xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“พปชร.” กัน “อภิสิทธิ์” พ้นวงแก้ รธน. ตัดไฟต้นลม ชนวนเหตุโค่น “บิ๊กตู่”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติส่งให้มานั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขบเหลี่ยมกันแต่หัววัน สำหรับการวางตัวบุคคลเป็น คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีวาระจ่อเข้าสภาผู้แทนราษฎร ในเร็วๆ นี้

ตามคิวที่ “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ รีบออกมติเสนอชื่อ “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธาน กมธ.ชุดนี้ โดยมีเเรงหนุนจากคู่แค้นอย่าง “ค่ายสีแดง” พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย

เรียกว่า ตัดหน้า “ค่ายสีเขียว” พรรคพลังประชารัฐ ที่เหมือนไม่ทันตั้งตัว จนต้องปล่อยเด็กในสังกัด ออกมาคัดค้านชื่อ “อภิสิทธิ์” พร้อมกับเสนอชื่อ “เฮียตี๋ แปดริ้ว” สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในฐานะตัวแทนพรรคอันดับ 1 ของรัฐบาล ขึ้นมาท้าชิง

โดยยกเหตุผลว่า ควรให้เกียรติแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล นั่งประธาน กมธ. พ่วงด้วยผู้ทำหน้าที่จะต้องเป็น ส.ส. ไม่ใช่คนนอกมานั่งอยู่หัวโต๊ะ ใหญ่กว่าผู้แทนราษฎร

ใครอ่านทาง “พลังประชารัฐ” ก็รู้ เหตุผลข้างต้นไม่ใช่จุดใหญ่สำคัญ แต่ประเด็นมันเป็นเพราะคนที่ถูกเสนอชื่อนั้นชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ชื่อนี้ “บิ๊กรัฐบาล” ไม่ปลื้ม!

เปรียบง่ายๆ เอาคนที่รังเกียจเดียดฉันรัฐธรรมนูญฉบับนี้แทบจะทั้งฉบับมาเป็นประธาน กมธ. ไม่ต่างอะไรกับเปิดประตูให้โจรวิ่งเข้าบ้าน มีแต่หมดเนื้อหมดตัว

ต่อให้ใน กมธ.วิสามัญศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีสัดส่วนฝ่ายรัฐบาลมากกว่ามันก็ไม่เป็นผลดีด้วยประการทั้งปวง เพราะอย่าลืมว่า ในจำนวน 49 คน ที่แบ่งเป็น ฝ่ายคณะรัฐมนตรี 12 คน ฝ่ายรัฐบาล 18 คน และฝ่ายค้าน 19 คน

มองเผินๆ เหมือนไม่น่ามีอะไรหนักใจ ใครเป็นก็เหมือนกัน ทว่า ในจำนวน 49 คนนี้ ใช้ตรรกะฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านไม่ได้ เพราะมันแบ่งเป็น “ฝ่ายอยากแก้” กับ “ฝ่ายไม่อยากแก้”

มันไม่ใช่ศึกระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ที่มีเสียงมากกว่าแล้วจะอุ่นใจ หากแต่มันมีคนในรัฐบาลไม่น้อยที่อยากแก้เหมือนกัน นำโดย “ประชาธิปัตย์”

และความต้องการของ “ประชาธิปัตย์” ก็ไปบรรจบพอดีกับ “ 7 พรรคฝ่ายค้าน” มันไม่ต่างอะไรกับ ทุกพรรคการเมืองกำลังรุม “พลังประชารัฐ” พรรคเดียว

แล้วเอา “อภิสิทธิ์” มาเป็นหัวขบวน มันเท่ากับนิทรรศการถอนรากถอนโคนมรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดีๆ นี่เอง

อย่างที่รู้กัน แม้ “ประชาธิปัตย์” จะอยู่ฝ่ายรัฐบาล แต่มันเป็นสภาวการณ์ที่ “จำใจ” ไม่ได้อยากอยู่ภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่แรก

