xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” จี้รัฐฯเลิกอุ้มกลุ่มทุน เล่นกลปั่นราคาก๊าซหุงต้มแพงเกินจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รสนา จี้ตอบ กบง. เอื้อกลุ่มทุนหรือไม่ อยู่ดีๆไปเปลี่ยนเกณฑ์อิงราคาก๊าซหุงต้ม ทำให้มีการปรับราคาขึ้น 4 ครั้งเป็นถังละ 42 บาทในเดือนเดียว ดักคออย่าเล่นกลล้วงเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยลดราคาลงถังละ 32 บาทซึ่งปชช.ยังกระเป๋าฉีกแต่กลุ่มธุรกิจก๊าซยังฟันกำไรเท่าเดิม
“รสนา” จี้ตอบ กบง.เอื้อกลุ่มทุนหรือไม่ อยู่ดีๆ ไปเปลี่ยนเกณฑ์อิงราคาก๊าซหุงต้ม ทำให้มีการปรับราคาขึ้น 4 ครั้ง เป็นถังละ 42 บาทในเดือนเดียว ดักคออย่าเล่นกลล้วงเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยลดราคาลงถังละ 32 บาทซึ่ง ปชช.ยังกระเป๋าฉีกแต่กลุ่มธุรกิจก๊าซยังฟันกำไรเท่าเดิม

วันนี้ (25 พ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล หนึ่งในแกนนำ คปพ. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล” หัวข้อเรื่อง “เลิกเล่นกลปั่นราคาก๊าซหุงต้มแพงเกินจริง รัฐบาลเลิกอุ้มกลุ่มทุนพลังงานค้ากำไรเกินควรเสียที!! ว่า

หลังจากที่ดิฉันเขียนวิจารณ์เรื่องราคาก๊าซหุงต้มได้ตั้งราคาไว้สูงเกินจริง สูงกว่าราคาตลาดโลกกิโลกรัมละ 3บาท และล้วงเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชย 2.74 บาท/กิโลกรัม ซึ่งดิฉันเห็นว่าเป็นการผ่องถ่ายกำไรให้กับบริษัทธุรกิจก๊าซ โดยใช้กองทุนน้ำมันมากำบังการเอากำไรสูงเกินจริงของบริษัทธุรกิจก๊าซ

กระทรวงพลังงานออกมาโต้แย้งบทความ ”เมื่อกองทุนน้ำมันไม่ได้ใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มตามข้ออ้าง ก็ต้องเรียกร้องให้ยุติเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมายนี้เสียที !!!” ว่า ดิฉันเข้าใจผิด เพราะ ต ื“ราคาต้นทุนก๊าซหุงต้มตลาดโลกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 61 อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 16 บาท ซึ่งเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 17.5 บาท มิใช่กิโลกรัมละ 15 บาทแต่อย่างใด และราคา ณ โรงกลั่นของก๊าซหุงต้มในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-21 พ.ค. 61) อยู่ที่กิโลกรัมละ 18.08 บาท ราคาดังกล่าวอ้างอิงจากราคานำเข้า “

ดิฉันขอวิจารณ์คำชี้แจงของกระทรวงพลังงานว่า การขึ้นราคาก๊าซหุงต้มถึง4ครั้งในเดือนพฤษภาคม 2561 รวมแล้ว 3.30 บาท/กก. หรือถังละ 49.50 บาท นั้นไม่มีข้อเท็จจริงเรื่องราคานำเข้ามารองรับแต่ประการใด

เพราะตามปกติแล้วราคานำเข้าจะอ้างอิงตลาดก๊าซหุงต้มที่ประกาศโดย Saudi Aramco ที่เรียกย่อๆว่าราคา CP (Contract Price)นั้น เขาประกาศกันเดือนละ1ครั้ง และราคาCPก๊าซหุงต้มของเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งประกาศตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2561 มีราคา 502.5เหรียญ/ตัน ($505 และ $500 สำหรับโพรเพนและบิวเทน)

แต่การที่ กบง.(คณะกรรมการนโยบายพลังงาน)มีมติเมื่อ 20 ตุลาคม 2560 เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มจากเดิมที่อ้างอิงราคา CP รายเดือน ที่เป็นสัญญาระยะยาว มาเป็นการอ้างอิงราคา LPG cargo จากข้อมูล Spot cargo เฉลี่ยรายสัปดาห์แทนนั้นทำให้มีการขึ้นราคาถึง4ครั้งในเดือนพฤษภาคม

การเปลี่ยนแปลงสูตรโครงสร้างอ้างอิงราคานำเข้าก๊าซหุงต้มของ กบง.สมควรถูกสันนิษฐานว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้นำเข้า ใช่หรือไม่

เห็นได้ชัดเจนว่าหลังจากการเปลี่ยนแปลงสูตรดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการขึ้นราคาก๊าซแบบมหาโหดและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการธุรกิจก๊าซเอากำไรเกินควร เพราะราคา CP ที่ประกาศโดย Saudi Aramco ในเดือน พ.ค. $505 และ $500 สำหรับโพรเพนและบิวเทน ราคาเฉลี่ยคือ 502.5 $ ต่อตัน เป็นราคาที่ซื้อได้ทั้งเดือน

แต่การอ้างอิงราคา Spot Cargo รายสัปดาห์เปิดทางให้ผู้นำเข้าก๊าซหุงต้มสามารถขึ้นราคาทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะ สัปดาห์ 22-28 พ.ค. ที่มีการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มครั้งที่ 4 ไปแล้ว 1.54 บาท/กิโลกรัมนั้น เป็นการใช้ราคาประมาณการของเดือนมิถุนายน ที่ราคา $576


(เอกสารอ้างอิงที่ใช้ข้อมูลของ RIM ที่เป็น information provider เหมือนกับPlatts ที่กบง.ใช้อ้างอิง ซึ่งตัวเลขน่าจะไม่ต่างกัน)

ดังนั้นถ้าเทียบราคาที่นำเข้าจริงในเดือนพฤษภาคมที่มีราคา $502.5 แต่สูตรใหม่ของ กบง.ทำให้มีการอ้างอิงราคาSpot รายสัปดาห์โดยที่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนใช้ราคาคาดการณ์ของเดือนมิถุนายน ที่ราคา$576 ซึ่งมีส่วนต่างจากราคาจริงที่ซื้อได้ในเดือนพฤษภาคมถึง $73.5 หรือ 2.35 บาทต่อกิโลกรัม หรือถังละ 35.25 บาทเลยทีเดียว

ผู้นำเข้าก๊าซหุงต้มซื้อมาในราคา$502.5 แต่สามารถขายได้ $576 ย่อมเป็นการเอากำไรที่สูงเกินสมควรจากประชาชนหาเช้ากินค่ำ ใช่หรือไม่

ดังนั้นการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มรายสัปดาห์ในครั้งที่ 2, 3, 4 (.69 บาท +.57 บาท + 1.54 บาท=2.80บาท ) จึงเป็นการเอากำไรเกินควรจากผู้บริโภคถึง 2.80 บาท/กิโลกรัม หรือถังละ 42 บาท ใช่หรือไม่

หลังจากกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์การขึ้นราคาทั้งก๊าซและน้ำมันอย่างหนัก ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานต้องออกมาแถลงว่า กบง.เตรียมจะลดราคาก๊าซหุงต้ม 32 บาทต่อถัง 15 กก. โดยจะมีผลวันจันทร์ที่28 พ.ค

คำถามที่ขอให้กระทรวงพลังงานและกบง.ชี้แจงก็คือ

1) การเปลี่ยนสูตรอ้างอิงราคานำเข้าก๊าซหุงต้มจากการอ้างอิงสัญญาระยะยาวรายเดือน มาเป็นการอ้างอิงราคาจรรายสัปดาห์แทนนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้นำเข้าก๊าซหุงต้มมาเอากำไรเกินควรจากประชาชน ใช่หรือไม่

หากกระทรวงพลังงานและกบง.จะแก้ตัวว่าผู้นำเข้าก๊าซหุงต้ม ซื้อในราคาตลาดจรรายสัปดาห์จริงๆ มิได้ซื้อด้วยราคาสัญญาระยะยาว ก็ขอให้นำใบส่งสินค้า(invoice )ของผู้นำเข้าก๊าซหุงต้มมาแสดงต่อสังคม จะดีหรือไม่?

2) หลังจากปล่อยให้เอกชนผู้นำเข้าก๊าซขึ้นราคาเกินสมควรถึงถังละ42บาทจากสูตรอ้างอิงที่แก้ไขใหม่แล้ว ก็จะอ้างการช่วยเหลือประชาชนด้วยการลดราคาก๊าซหุงต้มลงถังละ 32 บาท โดยล้วงเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยถังละ 32 บาท ใช่หรือไม่

แสดงว่ากระทรวงพลังงานและกบง.ไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่มาจากสูตรคำนวณที่เอื้อประโยชน์กลุ่มธุรกิจก๊าซ ให้เอากำไรเกินสมควรถึง 42 บาท และยังคงจะใช้วิธีอำพรางกำไรส่วนเกินของกลุ่มธุรกิจก๊าซ ด้วยการล้วงเงินจากกองทุนน้ำมัน32บาทมาชดเชย ซึ่งกลุ่มธุรกิจก๊าซยังคงได้กำไรส่วนเกินนั้นต่อไป เพียงแต่ย้ายการล้วงเงินจากกระเป๋าเดียว เป็น2กระเป๋า คือกระเป๋าขวาล้วง10บาท แล้วย้ายไปล้วงจากกระเป๋าซ้ายคือกองทุนน้ำมันอีก 32บาท

การใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชย จึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาการค้ากำไรเกินควรของธุรกิจก๊าซ แต่เป็นวิธีกำบังการค้ากำไรเกินควร ซึ่งมีแต่จะทำให้ประชาชนอ่วมจนกระเป๋าขาดกันเลยทีเดียว

รัฐบาลคสช.ไม่ควรปล่อยให้ข้าราชการจับมือกับกลุ่มทุนใช้วิธีซิกแซกในการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อล้วงกระเป๋าประชาชนเช่นนี้อีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น