xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขยะ “พลาสติก” ไหลบ่าเข้าไทย วาระเร่งด่วน “รัฐบาลลุงตู่”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลายเป็น “ถังขยะโลก” ด้วยมีขยะล้นทะลักมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ “ขยะพลาสติก” และ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งมีผลคาดการณ์ว่าภายในปี 2573จะกลายเป็นแหล่งพำนักของขยะกว่า 111 ล้านตัน

ทั้งนี้ สถิติการนำเข้าขยะพลาสติกในอาเซียนระหว่างปี 2559 - 2561 พบว่าเติบโตถึง 171 เปอร์เซ็นต์ จาก 836,529 ตันเป็น 2,265,962 ตัน เทียบเท่ากับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ประมาณ 423,544 ใบ

งานวิจัยของกรีนพีซ ระบุว่า มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เป็นเป้าหมายลำดับแรกๆ ของขยะพลาสติก อีกทั้ง หลังประเทศจีนแบนการนำเข้าขยะพลาสติก ช่วงปี 2560 ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2561 ประเทศไทยมีสถิติการนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

“ช่วงหนึ่งประเทศไทยนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 2,000 - 7,000 เปอร์เซ็นต์” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ หัวหน้าโครงการศึกษา เรื่อง การนำเข้าของเสียและผลิตภัณฑ์ใช้แล้วของประเทศ ให้ข้อมูล

สำหรับตัวเลขปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกของไทยย้อนหลัง 5 ปี เศษพลาสติก (พิกัด 3915) ประกอบด้วยรายการย่อยๆ หลายรายการ เช่น พลาสติกกลุ่มพอลิเมอร์ที่มักใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารใช้ครั้งเดียวทิ้ง (โพลีเอทิลีน, โพลีโพรพีลีน, โพลีเอทิลีน, เทเรทาเลท เป็นต้น) มีการนำเข้ามากกว่า 906,521 ตัน

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่าสถานการณ์ธุรกิจขยะข้ามพรมแดนทวีความรุนแรง ภายหลังประเทศจีนแบนการนำเข้าขยะพลาสติก ปี 2561 ซึ่งประเทศผู้ส่งออกขยะพลาสติกมาไทยสูงสุดคือ ญี่ปุ่น 270,174 ตัน รองลงมาคือ ฮ่องกง 159,903 ตัน สหรัฐฯ 147,828 ตัน ออสเตรเลีย 70,423 ตัน จีน 68,478 ตัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศ อาทิ แคนาดา สเปน นิวซีแลนด์ เม็กซิโก เป็นต้น

อีกหนึ่งปัญหารุนแรงที่ไม่น้อยไปกว่ากัน “ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste)” กากขยะที่มาจากผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีความรุนแรงไม่น้อยไปกว่ากัน ซึ่งตลอด5 ปีที่ผ่านมา เมืองไทยมีแนวโน้มการนำเข้าสูงขึ้น รวมทั้งหมด 104,660 ตัน

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติเป็นปัญหาใหญ่ เส้นทางขยะเหล่านี้หลังจากลักลอบนำเข้า จะกระจายวัตถุดิบเพื่อนำไปคัดแยกหรือรีไซเคิล แต่สุดท้ายลอบทิ้งหรือฝังกลบแบบไม่ถูกวิธี ขยะอิเล็กทรอนิกส์ย่อยสลายยากและขั้นตอนการกำจัดก่อปัญหาซ้ำเติมทำลายสิ่งแวดล้อม

กฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร ระบุว่าจากเดิมจีนเป็นประเทศที่นำเข้าเศษขยะรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ (พิกัด 84 และ 85 ที่มีการกำหนดรหัสสถิติเป็น 800 และ 899) และเศษพลาสติก (พิกัด 3915) ต่อมาจีนเริ่มมีนโยบายในการห้ามการนำเข้าเศษขยะหลายชนิด ประกอบกับผลการประชุมสนธิสัญญาบาร์เซล (Basel Convention) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีมติให้เพิ่มความเข้มงวดของชนิดขยะที่สามารถนำเข้าส่งออกระหว่างกันได้ รวมทั้ง ต้องได้รับความยินยอมในการนำเข้าจากประเทศปลายทางด้วย

ส่งผลให้ประเทศอุตสาหกรรม เช่น ประเทศญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป เปลี่ยนจุดหมายการส่งออกเศษขยะมายังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ซึ่งทำให้มีการนำเข้าเศษขยะมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มมีมาตรการตอบโต้การนำเข้าเศษขยะ โดยเฉพาะเศษพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ห้ามหรือลดการนำเข้าเศษพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีโยบายลดโควตาการนำเข้าของเศษพลาสติกจากหลายแสนตัน เหลือเพียง 70,000 ตัน จากข้อมูลสถิติการนำเข้าของขยะอิเล็กทรอนิกส์และการนำเข้าเศษพลาสติก พบว่า ปี 2562 เริ่มมีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขยะข้ามพรมแดนยังไหลทะลักเข้าประเทศไทย เป็นผลพวงมาจากนโยบายรัฐและระบบราชการ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าการจัดการขยะเหล่านี้เป็นปัญหาที่เรื้อรัง เพราะระบบกระบวนการอนุญาตและการตรวจสอบไม่เข้มแข็ง ปัญหาคืออำนาจรวมศูนย์อยู่ที่บางหน่วยงาน หลักๆ ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ จะพบว่ามีการคานอำนาจกันโดยระบบควบคุมมลพิษต้องแยกอยู่กับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ทว่า กรมโรงงานฯ กำลังสวมหมวก 2 ใบ ทั้งส่งเสริมและกำกับ

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 ยังลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือ ร.ง.4 ยิ่งเปิดช่องให้มีโรงงานรีไซเคิลเยอะขึ้น หรือสามารถขยายกิจการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

ขณะเดียวกันก็พบข้อมูลเชื่อมโยงให้เห็นถึงการขยายตัวของโรงงานประเภทคัดแยก ฝังกลบ และรีไซเคิล ประเภท 105 และ 106 ในหลายจังหวัด ทั้งที่ เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม และพื้นที่ชุมชนทั่วไป ซึ่งประเทศไทยมีการขยายตัวของโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลเกี่ยวกับพลาสติกประมาณ6,000 แห่ง ซึ่งอยู่ใน จ.สมุทรสาคร มากที่สุด กว่า 1,000 แห่ง รองลงมาคือ จ.สมุทรปราการ กว่า 800 แห่ง อย่างไรก็ตาม เฉพาะพื้นที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีโรงงานประเภทรีไซเคิล กระจุกตัวถึง 30 โรง

อย่างไรก็ดี วงจรธุรกิจเกี่ยวกับขยะตั้งแต่การรับซื้อขยะหรือของเก่า การคัดแยกประเภทขยะ การย่อยหรือบดขยะ ตลอดจนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างเม็ดเงินสะพัดแสนล้าน อีกทั้ง ธุรกิจรีไซเคิลมีแนวโน้มขยายตัวสอดรับกับปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2562 ระบุว่ามีธุรกิจรีไซเคิลทั่วประเทศ 3,102 ราย แบ่งเป็นการดำเนินกิจการโดยคนไทย มูลค่า 20,522 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.37 และการดำเนินกิจการโดยต่างชาติ มูลค่า 4,393 ล้านบาท ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน เป็นต้น

หากย้อนดูผลประกอบการของธุรกิจรีไซเคิลรายได้รวมกว่าแสนล้านต่อปี ปี 2559 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2558 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 116,463 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 8.2 มีกำไรสุทธิ 515 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้านำเข้าขยะเป็นล่ำเป็นสัน เจตนานำเข้ามารีไซเคิล รวมทั้งประกอบขึ้นใหม่ เพื่อนำไปขายต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ขบวนการรีไซเคิลไม่สามารถกำจัดวัสดุบางอย่างได้

ดร.พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ให้คำปรึกษาภาคอุตสาหกรรม เปิดเผยข้อมูลว่าจากการตรวจสอบโรงงานขจัดขยะจำนวนไม่น้อย อยู่ในเกณฑ์ไร้ประสิทธิภาพ บางแห่งพบเพียงเตาเผาปูนและกระทะใบใหญ่สำหรับใช้หลอมขยะกลางป่า ทั้งๆ ที่มีใบอนุญาตเปิดโรงงาน ร.ง.4

กล่าวคือ มีเพียงไม่กี่โรงงานเท่านั้นที่มีเทคโนโลยีพร้อมจัดการขยะได้อย่างเหมาะสม

สถานการณ์ขยะข้ามพรมแดนทวีความรุนแรง หากรัฐบาลเพียงออกนโนบายกำกับควบคุม แต่ไม่ดำเนินการอย่างเข้มงวด อีกไม่กี่ปีข้างหน้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” และ “ขยะพลาสติก” หลายล้านตันจากทั่วโลกย่อมไหลบ่าล้นประเทศไทยอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น