ที่ “พรรคสีฟ้า” ยอมร่วมรัฐบาล นั่นก็เพราะพรรคอยู่ในช่วงวิกฤติ จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและอำนาจรัฐในการกู้ศรัทธา ทุกวันนี้ขนาดอยู่ชายคารัฐบาลเดียวกัน แต่ทำงานกันคนละทิศละทาง

แทบไม่ปรากฏว่า “ประชาธิปัตย์” จะโพนทะนาว่า ผลงานต่างๆ ของรัฐในปัจจุบันเป็นของ “รัฐบาล” แต่ใช้ชื่อโครงการที่ผลักดันโดย “พรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม” เสมอ

ขณะที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้ “นายหัวเมืองตรัง” ชวน หลีกภัย จะอยู่ฝ่ายรัฐบาล แต่แทบไม่เคยปรากฏว่า “พลังประชารัฐ” จะได้ประโยชน์ใดๆ จากการทำหน้าที่ของผู้อาวุโสแห่งพรรคประชาธิปัตย์

ว่ากันตามภาษาชาวบ้าน สถานะของ “ประชาธิปัตย์” ในรัฐบาลทุกวันนี้ ไม่ต่างอะไรกับ “หอกข้างแคร่” ที่เมื่อไหร่ฝ่ายแกนนำพลาด ก็พร้อมจะชิ่ง หรือปาดหน้าเค้กทุกเวลา

การให้ “อภิสิทธิ์” มานั่ง มองไม่เห็นผลบวก ปฏิกิริยาของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ที่ออกมาสนับสนุนให้ “อภิสิทธิ์” เป็นประธาน กมธ.ชุดนี้คือ หลักฐานชิ้นสำคัญได้ดีว่า มันพร้อมจะ “เละ” แค่ไหน

เพราะ 7 พรรคฝ่ายค้านก็มองเกมออกว่า แม้ “ประชาธิปัตย์” จะอยู่ฝั่งเดียวกับรัฐบาล แต่ไม่ได้สมัครใจ หรือยินดีที่จะเดินตามแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “พลังประชารัฐ”

ประวัติศาสตร์บ่งชัด “ค่ายสะตอ” ไม่ถนัดเป็น “ผู้ตาม” แต่ต้องการเป็น “ผู้นำ” ทุกครั้งที่มีโอกาสคือ “เสียบ” ซึ่งไม่ใช่แค่ 7 พรรคฝ่ายค้านอ่านออก แต่ “พลังประชารัฐ” ก็รู้ถึงจุดนี้ดีกว่าใคร

สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ที่ถูกตัววางตัวจากพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะตัวแทนพรรคอันดับ 1 ของรัฐบาล ขึ้นมาท้าชิงเก้าอี้
ทุกวันนี้ที่ “พลังประชารัฐ” ยอมให้ “ประชาธิปัตย์” ล้ำเส้น โชว์บทเด่นเกินตัวเอง ก็เพราะคิดว่า ณ จุดนี้ พรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมยังเป็นแค่ “พิษ” ยังไม่เป็น “ภัย” ยังทำอะไรไม่ได้มาก เพราะ “กองทัพ” และ “รัฐธรรมนูญ” ไม่เอื้อให้กระทำการอย่างในอดีต


แต่ถ้าปล่อยให้ “อภิสิทธิ์” นั่งเป็นประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี่อาจเป็น “ชนวนเหตุ” ไปสู่วันวินาศสันตะโลของ “3ป.” และ “พลังประชารัฐ” ได้

แน่นอนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเหลืออีกหลายด่าน และไม่ได้แก้ไขง่ายๆ เพราะมี “ด่านอรหันต์” หลายชั้นชนิดถ้า “บิ๊กรัฐบาล” ไม่เอาด้วย ก็ไปไม่ได้เหมือนกัน

โดยเฉพาะมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น “ใบเบิกทาง” ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้แน่นหนา ซึ่งเป็นมาตราแรกที่ “ประชาธิปัตย์” เองอยากจะแก้เสียยิ่งกว่าอะไรเป็นลำดับแรก เพื่อปูทางไปสู่มาตราอื่นๆ

เพราะถ้าไม่แก้มาตรานี้ “บิ๊กรัฐบาล” จะยังกุมความได้เปรียบทุกอย่างเอาไว้ เนื่องจากมีบทบัญญัติให้ ส.ว. เข้ามามีส่วนร่วม หรือลงมตินั่นเอง

พลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ดู จะเห็นเป็น “ค่ายกลเจ็ดดาว” ที่ “ซือแป๋” อย่าง “มีชัย ฤชุพันธุ์” วางเอาไว้ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในมือของฝ่ายอำนาจ

ตั้งแต่วรรคแรก ที่ระบุไว้ว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกวาห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย”

ขณะที่วรรคสอง กำหนด “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ”

วรรคสาม “การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา”

วรรคสี่ “การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย”

ส่วน วรรคห้า “เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป”

ในขณะที่ วรรคหก “การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา”

และ วรรคเจ็ด “เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (6) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นําความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

จะเห็นว่า ในทุกวาระ ทุกขั้นตอน จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก “วุฒิสภา” ด้วยทั้งหมด และอย่างที่รู้กัน 250 ส.ว. ไม่ต่างอะไรกับเสียงฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น หากผู้กุมอำนาจไม่เอาด้วย อย่างไรแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไปไม่รอด

เปรียบง่ายๆ คือ ทุกมาตราต้องได้รับการ “อนุมัติ” จากบิ๊กรัฐบาลก่อนเท่านั้น มันถึงจะสำเร็จได้!

มิเท่านั้น ในมาตราที่สำคัญอันจะเป็นการ “ตัดรากถอนโคน” ยังวางค่ายกลให้สลับซับซ้อนอีกด้วย นั่นคือ ในวรรค 8 ที่บัญญัติไว้ว่า

“ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป”

ซึ่งมาตรา 255 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ “ประชาธิปัตย์” อยากจะขันชะเนาะ ต้องทำประชามติก่อนเท่านั้น

สรุปง่ายๆ สั้นๆ คือ ยากมากที่จะสำเร็จ ถ้า “บิ๊กรัฐบาล” ไม่เอา

เพียงแต่ว่า มันก็ไม่สามารถที่ “พลังประชารัฐ” จะปล่อยให้ “อภิสิทธิ์” มานั่งเป็นประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะแม้จะต้องฝ่าอีกหลายด่าน หากแต่ผลการศึกษาของ กมธ.ชุดนี้ จะเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ได้ในอนาคต

กมธ.ชุดนี้ถูกรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎร โดยมีฝ่ายรัฐบาลนั่งเป็น กมธ.อยู่ด้วย หากได้ข้อสรุปและออกมาเป็นรายงานแล้ว ย่อมมีความชอบธรรม ที่ฝ่ายต้องการรื้อรัฐธรรมนูญจะเอาไป “ตีกิน” เพื่อโหมกระแส

มันไม่ใช่แค่ 7 พรรคฝ่ายค้านอย่างเดียว แต่หมายถึง “ประชาธิปัตย์” จะเอารายงานเล่มนี้ไป “บีบ” และ “กดดัน” รัฐบาล ซึ่งจะทำให้ตกที่นั่งลำบาก

ดังนั้น ต้องรีบตัดไฟตั้งแต่ต้นลมด้วยการตัดชื่อ “อภิสิทธิ์” ซึ่งมีคุณสมบัติที่จะไปถือธงนำ ปลุกแก้รัฐธรรมนูญได้ ออกไปตั้งแต่วันนี้

