้ก่อนส่งสภาเพื่อพิจารณา หากนายกรัฐมนตรี ไม่เซ็นเห็นชอบก็เท่ากับว่าความพยายามของประชาชนที่ร่วมลงชื่อกว่าหมื่นห้าเป็นอันว่าสูญเปล่า
“พวกเราต้องช่วยกันสื่อสารและเฝ้ามองท่าทีของนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะกฎหมายฉบับนี้คือการเริ่มต้นสร้างหลักประกันด้านรายได้เมื่อสูงวัย และเป็นเครื่องมือลดความยากจนเรื้อรังที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทยในอนาคต” ผู้ริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... กล่าว และยังบอกว่า ปัจจุบันนี้ประชาชนชาวไทย 48 ล้านคน ไม่มีหลักประกันใดๆ ในชีวิต อ้างอิงจากคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ซึ่งคนเหล่านี้เมื่ออายุเกิน 60 ปี และไม่มีงานทำก็ไม่มีรายได้อะไรเลยนอกจากเบี้ยยังชีพ 600 บาทต่อเดือน
สิ่งที่เครือข่ายฯ กำลังจะเสนอเปรียบเหมือน “ปิ่นโตเถาที่หนึ่ง” อย่างน้อยเพื่อให้คนที่ได้รับสวัสดิการเหล่านี้มีโอกาสหลุดพ้นจากความยากจนเรื้อรัง ถ้าหากใครได้ทำงานและได้รับสวัสดิการ เช่น ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ก็จะได้ปิ่นโตเถาที่สอง และถ้ามีเงินเก็บ มีฐานะดี ก็ถึงจะมีปิ่นโตเถาที่สาม คือ ระบบประกันสุขภาพเอกชนที่ดูแลตัวเองได้
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากกว่า โดยวางหลักการสำคัญของร่างกฎหมายที่เสนอชัดเจนว่าให้ผู้สูงวัยที่อายุ 60 ขึ้นไปทุกคนมีหลักประกันรายได้เป็นรายเดือน ซึ่งเป็นสิทธิอันพึงมีของประชาชน มิใช่หน้าที่ของรัฐในการสงเคราะห์ ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสภาพัฒน์
ทั้งนี้ “เส้นความยากจน” คือ เกณฑ์ที่ใช้วัดค่าใช้จ่ายพื้นฐานขั้นต่ำสุดของบุคคล หากใครที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนนี้ ถือว่าเป็น “คนจน” ซึ่งเมื่อปี 2561 อัตราเส้นความยากจนของประเทศไทยอยู่ที่ 2,710 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเอาตัวเลขกลมๆ ง่ายๆ ตกประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือวันละ 100 บาท ข้อเรียกร้องที่เป็นธงนำของเครือข่ายฯ จึงเสนอให้ “เปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า”
นอกจากนั้น หัวใจสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก็คือ การไม่ตัดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญตามกฎหมายหรือมติ ครม.อื่นๆ นั่นหมายความว่า ข้าราชการหรือพนักงานบริษัทที่มีบำนาญจากการทำงานอยู่แล้ว พวกเขาก็จะได้รับหลักประกันทางรายได้ขั้นพื้นฐานนี้ด้วยเช่นกัน
จะว่าไปแล้วยังไม่เห็นแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ชัดเจน โดยเฉพาะรัฐสวัสดิการด้านรายได้ที่ยั่งยืนและมากไปกว่าเบี้ยยังชีพ ที่ผ่านมาก็มีเพียงให้กระทรวงคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพิจารณาหามาตรการจูงใจและส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาดำเนินกิจการต่างๆ รองรับการสู่สังคมสูงอายุของไทย เช่น ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่เอกชนที่จัดสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุของไทย ว่าโครงสร้างประชากรของไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุที่สมบูรณ์ภายใน 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 ซึ่งข้อมูลในปี 2559 สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุของไทยใกล้ถึง 20% ของประชากรทั้งหมด เมื่อเทียบกับโครงสร้างประชากรของอาเซียนที่มีผู้สูงอายุ 61 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 639 ล้านคน ถือว่าประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่น
ข้อเสนอของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เห็นว่า รัฐบาลควรวางนโยบายและหามาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ 5 ด้าน คือ เสริมสร้างสุขอนามัย ให้บริการสุขภาพ, มีที่อยู่อาศัยที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี, สร้างภูมิคุ้มกันจากภัยรอบด้าน, ส่งเสริมจ้างงานผู้สูงอายุ, ขยายการเกษียณอายุราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และจัดทำแผนช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น ซึ่งไม่มีข้อเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการด้านรายได้อย่างบำนาญแห่งชาติแต่อย่างใด
การเข้าสู่สังคมแก่ก่อนรวยของไทย เป็นที่ฮือฮามากเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ตามรายงานข่าวของ Bloomberg ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากมหาวิทยาลัย Monash ประเทศออสเตรเลีย โดย Monash Centre for Financial Studies (MCFS) ได้จัดทำดัชนี Melbourne Mercer Global Pensions Index 2019 ที่ศึกษาความพร้อมของระบบบำเหน็จบำนาญใน 37 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับสุดท้ายของกลุ่มประเทศที่ระบบบำเหน็จบำนาญยังอ่อนแอและขาดความชัดเจน
ขณะที่เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีระบบรายได้รองรับการเกษียณอายุของพลเมืองดีที่สุดในโลก ทั้งแง่ของคุณภาพและความยั่งยืน รองลงมาในอันดับที่ 3-10 ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา และชิลี
ขณะเดียวกัน Bloomberg ยังรายงานโดยอ้างข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงอัตราการเกิดใหม่ของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และชี้ให้เห็นว่า ในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 25% หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ที่น่ากังวลคือ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม “คนยากจน”
นอกจากนั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุด้วยว่าการลดลงของแรงงานไทยในอนาคต จะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลง 1% ทุกปีใน 20 ปีข้างหน้า
ทั้งหลายทั้งปวง ถึงเวลาเปลี่ยน “เบี้ยยังชีพ” เป็น “บำนาญแห่งชาติ” และแผนรับมือกับสังคมสูงวัยควรต้องบรรจุไว้เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินการณ์