xs
xsm
sm
md
lg

แฉราคาเอทานอลไม่อิงตลาดโลก-ตปท.ถูกกว่าไทยเท่าตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ เผยความลับ รัฐบาลไม่ตั้งราคาเอทานอล อ้างอิงราคาตลาดโลกเหมือนน้ำมันและก๊าซหุงต้ม เพราะเอทานอลในไทยแพงกว่าตลาดโลกถึงลิตรละ 12-14 บาท เมื่อเอาเอทานอลมาเติมในเบนซีนเพื่อทำแกสโซฮอล์ จึงต้องเอาเงินกองทุนมาชดเชย แถมบวกค่าการตลาดสูงเว่อร์ จี้นายกฯ ทำราคาเอทานอลให้มีประสิทธิภาพ อย่าใช้เป็นเครื่องมือล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชน ด้าน "ธีระชัย" สวนกลับ "บิ๊กตู่" เงินกองทุนพลังงานเป็นของประชาชน ไม่ใช่งบรัฐบาล

วานนี้ (30 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.51 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ “เหตุใด เอทานอลจึงไม่อ้างอิงราคาตลาดโลกเหมือนน้ำมันและก๊าซหุงต้ม !?!” ว่า น้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นในประเทศจนเหลือใช้ และสามารถส่งออกไปยังประเทศในอาเซียนเป็นสินค้าอันดับ 2 ของประเทศไทย แต่เวลาขายคนไทยก็ยังต้องอ้างอิงราคาของสิงคโปร์ บวกค่าขนส่งเทียม ราวกับว่าน้ำมันสำเร็จรูปทั้ง 100% กลั่นในสิงคโปร์ และนำเข้าจากสิงคโปร์

ก๊าซหุงต้มมาจากก๊าซดิบในอ่าวไทย100% นำมาแยกเป็นก๊าซหุงต้มรวมกับส่วนของโรงกลั่นได้เพียงพอใช้ในประเทศถึง99% ตามรายงานของกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนมกราคม 2561 ระบุว่า ปริมาณการผลิตก๊าซหุงต้มในประเทศได้ 535,827 ตัน ส่วนความต้องการใช้ในประเทศ 541,215 ตัน ซึ่งขาดไปเพียง 5,387ตัน เท่ากับประเทศไทยมีกำลังผลิตก๊าซหุงต้มให้คนไทยใช้ได้ในปริมาณที่ต้องการถึง99% ขาดไปเพียง 1% แต่เหตุใดราคาก๊าซที่ขายประชาชนจึงใช้ราคาอ้างอิงราคานำเข้าจากซาอุดิอาระเบียทั้ง 100% แถมบวกค่าขนส่งจากซาอุฯ แบบเดียวกับราคาน้ำมันที่อ้างราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่ง

แต่เหตุใดเอทานอลจึงไม่อ้างอิงราคาตลาดโลก!?!

ควมลับก็คือ ราคาเอทานอลในตลาดโลกมีราคาถูกกว่าราคาเอทานอลในประเทศไทยที่ตั้งราคาไว้ที่ ราคา 23.59 บาท/ลิตร (23 พ.ค 2561) แต่ปัจจุบันราคาเอทานอลที่ชิคาโกอยู่ที่ ประมาณ 12.68 บาทต่อลิตร ($1.5/3.785 ลิตร) ราคาเอทานอลที่เซาเปาโล บราซิล อยู่ที่ 14.87 บาทต่อลิตร (14,867 บาท/1,000 ลิตร)

ในอดีตพี่ไทยเคยอ้างอิงเอทานอลจากบราซิลและบวกค่าขนส่ง 5 บาท ทั้งที่เอทานอลที่คนไทยใช้อยู่ในเวลานั้นผลิตในประเทศ 100% เช่นเดียวกับก๊าซหุงต้มและน้ำมัน

หลังจากที่เอทานอลในต่างประเทศมีราคาถูกลงมาก จึงมีการเปลี่ยนสูตรอ้างอิงราคาการนำเข้าจากบราซิล มาใช้ราคา”ที่แท้จริง”ในการผลิตเอทานอลภายในประเทศ ทำให้ราคาเอทานอลแพงกว่าน้ำมันเบนซินล้วนๆ ถึงลิตรละ 4.39 บาท (23 พ.ค 2561) !!

การทำให้เอทานอลแพงกว่าน้ำมันเบนซินจึงเป็นกลไกการล้วงกระเป๋าประชาชน ใช่หรือไม่ ? ด้วยข้ออ้างว่าต้องส่งเสริมพลังงานสะอาด ต้องส่งเสริมเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังให้ได้ราคาดี ทั้งที่เอทานอลในเวลานี้ผลิตจากกากน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่และกากน้ำตาลมีต้นทุนวัตถุดิบต่ำกว่ามันสำปะหลังมาก แต่ก็คิดราคาเท่ากับเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลัง

แม้แต่น้ำมัน และก๊าซหุงต้ม นายกฯ ลุงตู่ และรองนายกลุงป้อมก็บอกให้ประชาชนต้องยอมรับกลไกตลาด แต่เรื่องราคาเอทานอล ท่านจะว่ายังไงที่ตลาดต่างประเทศราคาปัจจุบันประมาณ 12-14 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าราคาในบ้านเราที่สูงถึง 23.59 บาท/ลิตร ซึ่งแพงกว่าราคาในตลาดโลก 10-12 บาทเลยทีเดียว

ดังนั้นยิ่งเติมเอทานอลในเบนซินมากเท่าไหร่ ราคาน้ำมันชนิดนั้นกลับยิ่งแพงขึ้น ทั้งที่เอทานอลมีค่าพลังงานต่ำกว่าเบนซินประมาณ 30%

ต้องเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยอี 85 ลิตรละ 9.35 บาท และชดเชยอี 20 ลิตรละ 3 บาทให้มีราคาถูกลง และไม่ได้ชดเชยแค่เอทานอลแต่รวมชดเชยค่าการตลาดที่สูงเว่อร์ ซึ่งคือการบวกกำไรของโรงกลั่นที่สูงเกินจริงเข้าไปด้วยตั้งแต่ 3-6 บาท เป็นการล้วงกระเป๋ากันแบบดื้อๆ โดยมีอำนาจรัฐคุ้มครองให้ ใช่หรือไม่

ถ้าราคาเอทานอลในประเทศราคาสัก 15 บาท/ลิตร ก็จะมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินที่มีราคาประมาณ 19 บาท/ลิตร การเติมเอทานอลในน้ำมันจึงจะทำให้น้ำมันผสมพลังงานทดแทนมีราคาถูกลง เป็นการช่วยประชาชนประหยัดเงินในกระเป๋า และมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย สมดังพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่าให้เติมเอทานอลในเบนซินสัก 10% จะลดราคาได้ 50 สตางค์ต่อลิตร

ถ้านายกฯ ลุงตู่ที่มักอ้างว่าจะเดินตาม”ศาสตร์พระราชา” ซึ่งเป็นศาสตร์ที่จะทำให้คนรัก คนพอใจ เพราะราชาแปลว่าผู้ทำให้คนรัก คนพอใจ ท่านนายกฯ ก็ควรสั่งการให้มีการชำระสะสางราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม โดยเริ่มจากการเข้าไปจัดการราคาเอทานอลให้เป็นราคาที่มีประสิทธิภาพเสียก่อน ไม่ให้มีการใช้ราคาเอทานอลมาเป็นเครื่องมือล้วงกระเป๋าประชาชนอีกต่อไป ท่านจะทำได้หรือไม่

"ธีระชัย" โต้ "บิ๊กตู่" เงินกองทุนเป็นของปชช.

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.กระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความตอบโต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในประเด็นการชี้แจงเรื่องกองทุนพลังงาน โดยระบุว่า “เรื่องกองทุนน้ำมัน: นายกประยุทธ์ภูมิใจผิดจุดเสียแล้ว!” ที่รัฐบาลของท่านมิได้ยกเลิกกองทุนน้ำมันจำนวน 31,056 ล้านบาท สามารถใช้พยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่เป็นการผิดทั้งหลักวิชาการ และหลักเศรษฐศาสตร์ เพราะเงินกองทุนเป็นของประชาชน ไม่ใช่เงินของรัฐบาลตามงบประมาณแผ่นดิน จึงเป็นเงินที่ประชาชนช่วยตัวเอง

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไม่ได้ดูแลโครงสร้างกำไรทั้งระบบให้เป็นธรรมเสียก่อน หน้าที่ของรัฐบาล จะต้องดูแลโครงสร้างกำไรทั้งระบบ เพื่อให้เป็นธรรม ทั้งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และแก่ประชาชนผู้บริโภค ถ้าหากโครงสร้างบิดเบี้ยว เปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจในบางห่วงโซ่ ทำกำไรได้มากกว่าปกติ ก็ย่อมจะไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้บริโภค


กำลังโหลดความคิดเห็น