ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปล้นกลางแดด ปล้นซึ่งหน้า และปล้นรัวๆ... แบบไม่ให้ชาวบ้านชาวช่องหายใจหายคอกันเลยกับปรากฏการณ์ขึ้นราคาพลังงานแบบไร้รอยต่อ ทั้งน้ำมัน ก๊าซฯ และค่าไฟฟ้าตามกันมาทั้งขบวน เป็นของขวัญครบรอบ 4 ปีในการบริหารประเทศไทยของรัฐบาลทหารที่อ่วมอรทัยกันถ้วนหน้า จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักรวมทั้งสั่นสะเทือนเสถียรภาพของรัฐบาลลามไปทั่วทั้งแผ่นดิน และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งได้
ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบ “ราคา” กับประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยิ่งเดือดปุดๆ เพราะทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ประเทศอื่นทำได้ แล้วทำไม “ประเทศไทย” ถึงทำไม่ได้ และ “นโยบาย” ในการบริหารพลังงานของรัฐบาลเป็นอย่างไร
ขณะที่ “คู่หูดูโอ” นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ที่เพิ่งออกลีลาจับปลาตอนน้ำขุ่นล้มกระดานพลังงานทดแทนก็แท็คทีมตบเสิร์ฟ ในทำนองน้ำมัน-ก๊าซฯ ปรับขึ้นเพราะราคาตลาดโลกที่ผ่านมาก็เคยขึ้นไปทะลุเกือบสองสามลิตรร้อยจะร้องแรกแหกกระเชอกันไปทำไม
ไม่มีคำปลอบโยน ไม่มีความเห็นใจ ทำเงียบๆ ให้ทุนพลังงานฟาดเรียบจนพุงกางไปพักใหญ่ กว่าจะกลับลำหันมาทำท่าดูดำดูดีประชาชน เพราะเริ่มมีกระแสแฉว่ากรณีที่กระทรวงพลังงาน ให้งดแจ้งปรับขึ้นราคาน้ำมันล่วงหน้าอย่างที่เคยประพฤติปฏิบัติกันมาโดยยกเหตุผลเพื่อให้เกิดการแข่งขันนั้น แท้จริงแล้วใช่เพราะต้องการเอื้อบริษัทค้าน้ำมันใช่หรือไม่? แล้วกองทุนน้ำมันจะกอดเงินเอาไว้ทำไม เหตุไฉนไม่เอามารักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานตามที่เคยโม้ไว้ในจุดประสงค์การจัดตั้งกองทุนนี้
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเกิดคำถามดังๆ ตามมาว่า ราคาพลังงานนั้น “แพงเพื่อใคร?”
ราคาน้ำมันพุ่งกระฉูด
เรื่องนี้มีเบื้องหลัง ... ต้องเสียสละกันบ้าง
เป็นความจริงที่ว่าราคาน้ำมันโลกกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นนั้นก็ใช่อยู่ แต่รัฐบาลในฐานะที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนก็ต้องรีบออกหน้ามาบริหารจัดการอย่างทันท่วงที ซึ่งที่ผ่านๆ มามีหลายแนวทางที่รัฐบาลเคยนำมาใช้ลดผลกระทบ ถึงแม้จะช่วยไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนไปได้ระดับหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ
แต่กลับกลายเป็นว่าราคาพลังงานโลกไต่ระดับปรับขึ้นรอบนี้ ประชาชนคนไทยกลับได้เห็นการออกมาช่วย ไม่ใช่ช่วยเหลือแต่ช่วยซ้ำเติม
อย่างเรื่องที่ทะแม่งๆ มาตั้งแต่ปลายๆ เดือน เม.ย.นั่นคือกรณีที่สำนักงานงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกมาปูดว่า สนพ. รับคำสั่งมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เชิญผู้ค้าน้ำมันมาหารือเกี่ยวกับภาวะการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันโดยเฉพาะ “เรื่องการงดแจ้งข่าวสารล่วงหน้าในการปรับเพิ่มหรือลดราคาน้ำมันผ่านทุกช่องทาง” หลังทบทวนแล้วเห็นว่าเป็นการชี้นำตลาดไปในแนวทางเดียวกันไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันลดราคาหน้าปั๊ม
พูดง่ายๆ ก็คือ กระทรวงพลังงาน ทึกทักเอาว่าถ้าไม่มีการแจ้งปรับลดราคาล่วงหน้าจะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม การประกาศราคาล่วงหน้าอาจเป็นการชี้นำตลาดทำให้ราคาเปลี่ยนไปในทางเดียวกันไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันลดราคาหน้าปั๊ม
“กระทรวงพลังงาน จึงได้ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันทุกรายไม่ให้ข่าวผ่านสื่อช่องต่างๆ ก่อนที่จะมีการปรับราคา รวมทั้งขอความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ในการติดตามตรวจสอบและป้องปรามการกระทำลักษณะนี้ เพื่อให้กลไกในธุรกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงสะท้อนภาวะการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด” นายทวารัฐ สูตะบุตร ผอ.สนพ. ให้ข่าวผ่านสื่อ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2561
ในเวลาต่อมา นายศิริ ก็หารือกับเอกชนไม่ให้ประกาศราคาล่วงหน้าด้วยเชื่อว่าจะเกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเชื่อว่าราคาน้ำมันจะลดลง “...ขณะนี้ค่าการตลาดน้ำมันสูงกว่าที่ควรจะเป็น 20 - 25 สตางค์ต่อลิตร หากแข่งขันจริงราคาจะลดแน่นอน ซึ่งจะเห็นว่าค่าการตลาดดีเซลอยู่ที่ 2.05 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าการตลาดที่เหมาะสมไม่ควรเกินกว่า 1.80 บาทต่อลิตร”
แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ประกาศราคาให้สาธารณชนทราบก่อนเปลี่ยนแปลงราคาจริง มาเป็นการเปลี่ยนแปลงราคาก่อนจึงประกาศให้สาธารณชนทราบ แทนที่จะก่อให้เกิดการแข่งขัน ไม่เป็นการชี้นำตลาดอย่างที่กระทรวงพลังงานว่าไว้ กลับได้ผลในทิศทางตรงกันข้าม และตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่เพราะแต่ก่อนนี้หากรู้ก่อนล่วงหน้าว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้นในวันรุ่งขึ้น ผู้ใช้รถก็ยังพอมีเวลาไปเติมให้เต็มถังตุนเอาไว้ก่อน ไม่ต้องมาบ่นเสียดายภายหลัง “ถ้ารู้งี้เติมไว้ก่อนก็ดี” เมื่อเห็นอีกทีราคาก็พุ่งขึ้นไปเสียแล้ว
มาตรการที่ให้ผู้ค้าอุบอิบเงียบไว้ไม่ต้องบอกล่วงหน้า ส่งผลให้การปรับขึ้นราคาซึ่งปกติจะเป็นข่าวล่วงหน้า ด้านหนึ่งก็ช่วยจุดกระแสให้สังคมตื่นตัวหันมาจับตาอย่างใกล้ชิดนั้นถูกกลบกระแสไปไม่มากก็น้อยจึงเป็นโอกาสให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำมันแบบกระหน่ำ โดยราคาน้ำมันปรับขึ้นภายในเดือน พ.ค. เพียงเดือนเดียวถึง 4 ครั้ง ตามมาติดๆ ด้วยก๊าซฯ ที่ปรับขึ้น 3 ครั้งในรอบหนึ่งเดือน จนประชาชน ธุรกิจขนส่ง อุตสาหกรรม ทนกันไม่ไหวร้องให้รัฐบาลรีบเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาโดยด่วน
เสียงตอบรับข้อเรียกร้องของฟากรัฐบาลที่ทะเล่อทะล่าเรียกแขกจนถูกรุมสวดกลับมานั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะมาจาก “เสือเงียบแห่งคลองหลอด” ที่สวมบทเป็น “รัฐมนตรีพลังงานเงา” ออกมาตอกกลับกระแสเสียงเรียกร้องของประชาชนที่เดือดร้อนว่า “ราคาน้ำมันตอนนี้อยู่ที่ลิตรละ 30 บาทกว่า ซึ่งในอดีตก็เคยมีราคาสูงถึง 40 บาท” ท่วงทำนองคล้ายๆ กับว่า เคยใช้น้ำมันแพงกันกว่านี้ตั้งเยอะ สีต้องทนให้ได้
ขณะที่ผู้นำประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ท่องได้คำเดียวราคาน้ำมันแพงเพราะเป็นไปตามกลไกตลาดโลก และในเวลาต่อมา ท่านผู้นำยังให้สัมภาษณ์อีกว่า แม้แต่ราคาน้ำมันหลายประเทศที่มีราคาต่ำ เพราะเขามีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เราต้องเข้าใจกลไกเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นบิดเบือนกันไปเรื่อยกลายเป็นปัญหา
แต่ที่ดุเดือดที่สุดเห็นจะเป็นเสียงคำรามของ “พี่ใหญ่บูรพาพยัฆค์” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงกับออกอาการฉุดขาดทีเดียวเมื่อเจอกระแสวิพากษ์วิจารณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น “ราคาก็ขึ้นทั้งโลก เวลาน้ำมันไม่ขึ้น 4 ปี ไม่เห็นว่าอะไร มีกำไรทำไมไม่ร้องเลย ก็ต้องเสียสละบ้าง เวลาที่น้ำมันลง ราคาถูก ไม่เห็นพูดกันเลย... รัฐบาลจะคุมราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เวลานี้ก็แพงทุกเรื่องแล้วจะให้ทำอย่างไร .... มีการนำคำพูดของนายกรัฐมนตรีไปบิดเบือน เช่น เติมน้ำแทนน้ำมัน จะต้องดำเนินคดี ....”
สามพี่น้องบูรพาพยัฆค์แท็คทีมกันปรามกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ไม่สามารถทำให้เสียงเงียบลงได้ ขาเก่าเจ้าประจำหลักๆ อย่าง มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งคำถามที่ชวนสงสัย แรกสุดเลยว่า “เมื่อก่อนน้ำมันดิบอยู่ 140 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันสำเร็จรูป 40 บาทต่อลิตร วันนี้น้ำมันดิบมีราคา 70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือเพียงครึ่งเดียวของจุดสูงที่สุด ถามว่า วันนี้น้ำมันสำเร็จรูป 30 บาทต่อลิตร ได้อย่างไร??? ผิดปกติอย่างยิ่งครับ???”
และยังจัดสำหรับพี่ใหญ่ที่แนะนำให้วิธีสู้ปัญหาน้ำมันแพงคือให้คนไทยเสียสละกันบ้าง??? อีกด้วย โดย “หม่อมกร” กระแทกกลับว่า “ขอสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เรื่องพลังงานอย่าไปหวังพึ่งใคร ให้ทำใจยอมรับก็พอ และอย่าไปสงสัยว่า 1) โรงกลั่นน้ำมันอยู่ใน กทม. ระยองและชลบุรี ทำไมคนไทยต้องใช้ราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ 2) ค่าการกลั่นน้ำมันไทยสูงลิบกว่าแต่ก่อน 3) เหตุใดโรงกลั่นน้ำมันจัดซื้อเอทานอล เพื่อผสมเป็นแก๊ซโซฮอลแพงกว่าราคาตลาดโลก(ตลาดบราซิล) 9 บาท ยิ่งผสมเอทานอลน้ำมันยิ่งแพง 4) เหตุใด ค่าการตลาดน้ำมันสูงขึ้นจาก 1 บาท เป็น 2-3 บาท/ลิตร ค่าการตลาดก๊าซหุงต้มขึ้นจาก 3.25 บาท เป็น 7 บาท/กิโล และ 5) เหตุใด ราคาก๊าซหุงต้มหน้าโรงแยกก๊าซที่ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบ จึงสูงกว่า ตลาดโลก 2-3 บาทต่อกิโล”
ส่วนท่านผู้นำที่ให้สัมภาษณ์ว่า “ราคาน้ำมันหลายประเทศที่มีราคาต่ำ เพราะเขามีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เราต้องเข้าใจกลไกเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นบิดเบือนกันไปเรื่อยกลายเป็นปัญหา” นั้น “หม่อมกร” ก็เปิดข้อมูลอีกด้านให้นายกรัฐมนตรีได้รับรู้ โดยชี้ว่า หากผู้นำเชื่อกลุ่มทุน ย่อมไม่อาจรู้ความจริง จึงแก้ปัญหาพลังงานไม่ได้
พร้อมกับยกกรณี ไทยส่งน้ำมันดิบไปขายสหรัฐฯ กลั่นเสร็จกลับขายที่หน้าปั๊มถูกกว่าไทยโดยไม่มีกองน้ำมันมาอุ้มแบบไทยๆ แต่น้ำมันสหรัฐฯ เขาถูกเพราะเอกชนมีการแข่งขันสูง ผู้บริโภคจึงได้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่ผู้นำควรศึกษา ไม่ใช่ “มโน” เอาว่า ประเทศไหนน้ำมันถูก เพราะเขาเอากองทุนมาอุ้ม คล้ายกับจะบอกคนไทยว่า ประเทศไทยบริหารจัดการดีอยู่แล้ว?? ทั้งที่ประเทศไทยมีโรงกลั่นใหญ่ 5 โรง ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเดียวกัน ตลาดจะแข่งขันสมบูรณ์ได้อย่างไร ใยรัฐไม่จัดการ?
“คู่หูดูโอ” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย (ซ้าย) กับ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ขวา)
ส่วนมาเลเซียนั้นเขามีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ชื่อ ปิโตรนัส มีเป้าหมายเพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีของคนมาเลเซีย ไม่ได้มีไว้เพื่อทำกำไรสูงให้ผู้ถือหุ้น มาเลเซียจึงได้ประโยชน์ 2 เด้ง คือ น้ำมันและก๊าซหุงต้มถูก และส่งเงินรัฐบาล 40% ของงบประมาณแผ่นดิน แต่เหตุใด ผู้นำไทยกลับไม่อยากให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเพื่อคนไทย? การมีทรัพยากรปิโตรเลียมไทยแทนที่จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จึงกลับกลายเป็นแสงไฟที่ปล่องเมรุ กระนั้นหรือ???
ม.ล.กรกสิวัฒน์ยังตอกย้ำให้เห็นถึงสาเหตุที่แท้จริงของราคาน้ำมันแพงว่าเกิดความผิดพลาดทางนโยบาย โดยเฟซบุ๊ค “คุยกับหม่อมกร” โพสไว้เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 อธิบายเรื่องนี้ว่า “มีนักวิชาการบางคน วิพากย์ว่า ราคาน้ำมันไทยต้องแพงถึงจะดี เป็นแนวทางของประเทศนอเวย์ใช้ และสร้างความเจริญอย่างมาก ขอเรียนว่า ความเข้าใจนี้มองปัญหาแบบโลกสวยและติ้นเกินไป เพราะสาเหตุที่น้ำมันไทยแพงที่แท้จริงนั้น เกิดจากนโยบายที่ไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ปรากฏตามรายงาน สปช. หน้า 4 ข้อ 4 ว่า
“การกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ โรงกลั่น ด้วยการประกาศราคาอ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ในบริบทที่ประเทศไทยส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ด้วยกำลังการกลั่นมากกว่าความต้องการในประเทศ เป็นแนวทางที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน และไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
“ขณะที่การกำหนดราคาขายส่งและขายปลีกและค่าใช้จ่ายในการขายน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดตลอดห่วงโซ่การผลิตและจัดจำหน่าย โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง... ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดไม่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในตลาดสากลที่มีการอ้างอิง กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน และก่อให้เกิดข้อสงสัยจากภาคประชาสังคมในความโปร่งใส เหมาะสม หรือความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค (อยากรู้รายละเอียด โปรดดาวน์โหลดรายงาน สปช.ได้ที่นี่ http://library2.parliament.go.th/…/content…/nrc2557-pr27.pdf)
โดยก่อนหน้านี้ เพจ “คุยกับหม่อมกร” เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2561 แสดงให้เห็นตัวเลขที่ไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปขายพม่าแต่ราคาหน้าปั๊มพม่าถูกกว่าไทย ซึ่งกระบอกเสียงกลุ่มทุนพลังงานเคยให้สัมภาษณ์ว่า ที่ต้องเป็นเช่นนี้ เพราะราคาส่งออกเป็นราคาแข่งขันกับตลาดโลก จึงสรุปความได้ว่า เมื่อส่งออกต้องแข่งขันจึงกำไรน้อย ในประเทศแข่งขันน้อย จึงขายราคาแพงให้คนไทย เพื่อชดเชยกำไร ใช่หรือไม่? และรัฐยังไปกำหนดให้น้ำมันที่กลั่นเองในประเทศ แต่ต้องใช้ราคานำเข้าจากสิงคโปร์อีก
“สปช.ได้ออกรายงานว่า ให้ปรับราคาขายคนไทยโดยอิงราคาส่งออกไม่ใช่นำเข้า แต่ “ท่านตู่” ก็เงียบ ดังนั้น หากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง คงต้องลงมือปฏิรูปด้วยสองมือของเราเอง”
อันที่จริงแล้ว ทั้งๆ ที่เมื่อเดือนก่อนนี้นายกรัฐมนตรี ที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพิ่งอนุมัติปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานลง 15 สต. ซึ่งช่วงเวลานั้น รัฐมนตรีพลังงาน ยังโปรยยาหอมว่าจะทำให้น้ำมันแต่ละชนิดลดลง 60 - 80 สต.ต่อลิตร ถัดมาเพียงเดือนเดือนขึ้นเอาๆ จนทะลึ่งพรวดขึ้นไปถึง 2 บาท
เจอรายการของขวัญคืนความสุข ฉลองครบรอบ 4 ปี คสช. เยี่ยงนี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. หัวหอกเกาะติดเรื่องพลังงาน จึงฟันเปรี้ยงว่า ส่อเป็นเจตนา “ปิดบัง” ทั้งการปรับลดราคาและการบวกกำไรของ “กลุ่มทุนน้ำมัน” พร้อมกับตั้งคำถามถึงการบริหารเงินกองทุนน้ำมันที่ไม่ได้ใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและก๊าซฯ ตามข้ออ้าง
น.ส.รสนา โพสเฟซบุ๊ก ตั้งข้อกังขาว่า กระทรวงพลังงาน ประกาศไม่ให้แจ้งการปรับลดราคาน้ำมันล่วงหน้า และยิ่งกว่านั้นตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 2561 เป็นต้นมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) สั่งให้ทำโครงสร้างราคาน้ำมันเฉพาะราคาขายส่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ไม่ให้แจ้งราคาขายปลีกซึ่งจะเห็นการบวกค่าการตลาดด้วย แสดงเจตนาว่าจะปิดบังทั้งการปรับลดราคา และการบวกกำไรของราคาขายปลีกน้ำมันจากการรับรู้ของประชาชนทั่วไป ใช่หรือไม่? หลังจากยกเลิกการแจ้งปรับลดราคาล่วงหน้า ก็เกิดปรากฎการณ์ในการปรับขึ้นราคาน้ำมันแบบถี่ยิบ เฉพาะเดือน พ.ค.2561 ราคาน้ำมันปรับ 4 ครั้ง ขึ้นราคาน้ำมันไปแล้วประมาณ 2 บาทต่อลิตร
ก๊าซหุงต้ม พม่า-สหรัฐฯ ยังราคาถูกกว่าไทย
ไม่เพียงแต่ราคาน้ำมันเท่านั้นที่ทะยานขึ้นไปเท่านั้น “ราคาก๊าซหุงต้ม” ยังปรับขึ้นราคา 3 ครั้งในเดือนนี้ คือ วันที่ 1 พ.ค. ขึ้นราคา 0.5016 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับขึ้นราคาถังละ 7.524 บาท, วันที่ 8 พ.ค ขึ้นราคาอีก 0.6946 บาทต่อกิโลกรัม ถังละ10.419 บาท, วันที่ 16 พ.ค. ขึ้นราคาอีก 0.5714 บาทต่อกิโลกรัม ถังละ 8.571 บาท ก๊าซหุงต้มเดือนพ.ค. ขึ้นราคาไป 1.77 บาท/กิโลกรัม หรือถังละ 26.55 บาทกันเลยทีเดียว
กลายเป็นปรากฎการณ์ขึ้นราคาก๊าซหุงต้มกันแบบมหาโหดแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
น.ส.รสนา ชี้ว่า ก๊าซหุงต้มราคาตลาดโลก อยู่ที่ราคาประมาณ 15 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาในประเทศที่มาจากก๊าซอ่าวไทยกลับมีราคาหน้าโรงแยกก๊าซที่ 18 บาท สูงกว่าราคาตลาดโลกประมาณ 3 บาท การตั้งราคาจากโรงแยกก๊าซให้สูงกว่าตลาดโลก แล้วเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยให้กิโลกรัมละ 2.74 บาท ทำให้กองทุนน้ำมันกลายเป็นกองทุนอำพรางกำไรให้กับโรงแยกก๊าซฯ มากกว่าจะเป็นกองทุนที่ผู้ใช้เก็บออมเงินไว้เพื่อมาชดเชยราคาที่ปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดที่มีการแข่งขัน ซึ่งไม่ต่างจากที่เอากองทุนน้ำมันชดเชยราคาเอทานอลที่สูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินล้วนๆ ก็เป็นวิธียักย้ายเงินกองทุนน้ำมันให้โรงกลั่นและธุรกิจเอทานอลได้กำไรเหนาะๆ ใช่หรือไม่ ??
โดยเฉพาะราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม ขณะนี้สูงถึงกิโลกรัมละ 27.13 บาท (ราคาถังละ 407 บาท) ปรากฏว่าในขณะที่ราคาก๊าซหุงต้มในไทยขึ้นราคาถึงถังละ 26.55 บาท และประชาชนผู้ใช้ก๊าซต้องซื้อก๊าซหุงต้มแพงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 27 บาท ราคาก๊าซหุงต้มที่ส่งไปขายที่พม่าในเดือน พ.ค. 2561 ไม่มีการปรับขึ้นราคาถี่ยิบแบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดย “Awra trading” ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ในพม่าอยู่ที่จังหวัดเมียวดี ที่เป็นชายแดนติดกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ลงข้อความในเว็ปไซต์ที่เป็นภาษาพม่า แปลได้ความว่า
“แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น แต่ก๊าซหุงต้มของ PTT และสยามแก๊สที่นำเข้าผ่านทางชายแดนเมียวดี ราคาส่งออกของไทยในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมยังเท่าเดิม .....”
ข้อมูลจากคนขายก๊าซฝั่งพม่า ระบุว่า ก๊าซหุงต้มที่ขายให้ลูกค้าที่ย่างกุ้งราคา 23.20 บาทต่อกิโลกรัม รวมภาษีนำเข้า, ค่าบรรจุและค่าขนส่งแล้ว ระยะทางจากชายแดนแม่สอดมาถึงย่างกุ้ง 434 กิโล ซึ่งใช้เวลาเดินทางเกือบ 10 ชั่วโมง แต่เหตุใดประชาชนพม่าจึงสามารถซื้อก๊าซหุงต้มที่ส่งจากประเทศไทยได้ในราคาถูกกว่าคนไทยที่มีทั้งก๊าซในอ่าวไทย และโรงแยกก๊าซถึง 6 โรงในประเทศ !!?? ไหนอดีตรมว.พลังงาน พล.อ อนันตพร กาญจนรัตน์ เคยกล่าวว่า เปิดเสรีนำเข้าก๊าซหุงต้มแล้วราคาก๊าซหุงต้มจะถูกลง แต่ปรากฎว่าคนนำเข้าก๊าซหุงต้มเพื่อส่งออกไปขายเพื่อนบ้าน สามารถส่งขายให้ในราคาถูกกว่าขายคนไทย เพราะเหตุใด ??
ข้ออ้างที่ว่ายังต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มไม่ให้แกว่งตัวมากเกินไป จึงเป็นเพียงคำโกหก หลอกลวง ใช่หรือไม่??
กองทุนน้ำมันไม่ได้ทำหน้าที่ในการรักษาระดับราคาให้คนไทยเลย แต่เป็นกองทุนเอาไว้อำพรางกำไรของกลุ่มทุนพลังงาน ที่ตั้งราคาทั้งก๊าซ และน้ำมันให้สูงเกินจริง สูงกว่าราคาตลาดโลก เพื่อเอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยเป็นการอำพรางการโยกย้ายเงินจากกองทุนน้ำมันเป็นกำไรเข้ากระเป๋า โดยผู้ใช้น้ำมันและก๊าซจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆจากกองทุนน้ำมันที่เอาเงินไปสะสมเก็บไว้แต่ประการใด ใช่หรือไม่?
ถ้าจะขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มกันถี่ยิบขนาดนี้ โดยอ้างว่าต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี เมื่อราคาตลาดโลกขึ้น ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มในประเทศก็ต้องปรับขึ้นตาม ก็ไม่ควรให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอีกต่อไป เพราะกองทุนน้ำมันกลายเป็นภาระถ่วงคนไทยทั้งประเทศ ทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันและก๊าซหุงต้มราคาแพงเกินจริง และแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
เพจ “คุยกับหม่อมกร” เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 ยังตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า “รัฐกำหนดราคาก๊าซหุงต้มที่ผลิตจาก๊าซในอ่าวไทยแพงกว่าตลาดโลก เพื่อ??? เมื่อเปรียบกับสหรัฐฯ ที่ค่าแรงแพงกว่ามาก ทำไมไม่ปฏิรูปพลังงานไทยเสียที????” พร้อมกับโชว์กราฟเปรียบเทียบราคาก๊าซหุงต้มของไทยกับสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2561 ราคาก๊าซหุงต้มของไทย อยู่ที่กิโลละ 16.16 บาท ส่วนสหรัฐฯ อยู่ที่กิโลละ 11.95 บาท
ทั้งนี้ จากการแจ้งราคาล่าสุด บมจ.ปตท. ผู้ค้าแอลพีจีรายใหญ่ได้แจ้งคู่ค้าขอปรับราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนและภาคขนส่งอีก 1.5485 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) รวม (VAT) มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคาแอลพีจีถังครัวเรือนขนาด 15 กก.ปรับขึ้นประมาณ 23 บาท/ถังทันที หรือจะมาอยู่ที่ถังละ 395 บาท จากราคาสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ถังละ 372 บาท โดยการปรับราคาดังกล่าวเป็นผลมาจากราคาแอลพีจีตลาดโลกล่าสุดได้ปรับขึ้นถึง 114 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากเดือน เม.ย.อยู่ที่เพียง 449 เหรียญฯ ต่อตัน
กระทรวงพลังงาน แจกแจงว่า สำหรับแอลพีจีปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนบัญชีแอลพีจีอุดหนุนอยู่ 2.7424 บาทต่อ กก. ทำให้เงินกองทุนไหลออกประมาณ 500 ล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่เงินทุนเหลือสุทธิราว 990 ล้านบาท หากอุดหนุนเพิ่มก็จะทำให้เงินทุนติดลบในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน ในขณะที่เงินกองทุนบัญชีน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หากบัญชีแอลพีจีติดลบ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจาณารับปัญหา เช่น บัญชีแอลพีจีอาจจะต้องกู้ยืมเงินจากบัญชีน้ำมันมาอุดหนุนแอลพีจีชั่วคราว
ส่วนราคาดีเซลที่แตะระดับ 30 บาท/ลิตร กระทรวงพลังงาน เตรียมมาตรการในการจำหน่ายไบโอดีเซลบี 20 ราคาต่ำกว่าบี 7 จำนวน 3 บาทต่อลิตร เพื่อให้รถบรรทุกและเรือโดยสารใช้
งานนี้ ได้รับผลกระทบกันโดยถ้วนหน้า ทั้งภาคครัวเรือน พ่อค้าแม่ขาย ภาคการขนส่ง ตลอดรวมอุตสาหกรรมที่ใช้แก๊สเป็นพลังงานในการผลิต ดังเช่นที่สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง ได้ส่งตัวแทนผู้ประกอบการโรงงานเซรามิก กว่า 50 คน มารวมตัวยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาราคาก๊าซหุงต้มภาคอุตสาหกรรมเซรามิก
นายต่อศักดิ์ ประคำทอง นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผา ลำปาง กล่าวว่า ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตลอด 2-3 เดือน และเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นอีกถังละ 75 บาท ถือเป็นราคาที่สูงมากแบบไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่ทำโรงงานเซรามิกมา ครั้งนี้ถือว่าราคาก๊าซแพงที่สุด ดังนั้นผู้ประกอบการประมาณ 300 แห่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะราคาแอลพีจีถือเป็นต้นทุนหลักในการผลิตเซรามิก มากถึง 30-40%
ค่าไฟเตรียมขึ้นในอีก 6 เดือน
ไม่เพียงแต่น้ำมันและก๊าซฯ พาเหรดขึ้นราคาแบบฉุดไม่อยู่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ส่งสัญญาณล่วงหน้าว่ามีรายการปรับค่าไฟฟ้าขึ้นแน่ๆ จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น โปรดรอรับได้เลย
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ กฟผ. เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นจะกระทบราคาก๊าซธรรมชาติให้สูงขึ้นด้วย และจะสะท้อนราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามใน 6 เดือนข้างหน้า หรือราวเดือน พ.ย. 2561
ทั้งนี้ กฟผ.ให้เหตุผลว่า เนื่องจากต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นไปตามสูตรการคำนวนราคาก๊าซธรรมชาติ จากน้ำมันเตา ร้อยละ 30 ซึ่งปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจะพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 60 หากราคาน้ำมันปรับขึ้นเฉลี่ย 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจุบัน 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ก็จะมีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าด้วย แต่ค่าไฟฟ้าจะปรับหรือไม่ ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กฟผ.จึงเตือนให้ประชาชนประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
ทว่า สุดท้ายเมื่อทนแรงเสียดทานและเสียงก่นด่าที่ดังขรมทั้งแผ่นดินไม่ไหว คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ซึ่งเปิดประชุมเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ก็กลับหลังหัน 360องศา ด้วยการมีมติปรับลดราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) เฉพาะภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 395 บาทต่อถัง( 15 กิโลกรัม) ให้เหลือ 363 บาทต่อถัง (15 กก.)หรือปรับลดลงประมาณ 30 บาทต่อถังมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.เป็นต้นไปเพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน พร้อมทั้งตรึงดีเซลเอาไว้ 30 บ./ลิตรช่วงรอขายบี 20 ส่วนค่าไฟงวดใหม่ไม่ขึ้นยาวถึงสิ้นปี
ฟาดเรียบคูณสูง
“ไอ้โม่ง” เบื้องหลังโรงไฟฟ้าประชารัฐ
อย่างไรก็ดี ที่น่าแปลกใจก็คือ คำให้สัมภาษณ์ของนายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ กฟผ. ที่ระบุว่า “ราคาก๊าซฯซึ่งผลิตไฟ 60% จะปรับขึ้นย้อนหลังราคาน้ำมันเตา 6 เดือน ค่าไฟฟ้าจากชีวมวลก็จะขยับขึ้นเช่นกัน เพราะผูกติดกับราคาน้ำมัน ดังนั้น ต้นทุนค่าไฟฟ้าเดือน พ.ย.ก็คาดจะเพิ่มขึ้น.....” เพราะนั่นทำให้ต้องย้อนกลับมาแง้มขุมทรัพย์พลังงานไฟฟ้าจากขยะและชีวมวลของกระทรวงมหาดไทยที่เพิ่งมีคำมั่นสัญญาเป็นมั่นเหมาะจากกระทรวงพลังงานว่ามีโควต้ารับซื้อเข้าระบบรวมแล้วประมาณ 800 เมกะวัตต์ ขณะที่นักลงทุนรายอื่นถูกเบรกหัวทิ่ม ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าขยะมีต้นทุนที่สูงกว่า และบริหารจัดการยากกว่าพลังงานประเภทอื่นๆ
เรียกว่า มท. มาถูกจังหวะ ได้ทั้งโควตา ได้ทั้งราคา แบบหวานๆ ส่วนประชาชนก็แบกราคาหลังอานกันไป
กล่าวสำหรับหัวหอกที่เป็นหน่วยลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าจากขยะและชีวมวลของมหาดไทยคราวนี้ก็คือ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ภายใต้สังกัดรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ขึ้นตรงต่อ มท.1 ซึ่งตามมติครม.เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 อนุมัติให้ พีอีเอฯ จัดตั้งบริษัทร่วมทุนผลิตไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพีอีเอ ลงทุนสัดส่วน 40% วิสาหกิจชุมชน ไม่เกิน 10% ที่เหลือเป็นเอกชน ประกอบด้วย บ.ประชารัฐชีวมวล นราธิวาส กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์, บ.ประชารัฐชีวมวล แม่ลาน (ปัตตานี) กำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ และ บ.ประชารัฐชีวมวล บันนังสตา จำกัด (ยะลา) กำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ รวมวงเงินลงทุนทั้งสิน 1,550 ล้านบาท ระยะเวลา 20 ปี เริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือน ก.ค. นี้ และพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือน พ.ย. 2563
ที่น่าสนใจก็คือ เอกชนที่จะเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจถือหุ้นร่วมกับพีอีเอลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นคือใคร ใช่อยู่ในเครือข่ายของผู้ทรงอิทธิพลแห่งคลองหลอดหรือไม่ ถ้าหากมีรายการพิเศษต้องเรียกว่าวางกันได้ยาวๆ เพราะอนาคตลงทุนของพีอีเอนั้นสดใสอย่างยิ่ง โดยเวลานี้นอกจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ยังมีโครงการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากขยะ ที่อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังผลิตไฟฟ้า 6.5 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท นำร่อง
ต้องไม่ลืมว่า เมื่อต้นเดือนพ.ค. 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานกับมหาดไทย ได้ตกลงกันเรียบร้อยแล้วในการผลิตไฟฟ้าจากขยะ โดยพลังงานส่ง กฟผ.และมท.ส่ง กฟภ. มาช่วยกันพิจารณาจุดที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบสายส่งได้ โดยวางเป้าหมายไว้ 500 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP 2015 เคาะราคารับซื้อที่ 5.78 บาทต่อหน่วย เป็นเฟสแรกเบิกทางสู่สเตปต่อไป
...วันนี้ สารพัดเรื่องพลังงานจึงชุลมุลชุลเกและสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหลือกำลัง เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้บริหารราชการแผ่นดิน “เพื่อใคร” เพราะในวันที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือGDP ในไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวสูงปรี๊ดถึงร้อยละ 4.8 แถมเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาสหรือในรอบ 5ปี “รายได้ของเกษตรกร” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศปรับตัวลดลง 4.8%
เข้าทำนอง “เศรษฐกิจขาขึ้น” แต่ประชาชน “เศรษฐกิจขาขึ้นก่ายหน้าผาก”
ยิ่งเมื่อผสมผสานกับ “ราคาพลังงาน” ทั้ง “น้ำมัน” ทั้ง “ก๊าซ” ขยับตัวสูงขึ้น โดยที่ภาครัฐไม่สามารถบริหารจัดการ “ต้นทุนของประชาชนคนเดินดิน” คำถามจึงดังกระหึ่มทั่วทั้งแผ่นดินว่า “พลังงานเพื่อใคร” และ “แพงเพื่อใคร” กันแน่....