ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วิวาทะราคาพลังงานประเทศไทยแพงเพื่อใครยังคุกรุ่นไม่เลิก แม้ว่าราคาน้ำมันโลกจะปักหัวดิ่งลงเหมือนกรรมการเคาะระฆังช่วยแล้วก็ตาม นั่นเพราะคำถามคาใจสาธารณชนยังไม่มีคำตอบที่น่าพึงพอใจจากรัฐบาล แถมมีรายการเติมเชื้อไฟจากทุนพลังงานใหญ่ที่เตรียมงัดกฎหมายสยบต้นตอข่าวเท็จที่แชร์กันว่อนโลกโซเชียล
ไม่บ่อยนักที่นายใหญ่ ปตท. จะออกมาชี้แจงประเด็นร้อนเรื่องราคาพลังงานที่รอบนี้ลุกลามออกไปอย่างรวดเร็ว ด้วยว่าโลกออนไลน์ทุกอย่างไปไวยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง นับตั้งแต่เรื่องการกำหนดราคาน้ำมันตามตลาดโลก การกำหนดราคาขายหน้าปั๊ม ค่าการกลั่นน้ำมัน รวมทั้งค่าการตลาด
ขณะที่ทุนใหญ่พลังงานทำศึกกับนักเลงคีย์บอร์ดหวังสยบกระแสวิพากษ์วิจารณ์ให้ได้ ฟากฝั่งตัวแทนภาคประชาชนที่ติดตามประเด็นพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง วางหมัดยิงตรงไปยัง “รัฐบาล” ผู้ออกกฎกติกา ให้หันกลับมาทบทวนโครงสร้างการกำหนดราคาน้ำมันและก๊าซฯ เสียใหม่ ทั้งยังตั้งคำถาม เหตุใด เอทานอลจึงไม่อ้างอิงราคาตลาดโลกเหมือนน้ำมันและก๊าซหุงต้ม และทักท้วงถึงการล้วงเอาเงินกองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ มาอุดหนุน เกิดการบิดเบือนกลไกราคา ทำให้การแก้ปัญหายุ่งเหมือนลิงแก้แหหนักข้อขึ้นไปอีก
คำตอบและปฏิกิริยา ปตท. ต้องฟ้องสยบกระแส
จากกระแสข่าวข่าวโจมตีการดำเนินงานของ บมจ.ปตท. ทั้งเรื่องราคาน้ำมันและราคาก๊าซฯที่ปรับขึ้น ล่าสุด นางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ อันเป็นการสร้างความเข้าใจผิด เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ จงใจใส่ร้าย ปตท. และผู้บริหารของ ปตท. เพื่อทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและสร้างความรู้สึกเกลียดชังนั้น ทางสำนักกฎหมาย ปตท.กำลังเร่งรวบรวมหลักฐานของผู้มีเจตนาไม่สุจริตในการสร้างข้อมูลเท็จและเผยแพร่ออกไปทางช่องทางต่างๆ ดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ บมจ.ปตท.จะงัดกฎหมายมาเล่นงานผู้สร้างข้อมูลเท็จและเผยแพร่ทำให้ ปตท. เสียหายนั้น นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ตอบข้อกังขาประเด็นร้อนในสื่อโซเซียล โดยสรุปความได้ ดังนี้
หนึ่ง การกำหนดราคาน้ำมันตามตลาดโลก นายเทวินทร์ อธิบายว่า องค์ประกอบการกำหนดราคาน้ำมัน มีต้นทุนราคาน้ำมันดิบ โรงกลั่น ภาษี ค่าการตลาด และเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน โดยการปรับราคาขายปลีกน้ำมันของ ปตท. ในแต่ละครั้ง ปรับตามต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งราคาน้ำมันไทยอิงตลาดสิงคโปร์ที่อิงกับราคาน้ำมันดิบดูไบ และราคาน้ำมันไทยแพงกว่าสิงคโปร์เพราะค่าขนส่งน้ำมันมายังไทย ราคาน้ำมันดูไบที่เปลี่ยนแปลงทุก 1 ดอลลาร์ ส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศ 24 สตางค์ต่อลิตร ปตท. ไม่ได้ปรับตามราคาขึ้นลงทุกวันแต่จะดูแนวโน้มภาพรวมก่อนปรับราคาขึ้นหรือลดลง
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนนี้ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นแล้ว 20% ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมาย แม้น้ำมันจะเริ่มเป็นขาลงและไม่เห็นปัจจัยทางเทคนิคที่จะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นอีก แต่ ปตท. กำลังพิจารณาทบทวนปรับประมาณการจากเดิมที่คาดไว้ 55-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 60-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และติดตามการเมืองระหว่างประเทศซึ่งเป็นปัจจัยที่คาดเดายากและการเก็งกำไรจากกองทุนต่างๆ ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนในระยะสั้นได้
สอง ราคาน้ำมัน ปตท.ขายต่ำกว่ายี่ห้ออื่น โดย ซีอีโอ ปตท. อธิบายว่า ข้อมูลในปี 2560 ทั้ง 365 วัน ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น ปตท. มีการปรับราคาน้ำมันขึ้น 21 ครั้ง ปรับลดลง 21 ครั้ง แต่ระดับราคาจะไม่เท่ากันเพราะราคาน้ำมันเป็นขาขึ้น จากการปรับราคาน้ำมันทั้ง 42 ครั้ง ปตท. ขายน้ำมันที่หน้าปั๊มราคาต่ำกว่าปั๊มต่างชาติ 20 วัน จาก 365 วัน ย้อนกลับไปดูในช่วงสั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. - 28 พ.ค. 2561 ปตท. ปรับขึ้นราคาน้ำมัน 6 ครั้ง เพราะเป็นช่วงราคาน้ำมันปรับขึ้น 2 เดือนนี้ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น 20% และปรับราคาขายปลีกน้ำมันลง 1 ครั้งในวันเสาร์ (26 พ.ค.) ที่ผ่านมา จากทั้งหมด 7 ครั้ง ปตท. ขายน้ำมันราคาที่ต่ำกว่าหน้าปั๊มต่างชาติ 9 วัน ภายในช่วงเวลา 50 วัน เป็นการบริหารของบริษัทในปัจจัยที่ควบคุมได้ ยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือ ราคาน้ำมันตามกลไกตลาดโลก ภาษี และเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน
สาม ค่าการกลั่น ค่าการตลาด นายเทวินทร์ กล่าวว่าเป็นสิ่งสะท้อนต่อสิ่งที่ผู้ประกอบการลงทุนไป โรงงกลั่นในประเทศไทยมี 6 โรงใหญ่ มีการบริหารเป็นอิสระจากกัน และใน 6 โรงนี้ ปตท. ถือหุ้นในโรงกลั่นเพียง 3 โรง และไม่ใช่ลงในสัดส่วนที่เป็นผู้บริหารเอง โรงกลั่นก็จะมีค่าการกลั่นที่ตอบสนองเงินลงทุน เงินกู้ และค่าการกลั่นเป็นไปตามกลไกโรงกลั่นสิงคโปร์ ซึ่งเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในภูมิภาค เป็นผู้กำหนด ดังนั้น ราคาที่ชี้แจงมาทั้งหมดสะท้อนค่าการกลั่นที่สิงคโปร์ เมื่อคิดออกมาจะได้ค่าการกลั่นอยู่ที่ 1 บาทกว่าไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร
ส่วนค่าการตลาดเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ 1.60-1.80 บาทต่อลิตร ซึ่งค่าการตลาดดีเซลจะต่ำกว่าโดยอยู่ที่ 1.20 บาทต่อลิตร ค่าการตลาดเบนซินจะสูงกว่าเล็กน้อย อันนี้จะสะท้อนค่าลงทุน เงินลงทุนซื้อของรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการทั่วไปและแบ่งกันระหว่าง ปตท. และผู้ค้าส่วนหนึ่ง และผู้ลงทุนสร้างปั๊มส่วนหนึ่ง ปกติเวลาราคาน้ำมันสูงขึ้นค่าการตลาดจะปรับลดลงเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค
สี่ ประเด็นกำไรที่ว่าสูงถึง 130,000 ล้านบาทในปี 2560 ว่า หากดูเพียงตัวเลขเหมือนจะสูงจริง แต่หากดูอัตรากำไรต่อยอดขายที่มี 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.7% เท่านั้น และเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset : RoA) จากสินทรัพย์ของ ปตท. ที่มี 2.3 ล้านล้านบาท และกำไร 130,000 ล้านบาท จะได้ ROA 6% โดยกำไรส่วนใหญ่เป็นส่วนแบ่งจากเงินลงทุนในกิจการอื่น
จี้รื้อสูตร “ราคาน้ำมันอิงสิงคโปร์” - ค่าการตลาดสูง
เมื่อคำอธิบายของบิ๊กบอส ปตท. มีฐานอิงตามนโยบายและกฎกติกาที่รัฐบาลกำหนด ความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาพลังงานแพงจึงเป็นปัญหาเชิงนโยบายซึ่งต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ เรื่องนี้ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต กระทุ้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กลับไปแก้ไขข้อกำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันขายน้ำมันให้คนไทยในราคาส่งออกเพราะนั่นคือราคาตลาดที่แท้จริง แทนที่จะขายให้คนไทยในราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ ที่มีการคิดขนส่ง ค่าประกัน ค่าสูญเสียระหว่างทาง ทำให้ราคาแพงขึ้นประมาณลิตรละ 50 สต. - 1บาท ตกต่อปีประมาณ 3.6 หมื่นล้าน เรื่องนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำรายงานว่าให้ยกเลิกราคาที่อ้างอิงราคาน้ำมันนำเข้าจากสิงคโปร์ เพราะโรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่ในไทย มีปริมาณการกลั่นเพียงพอต่อการใช้ในประเทศจนเหลือส่งออกในปริมาณที่เยอะมาก
“.... ปัญหาคือเราขายคนไทยในราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป โดยเกิดตั้งแต่สมัยที่เรายังไม่มีโรงกลั่นเพียงพอ ... แต่หลังปี 2540 โรงกลั่นเราเยอะเลยส่งออก .... แต่เรายังให้โรงกลั่นขายให้คนไทยในราคานำเข้าจากสิงคโปร์ ....คิดค่าประกัน คิดค่าสูญเสียระหว่างขนส่งมาไทย ทั้งที่มาจากระยอง ศรีราชา หรือ กทม. เป็นต้นทุนสมมุติหมดเลย คนไทยเข้าใจผิดว่าเป็นราคาสิงคโปร์เพราะสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางที่จริงไม่ใช่ .... มันเป็นเรื่องถูกกฎหมายแต่รัฐกำหนดขึ้นตั้งแต่เราไม่มีโรงกลั่น .... รัฐต้องแก้ไขกฎระเบียบนี้ .... นายกรัฐมนตรีมีอำนาจโดยตรง เพราะเป็นประธาน กพช. (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) และดูแล กบง. (คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน) มีอำนาจลงไปจัดการเลยด้วยซ้ำไป....” ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุ
นอกจากนั้น รัฐบาลต้องไปดูค่าการตลาด ในอดีตบอกว่า 1- 1.50 บาทต่อลิตร อยู่ได้ ตอนนี้เกือบ 2 บาท น่าสนใจว่าค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นเกิดจากอะไร รัฐบาลควรจะดูราคาหน้าโรงกลั่นและค่าการตลาดว่าแก้ได้ไหม 2 จุดสำคัญนี้
ขณะที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกติกาธุรกิจน้ำมันเช่นกัน โดยกติกาที่ไม่เหมาะสมนั้นน่าจะมีอยู่ 2 จุดคือ หนึ่ง น้ำมันที่ค้นพบในไทยแล้วนำขึ้นมากลั่นในไทยเพื่อใช้ในประเทศ ไม่ควรอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์ น้ำมันส่วนนี้รัฐควรกำหนดเพดานราคาโดยดูต้นทุนภาคธุรกิจแล้วกำหนดอัตรากำไรที่เหมาะสม และ สอง น้ำมันที่นำเข้าจากต่างประเทศและกลั่นในไทยเพื่อใช้ในไทย รัฐได้กำหนดราคาเทียบกับหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ แล้วบวกค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากสิงคโปร์เข้ามายังไทยซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเทียม กติกานี้ควรจะต้องเปลี่ยนแปลง
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. และสมาชิกสภาปฏิรูป สายพลังงาน ระบุในทำนองเดียวกันว่า เมื่อโรงกลั่นสามารถกลั่นจนส่งออกได้แล้ว ค่าขนส่งเทียมจากสิงคโปร์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงที่ได้รับมานาน ควรจะยุติได้แล้ว ไม่ควรให้ประชาชนต้องแบกโรงกลั่นไว้บนบ่าจนตลอดไป ใช่หรือไม่ ประชาชนควรได้ใช้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในราคาส่งออก มิเช่นนั้นอารมณ์ของสังคมย่อมรู้สึกว่ารัฐบาลอุ้มแต่กลุ่มทุน ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อประชาชน
เรียกร้องเลิกกองทุนน้ำมัน-กองทุนอนุรักษ์พลังงาน
นอกจากสูตรน้ำมันอิงราคานำเข้าจากสิงคโปร์ฟันกำไรหวานๆ แล้ว ยังมีรายการอำพรางผ่านทาง “กองทุนน้ำมัน” อีกด้วย ประเด็นนี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. และสมาชิกสภาปฏิรูป สายพลังงาน ระบุว่า “กองทุนน้ำมันคือเครื่องมือกำบังกำไรแฝงของธุรกิจน้ำมัน !?!” เหตุกองทุนนี้ไม่มีกฎหมายรองรับ เก็บเงินประชาชนเท่าไหร่ก็ได้ ชดเชยน้ำมันอะไรในจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ ท่านรัฐมนตรีพลังงาน ดร.ศิริ จิระพงศ์พันธ์ ออกมาประกาศว่าจะใช้กองทุนน้ำมันที่มีเงินเหลืออยู่ 3 หมื่นล้านบาท มาชดเชยดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาท ท่านควรกลับไปดูว่าโครงสร้างราคาน้ำมัน มีค่าการตลาดและกำไรแอบแฝงอะไรบ้างที่ควรตัดออกไป ก่อนที่จะเอากองทุนน้ำมันที่เป็นเงินอีกกระเป๋าของประชาชนมาใช้อุดหนุนกำไรแฝงของกลุ่มธุรกิจน้ำมัน
น.ส.รสนา ยกกรณีการเอาเงินกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนน้ำมันเอทานอล ซึ่งแรกเริ่มนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนจากน้ำมันเอทานอลที่กลั่นจากพืชผลเกษตรนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่พอนำมาดำเนินการเป็นนโยบายของรัฐที่ถูกทุนครอบงำก็กลายพันธุ์ โดยเอทานอลที่ได้จากกากน้ำตาลและมันสำปะหลังทุกวันนี้ มีราคาแพงกว่าเบนซินล้วนๆ
ดูจากโครงสร้างราคาน้ำมันวันที่ 23 พ.ค. 2561 ราคาเนื้อน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 19.1971บาท เอทานอล ลิตร 23.59 บาท เมื่อนำเอทานอล จำนวน 85% มาเติมในเบนซินE85 จึงมีเนื้อน้ำมันแพงกว่าเบนซิน 95 ถึงลิตรละ 3.2947 บาท น้ำมันผสมเอทานอลมีราคาแพงกว่าน้ำมันเบนซินล้วนๆ หากปล่อยตามกลไกตลาดย่อมไม่มีใครซื้อ รัฐจึงกำหนดนโยบายด้วยการเก็บเงินคนใช้น้ำมันเอามาใส่กองทุนน้ำมัน แล้วเอามาชดเชยราคาน้ำมันผสมเอทานอล 2 ชนิด คือ E20 และ E85 เป็นการพรางตาว่าน้ำมันผสมเอทานอลมีราคาถูกกว่าน้ำมันทุกชนิด
การทำให้น้ำมันราคาถูกด้วยการล้วงกระเป๋าคนใช้น้ำมันประเภทหนึ่งมาชดเชยคนใช้น้ำมันอีกประเภทหนึ่งเข้าตำรา “เตี้ยอุ้มทุน” เพราะการเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยไม่ได้ชดเชยแค่ราคาเอทานอลที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ชดเชยไปถึงค่าการตลาดที่ตั้งไว้สูงลิบลิ่วด้วย ใช่หรือไม่
ลองมาดูค่าการตลาดของ E85 จะพบว่า มีค่าการตลาดสูงถึง 6.0035 บาทต่อลิตร E20 มีค่าการตลาดสูงถึงลิตรละ 3.0735 บาท เมื่อเอาราคาเอทานนอล ที่เพิ่มเข้ามารวมกับค่าการตลาดของ E85 จะเป็นจำนวนเงิน 9.2982 บาท และ E20 จะเป็นเงิน 4.5697 บาท เลยเอากองทุนน้ำมันมาชดเชย E85 ลิตรละ 9.35 บาท และ E20 ชดเชย 3 บาท
