xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กทม.ยังไร้"บริการสาธารณะ"จุดไหน ? (ตอน2)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทั้ง มท.1 มท. 2 คาดว่า เวทีเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่พ้นเดือน ก.พ. หรือเม.ย.ปีหน้า แน่นนอน

ขณะที่ "พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" รมว.มหาดไทย (มท.1) บอกว่ากระทรวงมหาดไทย ได้เข้าไปสำรวจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ละแห่งแล้วว่า มีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ หาก อปท.ใดไม่มีงบประมาณเพียงพอ จะต้องใช้งบประมาณปี 2563 มาดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งงบฯดังกล่าวจะสามารถเบิกจ่ายได้ คาดว่าประมาณเดือนก.พ.-มี.ค. 63

สอดคล้องกับ เมื่อเร็วๆนี้ นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (กสถ.)คนใหม่ มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ เร่งตรวจสอบและรายงานการตั้งงบประมาณตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายการค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วประเทศในเร็วๆ นี้

กสถ.ได้ตรวจสอบผลการรายงานข้อมูลล่าสุด ในการตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ปรากฏว่า มีอปท.ที่ตั้งงบประมาณรายการดังกล่าว บางแห่งรายงานมาแล้ว หลายแห่งยังไม่มีการตั้งงบฯ รายงานไว้ในข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ งบประมาณฯ เพื่อเตรียมพร้อมให้ทันเดือนพ.ย.นี้ ภายหลัง กสถ.และกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือซักซ้อมไปหลายครั้ง

ต้นเดือน พ.ย. ล่าสุดพบว่า "อปท.กว่า 400 แห่ง ใน 68 จังหวัด รายงานมาว่าได้ผ่านข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ งบประมาณฯปี 63 แล้ว

"แต่มีเพียง 240 อปท. ใน 41 จังหวัด ที่มีการตั้งงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ประมาณ 5 หมื่น-100 ล้านบาท"
ที่สำคัญ อปท.หลายแห่ง ยังไม่มีผ่านงบฯ 63 เนื่องจากติดปัญหาหลายประการ

ขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แจ้งผ่านสื่อว่า ได้เตรียมทั้งเรื่องคน เรื่องเงิน และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยมีระเบียบที่เกี่ยวข้อง 5 ฉบับ

ส่วน "สำนักงบประมาณ" แจ้งในเอกสาร ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 พบว่า กกต. ขอเป็นหน่วยงานรับงบฯไว้ทั้งหมด 1,780 ล้านบาท

ในงบปีงบประมาณ 62 กกต. เหลืองบใช้ไปพลางก่อน 802 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้งบฯเลือกตั้งท้องถิ่นโดยรวม ไม่เกิน 1,200 ล้านบาท

"รัฐบาลยังไม่ได้ส่งสัญญาณการเลือกตั้งท้องถิ่นมายัง กกต. เพราะรัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ แต่กกต.มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว"

ทีนี้มาดู งบประมาณเลือกตั้งของ กทม.สำหรับการจัดการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.และสมาชิกสภากทม. ในอนาคต ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ล่าสุด นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภา กทม.ได้ยื่นกระทู้ถามสดถึง การเตรียมความพร้อมของกทม. ในการปฏิบัติราชการตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ที่คาดว่าน่าจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงศ์ รองผู้ว่าฯกทม. ชี้แจงว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งไว้แล้ว 5 ประการ คือ จัดส่งข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งทั้งในส่วนของสำนักงานปกครองและทะเบียน รวมทั้งสำนักงานเขตละ 2 คน รวม 115 คน เข้าอบรมกับ กกต. เพื่อรับทราบแนวทาง ขั้นตอน ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง

รวมทั้งได้จัดเตรียมงบฯ สำหรับการจัดการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. และ สมาชิกสภากทม.ไว้แล้ว 270 ล้านบาท

กทม.ยังได้ให้สำนักงานเขตสำรวจและจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเลือกตั้ง อาทิ หีบบัตร คูหาเลือกตั้ง หากพบว่าชำรุดให้ซ่อมแซมเพื่อให้ใช้งานได้ครบถ้วน พร้อมทั้งได้ให้สำนักงานเขต สำรวจสถานที่เลือกตั้งหรือหน่วยเลือกตั้ง

กทม.แจ้งว่า ในการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และส.ก. ที่จะมีขึ้นนี้ จำนวนสถานที่เลือกตั้งหน่วยเลือกตั้ง มีทั้งสิ้น 6,189 หน่วย เป็นหน่วยที่ตั้งในอาคาร 2,973 หน่วย และหน่วยเลือกตั้งที่เป็นเต็นท์ 3,216 หน่วย

