xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โศกนาฏกรรม ชรบ.15 ศพ ความโหดเหี้ยมของ “บีอาร์เอ็น” แล้ว “กองทัพ” จะแก้เกมเช่นไร?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวบ้านใน ต.ลำพะยา ได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงพลังไม่เอาความรุนแรง หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว จนทำให้ชาวบ้านรู้สึกเศร้าสลด และสะเทือนใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นความสูญเสียครั้ง “ประวัติศาสตร์” สำหรับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับ “ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)-กองพันราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.)” หลัง “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” ซึ่งได้รับคำยืนยันแล้วว่าคือ “ขบวนการบีอาร์เอ็น” บุกถล่มถึง “ฐานที่ตั้ง” จุดตรวจ ชรบ. หมู่ 4 ต.ลำพะยา อ.เมืองฯ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา

ปฏิบัติการอันโหดเหี้ยมและอำมหิตยิ่งกว่าสงครามครั้งนี้ ชรบ.เสียชีวิตถึง 15 ศพ คือ 1. นายเนตร จอมทอง 2. นายบรรจบ ทองกลิ่น 3. นายธวัชชัย สุพงษ์ 4. นายพูลสวัส พูลเเก้ว 5. นายฉลอง ทองงาม 6. นายสุนทร ยอดแก้ว 7. นางรัชนก ยอดแก้ว 8. นายวิรัตน์ เพ็ชรปล่อง 9. น.ส.นัยนา โพธิ์เตียเที่ยม 10. นายซัมซามี สามะ 11. ร.ต.อ.พยุง คินขุนทด 12. อ๊อด ผช.ผญบ.ป่าไร่ 13. ผู้หญิงชื่ออ๊ะ 14. ผู้ชายชื่อยัน และ 15. ผู้หญิงไม่ทราบชื่อเดินทางมากับ ร.ต.อ.พยุง

สำหรับผู้บาดเจ็บมีทั้งสิ้น 5 ราย ดังนี้ 1. นายนรงค์ฤทธิ์ สิทธิพันธ์ 2. นายเนาวรัตน์ รัตนเสถียร 3. นายมะรอซี มะแซ 4. นายสายัน ปานทอง และ 5. นายอาหาหมัด รัตนตัญญู


น.ส.ธิดารัตน์ ยอดแก้ว หนึ่งในผู้สูญเสียทั้งพ่อและแม่ในเหตุการณ์ดังกล่าว ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) ตนเองได้ไปทำกับข้าวให้แก่ชุด ชรบ.ที่ป้อม ณ จุดเกิดเหตุดังกล่าว เพื่อจะได้รับประทานอาหารร่วมกัน เมื่อทำกับข้าวเสร็จก็ได้เดินทางกลับมาบ้านซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนักจากจุดเกิดเหตุ จากนั้นพ่อและแม่ก็ได้แต่งตัวเพื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่เฝ้าเวรรักษาความปลอดภัยที่ป้อม ชรบ.ดังกล่าวในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. ซึ่งไม่มีความผิดปกติหรือลางบอกเหตุร้าย แต่ในช่วงที่ตนเองทำกับข้าวอยู่นั้นได้ทำแกงสับนกไหม้ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นลางบอกเหตุ ตนเองก็แค่เปลี่ยนหม้อแกงใบใหม่และได้กลับมาบ้าน

“จากนั้นในช่วงกลางดึกก็ได้ยินเสียงระเบิด และเสียงปืน ตอนนั้นรู้เลยว่าต้องเป็นจุดป้อม ชรบ.ที่พ่อกับแม่ได้ไปเข้าเวร เสียใจกับการสูญเสียในครั้งนี้ แต่ก็ดีใจที่พ่อกับแม่ได้เสียสละทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว เพราะคนที่รอดชีวิตมาได้นั้นเล่าว่า พ่อได้ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับกลุ่มคนร้ายจนกระสุนปืนหมด ก่อนที่จะถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต” น.ส.ธิดารัตน์บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

และหากเห็นสภาพพื้นที่เกิดเหตุในวันนั้นก็ยิ่งน่าสลดหดหู่เข้าไปใหญ่ ด้วยยังคงเห็นรอยกระสุนไม่ต่ำกว่า 100 นัดที่ยิงเข้าใส่จุดตรวจ และรอยเลือดกระจายไปทั่วบริเวณ นี่ไม่นับจานข้าวที่ยังคงวางอยู่บนบังเกอร์ โดยหลงเหลือข้าวยำและลูกสะตอเพียงไม่กี่เม็ด

พวกเขาคงไม่รู้ว่า นั่นอาหารมื้อสุดท้ายของพวกเขา.....