“...การชดเชยค่าการตลาดก็คือชดเชยกำไรของโรงกลั่นน้ำมันและปั๊มน้ำมันที่บวกเข้าไปในราคาน้ำมัน นี่คือชดเชยกำไรของธุรกิจน้ำมันที่ถูกทำให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง เป็นราคาที่ไม่ได้เกิดจากการแข่งขัน แต่เป็นราคาที่เกิดจากนโยบายรัฐที่เปิดทางให้กลุ่มทุนพลังงานผูกขาดหักคอประชาชนกำหนดราคาตามอำเภอใจ ใช่หรือไม่”
ขณะเดียวกัน นายธีระชัยยังชี้ให้เห็นปัญหาที่ภาคประชาชนต้องแบกภาระอีกอย่างหนึ่งจากการที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แต่ผลงานของกองทุนนี้เป็นที่น่าสงสัย และสมัยนี้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเพื่อให้ประชาชนขวนขวายอนุรักษ์พลังงานแล้ว จึงขอเสนอให้ยกเลิกกองทุนนี้ได้แล้ว
เอทานอล ทำไมไม่อิงตลาดโลกที่ราคาต่ำกว่า
น.ส.รสนา ยังตั้งคำถามเกี่ยวเนื่องด้วยว่า “เหตุใด เอทานอลจึงไม่อ้างอิงราคาตลาดโลกเหมือนน้ำมันและก๊าซหุงต้ม” ขณะที่ราคาน้ำมันอ้างอิงสิงคโปร์บวกค่าขนส่ง และราคาก๊าซหุงต้มใช้ราคาอ้างอิงราคานำเข้าจากซาอุดิอาระเบียทั้ง 100% แถมบวกค่าขนส่งจากซาอุฯ ทั้งที่จริงแล้วก๊าซหุงต้มผลิตได้ในอ่าวไทย 100% นำมาแยกเป็นก๊าซหุงต้มรวมกับส่วนของโรงกลั่นน้ำมันได้เพียงพอใช้ในประเทศถึง 99% ตามรายงานกระทรวงพลังงาน เมื่อเดือนมกราคม 2561 ที่ระบุว่า ปริมาณการผลิตก๊าซหุงต้มในประเทศได้ 535,827 ตัน ส่วนความต้องการใช้ในประเทศ 541,215 ตัน ซึ่งขาดไปเพียง 5,387 ตัน แต่เหตุใดเอทานอลจึงไม่อ้างอิงราคาตลาดโลก!?!
ความลับก็คือ ราคาเอทานอลในตลาดโลกมีราคาถูกกว่าราคาเอทานอลในประเทศไทยที่ตั้งราคาไว้ที่ ราคา 23.59บาท/ลิตร (23 พ.ค 2561) แต่ปัจจุบันราคาเอทานอลที่ชิคาโกอยู่ที่ ประมาณ 12.68 บาทต่อลิตร ($1.5/3.785 ลิตร) ราคาเอทานอลที่เซาเปาโล บราซิลอยู่ที่14.87 บาทต่อลิตร (14,867บาท/1,000ลิตร)
ในอดีตไทยเคยอ้างอิงเอทานอลจากบราซิลและบวกค่าขนส่ง 5 บาท ทั้งที่เอทานอลที่คนไทยใช้อยู่ในเวลานั้นผลิตในประเทศ 100% เช่นเดียวกับก๊าซหุงต้มและน้ำมัน หลังจากที่เอทานอลในต่างประเทศมีราคาถูกลงมาก จึงเปลี่ยนสูตรอ้างอิงราคาการนำเข้าจากบราซิล มาใช้ราคา “ที่แท้จริง” ในการผลิตเอทานอลภายในประเทศ ทำให้ราคาเอทานอลแพงกว่าน้ำมันเบนซินล้วนๆ ถึงลิตรละ 4.39 บาท (23 พ.ค 2561) การทำให้เอทานอลแพงกว่าน้ำมันเบนซินจึงเป็นกลไกการล้วงกระเป๋าประชาชน ใช่หรือไม่ และด้วยข้ออ้างว่าต้องส่งเสริมพลังงานสะอาด ต้องส่งเสริมเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังให้ได้ราคาดี ทั้งที่เอทานอลในเวลานี้ผลิตจากกากน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่และกากน้ำตาลมีต้นทุนวัตถุดิบต่ำกว่ามันสำปะหลังมาก แต่ก็คิดราคาเท่ากับเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลัง
เมื่อ “นายกฯลุงตู่” และ “ลุงป้อม” บอกให้ประชาชนยอมรับกลไกตลาด เรื่องราคาเอทานอล ท่านจะว่ายังไงที่ราคาเอทานอลในตลาดต่างประเทศปัจจุบันประมาณ 12- 14 บาท เท่านั้น ต่ำกว่าราคาในบ้านเราที่สูงถึง 23.59 บาท/ลิตร “... ท่านนายกฯ ควรสั่งการให้มีการชำระสะสางราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม โดยเริ่มจากการเข้าไปจัดการราคาเอทานอลให้เป็นราคาที่มีประสิทธิภาพเสียก่อน ไม่ให้มีการใช้ราคาเอทานอลมาเป็นเครื่องมือล้วงกระเป๋าประชาชนอีกต่อไป ท่านจะทำได้หรือไม่ !?!”