และแม้ “อภิสิทธิ์” จะมีความชอบธรรมในนั่งประธาน กมธ.ชุดดังกล่าว เพราะเป็นตัวตั้งตัวตีในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่การทำประชามติ ในขณะที่ “สุชาติ” ไม่เคยแสดงท่าทีว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หากแต่ต้องไม่ลืมว่า จุดยืนของ “อภิสิทธิ์” นั้นพ่ายแพ้ในการทำประชามติ เท่ากับว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีดังกล่าว

ขณะเดียวกัน การประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และการประกาศไม่เอา “บิ๊กตู่” ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้สภาพของ “ประชาธิปัตย์” วันนี้ย่อยยับ พังพินาศ จนมีเสียงในสภาเพียงครึ่งร้อย ในขณะที่ “พลังประชารัฐ” มีร้อยกว่าเสียง เจาะพื้นที่ “พรรคสีฟ้า” ได้ไม่รู้กี่สิบแห่ง จนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เหนือสิ่งอื่นใด “ประชาธิปัตย์” ได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ซึ่งคนที่ยอมถอยให้ คือ “สุชาติ” ที่มาจากพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่โดยวิธีปฏิบัติตำแหน่งนี้ต้องมาจากพรรคอันดับหนึ่งฝั่งรัฐบาล

นอกจากนี้ “สุชาติ” ดีกรี ส.ส. 10 สมัย ชื่นชั้น “ความเก๋า” ไม่เป็นรองใคร แล้วยังมีสถานะเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต มีศักดิ์และสิทธิ์เหมาะสมที่จะนั่งหัวโต๊ะได้ อยู่ที่เจ้าตัวจะเอาหรือไม่เท่านั้น เพราะดูแล้ว “งานไม่หมู” ทุกพรรคต้องระดมระดับ “ตัวเก๋า” มาไฝว้กันใน กมธ.แน่นอน

ในขณะที่ “อภิสิทธิ์” ขาลอย และหมดรูปหลังการเลือกตั้ง

ส่วนเหตุผลที่ว่า “อภิสิทธิ์” คือ นายกรัฐมนตรีไม่กี่คนที่แก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ในเรื่องเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง เมื่อตอนรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่กระนั้นผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่ได้น่าโสภาเลย กลับยิ่งทำให้ “เพื่อไทย” แข็งแกร่งและชนะการเลือกตั้งอยู่ดี

หากจะตีกินว่าเป็นผลงาน “โบแดง” น่าจะเป็น “โบดำ” มากกว่า

อีกจุดคือ “อภิสิทธิ์” เป็นคนดื้อ มีอัตตาสูง ไม่มีทางที่ฝ่ายรัฐบาลจะควบคุมได้ หากปล่อยให้นั่งเป็นประธาน กมธ.ชุดนี้ โอกาสที่จะแก้ให้เป็น “คุณ” ต่อรัฐบาลแทบไม่มี

และมันอาจ “เละ” จนไปเข้าทาง “7 พรรคฝ่ายค้าน” ไม่เช่นนั้นคงไม่หูตาผึ่ง เมื่อได้ยินชื่อ “อภิสิทธิ์” จะมานั่งเป็นประธานศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น โอกาสที่ชื่อนี้จะ “ผ่าน” แทบเป็นศูนย์

แม้พรรคพลังประชารัฐจะยอมบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ในนโยบาย จนดูเสมือนว่า ยอมพรรคประชาธิปัตย์ทุกอย่าง แต่ก็คงไม่ใช่ว่า จะปล่อยให้ทำทุกอย่างตามใจชอบ

รูปทรงอาจเป็น “รอง” ในทางการเมือง เพราะข้อจำกัดเสียงปริ่มน้ำ หากแต่ถ้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็น “ชนวน” ความขัดแย้งในสังคมอีกครั้ง

ระวังบทสรุปจะวนลูปเดิมคือ “แอ่น แอ๊น” กันอีกรอบ เพราะอย่างไร “บิ๊กรัฐบาล” ก็ไม่ปล่อยให้อำนาจหลุดมือง่ายๆ แน่.


กำลังโหลดความคิดเห็น