โศกนาฏกรรมดังกล่าวนำมาซึ่งประเด็นคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้น เนื่องเพราะเป็นที่รับรู้กันดีว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ “ชุมชนไทยพุทธเข้มแข็ง” เพราะมีชาวไทยพุทธอาศัยอยู่ถึงประมาณ 80% ที่เหลือเป็นมุสลิมราว 20% รวมทั้งเป็น “หมู่บ้านสีขาว” ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันก็เห็นได้ชัดว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุได้เบนเป้าหมาย จากที่เคยโจมตี “ตำรวจและทหาร” มาเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และตำบล ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงกำลังขยายวงกว้างออกไปในทุกมิติ


นายรักชาติ สุวรรณ์ ตัวแทนจากเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นของชุมชนที่ดูแลตัวเอง เนื่องจากลำพะยาถือเป็นพื้นที่ที่เรียกกันว่า ชุมชนเข้มแข็ง และที่ผ่านมา แม้ด้านนอกจะมีเจ้าหน้าที่ เช่น มีป้อม อส.อยู่ แต่ภายในชุมชนนั้นอาศัยพลเรือนด้วยกันเองดูแลความปลอดภัยร่วมกันในรูปแบบของ ชรบ. อันเป็นรูปแบบที่หวังกันว่า จะเป็นคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชุมชนคนพุทธ ในขณะที่หลายฝ่ายชี้ว่า การมีกำลังทหารอาจไม่ตอบโจทย์ และอยากให้มีการถอนทหาร เหตุการณ์นี้ท้าทายความคิดเรื่องถอนทหารอย่างชัดเจน

“มันเกิดที่ลำพะยา คือที่นั่นอาจจะมีความรู้สึกไม่สบายใจกันบ้าง แต่ก็ยังอยู่กันได้เป็นปกติ เท่าที่เคยเข้าพื้นที่ไปก่อนหน้านี้ พบว่า พุทธและมุสลิมในพื้นที่ไว้ใจกันดี คนพุทธในพื้นที่หากจะหวาดระแวงมุสลิม ก็หวาดระแวงมุสลิมจากนอกพื้นที่”

“เราไม่ใช่อยากให้ทหารอยู่กับเราตลอดไป เราเองก็อยากให้พื้นที่บ้านเราสามจังหวัดกลับไปเหมือนเดิม แต่พอมีเรื่องอย่างนี้ขึ้นก็ต้องเข้าใจว่า คนพุทธส่วนใหญ่ต้องพึ่งทหาร เวลาที่พวกเขาถูกกระทำเขาก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร ก็ต้องพึ่งทหาร พอหลายคนบอกให้ทหารออก เราก็บอกว่าโอเคก็ให้ดูแลกันเอง แต่ว่ามันต้องปลอดภัย เมื่อมีแบบนี้เกิดขึ้น เรื่องจะมายืนยันคำเดิมให้ถอนทหาร ผมว่ายากแล้ว โดยเฉพาะในความเห็นพี่น้องคนพุทธ” นายรักชาติอธิบาย

ที่สำคัญคือ กลุ่มผู้ก่อการร้ายซึ่งน่าจะเป็นคนท้องถิ่นน่าจะรับทราบข้อมูลและความเคลื่อนไหวของ ชรบ.ชุดดังกล่าวดีกว่า มีการประชุมและพบปะสังสรรค์กันเป็นประจำเดือนละ 1-2 ครั้ง ทำให้สามารถปฏิบัติการได้อย่างบรรลุผล ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงจะต้องเพิ่มปรับมาตรการในการป้องกันตนเองเสียใหม่ ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่าไว้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี “จุดอ่อน” ที่หน่วยงานความมั่นคงต้องรับรู้ไว้คือ มีจุดตรวจ ฐานปฏิบัติการหรือป้อมยามเป็นจำนวนไม่น้อยที่ยัง “ถูกละเลย” ด้วยไม่คิดว่าจะเกิดเหตุ ส่งผลให้ไม่มีการจัดระเบียบหรือจัดวางกองกำลังที่รัดกุมพอ ทำให้จุดตรวจหรือฐานปฏิบัติการแบบที่ว่านี้กลายเป็น “เป้าหมายใหม่” ที่ง่ายต่อการลงมือ

