อดีต รมว.คลัง ชี้รัฐบาลบิ๊กตู่ภูมิใจผิดจุด อ้างคงกองทุนน้ำมันเอาไว้ทำให้มีเงินสำหรับตรึงราคาดีเซล-ก๊าซหุงต้ม ทั้งที่ผิดหลักการ เพราะเงินกองทุนเป็นเงินของประชาชนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่กำกับดูแลโครงสร้างกำไรให้เป็นธรรม ซุกปัญหาโครงสร้างธุรกิจพลังงานที่เอื้อประโยชน์โรงกลั่นและโรงแยกก๊าซ เย้ย “มนูญ ศิริวรรณ” อธิบายราคาน้ำมันไม่ขุดลึกโครงสร้างที่เอื้อโรงกลั่นได้กำไรอู้ฟู่ เหน็บ “บิ๊กป้อม” ประชาชนเสียสละแล้ว โดยเสียสละให้นายทุนทั้งในและต่างประเทศ
วันนี้ (30 พ.ค.) นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าารกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala แสดงความเห็นกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความภูมิใจที่รัฐบาลยังคงกองทุนน้ำมันเอาไว้ ทำให้มีเงินกองทุนใช้สำหรับตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคาก๊าซหุงต้มได้อีกด้วย
นายธีระชัยกล่าวว่า เรื่องกองทุนน้ำมัน นายกฯ ประยุทธ์ภูมิใจผิดจุดเสียแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อด้วยความภูมิใจ ที่รัฐบาลของท่านมิได้ยกเลิกกองทุนน้ำมัน ในวันนี้จึงมีเงินกองทุนอยู่ 31,056 ล้านบาท สามารถใช้พยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และคงจะใช้พยุงราคาก๊าซหุงต้มได้อีกด้วย
“ท่านกล่าวว่าบริหาร 2 ทาง ทั้งหลักวิชาการ และเศรษฐศาสตร์ ข้อมูลทางข้าราชการ และการรับฟังความเดือดร้อนจากประชาชน แต่ในฐานะนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ ผมขอให้ข้อมูลด้วยความเคารพ การบริหารนโยบายราคาพลังงานของรัฐบาล คสช. ผิดทั้งหลักวิชาการ และหลักเศรษฐศาสตร์
ขออธิบายดังนี้ ประการที่ 1 เงินกองทุนเป็นเงินของประชาชนเอง การที่รัฐบาลช่วยแบ่งเบาภาระราคาพลังงานให้แก่ประชาขนนั้น ประชาชนย่อมชอบอกชอบใจ เนื่องจากช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ระดับหนึ่ง แต่ถามว่าเงินกองทุนนั้น มาจากไหน? คำตอบคือ เงินกองทุนน้ำมัน มาจากกระเป๋าประชาชน ไม่ใช่เงินของรัฐบาลตามงบประมาณแผ่นดิน จึงเป็นเงินที่ประชาชนช่วยตัวเอง
ประการที่ 2 รัฐบาลไม่ได้ดูแลโครงสร้างกำไรทั้งระบบให้เป็นธรรมเสียก่อน หน้าที่ของรัฐบาลจะต้องดูแลโครงสร้างกำไรทั้งระบบ เพื่อให้เป็นธรรม ทั้งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และแก่ประชาชนผู้บริโภค ถ้าหากโครงสร้างบิดเบี้ยว เปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจในบางห่วงโซ่ ทำกำไรได้มากกว่าปกติ ก็ย่อมจะไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้บริโภค รัฐบาลของ คสช. ถือกองทุนน้ำมันเป็นกุญแจวิเศษ แต่มิได้แก้ปัญหาโครงสร้าง
ประการที่ 3 เป็นการซุกปัญหา โครงสร้างธุรกิจพลังงานขณะนี้มีปัญหา ทั้งเรื่องน้ำมัน และเรื่องก๊าซหุงต้ม ในเรื่องของน้ำมัน ผมอธิบายแล้วว่า การกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นในไทย ให้เท่ากับหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ แถมบวกด้วยค่าขนส่งเทียมนั้น เป็นเงื่อนไขที่เหมาะสมเฉพาะในอดีตที่ไทยมีโรงกลั่นน้ำมันไม่พอ แต่บัดนี้ ไทยมีโรงกลั่นเกินพอแล้ว ไม่มีความจำเป็นจะต้องให้กำไรที่เกินกว่าปกติ รัฐบาล คสช.ควรแก้ไขกติกานี้ก่อน
ปรากฏว่าไม่มีการทบทวนกติกาในเรื่องของก๊าซหุงต้ม นอกจากจะไม่ทบทวนกติกาค่าขนส่งเทียมสำหรับน้ำมัน ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้ใช้ก๊าซหุงต้มอีก โดยการยกเลิกเพดานเดิมที่รัฐบาลในอดีตไม่แตะต้อง และยกกติกาค่าขนส่งเทียม เอาไปใช้กับเรื่องก๊าซหุงต้มอีกด้วย ทำให้ก๊าซไทยแพงกว่าตลาดโลก เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทพลังงาน ทำให้ตลาดหุ้นคึกคัก ตัวเลขจีดีพีสวยงาม แต่ประชาชนยากจนลง
พอราคาตลาดโลกดีดสูงขึ้น ประชาชนก็เดือดร้อนหนัก ทำให้ต้องหาทางแก้ไข แต่แทนที่จะแก้ไขโดยย้อนไปยกเลิกกติกาที่ผิด กลับใช้เงินกองทุนมาโป๊ว
ถามว่า การใช้เงินกองทุนน้ำมันโป๊วมีข้อเสียอย่างไร 1. ไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุแห่งโรค แก้แต่เพียงอาการป่วย จึงได้ผลเพียงชั่วคราว เงินกองทุนหมดลงเมื่อใด ความเดือดร้อนก็จะกลับมาเมื่อนั้น 2. นโยบายรัฐบาลอุ้มนายทุน ให้นายทุนนั่งบนบ่าของประชาชน
นอกจากนี้ นายธีระชัยยังได้แสดงความเห็นกรณีที่นายมนูญ ศิริวรรณ อดีตผู้บริหารบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) อธิบายเรื่องราคาน้ำมันว่า วันนี้ได้ดูคลิปคำอธิบายของนายมนูญ ขอชมว่าอธิบายประเด็นต่างๆ ได้ดี ฟังเข้าใจง่าย เห็นด้วยกับนายมนูญว่าคนที่ประท้วงเรื่องน้ำมันแพงโดยพยายามเปรียบเทียบราคาไทยกับประเทศอื่นนั้นเป็นการมองผิวเผิน เพราะแต่ละประเทศกำหนดอัตราภาษีแตกต่างกันมาก ดังนั้น การพุ่งเป้าไปที่ราคาประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้การประท้วงเรื่องนี้กลายเป็นยายแก่บ่นพึมพำ ขาดสาระ ไร้น้ำหนัก
แต่คำอธิบายของนายมนูญ ไม่ได้ขุดลึกถึงปัญหาโครงสร้างธุรกิจพลังงานที่แท้จริง เช่น ในธุรกิจน้ำมัน 1. โรงกลั่นในไทยได้ประโยชน์จากค่าขนส่งเทียม เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค 2. สำหรับน้ำมันดิบที่นำเข้า แม้แต่ตั้งราคาหน้าโรงกลั่นไทยเท่ากับสิงคโปร์ก็สูงเกินไปแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายในไทยถูกกว่าสิงคโปร์มากมาย ราคาหน้าโรงกลั่นจึงสามารถจะตั้งให้ต่ำกว่าสิงคโปร์เล็กน้อย 3. การตั้งเพดานราคาหน้าโรงกลั่นไทยที่สูงเท่ากับสิงคโปร์ เปิดให้โรงกลั่นสามารถกำไรเกินปกติ เพราะโรงกลั่นไทยส่วนใหญ่ถูกผูกขาดโดยบริษัทหนึ่ง 4. สำหรับน้ำมันดิบที่ขุดได้ในไทย ซึ่งต้นทุนต่ำกว่านำเข้าจากตะวันออกกลาง การตั้งเพดานราคาหน้าโรงกลั่นไทยที่สูงเท่ากับสิงคโปร์ ยิ่งเปิดให้โรงกลั่นสามารถกำไรเกินปกติ
ในธุรกิจก๊าซ
1. มีบางบริษัทที่ผูกขาดกิจกรรมบางอย่าง แต่อำนาจผูกขาดดังกล่าว มิได้เกิดจากความเก่งของบริษัท ในการพัฒนาสินค้า หรือเทคโนโลยี หรือการคิดค้นอะไรเอง แต่เกิดจากเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปครอบครอง ทำให้กำไรเวอร์ 2. มีการยกเลิกเพดานราคาก๊าซหุงต้มที่ขายแก่ครัวเรือน สวนทางนโยบายรัฐบาลในอดีต ที่บังคับให้มีเพดานนี้เพื่อเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค 3. สำหรับโรงแยกก๊าซ มีการเปลี่ยนไปใช้เพดานใหม่ ตามต้นทุนจริง เป็นอันว่าโรงแยกก๊าซจะมีค่าใช้จ่ายเวอร์แค่ไหนก็ได้ ทำให้ผู้บริโภคเจ๊ง ราคาหุ้นโรงแยกก๊าซพุ่งขึ้น ประชาชนยากจน แต่ตัวเลข จีดีพี ดีขึ้นจากกำไรบริษัทพลังงาน 4. สำหรับโรงกลั่นน้ำมัน มีการเปลี่ยนไปใช้เพดานใหม่ ตามราคานำเข้า บวกค่าขนส่งเทียม ทำให้คนไทยต้องซื้อก๊าซหุงต้มแพงกว่าตลาดโลก จากเดิมที่ราคาเพดานต่ำกว่าตลาดโลก
สรุปแล้ว ทำไมไม่พูดกันว่า 1. รัฐบาล คสช.มีโอกาสที่จะรื้อแก้ปัญหาโครงสร้างเดิม แต่กลับไม่ทำ 2. มิหนำซ้ำ ยังเปลี่ยนนโยบายที่ดีของรัฐบาลก่อนๆ ทำให้ประชาชนเสียเปรียบเดือดร้อน ทำให้เอื้อทุนพลังงาน 3. ที่ พล.อ.ประวิตรบอกว่า คนไทยต้องเสียสละนั้น รัฐบาลของท่านได้ทำสำเร็จแล้ว ประชาชนเสียสละให้แก่นักลงทุนในตลาดหุ้นทั้งไทยและเทศ เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช.นี้แหละ