เลิกเล่นกลปั่นราคาก๊าซหุงต้มเกินจริง
หลังจากกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์การขึ้นราคาทั้งก๊าซและน้ำมันอย่างหนัก ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ออกมาแถลงว่า กบง.เตรียมลดราคาก๊าซหุงต้ม 32 บาทต่อถัง 15 กก. โดยมีผลวันจันทร์ที่ 28 พ.ค. 2561 ซึ่งมาตรการดังกล่าว มีคำถามจาก น.ส.รสนา ที่ขอให้กระทรวงพลังงานและกบง.ชี้แจง ก็คือ
1)การเปลี่ยนสูตรอ้างอิงราคานำเข้าก๊าซหุงต้มจากการอ้างอิงสัญญาระยะยาวรายเดือน มาเป็นการอ้างอิงราคาจรรายสัปดาห์แทนนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้นำเข้าก๊าซหุงต้มมาเอากำไรเกินควรจากประชาชน ใช่หรือไม่ หากกระทรวงพลังงานและกบง.จะแก้ตัวว่าผู้นำเข้าก๊าซหุงต้ม ซื้อในราคาตลาดจรรายสัปดาห์จริงๆ มิได้ซื้อด้วยราคาสัญญาระยะยาว ก็ขอให้นำใบส่งสินค้า (invoice ) ของผู้นำเข้าก๊าซหุงต้มมาแสดงต่อสังคม จะดีหรือไม่?
2)หลังจากปล่อยให้เอกชนผู้นำเข้าก๊าซขึ้นราคาเกินสมควรถึงถังละ 42 บาท จากสูตรอ้างอิงที่แก้ไขใหม่แล้ว ก็จะอ้างการช่วยเหลือประชาชนด้วยการลดราคาก๊าซหุงต้มลงถังละ 32 บาท โดยล้วงเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยถังละ 32 บาท ใช่หรือไม่
นี่แสดงว่ากระทรวงพลังงานและกบง. ไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่มาจากสูตรคำนวณที่เอื้อประโยชน์กลุ่มธุรกิจก๊าซให้เอากำไรเกินสมควรถึง 42 บาท และยังคงจะใช้วิธีอำพรางกำไรส่วนเกินของกลุ่มธุรกิจก๊าซ ด้วยการล้วงเงินจากกองทุนน้ำมัน 32 บาท มาชดเชย ซึ่งกลุ่มธุรกิจก๊าซยังคงได้กำไรส่วนเกินนั้นต่อไป เพียงแต่ย้ายการล้วงเงินจากกระเป๋าเดียว เป็น 2 กระเป๋า คือ กระเป๋าขวาล้วง 10 บาท แล้วย้ายไปล้วงจากกระเป๋าซ้าย คือกองทุนน้ำมันอีก 32 บาท .... รัฐบาลคสช.ไม่ควรปล่อยให้ข้าราชการจับมือกับกลุ่มทุนใช้วิธีซิกแซกในการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อล้วงกระเป๋าประชาชนเช่นนี้อีกต่อไป
ในประเด็นเรื่องก๊าซหุงต้ม นายธีระชัย ได้ตั้งคำถามต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกันว่า รัฐบาลทำผิดพลาดที่ไปเลิกเพดานราคาก๊าซฯจากโรงแยกก๊าซฯ แล้วไปตั้งราคาใหม่สูงกว่าตลาดโลก ซึ่งแต่เดิมรัฐบาลในอดีตกำหนดว่าก๊าซหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือน ขนส่ง และโรงงานอุตสาหกรรม ให้โรงแยกก๊าซขายในราคาเพดานที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก คือ อยู่ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่ รัฐบาล คสช. ไปยกเลิกเพดานที่ว่านี้ โดยมติ กพช. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2557 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในที่ประชุม แล้วมอบหมายให้ กบง. กำหนดราคาใหม่ ซึ่งในการประชุมวันที่ 7 ม.ค. 2558 กบง. ได้เพิ่มราคาเพดานจาก 333 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เป็น 498 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทั้งที่ในวันนั้น ราคาก๊าซหุงต้มในตลาดโลกที่อิงซาอุดีอาระเบียเป็นฐานแค่ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