ผู้เสียชีวิตจากเหตุโศกนาฏกรรมที่ลำพะยา
“คนร้ายต้องการเพียงภาพข่าว ต้องการเท่านี้ เพราะกำลังฝ่ายคนร้ายไม่เยอะ ตนต้องขอความร่วมมือพี่น้องในพื้นที่ ขณะนี้ได้ให้กำลังจรยุทธ์เข้าพื้นที่หมดแล้ว รวมทั้งพี่น้องประชาชนช่วยกันสกรีนคน ใครเข้าออกหมู่บ้านต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ก็ยังมีช่องว่าง จึงต้องมีการปรับแผนใหม่เป็นจรยุทธ์ จะอยู่ประจำป้อมประจำฐานไม่ได้แล้ว จะต้องมีการปรับแผนพอสมควร” พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 ตั้งข้อสังเกตถึงปมเหตุของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นและยอมรับอยู่ในทีว่าการวางกองกำลังป้องกันตัวเองมีช่องว่างช่องโหว่ปรากฏให้เห็น

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลด้วยว่า ชุดปฏิบัติการพิเศษของบีอาร์เอ็นทั้ง 4 ชุดดังกล่าว มีการจัดกำลังไว้ชุดละ 6 คนที่ล้วนเป็น “คนหน้าขาว” ทั้งสิ้น ซึ่งหมายถึงเป็นแนวร่วมรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีประวัติก่อเหตุมาก่อน เพื่อให้ง่ายในการเคลื่อนไหว แต่ยุ่งยากสำหรับเจ้าหน้าที่ในการติดตามไล่ล่าหรือเข้าจับกุม โดยในการปฏิบัติการแต่ละครั้งจะมีการมอบให้แนวร่วมระดับต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ประกอบกำลังเข้าร่วมด้วยครั้งละประมาณ 20 คนขึ้นไป ซึ่งก็แล้วแต่เป้าหมายว่าจะเล็กหรือใหญ่ หรือมีความสำคัญแค่ไหน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่หน่วยงานรัฐควรต้องทราบไว้ด้วย เพื่อการต่อสู้ที่นำไปสู่ชัยชนะในอนาคต กล่าวคือ เมื่อ 2 ปีก่อนบีอาร์เอ็นได้บ่มเพาะเยาวชนเข้าสู่ขบวนการ เพื่อให้เป็นแนวร่วมในระดับต่างๆ ไว้ได้เพียงประมาณ 800 คน แต่เมื่อมาถึงวันนี้กลับมีเยาวชนที่ผ่านการบ่มเพาะจากขบวนการบีอาร์เอ็นเพิ่มเป็นกว่า 10,000 คนแล้ว

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของจังหวัดยะลา เป็นการกระทำที่สามารถใช้คำว่าป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรม ซึ่งทำให้เกิดคำถามย้อนกลับไปถึงหน่วยงานความมั่นคงที่ทำงานในพื้นที่ว่า อะไรคือต้นสายปลายเหตุของเรื่องราวทั้งหมด ไม่ใช่เกิดเหตุแล้วก็ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป แล้วก็เกิดเหตุใหม่ วนเวียนให้เห็นอยู่ร่ำไปเช่นนี้

เป็นเพราะ “งานการข่าว” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงทำให้หน่วยงานกรองไม่ทราบความเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นดังที่ถูกกล่าวหา ใช่หรือไม่

หรือวิธีการแก้ปัญหาที่เคยใช้มาไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็น

หรือเป็นเพราะอะไรกันแน่

ที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่า งบประมาณที่ใช้สำหรับการแก้ไขสถานการณ์ไฟใต้ในแต่ละปีนั้นมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาล และเมื่อผ่านไปหลายปี ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนที่ตรงไหน

เอาแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ “ลำพะยา” คนในพื้นที่ก็ไม่มั่นใจแล้วว่าจะสามารถจับกุมผู้ก่อการร้ายได้หรือไม่เสียด้วยซ้ำไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น