ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิชาการห่วงถ่ายโอนภารกิจน้ำบาดาลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล พบปัญหา อปท.องค์ความรู้ไม่พอ เล็งจัดประชุมเสนอผลการศึกษาในสิ้นปีนี้ ทั้งให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นพี่เลี้ยง มุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ
หลังจากที่คณะกรรมการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) มีประกาศ 31 มกราคม 2551 เรื่องบังคับใช้แผนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) กำหนดภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานตามแผนธุรกิจสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ กำหนดขอบเขตที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะต้องถ่ายโอนภารกิจ
ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติในแผน มีภารกิจถ่ายโอนในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดคือ ขอนแก่น นครราชสีมา และเชียงใหม่ โดยพื้นที่ จ.ขอนแก่น ได้มีโครงการศึกษา วิเคราะห์และติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจด้านบาดาล ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตพื้นที่จังหวัดนำร่อง จังหวัดขอนแก่น โดยสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มี ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ เป็นผู้อำนวยการสถาบัน
ผศ.ดร.พโยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า โครงการศึกษาวิเคราะห์และติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาล ที่จ.ขอนแก่น เกิดขึ้นเนื่องจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้องการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาลไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน 5 ภารกิจ ประกอบด้วย การขุดเจาะน้ำบาดาล การพัฒนาเป่าล้างบ่อบาดาลเดิม
การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำแบบบ่อลึก การเรียกเก็บค่าใช้น้ำบาดาล และการอนุญาตขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตอนบนสุดน้อยกว่า 4 นิ้ว และมอบอำนาจการอนุญาตใช้น้ำบาดาลที่อนุญาตใช้ไม่เกินวันละ 10 ลูกบาศก์เมตร
“โครงการนี้จะประเมินติดตาม วิเคราะห์ การถ่ายโอนภารกิจด้านบาดาล ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า ท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น มีความพร้อมแค่ไหน จุดอ่อน จุดแข็ง และทำข้อเสนอแนะให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เช่น การเตรียมความพร้อมบุคลากร เรื่องโครงสร้าง งบประมาณต่างๆ กระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะได้คำตอบว่า การให้บริการด้านน้ำบาดาลที่ดีแก่ประชาชนนั้นควรทำอย่างไร โดยคัดเลือกพื้นที่ดีที่สุด 10 แห่ง มาถอดบทเรียน ขยายผลให้ อบต.ทั่วประเทศที่ต้องรับโอนภารกิจน้ำบาดาลได้เรียนรู้” ผศ.ดร.พโยม กล่าว
ส่วนการศึกษาการถ่ายโอนภารกิจ ขณะนี้คืบหน้าไปแล้วกว่า 80% โดยคณะผู้ศึกษาได้ไปสำรวจประเมินการทำงานของ อปท. 30 แห่งใน จ.ขอนแก่น และประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการกว่า 500 ราย ที่เข้าไปใช้บริการจาก อปท. เช่น การขออนุญาตขุดเจาะน้ำบาดาล ขอใช้น้ำบาดาล การโอนถ่ายภารกิจไปแล้วได้รับความพึงพอใจแค่ไหน รวมถึงความเป็นไปได้ในอนาคตถ้าจะขยายโครงการถ่ายโอนภารกิจน้ำบาดาลไป อปท.ทั่วประเทศ
ผศ.ดร.พโยม กล่าวต่อว่า จากการประเมินความพึงพอใจของประชาชน การถ่ายโอนภารกิจน้ำบาดาล ในพื้นที่นำร่องจังหวัดขอนแก่น พบว่า ด้านสถานที่และบริการเป็นไปด้วยดี แต่จุดที่น่าเป็นห่วง คือ อปท.ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในองค์ความรู้เรื่องน้ำบาดาล รวมถึงกฎระเบียบขั้นตอน ที่ผ่านมา ท้องถิ่นมีประสบการณ์ทำงานเรื่องน้ำบาดาลน้อยมาก ทั้งการติดตามประเมินผลจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลต่อ อปท. มีน้อยและไม่ต่อเนื่อง ทำให้ขาดความรู้เรื่องนี้
ทั้งนี้ กระบวนการถ่ายโอนภารกิจน้ำบาดาลได้ล่าช้ามาแล้ว ซึ่งการถ่ายโอนจำเป็นต้องทำเต็มรูปแบบ คณะผู้ศึกษาจะเสนอประเด็นปัญหา พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสนับสนุนองค์ความรู้ และด้านอื่น พัฒนาให้ อปท.สามารถดำเนินภารกิจด้านน้ำบาดาลด้วยตนเองได้
ก่อนหน้านี้ ทางนิด้าได้ศึกษาพร้อมข้อเสนอแนะให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ปรับโครงสร้างทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจ ให้ความรู้นายช่าง อบต. รวมถึงให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ในการขออนุญาตต่างๆ ด้วย
“อยากให้ประชาชนรับทราบ ว่า ต่อไปการใช้น้ำบาดาล ขุดเจาะน้ำบาดาล พื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดคือ ขอนแก่น นครราชสีมา และเชียงใหม่ จะต้องขออนุญาตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้บ้าน ส่วนจังหวัดอื่นในช่วงนี้ยังใช้รูปแบบเดิม คือ ขออนุญาตจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ซึ่งจะได้รับคำปรึกษา คำแนะนำที่ถูกต้องตามกฎหมาย” ผศ.ดร.พโยม กล่าวและว่า
การถ่ายโอนภารกิจ คณะผู้ศึกษาจะสรุปและนำเสนอผลการศึกษาครั้งที่ 2 ที่จังหวัดขอนแก่น ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 นี้ เพื่อนำเสนอการศึกษาการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ศึกษาแล้วเสร็จ รวมถึงประเมินผลจากการปฏิบัติงานจริง สู่เวทีสาธารณะให้ผู้ใช้น้ำบาดาล กลุ่มเป้าหมายทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกร หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการให้บริการด้านน้ำบาดาลแก่ประชาชนทั้งประเทศ