xs
xsm
sm
md
lg

หยุดอากาศพิษ!“กรีนพีซ”แนะ 3 มาตรการแก้ปัญหา ร้องผู้นำอาเซียนเร่งยุติมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรีนพีซร่วมมือองค์กรภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ซึ่งประเทศไทยเป็นประธานและเจ้าภาพในระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน2562 เร่งแก้ปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนโดยด่วน ย้ำธุรกิจเกษตร-อุตสาหกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อหยุดหายนะภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบมหาศาลในวงกว้างต่อผู้คนและเศรษฐกิจของภูมิภาค

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภาคประชาสังคม ประกอบด้วย ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักทนายความด้านสิ่งแวดล้อม เจีย เยา มาเลเซียและโครงการวิจัยด้านพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และ เรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนดำเนินการตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution - AATHP) ที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายในปี 2559 และบังคับใช้กฎหมายที่เอาผิดบริษัทผู้รับผิดชอบต่อการก่อเกิดไฟ โดยเฉพาะสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง สิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมถึงฟิลิปินส์และไทย

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของอินโดนีเซียประกาศสถานการณ์ไฟป่าในอินโดนีเซียปี 2562 ว่าไฟได้เผาไหม้พื้นที่ป่าพรุและผืนดินกว่า 5,360,975 ไร่ (857,756 เฮกเตอร์) ระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายน พื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึง 12 เท่า

แม้จะเร็วเกินไปที่จะระบุว่า สถานการณ์มลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนในปี 2562 จะรุนแรงกว่าระดับอันตรายของปี 2558 หรือไม่ แต่เฉพาะในมาเลเซียประเทศเดียวนับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาของปีนี้ มีการเพิ่มขึ้นของโรคที่เกี่ยวข้องกับตาและทางเดินหายใจถึงร้อยละ 30-40 และในช่วงระยะเวลาเดียวกัน อินโดนีเซียประกาศว่า ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบราว 919,000 คน ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่อ่อนไหวอย่างเด็กและผู้สูงอายุ มีอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจ

๐ แนะ 3 มาตรการแก้ปัญหา

ราตรี กุสุโมฮาร์โตโน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ อินโดนีเซีย กล่าวว่า“วิกฤตมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนเป็นประเด็นระดับภูมิภาคที่ควรอยู่ในวาระสำคัญและเร่งด่วนของการประชุมสุดยอดอาเซียนตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่หมอกควันกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แต่ผู้คนหลายล้านคนยังคงได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจากการเผาไหม้ของไฟป่า ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่เพาะปลูกสำหรับอุตสาหกรรมกระดาษ ภาคธุรกิจยังคงได้กำไร ส่วนพวกเรากลับได้รับมลพิษ”

จากการศึกษาของกรีนพีซ อินโดนีเซีย บริษัทในมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นเจ้าของพื้นที่อุตสาหกรรมปลูกไม้เยื่อกระดาษที่ถูกเผาและถูกตัด ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดน แต่ไม่มีมาตรการทางกฎหมายต่อบริษัทเหล่านี้ นอกเหนือจากการดำเนินการให้เป็นไปตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนแล้ว กรีนพีซเห็นว่าอาเซียนต้อง 1)จัดตั้งคณะทำงานที่รับรองถึงความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลแผนที่และขอบเขตของพื้นที่สัมปทานในการระบุว่าบริษัทหรือกลุ่มบริษัทใดที่มีภาระรับผิดต่อการเกิดไฟ 2) บังคับใช้กฏหมายที่เหมาะสม และ 3) ดำเนินการทางกฎหมายทั้งกับบริษัทในเครือหรือกลุ่มบริษัทที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามแดน

คิว เจีย เยา นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมจากมาเลเซีย กล่าวว่า“ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดนปี 2545 เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ภูมิภาคอาเซียนจะปลอดหมอกควันหากเราสามารถตรวจสอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไร้ความรับผิดชอบ เราต้องสร้างระบบกฎหมายที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคที่ผลักดันให้รัฐบาลแต่ละประเทศให้ความสำคัญต่อประชาชนและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบให้บริษัทมีความโปร่งใสและมีภาระรับผิดต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น นี่คือหัวใจหลักของความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนปี 2545 ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม แต่จะช่วยขจัดอุตสาหกรรมที่ไม่มีความรับผิดชอบ และช่วยให้อุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนอย่างขันแข็งในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน”

๐ การลงทุนภาคเกษตรไม่สนใจกฎระเบียบ

นอกจากมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดนจากอินโดนีเซียแล้ว ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังเผชิญกับมลพิษทางอากาศจากหมอกควันจากการเผาไหม้พืชผลทางการเกษตรเพื่อการผลิตข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของข้าวโพดเพื่ออาหารสัตว์ ได้กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายป่าและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในระดับภูมิภาคในที่สุด

แม้ว่าขณะนี้จะมีแผนที่นำทาง(Roadmap) อาเซียนปลอดหมอกควันข้ามพรมแดนภายในปี 2563 แต่กระบวนการภายใต้แผนที่นำทางและการนำไปปฏิบัติใช้ยังคงมีข้อกังขา

แดเนียล เฮย์วาร์ด ผู้ประสานงานโครงการวิจัยด้านพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “การเจรจาหว่านล้อมของบริษัทที่มีอิทธิพลเหนือคณะกรรมการชุดต่างๆ ของรัฐบาล ทำให้นโยบายการลงทุนภาคเกษตรกรรมไม่สนใจใยดีต่อกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน ผลคือ มลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดน ดังนั้น เราจะคาดหวังให้เกษตรกรหยุดเผาพื้นที่เพาะปลูก แล้วทำเกษตรแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ถ้าหากพวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอ หรือสัญญาที่เป็นธรรมจากบริษัทเกษตรอุตสาหกรรม”

การวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) ที่ติดตั้งบนดาวเทียม Terra and Aqua ของนาซาในปี 2562 โดยกรีนพีซประเทศไทย [5] พบว่าการเพาะปลูกข้าวโพดครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,646,620 ไร่ ในภาคเหนือของประเทศไทย และ 7,524,550 ไร่ในรัฐฉานของเมียนมา ค้นพบ 3 ข้อมูลสำคัญคือ

1.ในปี 2562 นี้ พบพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้(burn scar) 98,930 ไร่ และจุดความร้อน(hotspot) 3,992 จุดในภาคเหนือตอนบนของไทย ส่วนในรัฐฉานของเมียนมาพบพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้(burn scar) 137,100 ไร่ และจุดความร้อน(hotspot) 8,209 จุด
2.ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 ถึง พฤษภาคม 2562 มีจุดความร้อน 6,879 จุด ภายในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในภาคเหนือตอนบนของไทย
3.ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 ถึง พฤษภาคม 2562 มีจุดความร้อน 14,828 จุด ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในรัฐฉานของเมียนมา

จากการศึกษานี้ พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่รัฐฉานของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลา 6 เดือน พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่น้อยที่สุดในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งมีพื้นที่ 4,006.60 ตารางกิโลเมตร ส่วนเดือนพฤษภาคม 2562 การเพาะปลูกข้าวโพดกินพื้นที่กว่า 12,069.33 ในขณะที่ในภาคเหนือของประเทศไทย พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดครอบคลุมมากที่สุด 5,836.81 ตารางกิโลเมตรในเดือนเมษายน 2562 โดยที่พื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถระบุได้เลยว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เกิดไฟป่าและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากหมอกควัน

รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกูล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change Data Center: CCDC มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาข้ามพรมแดนที่ต้องการการจัดการในระดับภูมิภาค เพราะสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในอากาศที่ดีอากาศ เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตน ป้องกันตนเอง ครอบครัว และคนที่รัก ได้ตามสถานการณ์จริง ณ เวลานั้นๆ ซึ่งสิทธิในการรับรู้ข้อมูลนี้เป็นสิทธิที่ประชาชนพึงมี นอกเหนือจากนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาในระดับอาเซียน”


กำลังโหลดความคิดเห็น