xs
xsm
sm
md
lg

สารภาพสิ้นชัดเจนเวียดนามส่งสายลับตามนายใหญ่หนีคดีลากคอจากเยอรมนีกลับไปขึ้นศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายของนายจีง ซวน แถ่ง อดีตผู้บริหารรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของเวียดนาม ที่ทางการเยอรมนีกล่าวหาว่าถูกลักพาตัวไปจากกรุงเบอร์ลินกลางวันแสกๆ ขณะออกอากาศทางช่อง VTV ของเวียดนามเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2560. -- Reuters/Kham.

รอยเตอร์ - ชายชาวเวียดนามยอมรับว่าเขาได้ช่วยสายลับของประเทศลักพาตัวอดีตผู้บริหารด้านน้ำมันกลางวันแสกๆ จากถนนสายหนึ่งในกรุงเบอร์ลินและลอบพาตัวกลับเวียดนาม ซึ่งนักธุรกิจคนดังกล่าวถูกจำคุกตลอดชีวิตจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

คำสารภาพต่อศาลเยอรมนีนี้ ดูเหมือนเป็นครั้งแรกที่คนที่เกี่ยวข้องได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเจ้าหน้าที่เวียดนามอยู่เบื้องหลังการลักพาตัวเมื่อปีที่แล้ว เหตุการณ์ที่สร้างความไม่พอใจให้กับทางการเยอรมนี

ชายที่ระบุว่าชื่อ ลอง เอ็น เอช (Long N.H.) อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสายลับและช่วยลักพาตัวนายจีง ซวน แถ่ง อดีตผู้บริหารบริษัทปิโตรเวียดนามในเดือนก.ค. 2560 โดยโฆษกหญิงระบุว่า การรับสารภาพของลอง เอ็น เอช ต่อศาลกรุงเบอร์ลินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง

“จากการสารภาพ เขาระบุว่าเขาทราบเรื่องการลักพาตัวและมีส่วนในเรื่องนี้ และระบุว่าเขาเคยทำงานให้กับหน่วยสืบราชการลับของเวียดนาม” โฆษกหญิง ระบุ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของคดีนี้คาดว่าจะมีขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งหากชายผู้นี้ถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริง เขาจะเผชิญกับโทษจำคุกระหว่าง 3 ปี 6 เดือน ถึง 5 ปี เทียบกับการจำคุกนาน 7 ปี 6 เดือน หากเขาไม่รับสารภาพและทำข้อตกลง

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามไม่ได้ตอบรับคำขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

อัยการกล่าวว่า ลอง เอ็น เอช ที่ยังถือสัญชาติสาธารณรัฐเช็กด้วยนั้น ได้เช่ารถ 2 คัน โดยคันหนึ่งใช้สังเกตการณ์เหยื่อและอีกคันหนึ่งใช้ลักพาตัว โดยลอง เอ็น เอช ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ขับรถทั้งสองคันกลับไปที่กรุงปราก ซึ่งเป็นสถานที่เช่า

คดีของจีง ซวน แถ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่าก่อให้เกิดความสูญเสียและบริหารจัดการผิดพลาดในบริษัทปิโตรเวียดนาม คอนสตรัคชั่น เจเอสซี เป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลเวียดนาม

จีง ซวน แถ่ง กำลังแสวงหาการลี้ภัยในเยอรมนี และการหายตัวไปของเขานั้นทำให้ทางการเยอรมนีกล่าวหาว่าเวียดนามละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ.


กำลังโหลดความคิดเห็น