xs
xsm
sm
md
lg

สอนมวย “บิ๊กตู่” มองปัญหาน้ำมัน อย่ามัวโทษตลาดโลก ต้องแก้กลไกบริหารไม่เป็นธรรมเอื้อโรงกลั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลัง ติงรัฐบาล คสช. มองปัญหาน้ำมันผิดจุด โทษตลาดโลก ขณะปัญหาอยู่ที่กลไกการบริหารที่ไม่เป็นธรรม โรงกลั่นตั้งอยู่ในไทย แต่ให้ขายในราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่งค่าประกันภัยและค่าใช้จ่ายนำเข้า ซ้ำให้มีกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ให้ประชาชนแบกภาระ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องรณรงค์อนุรักษ์แล้ว

วันนี้ (28 พ.ค.) เมื่อเวลา 12.52 น. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ถึงการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอ้างถึงคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ว่า ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในขณะนี้เป็นไปตามราคาตลาดโลกจาก 50 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรล เป็นกว่า 70 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรล ซึ่งรัฐบาลไม่ได้อยากให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น โดยนายธีระชัยเห็นว่า คำกล่าวอย่างนี้ แสดงชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เข้าใจว่าวิธีแก้ปัญหาเรื่องน้ำมันในไทยต้องแก้ที่โครงสร้างก่อน

“แต่ทั้งนี้ เนื่องจากท่านเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งหลายปี บางคนจึงวิจารณ์ว่า ท่านแกล้งไม่เข้าใจหรือเปล่า?

ต้องยอมรับว่า ปัญหาโครงสร้างธุรกิจน้ำมันสะสมมาตั้งแต่ก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์ และต้องเริ่มต้นก่อนว่า ห่วงโซ่ในธุรกิจน้ำมันนั้น ประกอบด้วยหลายข้อ โดยโซ่ข้อที่สำคัญ คือ ผู้ซื้อนำเข้าน้ำมันดิบ ผู้กลั่น ผู้ค้าส่ง ผู้ขนส่ง และผู้ขายส่งขายปลีก

ยิ่งโซ่แต่ละข้อกำไรมาก ราคาปลายโซ่ที่ประชาชนต้องจ่าย ก็จะสูงไปด้วย

จึงมีปัญหาว่า รัฐบาลไทยควรจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้เป็นธรรมแก่ทุกห่วงโซ่ และแก่ประชาชนด้วยพร้อมกัน

บางประเทศปล่อยให้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือหลัก แต่ประเทศที่จะปล่อยเช่นนี้ 100% ได้นั้น ธุรกิจต้องแข่งขันกันเสรีตลอดหวงโซ่

แต่สำหรับประเทศที่บางห่วงโซ่ยังมีอำนาจผูกขาดนั้น ถ้ารัฐบาลปล่อยให้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือหลัก ประชาชนก็จะตายลูกเดียว ...
เพราะประชาชนที่อยู่ปลายห่วงโซ่นั้น ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น แพงแค่ไหน ก็ต้องใช้

ดังนั้น ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะชี้เป้าไปที่ราคาตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ท่านควรจะถามทีมงานของท่านว่า ...
กลไกการบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย เหมาะสมหรือไม่?

พูดง่ายๆ ท่านควรตั้งคำถามก่อนว่า กำไรโรงกลั่น และค่าการตลาด ที่กำหนดในไทยนั้น สูงเกินไปหรือไม่?
ผมจะไม่เฉลยนะครับ ว่าสูงเกินไปหรือเปล่า …

แต่ขอบอกว่า กรณีที่น้ำมันในไทยมีการกลั่นที่ระยอง แต่เปิดให้โรงกลั่นสามารถตั้งราคาขายอิงราคาตลาดสิงคโปร์บวกค่าใช้จ่ายเทียมในการนำเข้า เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ...
เสมือนหนึ่งว่านำเข้าจากสิงคโปร์ ...
ทั้งที่ไม่มีใครในไทยที่ควักกระเป๋า ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายนำเข้า สำหรับน้ำมันสำเร็จรูป นั้น

กรณีที่มีการใช้นโยบายอย่างนี้ ย่อมจะมีผลเป็นการกางร่มให้แก่บริษัทในไทย ที่กางร่มในระดับสูง
ยิ่งกางร่มในระดับสูง ผู้ที่ทำธุรกิจ ก็ยิ่งยืนตรงได้อย่างสบาย ไม่ต้องย่อตัว ไม่ต้องเมื่อยหลัง
กำไรแต่ละห่วงโซ่ก็จะยิ่งเบ่งออกได้มาก และจะยิ่งทำให้ประชาชนผู้บริโภคเดือดร้อน

นอกจากนี้ ขณะนี้ประชาชนต้องแบกภาระอีกอย่างหนึ่ง จากการที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
แต่ผลงานของกองทุนนี้เป็นที่น่าสงสัย และสมัยนี้ รัฐไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเพื่อให้ประชาชนขวนขวายอนุรักษ์พลังงานแล้ว

ผมจึงขอเสนอแนะให้ยกเลิกกองทุนนี้ได้แล้ว
ดังนั้น ก่อนที่ท่านจะชี้เป้าไปที่สถานการณ์โลก ท่านควรจะเก็บกวาดบ้านให้เรียบร้อยเสียก่อน“นายธีระชัยระบุ





กำลังโหลดความคิดเห็น