xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” จี้รื้อใหญ่กลไกพลังงาน หยุดอุ้มคนรวยเปิดเสรีแท้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าารกระทรวงการคลัง
อดีต รมว.คลัง จี้รัฐบาล ถึงเวลารื้อใหญ่กลไกกำกับดูแลธุรกิจพลังงาน เลิกอุ้มคนรวย ทั้งการตั้งราคาน้ำมันอิงราคาสิงคโปร์บวกค่าใช้จ่ายนำเข้า ลดแลกแจกแถมให้โรงกลั่น เลิกใช้กองทุนน้ำมันตรึงราคาก๊าซที่ปลายน้ำ กลับไปตั้งเพดานราคาที่กลางน้ำ ห้ามถือหุ้นธุรกิจพังงานเกิน 15% พร้อมทบทวนกลไกกองทุนน้ำมัน เป็นม่านกำบังการหากำไรของใครหรือไม่



เมื่อวันที่ 28 พ.ค. นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าารกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นผ่านยูทูป หัวข้อ รัฐบาลต้องกำกับธุรกิจพลังงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน เมื่อคืนวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลธุรกิจพลังงานอย่างเข้มข้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้วางนโยบายพลังงานให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

พลังงานทั้งน้ำมันเติมรถยนต์และก๊าซหุงต้มเป็นสินค้าบังคับซื้อ คือ ประชาชนไม่มีทางเลือกเหมือนสินค้าชนิดอื่น จึงเป็นธุรกิจที่รัฐบาลจะปล่อยให้ว่ากันเองตามใจผู้ประกอบการไม่ได้

ทั้งนี้ ห่วงโซ่ในธุรกิจพลังงาน ต้นน้ำคือคนนำเข้าน้ำมันดิบ กลางน้ำคนที่เอาน้ำมันดิบมากลั่น และขบวนการขาย ไปจนถึงปลายน้ำคือประชาชนผู้ใช้ ในห่วงโซ่แต่ละข้อถ้ารัฐไม่ดูแล และถ้าปล่อยให้บางห่วงโซ่เบ่งกำไรของตัวเองให้สูงขึ้นเกินกว่าปกติ ประชาชนผู้บริโภคก็จะเดือดร้อน รัฐบาลจะต้องดูแลให้แตละห่วงโซ่มีกไรอย่างพอเหมาะพอสมเพื่อให้ตลอดห่วงโซ่อยู่ได้

วิธีกำกับของรัฐบาลทั่วโลก วิธีที่ 1 คือ การใช้กลไกตลาด หรือมือที่มองไม่เห็นมากำกับดูแล แต่ประเทศไทยใช้ระบบนี้ยังไม่ได้ เพราะถ้าจะใช้ระบบนี้ ทุกห่วงโซ๋จะต้องมีการแข่งขันกันอย่างเสรี แต่ถ้าปล่อยให้บางห่วงโซ่มีการผูกขาดก็ใช้ระบบนี้ไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดการค้ากำไรเกินควร

เรื่องของน้ำมันมีข้อที่สำคัญอยู่ไม่กี่ข้อ ข้อที่ 1 คือ การกลั่น และข้อที่ 2 คือ ฝั่งผู้ขาย ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีผู้ค้าจำนวนมาก มีการแข่งขันกันพอใช้ได้ แต่ข้อที่ 1 คือการนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น มีการแข่งขันเสรีหรือไม่

มีกติกาที่เรากำหนดไว้มานาน คือ การกำหนดราคาน้ำมันอ้างอิงราคาสิงคโปร์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นธรรมเพราะการนำน้ำมันจากตะวันออกกลางมากลั่น ถ้าเทียบราคาสิงคโปร์ก็ถือว่ารับได้ แต่ปัญหาคือมีการตั้งราคาสิงคโปร์บวกกับค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายทุกอย่าง โดยสมมติว่า เป็นการนำเข้าจากสิงคโปร์ ซึ่งกติการนี้กำหนดขึ้นตอนที่ประเทศไทยเพิ่งมีโรงกลั่น จึงต้องมีแรงจูงใจให้โรงกลั่น แต่ปัจจุบันไม่จำเป็นแล้ว เพราะโรงกลั่นมีจำนวนมาก ปริมาณการกลั่นก็มากเกินความต้องการใช้ จึงไม่จำดป็นต้องลดแลกแจกแถมให้โรงกลั่นอีกต่อไป เพราะการลดแลกแจกแถมดังกล่าว คือ การเอาเงินของประชาชนไปใช้ และในความเป็นจริงค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้ำมันดิบทางเรือจากตะวันออกกลางไปที่สิงคโปร์ กับจากตะวันออกกลางมาที่ศรีราชาก็ไม่ต่างกัน

เรื่องนี้ไม่ใช่ผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นโอกาสที่รัฐบาลนี้จะแก้ไข เนื่องจากราคาน้ำมันดิบต่ำลงมาแล้ว จะต้องแก้ไข ดูว่ามีกระบวนการที่จะซ่อนกำไรของผู้ประกอบการไว้ตรงไหนหรือไม่

