"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
บทบาทและอิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ต่อการเลือกตั้งปรากฎชัดเจนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อพ.ศ. ๒๕๕๙ ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ พลิกสถานการณ์จากการมีคะแนนเป็นรอง กลับเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างเหนือความคาดหมาย
ผู้คนเกือบทั้งหมดที่มีสิทธิเลือกตั้งในสังคมไทยมีโทรศัพท์มือถือ และมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและไลน์ ทำให้เครือข่ายการสื่อสารของบุคคลขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางและข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากกว่าอดีตหลายเท่าตัว ดังนั้นเมื่อข้อมูลข่าวสารถูกสร้างขึ้นมา ไม่ว่าเป็นข่าวสารที่มีรากฐานจากข้อเท็จจริงหรือข่าวสารปลอมก็ตาม ประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็มีโอกาสสูงที่ได้รับและเห็นข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น
ลักษณะของข้อมูลข่าวสารที่มักแพร่กระจายรวดเร็วและผู้คนนิยมเสพกันมากคือ เรื่องเชิงละคร และเรื่องราวที่อื้อฉาวของบุคคลต่างๆโดยเฉพาะบุคคลสาธารณะ ในการหาเสียงเลือกตั้งนั้นการสร้างข่าวสารที่มีแนวเชิงละคร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่มีองค์ประกอบเชิงพิธีกรรมและสัญลักษณ์ มีการใช้ภาษา คำพูด ภาพ เสียง สิ่งประดิษฐ์ และการกระทำในเชิงปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึก ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและทีมงานคิดค้นขึ้นมาเพื่อดึงดูดความสนใจและความตื่นเต้นทางจิตแก่ผู้รับข้อมูลข่าวสาร มากกว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระของนโยบายที่ใช้ในการบริหารประเทศ
บทบาทหลักของเรื่องเชิงละครในการหาเสียงคือ คือการสร้างความนิยมต่อตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ยิ่งสามารถเสกสรรผู้สมัครหรือพรรคการเมืองให้มีความเป็น “พระเอก” หรือ “นางเอก” มากเพียงไร ก็ยิ่งทำให้โอกาสที่พวกเขาเหล่านั้นได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ความเป็นพระเอกหรือนางเอกในสังคมไทยนั้นมีความหลากหลายอยู่พอสมควรในยุคปัจจุบัน มีทั้งที่เป็นพระเอกหรือนางเอกแบบวีรบุรุษหรือวีรสตรีที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นปัญหาและความทุกข์ยาก หรือเป็นพระเอกแบบแนวนักเลง กล้าสู้ กล้าชนผู้มีอำนาจรัฐ หรือเป็นพระเอกที่ถูกผู้มีอำนาจรังแกเอาเปรียบ หรือเป็นนางเอกเจ้าน้ำตา เพื่อเรียกคะแนนสงสาร ซึ่งก็พอจะได้คะแนนอยู่บ้าง แต่สำหรับคนที่ทำตัวเป็นพระเอกเจ้าน้ำตา ผมคิดว่าคนในสังคมไทยไม่ค่อยนิยมครับ เพราะคนจำนวนมากยังคิดว่า สำหรับลูกผู้ชายนั้น “การยอมกลืนเลือดตนเอง ดีกว่าการยอมหลั่งน้ำตา”
เมื่อแนวละครและภาพลักษณ์แบบใดถูกสร้างขึ้นมาและเผยแพร่ออกไปแล้ว ผู้คนก็มีแนวโน้มยึดติดกับภาพลักษณ์เหล่านั้น และมีแนวโน้มที่จัดประเภทผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นๆอย่างใดอย่างหนึ่ง กระบวนการจัดประเภท (categorization) เกิดขึ้นโดย ผู้รับข้อมูลข่าวสารจะนำภาพลักษณ์และองค์ประกอบอื่นๆของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่พวกเขารับรู้ มาเปรียบเทียบกับสภาวะชีวิตของตนเอง จากนั้นก็ตัดสินว่า นักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นเป็นประเภทเดียว หรือพวกเดียวกับเขาหรือไม่ โดยใช้กรอบความเชื่อเรื่องความสามารถในการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ความรู้สึก และ/หรือผลประโยชน์ทางวัตถุแก่พวกเขาได้มากน้อยเพียงใด
หากผู้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองเชื่อว่า นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดมีความเป็น “ประเภทหรือพวกเดียว” กับเขาแล้ว ก็จะผูกติดตนเองเข้ากับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้น และมีแนวโน้มสนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยตีความว่าชัยชนะของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนคือชัยชนะของตนเอง
ในอีกด้านหนึ่ง เรื่องราวที่มักเกิดขึ้นในการหาเสียงเลือกตั้ง และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของผู้เลือกตั้งคือเรื่องอื้อฉาว ด้วยความที่ผู้คนจำนวนมากสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมส่วนตัวของคนที่มีชื่อเสียงในสังคม ดังนั้นเมื่อมีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นแก่บุคคลที่มีชื่อเสียง การแพร่กระจายของข่าวสารก็เป็นไปอย่างเร็วดุจไฟลามทุ่ง เรื่องที่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวคือ เรื่องที่มีการกระทำละเมิดศีลธรรม เรื่องที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมตามค่านิยมหรือบรรทัดฐานของสังคม และ/หรือเรื่องการละเมิดกฎหมาย เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น การเกี่ยวพันกับการค้าหรือเสพยาเสพติด การฉ้อโกง หรือการใช้อำนาจรังแก และเอารัดเอาเปรียบประชาชน
บทบาทของเรื่องอื้อฉาวคือ การสร้างความเสื่อมถอยต่อชื่อเสียงและคะแนนนิยมของบุคคลหรือพรรคการเมืองที่ตกอยู่ในกระแสความอื้อฉาว การหาเสียงในลักษณะนี้เป็นการหาเสียงในเชิงลบ โดยใช้ “สำนึกทางศีลธรรม” และ “ความหวาดกลัว” ของประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายคู่แข่ง เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความอื้อฉาวของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดบ่อยครั้งเข้า ไม่ว่าจะมีรากฐานจากข้อเท็จจริงหรือเป็นการใส่ร้ายป้ายสีก็ตาม สำนึกเชิงศีลธรรม และ/หรือความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นภายในจิตของประชาชนก็จะแสดงอิทธิพลออกมา ซึ่งทำให้บุคคลเหล่านั้นเกิดความรู้สึกอยากแยกตัวออกห่างจากนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีความอื้อฉาว และกลุ่มคนบางส่วนอาจพัฒนาความรู้สึกของพวกเขาไปสู่ระดับความรังเกียจในที่สุด
ดังนั้นนักการเมืองคนใดหรือกลุ่มใดที่ตกอยู่ในกระแสของความอื้อฉาว โดยประชาชนสงสัยว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม หรือประชาชนเกิดความกลัวว่า หากบุคคลเหล่านั้นมีอำนาจรัฐแล้ว จะสร้างความเสียหายแก่สังคม ประชาชนที่มีความรู้สึกและความคิดเช่นนี้ก็ย่อมไม่ลงคะแนนแก่นักการเมืองเหล่านั้น หรือบางคนอาจจะเข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านไม่ให้นักการเมืองเหล่านั้นมีโอกาสครอบครองอำนาจรัฐได้
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เหมือนกันว่าในบางกรณี ที่ภายหลังประชาชนอาจรับรู้ว่า เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับนักการเมืองบางคนหรือพรรคการเมืองบางพรรคที่แพร่กระจายอยู่ในสังคมไม่เป็นความจริง แต่เมื่อความรู้สึกปริแยกออกแล้ว ก็ยากที่จะสมานสนิทดุจเดิมได้ ตะกอนแห่งความระแวงก็ยังคงตกค้างอยู่ภายในจิตใจ และมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยทีเดียว
แม้ว่าในอดีตการหาเสียงแบบโจมตีโดยใช้เรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นอยู่เสมอ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของผู้เลือกตั้งบางระดับ ซึ่งมีขอบเขตไม่กว้างไกลเท่าไรนัก ทว่าในปัจจุบันและอนาคต ด้วยโครงสร้างการสื่อสารทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จะทำให้เรื่องอื้อฉาวแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง จนยากที่ผู้ตกอยู่ในกระแสความอื้อฉาวสามารถตอบโต้และแก้ตัวได้ทันท่วงทีและครอบคลุมในทุกพื้นที่ ดังนั้นเรื่องอื้อฉาวจะกลายเป็นเรื่องที่สามารถสร้างอิทธิพลอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกและการตัดสินใจของผู้เลือกตั้ง
การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาเสียงเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้แก่ตนเอง และบั่นทอนทำลายคะแนนเสียงของคู่แข่งจะกลายเป็นวิธีการหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเลือกตั้งไทยในอนาคต พื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์จะกลายเป็นพื้นหลัก ที่ต่างฝ่ายต่างพยายามช่วงชิงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆในปัจจุบันจึงพยายามพัฒนาทักษะการสื่อสารสังคมออนไลน์อย่างขนานใหญ่ ส่วนใครจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไรนั้น นอกจากทักษะด้านเทคนิคของการสื่อสารแล้ว ความสามารถในการวิเคราะห์ความคิด ความเชื่อทางสังคมและการเมืองของผู้เลือกตั้ง รวมทั้งพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารและการแพร่กระจายข่าวสารทางการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
ผมคิดว่า การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการสื่อสารของสังคมในโลกยุคใหม่ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในอนาคต การเปลี่ยนแปลงที่เหนือความคาดหมายของคนจำนวนมากในสังคมอาจเกิดขึ้นมาก็ได้ กล่าวได้ว่า เมื่อประตูแห่งโอกาสได้เปิดกว้างขึ้นกว่าเดิม ความเป็นไปได้ทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบก็จะเกิดตามมา
(ติดตามตอนต่อไปสัปดาห์หน้า)