ทั้งหมดนี้ ได้สรุปรายงานให้ กกต.กทม. แล้ว อีกทั้งยังกำชับให้ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งศึกษาระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดชัดเจน เพื่อป้องกันความผิดพลาด เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด

ทีนี้มาพูดถึงเรื่องหลักว่าด้วยการ "สรุปผลการประเมินตนเองตามเกณฑ์ชี้วัดและค่าเป้าหมายขั้นตํ่าการจัดบริการสาธารณะ" ตอนที่ 2

ฉบับนี้พูดถึง ผลการประเมิน "กรุงเทพมหานคร ปี62" หลังจากที่ฉบับก่อนเปิดผลประเมินของกลุ่มเทศบาล เป็นข้อมูลเปิดเผยของคณะกรรมการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.)ได้พิจารณารายงานผลการกระเมินจากเกณฑ์ชี้วัด 442 ด้าน ว่าด้วย "การจัดบริการสาธารณะ" ของ อปท.ทั่วประเทศ ที่ก่อนจัดส่งข้อมูลมายังสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะเลขานุการ ก.ก.ถ.

และปีหน้า 2563 เป็นปีสุดท้าย ที่ สปน.จะนำผลที่ได้ทั้งหมดไปประเมินประสิทธิภาพการบริการสาธารณะ ในกรอบ 3 ปี เพื่อนำไปเป็นแผนพัฒนาท้องถิ่น และจัดสรรงบประมาณ ให้กับท้องถิ่นในอนาคต

เริ่มจาก ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในประเด็น ถนนและการระบายน้ำ ผลคะแนนในระดับนี้ กทม.ประเมินตัวเองสูงมากกว่าเป้าหมายทั้งหมด แต่ กทม.ไม่มีการจัดบริการสาธารณะ "ถนนลาดยางแอสฟัลติก" ในความรับผิดชอบ ที่สร้างเพิ่มเติมตามความต้องการของประชาชน หรือตามแผนการพัฒนาในปีงบประมาณ "คลอง/ลำธาร บ่อน้ำ และแหล่งน้" พบว่า มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าค่าเป้าหมายในภารกิจนี้ คือ "พื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียรวมของ กทม." มีผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 13.56

จากค่าเป้าหมายขั้นต่ำที่กำหนดร้อยละ 70 หรือคิดเป็นดำเนินการได้ต่ำกว่าค่าเป้าหมายร้อยละ 56.44

สะพาน ไฟจราจร ไฟล่องสว่าง และป้ายสัญญาณ อยู่ในขั้นปกติและสูงกว่าเป้าหมาย

ด้าน "คมนาคมและขนส่ง" มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าค่าเป้าหมายในภารกิจเรื่อง พื้นที่บริการระบบขนส่งมวลชนต่อพื้นที่ กทม. ทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 6 จากค่าเป้าหมายขั้นต่ำที่กำหนดร้อยละ 75 หรือ ต่ำกว่าค่าเป้าหมายร้อยละ 69 และร้อยละค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางภายในเขต กทม.ต่อรายจ่ายรวมของประชาชน (ต่อเดือน) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายฯ คิดเป็นร้อยละ 20 จากค่าเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ร้อยละ 45

อย่างไนก็ตาม กทม.ไม่มีการจัดบริการสาธารณะ จำนวนจุดอันตรายบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งทางการจราจรทางน้ำ/ ทางทะเลในเขต กทม. ที่ได้รับการพัฒนา ปรับปรุง หรือแก้ไขให้ปลอดภัยขึ้น

ส่วนด้านผังเมือง กทม.ผ่านค่าเป้าหมายทั้งหมด เช่นเดียวกับด้านสาธารณสุข บริการทางสังคม และคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการพัฒนาสตรี พัฒนาชีวิตผู้พิการ การสาธารณสุขมูลฐาน การพัฒนาเด็กและเยาวชน

แม้ภารกิจการข้างต้นจะผ่านค่าเป้าหมายเกือบทั้งหมด แต่ กทม.ไม่มีบริการสาธารณะ เรื่องของจำนวนศูนย์พักพิง/ดูแล/ฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้พิการในชุมชนใน "ด้านการศึกษา" 14 ตัวชี้วัด จาก 30 ตัวชี้วัด การศึกษาในระบบ กทม.ดำเนินการได้สูงกว่าเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม การศึกษานอกระบบ ของกทม.กลับมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมายในภารกิจ เช่น ผลสอบโอเน็ตกลุ่มวิชาสามัญ ป. 6 ที่ร้อยละ 34.58 ต่ำกว่าเป้า ร้อยละ 40 หรือ ผลสอบโอเน็ตกลุ่มวิชาสามัญ ม.3 ที่ร้อยละ 19 ต่ำกว่าเป้าที่ร้อยละ 35 หรือ ม.6 ที่ร้อยละ 15.32 ต่ำกว่าเป้าที่ร้อยละ 35

ส่วน "ด้านการจัดระเบียบสังคม/ชุมชน และการรักษาความสงบเรียบร้อย" พบว่า มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าค่าเป้าหมาย ร้อยละของมูลค่าความเสียหายที่ลดลงจากการรับมือกับภัยพิบัติของ กทม. ที่ร้อยละ 19.46 จากค่าเป้าหมายขั้นต่ำร้อยละ 70

เช่นเดียวกับ "การจัดระเบียบชุมชน" ที่ผ่านสูงกว่าเป้าหมาย และ"การจัดการความขัดแย้ง"พบว่า แม้กทม.จะไม่มีการจัดบริการสาธารณะเรื่องนี้ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาดำเนินการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ย หรือศูนย์ยุติธรรมชุมชนในพื้นที่ "จำนวนความขัดแย้ง"จึงไม่มีปัญหาเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม "การป้องกันอาชญากรรมและการกระทำผิด" แม้จะผ่านประเมินในอัตราที่สูง

แต่ผลการดำเนินงาน กลับต่ำกว่าค่าเป้าหมายในร้อยละของมูลค่าความเสียหายในทรัพย์สินหรือ บ้านเรือนของประชาชนที่ ลดลงจากการรับมือกับภัยสาธารณะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. มีผลการดำเนินงาน คิดเป็นร้อยละ 31.23 จากค่าเป้าหมายขั้นต่ำที่กำหนดร้อยละ 80

ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน อาชีพ การลงทุน และการท่องเที่ยว พบว่า มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าค่าเป้าหมาย โดยเฉพาะตัวเลขทางเศรษฐกิจของ กทม. ระบุว่า ร้อยละการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (GPP) มีผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 3.98 จากค่าเป้าหมายขั้นต่ำที่กำหนดไว้ร้อยละ 8

ร้อยละการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (GPP)จากภาคการเกษตร (กรณีกทม./กทม.ใช้ผลผลิตภัณฑ์มวลรวมของเมือง หรือ GCP) มีผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 0.44 จากค่าเป้าหมายขั้นต่ำที่กำหนดไว้ร้อยละ 3 และร้อยละการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (GPP) จากภาคบริการและการท่องเที่ยว (กรณีกทม./กทม.ใช้ผลผลิตภัณฑ์มวลรวมของเมือง หรือ GCP) มีผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 10.17 จากค่าเป้าหมายขั้นต่ำที่กำหนดไร้ร้อยละ 15

ส่วนการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แม้จะมีการดำเนินการได้สูงกว่าค่าเป้าหมาย 17 ตัวชี้วัดจาก 30 ตัวชี้วัด แต่ กทม.ไม่มีข้อมูล 3 ตัวชี้วัด คือ จำนวนแหล่งขยะตกทิ้งค้าง พื้นที่ที่จัดเก็บขยะไม่หมด หรือบริเวณที่ถูกลักลอบนำขยะไปทิ้ง ปริมาณขยะตกค้างในชุมชน

" กทม.แจ้งว่าไม่มีความจำเป็นในการดำเนินการ และร้อยละของพื้นที่ กทม. ที่ตรวจไม่พบสารเคมีตกค้างระยะยาวในแหล่งน้ำสาธารณะและชายฝั่ง ซึ่งก็ไม่มีการจัดบริการสาธารณะในเรื่องดังกล่าว" สุดท้าย ด้านศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น กทม.มีผลการดำเนินงานสูงกว่าค่าเป้าหมาย ทั้งหมด

ตอนหน้า มาดูว่า "กลุ่มองค์การบริหารส่วนตำบล" หรือ อบต. 5,333 แห่ง ที่ส่งผลการประเมินตัวเองมายัง ก.ก.ถ. "ไม่มีการจัดบริการสาธารณะในเรื่องในบ้าง"!!




กำลังโหลดความคิดเห็น