นอกจากนี้ มาตรการเดิมที่กำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันที่มีก๊าซหุงต้มเป็นผลพลอยได้ ต้องขายก๊าซหุงต้มที่ผลิตได้ร้อยละ 24 ในราคาเพดาน 333 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ที่เหลืออีกร้อยละ 76 จึงขายในราคาตลาด หรือที่เรียกว่าสูตร 76-24 แต่ปรากฏว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกเลิกสูตร 76-24 ดังกล่าว แล้วให้ กบง. เป็นผู้กำหนดใหม่ โดยให้โรงกลั่นน้ำมันขายก๊าซหุงต้มในไทยต่ำราคาที่ส่งออก 20 เหรียญต่อตัน แต่ต่อมาวันที่ 9 ม.ค. 2560 กบง. ก็ไปเปลี่ยนเป็นให้ใช้ราคานำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศแล้วบวกด้วย X คือ ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสีย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เกี่ยวกับการนำเข้า ซึ่งเป็นเรื่องแปลกเพราะว่าโรงกลั่นในไทยไม่มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าขนส่ง หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่บวกเข้าไป การเปลี่ยนแปลงทั้งการยกเลิกเพดานราคาขายก๊าซหุงต้มจากโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมัน ทำให้ประชาชนต้องเผชิญความยากลำบากจากการใช้ก๊าซในราคาแพง
ส่วนมาตรการในการตรึงราคาก๊าซหุงต้มไม่ให้เกินถังละ 363 บาท โดยการเอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยนั้น เป็นมาตรการที่ให้ประโยชน์แก่เอกชนที่อยู่กลางน้ำมากเกินไป สิ่งที่ควรทำคือย้อนกลับไปอยู่ที่จุดสมดุลเพื่อให้ประโยชน์เอกชนฝ่ายต้นน้ำกลางน้ำลดลงและให้ประโยชน์ประชาชนที่อยู่ปลายน้ำมากขึ้น การไปตรึงราคาโดยเอาเงินจากกองทุนน้ำมันเข้ามาชดเชย ทั้งที่เวลานี้กองทุนน้ำมันในส่วนที่เป็นก๊าซมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 500 ล้านบาทเท่านั้น เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องเหมือนลิงแก้แห เพราะไม่แก้ที่จุดต้นเหตุแท้จริง
นายธีระชัย วิจารณ์นโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ว่าใช้ไม่ได้อย่างสิ้นเชิง .... การที่มีเสียงจากฟากฝั่งรัฐบาลขอให้ประชาชนเสียสละบ้างนั้น นายธีระชัย ย้อนศรกลับว่า ทำไมไม่พูดกันว่า รัฐบาล คสช. มีโอกาสที่จะรื้อแก้ปัญหาโครงสร้างเดิม แต่กลับไม่ทำ มิหนำซ้ำ ยังเปลี่ยนนโยบายที่ดีของรัฐบาลก่อนๆ ทำให้ประชาชนเสียเปรียบเดือดร้อน เอื้อทุนพลังงาน การที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม บอกว่า คนไทยต้องเสียสละนั้น รัฐบาลของท่าน ได้ทำสำเร็จแล้ว ประชาชนเสียสละให้แก่นักลงทุนในตลาดหุ้น ทั้งไทย และเทศ!!! เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. นี้แหละ
วิวาทะปัญหาราคาพลังงานแพง ยังจะปะทุขึ้นเป็นระยะๆ ต่อไป ตราบใดที่รัฐบาลไม่ยอมรื้อโครงสร้างราคาที่ขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน