“ม.ล.กรกสิวัฒน์” โต้ข้ออ้างทุนพลังงานเหตุน้ำมันแพง แจงไทยกลั่นน้ำมันเพื่อส่งออกเยอะมาก แต่กลับปล่อยโรงกลั่นขายในประเทศด้วยราคานำเข้าจากสิงคโปร์ บวกต้นทุนที่ไม่มีจริง ทั้งค่าเรือ - ค่าประกัน - ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง รวมถึงค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นแบบไม่สมเหตุผล ส่งผลให้ราคาหน้าปั๊มพุ่งทะยาน ชี้ ราคาตลาดโลกไม่ใช่สาเหตุหลัก กางหลักฐานเทียบสมัย “ปู - มาร์ค” ราคาตลาดโลกพุ่ง 100 กว่าเหรียญ ตอนนี้ 70 เหรียญ แต่ราคาหน้าปั๊มกลับใกล้กัน ส่วนเอทานอลผลิตในไทยแต่แพงกว่าตลาดโลกเกือบ 10 บาท ตั้งคำถามจัดซื้อโปร่งใส - เกษตรกรได้ประโยชน์จริงหรือ ? จี้ “ประยุทธ์” ซึ่งเป็นประธาน กพช. ดูแล กบง. มีอำนาจโดยตรง เร่งจัดการแก้ความไม่เป็นธรรม
วันที่ 28 พ.ค. ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายและทรัพยากร ม.รังสิต ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ภายใต้หัวข้อ “น้ำมันแพง ก๊าซแพง คือปัญหาทางนโยบาย”
โดยกล่าวว่า มีคนเทียบกับราคาหน้าปั๊มสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์และอภิสิทธิ์ ว่า ราคาพอกันกับตอนนี้ทำไมไม่ประท้วง ก็เพราะว่าสมัยนั้นน้ำมันดิบอยู่ที่ 100 กว่าเหรียญสหรัฐฯ พอ พล.อ.ประยุทธ์ มาน้ำมันดิบลง ตอนนี้ 70 เหรียญกว่า วิธีการจัดการตอนนี้ต้องง่ายกว่าด้วยซ้ำ แต่ราคาหน้าปั๊มใกล้เคียงกันแล้ว
กรณีพม่าถูกกว่าแล้วบอกพม่าค่าแรงถูก ถ้าเราตั้งถูกกว่านี้เดี๋ยวคนไทยไม่ประหยัด ซึ่งของสหรัฐฯก็ราคาใกล้เคียงพม่า ทั้งหมดมีต้นทุนน้ำมันดิบราคาตลาดโลก มันก็ควรใกล้เคียงกัน แต่ทำไมราคาหน้าปั๊มไม่ใกล้เคียงประเทศอื่น ทั้งหมดเป็นโครงสร้างที่สามารถจัดการได้ แต่หลายคนอ้างว่าเป็นราคาตลาดโลก จัดการไม่ได้
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เทียบกับราคาน้ำมันดิบเท่ากัน ของวันที่ 10 มิ.ย. 2552 อยากเปรียบที่ราคาเท่ากันกับราคาหน้าปั๊ม ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบถูกลง เพราะค่าบาทแข็งขึ้น เราต้องซื้อของต่างประเทศได้ถูกลง ซึ่งก็ถูกลงจริงแต่ราคาหน้าปั๊มกลับไม่ถูกลง แสดงว่า ต้องมีใครดึงดูดความประหยัดอันนี้ไปเป็นประโยชน์ที่เขา แล้วราคาหน้าโรงกลั่น 17 บาทต่อลิตร กับ 19 บาท มีคนเถียงว่าของปี 52 ใช้ยูโรสาม แต่ปัจจบันใช้ยูโรสี่ ซึ่งสามกับสี่ต่างกัน 20 สตางค์ก็มากแล้ว ไม่ใช่ 2 บาท ซึ่งสูงมาก นี่คือจุดหนึ่งที่รัฐบาลควรลงมาดู
ส่วนของภาษีและกองทุนน้ำมันก็ไม่ได้สูงขึ้น ต่ำลงด้วยซ้ำ บางคนก็โบ้ยให้รัฐบาลต้องลดภาษี ส่วนค่าการตลาด ในอดีตบอก 1 - 1.50 บาทต่อลิตร อยู่ได้ ตอนนี้เกือบ 2 บาท น่าสนใจว่าตอนนี้ค่าการตลาดเพิ่มเกิดจากอะไร ถ้าตนเป็นรัฐบาลจะดูหน้าโรงกลั่นและค่าการตลาดว่าแก้ได้ไหม 2 จุดสำคัญนี้
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวชี้แจงกรณี ซีอีโอ ปตท. อ้างว่า แพงกว่ามาเลเซียเพราะไทยเก็บภาษีและกองทุนน้ำมันต่างๆ ตนได้มีโอกาสไปถามอดีตประธานเปโตรนาสเองเลย เขาบอกว่าเพราะรัฐบาลสั่งเปโตรนาสว่าได้ทรัพยากรไปบริหารจัดการแล้วต้องขายก๊าซให้ถูกที่สุดแต่ห้ามขาดทุน วันนี้ มาเลเซียก๊าซหุงต้ม 10 กว่าบาทต่อกิโล ของเราเกือบ 30 บาทแล้ว ทั้งที่เรามีก๊าซจากอ่าวไทยเพียงพอทำก๊าซหุงต้มให้คนไทยใช้ แต่เราไม่มีนโยบาย เพราะไม่ยอมมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ทรัพยาการไทยจึงเป็นของค้ากำไร
ต่อมาเรื่องน้ำมันมาเลเซียถูก ประธานเปโตรนาสตอบว่าในเมื่อทรัพยากรของทั้งประเทศมาเลเซียถูกยกให้เปโตรนาสดูแล เวลาน้ำมันขึ้นได้กำไรมากก็ต้องแบ่งปันกำไรมายังประชาชน อย่างเวลาเราไปปั๊มที่มาเลเซีย เขาติดเลยว่าราคาน้ำมันวันนี้เท่าไหร่ สมมติ 22 บาท ประชาชนจ่าย 20 บาท อีก 20 บาทมาจากรัฐบาล ซึ่งก็คือเปโตรนาสจ่ายปันผลมาให้ เปโตรนายจ่ายเงินให้รัฐบาลประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณเลย รัฐบาลก็แบ่งเงินตรงนั้นมาที่หน้าปั๊ม ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนได้รับไม่ใช่ควักภาษีราษฎรมาจ่ายอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นเอากำไรจากเปโตรนาสมาคืนให้ประชาชน ไมต้องแปรรูป แต่ประชาชนทุกคนได้ปันผลจากเปโตรนาสหมดเลย
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เราทำแบบมาเลเซียได้แน่นอน แหล่งบงกชและเอราวัณ แหล่งละแสนล้าน ถ้ารัฐเอามาจัดการ 2 แสนล้านจะตกเป็นของรัฐไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านต่อปี ปัจจุบันภาษีและค่าภาคหลวงทั้งประเทศรัฐได้แค่ 1.5 แสนล้าน นี่จาก 2 แหล่งเท่านั้น ถ้าใช้ระบบจ้างผลิต โดยให้บรรษัทพลังงานเข้าไปจัดการ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างแรกคิดว่าไทยนำเข้าน้ำมัน ที่จริงแล้วไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเยอะมาก จากตารางส่งออกอยู่อันดับ 2 มากกว่าข้าวและยางพารา ปัญหาคือเราขายคนไทยในราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป โดยเกิดตั้งแต่สมัยที่เรายังไม่มีโรงกลั่นเพียงพอ น้ำเข้าจริง แต่หลังปี 2540 โรงกลั่นเราเยอะเลยส่งออก ซึ่งราคาส่งออกนั่นคือราคาตลาดที่แท้จริง แต่เรายังให้โรงกลั่นขายเราในราคานำเข้าจากสิงคโปร์อยู่ดี ซึ่งราคานำเข้าจากสิงคโปร์ไม่ใช่ราคาสิงคโปร์ สมมติโรงกลั่นกลั่นเสร็จที่ระยองหรือศรีราชา พอใส่ในรถเพื่อมาปั๊ม ให้สมมติใหม่ว่าน้ำมันนี้เพิ่งกลั่นที่สิงคโปร์ แล้วก็คิดค่าเรือจากสิงคโปร์มาไทย คิดค่าประกัน คิดค่าสูญเสียระหว่างขนส่งมาไทย ทั้งที่มาจากระยอง ศรีราชา หรือ กทม. ก็ตาม เป็นต้นทุนสมมติหมดเลย คนไทยเข้าใจผิดว่าเป็นราคาสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง ที่จริงไม่ใช่ ถ้าเอาราคาสิงคโปร์จริงต้องเป็นราคาส่งออก ไม่ใช่ราคานำเข้า ทุกวันนี้ไทยส่งออกไปยังอาเซียนก็ใช้ราคาส่งออก ไม่มีใครใช้ราคานำเข้าแบบเรา มันเป็นเรื่องถูกกฎหมายแต่รัฐกำหนดขึ้นตั้งแต่เราไม่มีโรงกลั่น
ราคาไทยกับสิงคโปร์จึงต่างกัน พอบวกพวกนี้เข้าไปทำให้แพงขึ้นประมาณ 50 สตางค์ - 1 บาท ตกต่อปีก็ประมาณ 3.6 หมื่นล้าน มันก็ค่อนข้างสูง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตนเห็นคนเดียว สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) ก็ทำรายงานไว้ว่าให้ยกเลิกราคานี้เสีย เพราะไม่เป็นธรรมต่อประชาชน วิธีแก้คือกำหนดให้โรงกลั่นของไทยขายคนไทยในราคาเดียวกับที่ส่งออกให้สิงคโปร์โดยเป็นราคาหน้าโรงกลั่นไม่บวกค่าขนส่ง
“ฝ่ายบรรษัทได้ประโยชน์ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องตอบแบบนั้น มันมีกฎหมายรองรับหมด แต่ประชาชนต้องเรียกร้องแก้กฎหมายใหม่ ข้อบังคับใดไม่เป็นประโยชน์ต้องแก้ ผมไม่ได้เรียกร้อง ปตท. แต่เรียกร้องไปที่รัฐต้องแก้ไขกฎระเบียบนี้ เพราะเป็นผู้กำหนด เรื่องนี้นายกฯมีอำนาจโดยตรง เพราะเป็นประธาน กพช. (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) และดูแล กบง. (คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน) มีอำนาจลงไปจัดการเลยด้วยซ้ำไป ขอเรียกร้องให้นายกฯลงไปจัดการเลย” ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า อีกอันสำคัญมาก แก๊สโซฮอล์แพง แก๊สโซฮอลล์คือเอาเอทานอลมาผสมในเบนซิน เอทานอลโลกอยู่ที่ 14 - 15 บาท ส่วนของไทยไม่ได้นำเข้า กลั่นที่ไทย ตนนำมาเทียบวัดว่าไม่ควรแพงกว่าตลาดโลกมาก วันนี้แพงกว่า 9 บาท สะท้อนว่าการจัดซื้อโปร่งใสหรือไม่ เกษตรกรได้ประโยชน์จริงหรือ
ตนเคยถามหน่วยราชการ เขาบอกว่า โรงกลั่นจัดซื้อเอง เรื่องของเขา ตนโต้กลับว่าแพงก็แพงไม่ได้นะ เพราะสุดท้ายก็จะผลักภาระให้ประชาชน เรื่องนี้สมัยก่อนที่โรงกลั่นจัดซื้อเอง รัฐเคยกำหนดว่าให้เอทานอลไทยใช้ราคาเสมือนกลั่นที่บราซิล แล้วนำเข้า ผลคือแพงกว่าตลาดโลก 5 บาท พอตนพูดไป รัฐเลยปล่อยให้โรงกลั่นจัดซื้อเอง แล้วโรงกลั่นดันจัดซื้อแพงกว่าอีก เป็น 9 บาทแล้วตอนนี้ ต้องตั้งคำถามกับรัฐดังๆ ว่าเข้าไปกำกับดูแลหรือไม่ เพราะมันห่างตลาดโลกเกินไป
คำต่อคำ
เติมศักดิ์- สวัสดีครับ ขอต้อนรับสู่รายการคนเคาะข่าว วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2561 วันนี้เรามาดูกันครับว่าการกำหนดโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะที่บ่นกันถึงตอนนี้ น้ำมันแพง ก๊าซพุงต้มแพง ตกลงโครงสร้างของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่กำหนดอยู่ตอนนี้ มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลเข้ามีบทบาทรับผิดชอบได้อย่างไรนะครับ วันนี้สนทนากับผู้อำนวยศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยลัยรังสิต หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี สวัสดีครับหม่อมกรครับ
กรกสิวัฒน์- สวัสดีครับ
เติมศักดิ์- เอาเรื่องน้ำมันก่อนนะครับ น้ำมันนี่การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบัน หม่อมกรได้ปูพื้นกันสักนิดว่าในราคาน้ำมันที่เราจ่ายทุกวันนี้ โครงสร้างมันเป็นยังไง แล้วมันมีตรงไหนที่มันบิดเบือน ตรงไหนที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคบ้างครับ เชิญครับ
กรกสิวัฒน์- ต้องบอกว่าโครงสร้างแรก อันแรกคือน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนสำคัญ ต้องบอกว่าจริงๆ รัฐบาลท่านประยุทธ์โชคดีว่ารัฐบาลในอดีต ไม่ว่าท่านอภิสิทธิ์หรือคุณยิ่งลักษณ์ก็ตาม เพราะสมัยนั้นน้ำมันอยู่ร้อยกว่าเหรียญ เกิน 5 เหรียญ เห็นไหมครับ รัฐบาล พอรัฐประหารมา โชคดีน้ำมันลง ตอนนี้ที่บอกว่า 70 เหรียญกว่า มันก็ยังต่ำกว่าสมัยรัฐบาลที่แล้ว ดังนั้น จริงๆ ตอนนี้การจัดการควรจะง่ายกว่า และดีกว่าด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นต้นทุนน้ำมันดิบไม่ได้แพงกว่ารัฐบาลเก่าๆ ก็จะเห็นว่ามีการนำภาพมาโพสต์ว่ารัฐบาลเก่าๆ แพงกว่านี้ไม่มีใครประท้วง ก็ต้นทุนน้ำมันดิบมันสูงกว่านี้ 30 เปอร์เซ็นต์
เติมศักดิ์- 30 เปอร์เซ็นต์
กรกสิวัฒน์- 30 เปอร์เซ็นต์ 40 เปอร์เซ็นต์ ผมถามว่าแน่นอนมันต้องสูง คนเขาก็เข้าใจได้ แต่วันนี้น้ำมัน 70 เหรียญ แต่ทำไมราคาไปใกล้เดิมแล้ว ราคาหน้าปั๊ม ที่นี้เรามาดูที่คนเขาสนใจคืออันนี้รับ อันนี้คือเป็นการประกาศราคาของบริษัท maxenergy ที่พม่า ราคานี้เป็นราคาที่ย่างกุ้ง ราคานี้เป็นราคาประเทศไทยที่รัฐประกาศเหมือนกัน 2 อัน คนดูแล้วรู้สึกแน่นอนว่าน้ำมันไทยแพง ถูกต้องไหมครับ
เติมศักดิ์ - ทำไมเพื่อนบ้านขายได้ถูกกว่าเยอะ
กรกสิวัฒน์- ใช่ครับ ที่นี้อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ก็มีคำตอบออกมาว่า ก็พม่าเขาค่าแรงถูก น้ำมันเขากก็ต้องถูก เขาไม่มีปัญญาจ่ายค่าน้ำมัน ประเทศไทยค่าแรงแพง น้ำมันราคนี้เหมาะสมแล้ว ถ้าถูกกว่านี้จะไม่ประหยัด
เติมศักดิ์- มีการพยายามชี้แจงไว้อย่างนั้น
กรกสิวัฒน์- ใช่ครับ เดี๋ยวคนไทยจะไม่ประหยัด ก็เลยน้ำมันแพงดีแล้ว ผมตั้งคำถาม แพงแล้วเข้ากระเป๋าใคร ถ้าแพงแล้วเข้าหลวงก็ไม่เป็นไรนะ ก็พอรับได้อยู่ จะได้เป็นโรงเรียน โรงพยาบาล การศึกษา แต่ถ้ามันเข้ากระเป๋านายทุนถามว่ามนเหมาสมรึเปล่า
เติมศักดิ์- ถ้าแพง แล้วมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติก็ไม่ว่ากัน หรือพูดกันอีกเรื่องหนึ่ง
กรกสิวัฒน์- ไม่ว่าครับ จริงๆ ไม่ว่ากันเลย ถ้ามันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่เป็นนโบายอะไรที่ไปซื้อของที่ใช้การไม่ได้ เราก็เห็นหลายๆ ราการ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต้องไปตรวจสอบ แต่จริงๆ ถ้ามันเข้าหลวง มันก็เป็นเรื่องที่รับได้ ต่อมานะครับ จากคำที่ว่าค่าแรงถูก น้ำมันเลยถูกในประเทศพม่า ผมก็เลยเอาาให้ดูอีกประเทศหนึ่งคือประเทศสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันราคาน้ำมันสหรัฐฯ ก็ประมาณนี้ครับ มาจากเว็บไซต์ Gasbuddy.com เป็นเว็บไซต์ซึ่งประชาชนทุกรัฐจะส่งข้อมูลเข้าไป และก็มีค่าเฉลี่ยของรัฐออกมา จะเห็นได้ว่าราคาก็อยู่ใกล้เคียงพม่า ส่วนของไทยก็เป็นไปตามที่เห็น ถามว่าเห็นอย่างนี้แล้วรู้สึกยังไง ต้องบอกว่าทั้งหมดมีต้นทุนน้ำมันดิบที่ควรจะเท่ากัน ถูกไหมครับ น้ำมันดิบทั้งโลกมันเป็นราคาตลาดโลก ไม่ว่าอเมริกาหรือพม่าก็ควรจะโดนต้นทุนน้ำมันดิบที่ใกล้เคียงกัน ทำไมราคาหน้าปั๊มไม่เท่ากัน อันนี้ตอบได้อย่างเดียวเลย เป็นเรื่องโครงสร้างที่จัดการได้
เติมศักดิ์- เป็นโครงสร้างที่จัดการได้
กรกสิวัฒน์- ครับ คือผมได้ยินคำตอบของผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนว่า จัดการไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องของตลาดโลก อย่างนี้อเมริกาเขาก็จัดการไม่ได้สิครับ พม่าก็ต้องจัดการไม่ได้สิครับ ทำไมเขาจัดการได้ล่ะ แสดงว่าถ้ามันต่างกันได้ แสดงว่าอยู่ที่การจัดการหรืออยู่ที่ฝีมือ พูดตรงไปตรงมาเลย อยู่ที่ฝีมือคนจัดการ ว่าจะจัดการได้รึเปล่า
เติมศักดิ์- ฉะนั้นโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยที่มันจัดการ ให้มันถูกกว่านี้ได้ แต่ทำไม่ได้ มันมีอะไร ยังไงบ้างครับ
กรกสิวัฒน์- เพราะไปมองภาพรวมว่า ไปมองที่ปลายตรงนี้เพราะอันนี้มันจากน้ำมันดิบหมดเลย ปัญหามันเกิดจากน้ำมันดิบ ถ้าพูดแค่นี้นะ ไม่ต้องจัดการหรอก คือรัฐบาลไม่ทำไรเลย มันก็จะอยู่แบบนี้และ ถูกไหมครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปโทษที่น้ำมันดิบแล้ว เรื่องนี้เลิกพูดกันดีกว่า
เติมศักดิ์ - สุดท้ายต้องทำไงครับ
กรกสิวัฒน์ - ทำใจ เคยได้ยินไหมครับ
เติมศักดิ์ - เพราะราคาน้ำมันดิบ เราเข้าไปกำหนดไม่ได้
กรกสิวัฒน์ - ถูกต้อง
เติมศักดิ์- มันเป็นไปตามตลาดของโลกจริง
กรกสิวัฒน์- แต่ทำไมอเมริกาจัดการได้ ทำไมพม่าจัดการได้ หรือเขาเก่งกว่าเรา นะครับ ทีนี่ผมก็เลยพยายามจะ เข้าไปดูให้ใกล้มากยิ่งขึ้น ก็เลยดูภาพเนี่ยครับ ภาพนี้นะครับ ภาพนี้เป็นราคาตั้งแต่ หลายปีก่อน คืออยากเปรียบเทียบราคา ที่น้ำมันในราคาเหรียญเท่ากันน้ำมันดิบ เวสต์เท็กซัส 71 เหรียญ ใกล้เคียงกัน ของเก่าสูงกว่าด้วย ใกล้เคียงกัน ผมอยากจะดูว่า หน้าปั๊มต่างกันแค่ไหน ที่นี่พอน้ำมันดิบเท่ากันแล้ว ก็มาดูว่าเเปลงเป็นต่อลิตร อันนี้ต่อบาร์เรลนะครับ 71 เหรียญต่อบาร์เรล พอแปลงเป็นลิตรแล้วปรากฏว่าปัจจุบันน้ำมันดิบถูกลง เพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้น จริงๆ บาทแข็งขึ้นที่ 31-32 บาท เราควรจะซื้อของต่างประเทศได้ถูกลง ถูกไหมครับ มันก็ถูกลงจริงๆ แต่ราคาหน้าปั๊มไม่ถูกลด แสดงว่าต้องมีใครดึงดูดความประหยัดอันนี้ไปเป็นประโยชน์ที่เขา
เติมศักดิ์- ย้ำนะครับนี่เปรียบเทียบโดยเอาราคาน้ำมันดิบที่ใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบกัน
กรกสิวัฒน์ - ที่สุด เนี่ยมันเจอแบบนี้เจอปี 52 แล้ว ดังนั้นเลยเอาน้ำมันดิบ ที่เท่ากันมาดูเพื่อที่จะแต่ละรายการว่าอะไรต่างกันสรุปว่าน้ำมันดิบเป็นรูปเงินบาทถูกลงแล้วทำไมรัฐบาลจัดการไม่ได้นี่น่าสนใจ หรือรัฐบาลไม่ได้จัดการนะครับ พอมาหน้าโรงกลั่นนะครับ อันนี้17 บาท อันนี้ 19 บาทเห็นไหมครับต่างกันมีคนเถียงผมว่า ก็น้ำมันดิบอันนี้นะ ก็น้ำมันดิบอันนี้ น้ำมันสำเร็จรูปอันนี้มันยูโร 3 อันนี้มันยูโร 4 ผมบอกเลยยูโร 3 ยูโร 4 ต่างกัน 20 สตางค์ก็มาก แล้วไม่ใช่ 2 บาท ถ้ามันจะต่างกันไม่ใช่ 2 บาท
เติมศักดิ์- แต่นี่มัน 2 บาทกว่า
กรกสิวัฒน์- 2 บาทนะครับ ซึ่งสูงมาก 2 บาทนี่สูงมากนะครับ 1 จุดที่รัฐบาลควรดูว่ามันเกิดไรขึ้น ต่อมานะครับเรื่องภาษีและกองทุนน้ำมันอันนี้ในอดีตอันนี้ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าปัจจุบันเนี่ย ภาษีและกองทุนน้ำมันไม่ได้สูงขึ้นนะ ดังนั้น กลุ่มคนจะไปโจมตีกลุ่มนี้ คือจุดที่เป็นสาเหตุเลยที่ประชาชนบ่นกันไง คือเรื่องภาษีเเละรัฐบาลอยากได้ก็ลดภาษีเอา ผมบอกไม่ใช่อ่ะครับ รัฐบาลเนี่ย ภาษีและกองทุนต่ำนะครับ ต่อมาเรื่องค่าการตลาด ค่าการตลาดเนี่ยนะครับในอดีตเคยพูดกันว่าบาท บาทห้าสิบอยู่ได้ต่อลิตรนะครับ ค่าการตลาด ตอนเนี่ยมันไปประมาณ 2 บาท 2 บาทกว่า ใกล้เคียง 2 บาท ตัวนี้ก็บวมขึ้นนะครับ น่าสนใจมากว่าการบวมขึ้นนี้เกิดจากอะไรแล้ว สุดท้ายราคาหน้าปั๊มก็บวมขึ้น ตรงเนี่ยจริงๆ มันมีเวทด้วยนะครับ อีก 7 เปอร์เซ็นต์ อะไรต่างๆ ซึ่งผมยังไม่ใส่มาให้ดู แต่ผมเปรียบเทียบให้ดูว่า ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมก็จะไปดูที่หน้าโรงกลั่นว่ามันเกิดอะไรขึ้น แก้ได้ไหม ผมก็จะไปดูที่ค่าการตลาดว่าแก้ได้ไหมนะครับ 2 จุดสำคัญ เดี๋ยวเราลงไปดูกันว่า จากตรงนี้แล้ว เเล้วเราเข้าไปดูไล่ทีละจุด ทีละจุด ทีละจุด มันเกิดอะไรขึ้น
เติมศักดิ์- ตรงนี้ในทางชี้แจงของทางซีอีโอของ ปตท. คำถามที่ว่าทำไมน้ำมันไทยไม่ถูกเหมือนมาเลเซีย ทำไมน้ำไทยแพงกว่ามาเลเซีย ทาง ปตท. พยายามจะบอกว่าก็เป็นเพราะ ราคาน้ำมันของไทยมีการเก็บภาษี และกองทุนต่างๆ เพิ่มคือโยนไปให้เรื่องภาษี แต่มาเลเซียเขาไม่เก็บภาษีและมาเลเซียใช้งบประมาณของประเทศมาอุดหนุนราคาน้ำมัน อันนี้ก็คือคล้ายๆ กับที่เราอธิบายเมื่อสักครู่นี้ว่า ทุนพลังงานต้องไปโบยให้ภาษี ต้องไปโบยให้กองทุนต่างๆ ต้องไปโบยว่ามาเลเซียเขาใช้งบประมาณในการอุดหนุนราคาน้ำมัน แต่ประเทศไทยไม่มีการใช้งบประมาณอุดหนุนน้ำมัน การให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ครั้งหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าเข้าใจผิดหรือไม่ยังไง บอกด้วยซ้ำว่า เพราะประเทศอื่นเขามีกองทุนน้ำมัน ปรากฏว่าเราไม่มีกองทุนน้ำมัน เท่านี้ก่อนครับ
กรกสิวัฒน์ - คือเรื่องของมาเลเซียน่าสนใจมาก มาเลเซียเป็นโมเดลที่เราควรจะยึดเป็นรูปแบบสำคัญเลย การที่น้ำมันมาเลเซียจะถูกได้ ผมไปถามอดีตประธานเปโตรนาส ไปถามถึงมาเลเซียเลยนะครับ ไปกับท่านส.ว.รสนา ก็ไปถามว่าน้ำมันท่านทำไมถึงถูก แก๊สท่านทำไมถูก เขาบอกว่า ก๊าซถูกเพราะว่ารัฐบาลสั่งเปโตนาสว่า เมื่อคุณได้ทรัพยากรไปบริหารจัดการแล้วเนี่ย ต้องขายก๊าซให้ถูกที่สุด แต่ห้ามขาดทุน
เติมศักดิ์- พยายามให้ถูกที่สุด แต่ก็ห้ามขาดทุนนะ
กรกสิวัฒน์- ถูกต้อง ต่อมาก๊าซหุงต้มมาเลเซีย 10 กว่าบาทต่อกิโล ของเราจะ 30 บาทอยู่แล้วครับ ทั้งที่จริงเรามีก๊าซจากอ่าวไทยเพียงพอ ทำก๊าซหุงต้มให้คนไทยใช้แต่เราก็ไม่มีนโยบายแบบเขา เพราะไม่ยอมมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เขาต่อต้านกันทั้งหมดและครับ ฝ่ายรัฐฝ่ายทุนก็ต่อต้านการมีบัณสัตย์แห่งชาติ เพราะบรรษํทพลังงานแห่งชาติเนี่ย จะมาทำตรงนี้ให้ดังนั้นเอง ถ้าสั่งบรรษัทไปว่าขายก๊าซให้คนไทยถูกที่สุดแต่ห้ามขาดทุน ก๊าซต้องถูกว่านี้แน่นอนนะครับ วันนี้ทรัพยากรไทยกลายเป็นของค้ากำไร โดยถูกกฎหมายเพราะรัฐอนุญาต เพราะรัฐให้ทำแบบนี้เองรัฐไม่ยอมใช้โมเดลของมาเลเซีย นะครับ ต่อมาอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องน้ำมันของมาเลเซียทำไมถูก สิ่งที่ประธานเปโตรนาสตอบ ก็คือว่า ก็ในเมื่อทรัพยากรของทั้งประเทศมาเลเซียถูกยกให้เปโตรนาสดูแล เมื่อราคาน้ำมันขึ้น เปโตรนาสก็กำไรมากถูกต้องไหม ประชาชนเดือดร้อนถูกต้องไหม เพราะฉะนั้นที่หน้าปั๊มถ้าเราไปที่มาเลเซีย ให้เข้าปั๊มแล้วถ่ายรูปเลยนะ เขาจะติดเลยว่าราคาน้ำมันเท่าไหร่วันนี้ เช่น ราคาน้ำมัน 22 บาท เขาจะติดเลยว่า 22 บาทนี้ ให้ประชาชนจ่าย 20 บาท อีก 20 บาทมาจากรัฐบาลก็คือเปโตรนาส จ่ายปันผลมาให้ วิธีการก็คือ ทุกวันนี้เปโตรนาส จะให้เงินให้รัฐบาลประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณ ให้รัฐบาลไปจากความร่ำรวยที่ได้ทรัพยากรไป รัฐบาลก็แบ่งเงินตรงนั้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ ลงมาที่หน้าปั๊มเป็นการปันผลคืนไป ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนได้รับ ไม่ใช่ไปควักภาษีของราษฎรมาจ่าย อย่างที่เข้าใจกัน เป็นการเอากำไรของเปโตรนาสที่ได้จากทรัพยากรมาคืนให้ทุกลิตร ให้กับประชาชน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในมาเลเซีย ไม่ต้องแปรรูป แต่ประชาชนทุกคนจะได้ปั่นผลจากเปโตรนาสหมดเลยนะครับ
เติมศักดิ์- ถ้างั้นก็หมายความว่าการใช้วาทกรรมว่าเป็นเพราะมาเลเซียใช้งบประมาณของประเทศมาอุดหนุนราคาน้ำมัน อันนี้ก็ไม่น่าจะตรงสิครับ
กรกสิวัฒน์- ไม่ตรง เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถ้าเราไปอ่านที่เขาเขียนไว้ชัดเจนที่ว่า เขาจะจ่ายเงินให้รัฐไปเลย ปีหนึ่งหลายแสนล้านบาทจากกำไรนี้และ ยกให้รัฐไป ไปเป็นงบประมาณแผ่นดินรัฐบาลจะแบ่งส่วน ถ้ามันเยอะก็จะแบ่งส่วนนี้มาคืนประชาชน เพราะฉะนั้นมาเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมามากที่สุด สิ่งที่ประชาชนได้รับจากราคาน้ำมันที่ถูกมันเหมือนปันผลที่วนมาจากเปโตรนาสนั้นเอง ไม่ได้มาจากภาษีอากรหรืองบประมาณกลางที่ไหน แต่มันมาจากสิ่งที่เปโตรนาสจ่ายเขาไปนะครับ
เติมศักดิ์- เราจะทำแบบมาเลเซียได้ไหมครับ
กรกสิวัฒน์- ได้แน่นอน เพราะว่าวันนี้เรามีแหล่งบงกชและเอราวัณ แค่ 2 แหล่งนี้ ก็แหล่งละ แสนล้านแล้ว ถ้ารัฐเอามาจัดการเนี่ยผมเชื่อว่า 2 แสนล้านจะตกเป็นของรัฐไม่ต่ำกว่า แสน 5 หมื่นล้านต่อปี ต่อปี ปกติแล้ว นี่แค่ 2 แหล่งนะครับ ทั้งประเทศรัฐก็ได้แค่ภาษีและค่าภาคหลวงแค่ประมาณแสน 5 หมื่นล้าน ทั้งประเทศนะ นี่จาก 2 แหล่ง ถ้าเราใช้ระบบจ้างบริการ หรือจ้างผลิต ในแหล่งบงกชและเอราวัณ โดยให้บรรษัทพลังงานแห่งชาติเข้าไปจัดการ สิ่งที่ได้ก็คือเงินจะกลับมาประเทศมากมาย ถามว่าเราจะจัดการแบบเปโตรนาส ผมว่าเรื่องก๊าซเราจัดการได้แน่นอนนะครับ
เติมศักดิ์- ย้อนกลับมาที่ โครงสร้างราคาน้ำมันกันอีกสักครั้งหนึ่ง ตกลงจากโครงสร้างนี้ มีตรงไหนที่มันบิดเบือนมีตรงไหนที่มันไม่เป็นธรรม ต่อผู้บริโภคและจำเป็นต้องมีการแก้ไข
กรกสิวัฒน์- คือมันมีสิ่งความเข้าใจที่ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนจัดการให้ข้อมูลนะว่าประเทศไทยนำเข้าเหมือนกับนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เรามีน้ำมันไม่พอใช้ น้ำมันก็ต้องแพงแต่ความจริงแล้วเป็นอย่างงี้ครับ ประเทศไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปครับ ส่งออกเยอะมาก นี่คือสินค้า 10 อันดับไปอาเซียนนะครับ สินค้า 10 อันดับที่ไทยส่งออกไปอาเซียนครับ อันดับที่ 2 คือน้ำมันสำเร็จรูป จะเห็นได้ว่าสินค้ายอดฮิต ที่เราส่งออกไปพม่า ไปมาเลเซีย ไปสิงคโปร์ เราส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปสิงคโปร์นะครับ เราไม่ได้นำน้ำมันสำเร็จจากสิงคโปร์ อันนี้ต้องเข้าใจก่อน แล้วก็เราส่งออกไปมากกว่าข้าวและยางพารา อันนี้ต้องรับความเข้าใจใหม่เลย เราส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เราไม่ใช่ประเทศนำน้ำมันเข้าสำเร็จรูป (มีต่อ...)