xs
xsm
sm
md
lg

แฉอีกชุด โบดำ คสช.เปลี่ยนเพดานราคาก๊าซหุงต้มปล้นคนจนให้คนรวย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลังย้ำอีกรอบ รบ.ประยุทธ์แก้ปัญหาก๊าซหุงต้มผิดพลาด ยกเลิกราคาเพดานจากโรงแยกก๊าซ กำหนดราคาเพดานใหม่ให้สูงกว่าราคาตลาดโลก ปล่อยนายทุนพลังงานบวกกำไรเอาตามใจชอบ ให้ประชาชนรับภาระ เท่ากับปล้นประโยชน์จากคนจนไปให้คนรวย

วันนี้ (28 พ.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ถึงความผิดพลาดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซหุงต้ม ส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นจากเดิม โดยมีรายละเอียดดังนี้

“ผลงานโบดำ คสช. : ปรนเปรอนายทุนพลังงานเรื่องก๊าซหุงต้ม?”
มีผู้อ่านขอให้ผมอธิบายแบบย่อเข้าใจง่ายเรื่องก๊าซหุงต้ม ผลงานโบดำ คสช. เป็นอย่างไร?

1. คนไทยเดือดร้อนอย่างไร?
คนไทยต้องซื้อก๊าซหุงต้มแพง เพราะราคา ณ โรงแยกก๊าซในไทย (เม.ย. 2561) แพงกว่าตลาดโลก (สหรัฐฯ) ประมาณ 1 ใน 3 (ดูรูป)

2. รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ เป็นต้นเหตุหรือไม่?

พลเอก ประยุทธ์ เป็นประธานที่ประชุม ยกเลิกเพดาน (กลางน้ำ) เดิม (ธ.ค. 2557) ทำให้ราคาก๊าซหุงต้มในไทยกระโดดขึ้น

3. ที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ยกเลิกเพดาน ทำให้ก๊าซหุงต้ม แพงขึ้นเท่าไหร่?

เดิมในปี 2546, 2557 ราคา ณ โรงแยกก๊าซ ต่ำกว่าตลาดโลกประมาณ 1 ใน 3 แต่ภายหลังรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยกเลิกเพดาน เปลี่ยนเป็นสูงกว่าราคาตลาดโลก บางเดือนสูงกว่า 40-45% (ดูรูป)

4. ราคา ณ โรงแยกก๊าซ สำคัญขนาดไหน?

โรงแยกก๊าซในไทย ผลิตก๊าซ 60% ของก๊าซหุงต้มทั้งหมดที่ใช้ในไทย

5. ราคา ณ โรงแยกก๊าซ เดิมกำหนดเท่าไหร่ และใหม่เป็นเท่าไหร่?

รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ยกเลิกเพดาน 333 ดอลลาร์ต่อตัน ที่รัฐบาลก่อนๆ กำหนดไว้ (เมื่อ 15 ธ.ค. 2557) แล้วกำหนดเพดานใหม่เป็น 498 ดอลลาร์ต่อตัน (เมื่อ 7 ม.ค. 2558) (ดูรูป)

6. ทำไมรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จึงกำหนดเพดานใหม่เป็น 498 ดอลลาร์ต่อตัน?

อ้างว่ายึดต้นทุนจริงของโรงแยกก๊าซ ทั้งนี้ เพดานใหม่ก็สูงกว่าราคาตลาดโลกในวันนั้นประมาณ 10% (447 ดอลลาร์ต่อตัน)

7. การที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ยึดต้นทุนจริงของโรงแยกก๊าซเป็นเพดานใหม่ เหมาะสมหรือไม่?

การยึดตัวเลขต้นทุนจริง ก็คือไม่มีเพดาน และโรงแยกก๊าซจะมีต้นทุน จ่ายเงินเดือน โบนัส กำไร แพงเท่าไหร่ก็ได้ รัฐบาลในอดีตจึงเน้นหลักประสิทธิภาพ และผลักประโยชน์ (ปลายน้ำ) ไปให้แก่ผู้บริโภค

8. การที่ประชาชนต้องจ่ายแพงกว่าตลาดโลก ใครได้ประโยชน์?

โรงแยกก๊าซได้ประโยชน์ บนคราบน้ำตาประชาชน เข้าลักษณะนโยบายโรบินฮูดกลับทาง ปล้นคนจน เอาไปให้คนรวย และนักเล่นหุ้น

9. รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ เปลี่ยนใจกลับมากำหนดเพดาน 363 บาทต่อถัง 15 กก. ดีหรือไม่?

รัฐบาลในอดีตกำหนดเพดานที่กลางน้ำ อันเป็นการบีบกำไรจากคนรวย เอาไปให้คนจน แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยกเลิกเพดานกลางน้ำ เอาประโยชน์จากจนคน ไปให้คนรวย พอชาวบ้านเดือดร้อนก็เปลี่ยนใจ แต่แทนที่จะกลับไปรื้อความผิดพลาดที่กลางน้ำ กลับใช้วิธีเอาตัวรอด เปลี่ยนเป็นกำหนดเพดานที่ปลายน้ำ
แต่การกำหนดเพดานที่ปลายน้ำ นอกจากจะได้ผลไม่จริงจังเหมือนเพดานที่กลางน้ำแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้เงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันด้วย พูดง่ายๆ เท่ากับบังคับให้ประชาชนที่ใช้ยานยนต์ ต้องควักกระเป๋าช่วยประชาชนที่ใช้ก๊าซหุงต้ม ไม่ต่างอะไรจากปล้นคนจนกลุ่มหนึ่ง เอาไปให้คนจนอีกกลุ่มหนึ่ง

10. มีคนบอกว่า ควรให้ประชาชนไทยซื้อก๊าซหุงต้มแพงกว่าตลาดโลก มิฉะนั้นจะใช้อย่างไม่ประหยัด?
จะบ้าหรือไง? ในเมื่อก๊าซในอ่าวไทยมีพอสำหรับผลิตก๊าซหุงต้มให้ประชาชน คิดแบบนี้ได้ยังไง?


กำลังโหลดความคิดเห็น