ส่วนเรื่องก๊าซหุงต้ม ถือเป็นผลงานโบดำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนี้ ก๊าซหุงต้ม 60% มาจากอ่าวไทย ถ้าไม่คุมให้ดีประชาชนก็จะรับภาระในราคาที่แพง เดิมรัฐบาลก่อนหน้านี้กำหนดราคาเพดานสำหรับก๊าซหุงต้มจากโรงแยกก๊าซไว้ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดโลก แต่หลังจากการยึดอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 7 เดือน ก็มีการยกเลิกเพดานดังกล่าว ราคาก๊าซหุงต้มหลังจากนั้นจึงสูงกว่าตลาดโลกจนปัจจุบัน จากที่เคยต่ำกว่าตลาดโลกถึง 1 ใน 3 เป็นสูงกว่าถึง 30 - 45% ในบางเดือน จึงเป็นนโยบายโรบินฮูดกลับทาง ที่ปล้นเงินคนจนไปให้คนรวย เอาไปให้คนเล่นหุ้นและนักลงทุนที่เป็นชาวต่างชาติด้วย

พอถูกวิจารณ์มาก รัฐมนตรีพลังงานก็ประกาศคุมราคาก๊าซหุงต้มที่ถังละ 363 บาท เป็นการกำหนดราคาที่ปลายน้ำ ซึ่งไม่ได้ผล เพราะไม่ได้คุมกลางน้ำ ปล่อยให้ราคากลางน้ำสูง ราคาปลายน้ำ จึงไม่สามารถคุมได้จริง สิ่งที่ควรทำคือการยกเลิกมาตรการที่พลาดพลั้งและกลับไปใช้มาตรการเดิม แต่รัฐบาลกลับเอาเงินกองทุนน้ำมันมาจ่าย เป็นการปล้นเงินคนจนไปให้คนจน

มาตรการนี้เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ทั้งที่จริงควรบีบบังคับให้โซ่ข้อที่ 2 ที่ 3 ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และระมัดระวัง เอาเพดานกลับมาไว้ที่กลางน้ำ ไม่ใช่ปลายน้ำ จะได้ไม่ต้องใช้กองทุนน้ำมัน เพราะกองทุนน้ำมันมาจากผู้ใช้รถใช้ถนน เมื่อไม่พอก็ตกเก็บจากชาวบ้านเพิ่ม เวลานี้เอาไปยันราคาดีเซลก็จะหมดแล้ว

จึงถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการอุ้มคนรวย ประการที่ 2 การใช้ต้นทุนจริง ที่บอกว่ายอมรับ ยกเลิกเพดาน แล้วไปใช้ต้นทุนจริง ไม่ว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร ก็ถึงเวลาต้องทบทวน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ต้นทุนจริงของมันเอง หรือผ่านกลไกของกองทุนน้ำมัน และการใช้กองทุนน้ำมันถ้ามีผลออกมาว่าเป็นการใช้กองทุนเป็นม่านกำบังการหาผลกำไร ก็ถึงเวลาที่จะต้องรื้อ

ถึงเวลาที่รัฐบาลจะรับฟังคนที่มีการศึกษาวิจัยวิเคราะห์เรื่องนี้ โดยให้สถานศึกษาที่เป็นกลางเข้ามาทำ ที่ผ่านมาคนที่ศึกษาเรื่องน้ำมันก็ไปใช้องค์กรสถาบันที่อาศัยเงินเลี้ยงตัวเองอยู่ได้จากธุรกิจพลังงาน จะเป็นคำตอบให้กับรัฐบาลที่เป็นกลางได้อย่างไร

ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องมีการทบทวนเรื่องนี้ ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องช่วยกันแสดงความเห็น ช่วยกันเรียกร้องแล้วสิ่งที่คุณจะต้องแนะนำให้รัฐบาลต้องระมัดระวังมากที่สุด ถ้าคิดจะใช้กลไกตลาด เช่น จะให้เอาราคาตลาดโลกเป็นหลักจะต้องทำให้การแข่งขันในห่วงโซ่ทุกข้อ มีการแข่งขันอย่างเสรีจริงจังก่อน จะต้องไม่มีการผูกขาดไม่ว่าจะเป็นโซ่ข้อใดข้อหนึ่ง ต้องทำลายการผูกขาดก่อน ถ้ามีใครคนหนึ่งสามารถควบคุมผ่านการถือหุ้นคิดออกมาเกินกว่าร้อยละ 15 - 20 ต้องบังคับขาย เพราะเป็นการผูกขาดตัดตอนทางเศรษฐกิจที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

“ถึงเวลานะครับที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ท่านมีโอกาส ที่จะวางรากฐานสำหรับที่จะปูพื้นต่อไป ถ้าเรามีการแข่งขันในทุกห่วงโซ่ เราจะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลว่า เวลาน้ำมันขึ้น มีการปรับตัวของราคาก๊าซขึ้น ประชาชนก็จะกังวลว่า มันเกิดขึ้น เนื่องจากราคาตลาดโลก หรือเกิดเนื่องจากมันมีกำไรส่วนเกินที่มันซ่อนอยู่ในระบบตรงนี้ ถึงเวลาที่เราจะต้องบริหารจัดการเรื่องนี้ให้ดีขึ้นแล้ว” นายธีระชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น